๔.. ในหลวงในดวงใจ....(๑)


เสียอะไรเสียได้ แต่อย่าเสียกำลังใจ จะได้ทำงานเพื่อพ่อหลวงนานๆ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน แค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำสุดความสามารถ เต็มศักยภาพที่เรามี หมั่นสร้างความดี และทำเพื่อส่วนรวม เท่านี้..ก็ถือว่าเราได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ตอบแทนคุณของพ่อหลวงแล้ว ​

บทสัมภาษณ์นายชยันต์ เพชรศรีจันทร์ ผู้บริหารโรงเรียนบ้านหนองผือ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมเยือนและสัมภาษณ์ ในหัวข้อเรื่อง “ในหลวงในดวงใจ” และได้รับความร่วมมือจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้ให้ความสนใจและศึกษาหาข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็ก ตลอดจนข้อมูลผู้อำนวยการที่จะขออนุญาตสัมภาษณ์ ซึ่งก็พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านหนองผือ ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ด้านบริหารจัดการ ระดับประเทศ และเป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้เขียนจึงตัดสินใจเดินทางไปขอสัมภาษณ์ทันที เพื่อต้องการจะทราบความในใจของผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีต่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย เนื้อหาสาระที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ มีดังต่อไปนี้..........

ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมากี่ปีแล้วคะ...................

"ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมาเกือบ ๒๐ ปีแล้วครับ เคยอยู่โรงเรียนขนาดกลางมา ๒ โรงเรียน มาอยู่โรงเรียนขนาดเล็กที่โรงเรียนบ้านหนองผือก็ ๑๐ กว่าปีแล้ว ตอนแรกก็ไม่เคยคิดว่าจะมาอยู่โรงเรียนเล็กแบบนี้ มีวันหนึ่งขับรถผ่านมา แวะเข้ามาดูเห็นเงียบเหงา ตอนนั้นมีนักเรียน ๔๘ คน สอบถามชาวบ้านข้างรั้วโรงเรียน ทำให้ทราบว่า ผอ.กับครูที่นี่ย้ายบ่อย เด็กไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ผมก็เดินดูรอบๆโรงเรียน ก็พบอาคารเก่าๆอยู่หลังเดียว โรงเรียนมีสระน้ำ บริเวณโรงเรียนมีต้นไม้ร่มรื่นมาก เห็นแล้วก็ถูกชะตา อยากมาอยู่อยากมาพัฒนาและช่วยสอนหนังสืออีกแรงหนึ่ง ตัดสินใจเขียนย้ายมา ไม่รู้คิดถูกหรือคิดผิด เพราะตั้งแต่ย้ายเข้ามา ทำงานหนักตลอด แทบไม่มีวันหยุด สนุกก็สนุก เหนื่อยก็เหนื่อย ไหนๆมาแล้วก็อยู่ไป ก็คิดว่าน่าจะอยู่ได้นะ เพราะอยู่มาแล้วตั้ง ๑๐ ปี.."

กว่าจะได้เป็นสถานศึกษาต้นแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ใช้เวลานานไหมคะ และท่านรู้สึกท้อบ้างไหมคะ..

"ใช้เวลา ๕ ปีครับ..คือ โดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนชอบอ่านชอบศึกษา แนวคิดของพ่อหลวง อ่านพระบรมราโชวาท แล้วก็เก็บมาคิด ถึงขนาดทำป้ายติดเต็มโรงเรียนไปหมดเลย คราวนี้ปรัชญาของพ่ออ่านทีแรกไม่ค่อยเข้าใจนะ ค่อยๆอ่านแล้วปฏิบัติไปด้วย ก็พบว่าไม่มีอะไรยากเลย พ่อสอนให้ค่อยๆคิดค่อยๆทำ ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องลงทุนมากด้วย ก็เหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็กพอดี ที่ไม่ค่อยจะมีงบประมาณ แต่ที่นี่โชคดี ที่มีน้ำ แต่ดินไม่ค่อยดีนะ แต่พ่อก็สอนให้แกล้งดิน โรงเรียนจะทำปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงดินอยู่ตลอด ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ได้ทำตามคำพ่อสอน คือพ่อจะสอนให้พึ่งตนเอง และรู้จักพอประมาณ อย่าทำอะไรเกินตัว ที่โรงเรียนนี้ มีกิจกรรมด้านการเกษตรหลายอย่างก็จริง แต่ทำในลักษณะสาธิต ให้นักเรียนมีโอกาสได้ลงมือทำ ได้เห็นตัวอย่าง ต่อไปเมื่อเขาโตขึ้น ก็คงมีโอกาสได้พัฒนาตนเองต่อยอดออกไป ที่สำคัญเราต้องปูพื้นฐานให้เขารักงาน เข้าใจขั้นตอนและกระบวนการทำงาน ตลอดจน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งถือว่าปรัชญาของพ่อหลวง ช่วยส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี .."

" ที่ถามว่าท้อไหม ก็มีบ้าง แต่ไม่มาก บอกตัวเองว่าท้อได้แต่อย่าถอย อยู่ที่นี่ต้องเรียนรู้และต่อสู่กับปัญหาและอุปสรรค ที่มักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งเป็นปกติของโรงเรียนขนาดเล็กอยู่แล้ว เช่น ครูย้าย ครูไม่ครบชั้น ครูคนเดียวสอนหลายห้อง บางทีจะพานักเรียนไปปฏิบัติงาน เพิ่มพูนทักษะชีวิตนอกห้องเรียน คิดได้แต่ทำไม่ได้ เพราะครูไม่พอ หรือไม่ก็หมดเวลาเสียก่อน นี่คือปัจจัยภายนอกที่เป็นปัญหาเล็กๆ ที่แก้ยากมาก ส่วนปัจจัยภายในของ ผอ.เองก็คือสุขภาพไม่สู้ดีนัก ระยะหลังๆมานี้จะป่วยบ่อย บางทีใจน่ะสู้ไหว แต่ร่างกายไม่ไหว ก็เลยต้องบอกตัวเองว่า เสียอะไรเสียได้ แต่อย่าเสียกำลังใจ จะได้ทำงานเพื่อพ่อหลวงนานๆ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน แค่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำสุดความสามารถ เต็มศักยภาพที่เรามี หมั่นสร้างความดี และทำเพื่อส่วนรวม เท่านี้..ก็ถือว่าเราได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ตอบแทนคุณของพ่อหลวงแล้ว .."








หมายเลขบันทึก: 617807เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท