การจัดการกิจการพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบ: เรียนรู้ประสบการณ์ จากการศึกษาดูงานการบริหารกิจการคณะสงฆ์ สปป.ลาว


การจัดการกิจการพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบ: เรียนรู้ประสบการณ์จากการศึกษาดูงานการบริหารกิจการคณะสงฆ์ สปป.ลาว

Comparative Management of Sangha Affairs: Learning from the Study of the Sangha Administration of PDR. Laos

อนุวัต กระสังข์*


๑. บทนำ

บทความนี้สะท้อนบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อประชาชนชาวลาวทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ลาวได้กล่าวถึงบทบาทและวีรกรรมของพระสงฆ์ลาวที่ได้อุทิศกำลังกาย จิตใจ และภูมิปัญญาในการพัฒนาชาติทั้งในภาวะสงคราม และยามสงบ พระสงฆ์ลาวได้เริ่มมีบทบาทต่อสังคมลาวในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มมหาราช โดยการนำเอาหลักพุทธศาสนา มาอบรม สั่งสอนให้ประชาชนลาวได้ประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต หลังจากสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มมหาราช พระมหากษัตริย์ลาวทุกพระองค์ได้ถือปฏิบัติเป็นแบบอย่าง เป็นหลักการสำคัญในการปกครองประเทศ ด้วยบทบาทที่สำคัญนี้ วัดจึงกลายเป็นแหล่งวิชาความรู้ และเป็นสถาบันที่หล่อหลอม กล่อมเกลา สร้างทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในด้านวรรณคดี ศิลปกรรม วิจิตรกรรม ภาษาศาสตร์และด้านอื่นๆ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาไม่อาจตัดแยกออกจากชีวิตและจิตวิญญาณของชาวลาวได้ เพราะอยู่ยงคงคู่มากับการปกครองบ้านเมืองลาวมาโดยตลอด

พระสงฆ์ลาวในทุกยุคสมัย ก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อหลักการดังกล่าว และถือเอาหลักพุทธศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในการกอบกู้เอกราชทั้งสิ้น[๑] และพระมหากษัตริย์ในราชอาณาจักรล้านช้างยังได้ทรงแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นอาจารย์ ซึ่งเรียกกันว่า พระราชครู เพื่อถวายคำแนะนำถึงหลักและวิธีการบริหารราชการแผ่นดิน มาตลอดทุกรัชสมัย ทำให้เกิดนักปราชญ์และครูบาอาจารย์เป็นจำนวนมากที่เป็นผลผลิต (Output) ที่มาจากสถาบันทางพระพุทธศาสนา ทำให้มีผลงานทางด้านวรรณกรรม และศิลปศึกษาต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น รูปแบบและโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ลาวได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระเจ้าสามแสนไทย พระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกที่เอาใจใส่ต่อกิจการคณะสงฆ์ (Sangha Affair) ทำให้การปกครองคณะสงฆ์ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ปรับปรุงการปกครองต่อเนื่องจนถึงรัชสมัยพระเจ้าวิชุนนะราช การศึกษาคณะสงฆ์มีความเจริญก้าวหน้ามาก วรรณกรรม วรรณคดีต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างมากในสมัยนี้ พระพุทธศาสนาได้รับความเจริญในนครหลวงแล้ว ยังได้รับการเผยแผ่ออกไปสู่หัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น เมืองเวียงจันทน์ เวียงคำ และเชียงขวาง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าโพธิสารราช ก็ได้ให้ความสำคัญในการปกครองและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนได้มีพระบรมราชโองการ ยกเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติลาวมานับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

๒. การบริหารงานคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการศึกษาดูงานการบริหารกิจการคณะสงฆ์ มีการจัดสัมมนาการจัดการกิจการพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบ โดยนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ โดยมี ๑.พระอาจารย์สีเมือง วงทะทองคำ หัวหน้าห้องการพัฒนาครู วิทยาลัยครูสงฆ์จำปาสัก สปป.ลาว ๒.ท่านไกรยาลัก ดวงปัญญา รองหัวหน้าวิชาการ วิทยาลัยครูสงฆ์จำปาสัก สปป.ลาว ๓.พระครูสิริภัททราภรณ์ ตัวแทนนิสิตและ ๔.อาจารย์ ดร.อนุวัต กระสังข์ อาจารย์ประจำรายวิชาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนา สรุปองค์ความรู้จากการสัมมนาได้ดังนี้

๑. การบริหารด้านการปกครอง

ตามกฎระเบียบการดำเนินงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวที่ได้ผ่านการประชุมสมัยวิสามัญ พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีมติตกลงรับรองรูปแบบการบริหารงานคณะสงฆ์มีกรรมาธิการคือ กรรมาธิการการเมือง กรรมาธิการเศรษฐกิจ กรรมาธิการวัฒนธรรม ใน ๓ กรรมาธิการนั้นได้แบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติอย่างชัดเจน คือ

๑. กรรมาธิการการเมือง จะต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เผยแผ่การปกครอง

๒.กรรมาธิการเศรษฐกิจ มีหน้าที่ทำงบประมาณในการบริหารงานองค์การและต้องประสานงานเกี่ยวกับงบประมาณกับกรมการศาสนาที่ขึ้นกับแนวลาวสร้างชาติ โดยประสานงานกับรัฐบาลคือจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณการประชุม การปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาโดยจะต้องลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนั้นก็จะต้องมีงบประมาณในการจัดตั้งการประชