วิชาภาวะผู้นำ 1/2559 : กระบวนการเรียนรู้บริบท-สภาพทั่วไปของชุมชน


โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนในรายวิชาภาวะผู้นำนั้น คือการเรียนรู้ภายใต้หลักคิดอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงการ (Project base learning & Activity Based Learning) ที่เน้นการเรียนรู้คู่บริการ (Service learning) เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process) ระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน หรือภาคคีอื่นๆ เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) อย่างเป็นทีม เพื่อก่อให้เกิดการตกผลึกซึ่งความรู้และนำพาไปสู่ปัญญาปฏิบัติ (ปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำ)

การลงพื้นที่จัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต เป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการเรียนรู้ในรายวิชาภาวะผู้นำ โดยก่อนการปฏิบัติการจริง ผมและทีมงานจะออกแบบการเรียนรู้ในประเด็น "เรียนรู้บริบทชุมชน" หรือ "เรียนรู้ชุมชน" ไว้ 2 ลักษณะ ประกอบด้วยการบรรยายภาคทฤษฎีว่าด้วย 9 ข้อคิดในการเรียนรู้ชุมชน และกระบวนการเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเรียนรู้ชุมชน


วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผมนำทีมเข้าจัดกระบวนการเรียนรู้ว่าด้วยเรื่อง "ความรู้และทักษะในการเรียนรู้ชุมชน"

ในทางหลักการเช่นนี้ จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้นิสิตก่อนลงชุมชนเพื่อ "สำรวจค่าย" หรือการไป "ค้นหาโจทย์" เพื่อนำมาสู่การออกแบบกิจกรรมโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตในฐานคิดของการเรียนรู้คู่บริการ (Service learning) ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนานิสิตคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน




กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว เริ่มต้นง่ายๆ จากการเปิดคลิปนำร่องให้นิสิตได้เรียนรู้ร่วมกัน

พอเสร็จสิ้นก็เปิดประเด็นให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญว่า "ได้เรียนรู้อะไรจากคลิป-ในคลิปมีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง-ในคลิปมีบุคคลและกิจกรรมอะไรๆ ที่สำคัญบ้าง" ฯลฯ


ถัดจากนั้นก็แบ่งนิสิตออกเป็น 5 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มบอกเล่าเรื่องราวสำคัญๆ ของชุมชนบ้านเกิดตัวเองให้เพื่อนฟัง โดยให้เล่าประมาณว่าสิ่งนั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร สิ่งนั้นมีบทบาทต่อคนในชุมชนอย่างไร ซึ่งสิ่งที่นำมาสื่อสารนั้นอาจเป็นได้ทั้งสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ ประเพณีสำคัญ ตำนานและเรื่องเล่า ฯลฯ ...


แน่นอนครับ-กิจกรรมดังกล่าว กำลังประเมินว่าแท้ที่จริงแล้วนิสิตมี "ต้นทุนทางปัญญา" (Intellectual Capital) ที่เกี่ยวกับชุมชนตนเองแค่ไหน หรือในชุมชนของนิสิตมี "ต้นทุนทางสังคม" (Social Capital) อย่างไรบ้าง
หรือจริงๆ แล้วนิสิต ไม่มีองค์ความรู้ใดเกี่ยวกับตัวเอง-หรือเกี่ยวกับบ้านเกิดของตนเองเลย หากเป็นเช่นนั้นจริง คงไม่ต่างอะไรจาก "คนไร้ราก"




ไม่เฉพาะการเล่าเรื่อง หรือการบอกเล่าเรื่องราว~แบ่งปันเรื่องราวเท่านั้น ผมยังกำหนดให้สกัดเรื่องเล่าออกมาเป็น "ภาพ" ด้วยเช่นกัน พร้อมๆ กับการกำหนดให้แต่ละกลุ่มร้อยเรียงเรื่องราวเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันเท่าที่จะพึงกระทำได้ รวมถึงการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อฝึกกระบวนการสื่อสารสาธารณะ หรือการสื่อสารสร้างพลัง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) โดยให้นิสิตได้ถกถามและตอบคำถามกันเอง เหลือบ่ากว่าแรง ทั้งผมและทีมงาน ตลอดจน ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา จึงเติมเต็มแนวคิดและข้อมูลหนุนเสริมเข้าไป


กรณีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม พบประเด็นที่นิสิตนำมาบอกเล่าสู่กันฟังในหลายประเด็น เช่น

  • ประเพณี : บุญบั้งไฟ บุญผะเหวด บุญข้าวประดับดิน บุญเบิกฟ้า
  • สถานที่สำคัญเชิงความเชื่อและผีบรรพบุรุษ : ดอนปู่ตา
  • สถานที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและศาสนา : อนุสาวรีย์เจ้าเมือง หลวงพ่อพระใส วัด ประตูเมือง เจ้าเมือง
  • ตำนานมุขปาฐะ : พญาแถน ช้าง
  • อัตลักษณ์ชุมชนและวิถีวัฒนธรรมไทย : เกษตรอินทรีย์ การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ปราชญ์ชาวบ้าน/บุคคลสำคัญ
  • สถานที่ท่องเที่ยว : หนองประจักษ์ บึงพลาญชัย





ในตอนท้ายของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ผมสรปุประเด็นสำคัญๆ ให้นิสิตได้ร่วมรับรู้ หรือกระทั่งการแชร์-แลกเปลี่ยนความคิดกับนิสิตในหลายประเด็น เป็นต้นว่า

  • เรื่องราวที่นิสิตบอกเล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบ หรือบริบทชุมชนแทบทั้งสิ้น และทั้งปวงมีสถานะของการเป็น "โจทย์" การเรียนรู้ในวิถีโครงการในรายวิชาภาวะผู้นำ ซึ่ง "โจทย์" ในที่นี้ก็คือ ความต้องการของชุมชน (real need) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจุดแข็งที่นิสิตจะต่อยอดให้กับชุมชน และจุดอ่อนที่นิสิตจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน

  • เรื่องราวที่นิสิตบอกเล่านั้น คือ บริบทชุมชน (สภาพทั่วไปของชุมชน) -โครงสร้างชุมชน -ประวัติศาสตร์ชุมชน ที่เป็นเสมือน "คลังปัญญาชุมชน" หรือแหล่งความรู้ หรือต้นทุนทางสังคม (Social Capital) ที่มีในชุมชนผ่านการสั่งสมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และทั้งปวงนั้นคือ เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ชุมชน เฉกเช่นวาทกรรม "ชุมชนไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า"

  • เรื่องราวที่นิสิตบอกเล่านั้น สะท้อนให้เห็นโครงสร้างชุมชนในแบบ "บวร" ได้แก่ บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือส่วนราชการที่เกี่ยวโยงและยึดโยงอยู่ด้วยกันอย่างสนิทแน่น เสมือนการตอกย้ำว่า "ภายในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ได้มีแค่องค์กรเดียว"




  • เรื่องราวที่นิสิตบอกเล่านั้น ผมยืนยันว่าคือสิ่งที่จะทำให้นิสิตได้เข้าใจถึง "รากเหง้า" (ประวัติศาสตร์) และ "สถานการณ์จริง" ในปัจจุบันของชุมชน ซึ่งนิสิตสามารถบูรณาการมาเป็นโจทย์การเรียนรู้คู่บริการอย่างสมเหตุสมผล

  • เรื่องราวที่นิสิตบอกเล่านั้น ผมยืนยันตามวาทกรรมของผมคือ "ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้" (nowhere without knowledge and learning) อันหมายถึงทุกๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ตำนาน และความรู้ ยกตัวอย่างเช่น คน ก็เป็นความรู้ที่เราต้องเปิดใจเข้าไปเรียนรู้ สถานที่ต่างๆ ก็คือความรู้ในชุมชน เพราะสถานที่นั้นๆ จะมีบทบาทต่อการรับใช้ผู้คน หรือการกำหนดทิศทางชีวิตของผู้คนในชุมชน หรือมองในอีกมุมก็คือ ทุกอย่างยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน สรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรแยกขาดอย่างสิ้นเชิงไปจากกัน เสมือนการเรียนรู้ก็ต้องไม่แยกขาดไปจากกัน การเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนรู้ในแบบบูรณาการ และการเรียนรู้ที่ดีก็ต้องเข้าใจบริบท (สภาพทั่วไป) ของชุมชน เข้าใจโครงสร้างของชุมชน ฯลฯ

  • กระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มนั้น ผมยืนยันว่า เป็นกระบวนการฝึกทักษะการใช้เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เช่น การจัดการความรู้ร่วมกัน (Knowledge Management) หรือการจัดการความรู้ผ่านการเล่าเรื่อง/เรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) การโสเหล่สนทนา (dialogue) การซักถาม/สัมภาษณ์ (Interview) หรือกระทั่งเทคนิคในการสนทนากลุ่ม (Focus Group)






เช่นเดียวกับตอนท้ายที่ขมวดประเด็นอย่างแดกดิบว่า โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนในรายวิชาภาวะผู้นำนั้น คือการเรียนรู้ภายใต้หลักคิดอันสำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงการ (Project base learning & Activity Based Learning) ที่ว่าด้วย

  • การเรียนรู้คู่บริการ (Service learning)
  • กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process) ระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน หรือภาคคีอื่นๆ
  • การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) อย่างเป็นทีม เพื่อก่อให้เกิดการตกผลึกซึ่งความรู้และนำพาไปสู่ปัญญาปฏิบัติ (ปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำ)


ครับ-นี่คือหลักการ หลักคิด ความมุ่งหวัง ส่วนจะเกิดขึ้นได้กี่มากน้อย ต้องขึ้นอยู่กับว่านิสิต "จริงจัง-จริงใจ" กับการเรียนรู้ หรือให้ค่าความสำคัญกับการลงมือทำแค่ไหนเท่านั้นเอง





ภาพ : อติรุจ อัคมูล
เขียน : วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559

หมายเลขบันทึก: 617750เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้ฝึกนิสิตแบบนี้

จะทำให้นิสิตมีความสามารถด้านอื่นๆไปด้วย

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

นิสิตกลุ่มนี้ ใช้ภาษาอังกฤษครับ - ป็นกลุ่มแรกนำร่องในรายวิชาภาวะผู้นำ (ภาคภาษาต่างประเทศ) ก็ใหม่ทั้งคนเรียนคนสอน ปรับจูนไปพร้อมๆ กัน เน้นการเรียนเชิงรุกปฏิบัติการเป็นหลัก ...

และส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย พอมาลงเรียนวิชานี้ ก็เป็นโอกาสอันดีที่นิสิตจะได้เรียนรู้และสัมผัสจริงกับกิจกรรมที่แปลกใหม่ขึ้นบ้าง ....ครับ

เรียนอาจารย์ แผ่นดิน

ชอบมากๆกับกิจกรรมเรียนรู้แบบนี้

โคยเฉพาะ 9 แนวคิดในการจัดกิจกรรม

ขออนุญาติ นำไปทดลองให้ชุมชนได้คิด

ในวันที่ 3 นี้ วปชฬลงพื้นที่ปฎิบัติการ การท่องเที่ยวชุมชน ที่ บ้าน บากันเคย จังหวัดสตูล

ใช้เครืองมือได้หลากหลายมากค่ะ

เครื่องมือสำคัญสุด คือ "ตัวนิสิต" เองนะคะ ... ชื่นชมที่ฝึกออกไปเป็นผู้นำสังคม

คงได้เรียนรู้ที่จะมองเห็นชุมชนในแบบที่มีองค์กรเล็ก ๆ ซ่อนอยู่สัมพันธ์กันแบบเชิงซ้อน

บันทึกนี้ช่วยในการคลี่ความคิดเชิงซ้อนออกให้เห็นเป็นระบบย่อย ๆ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท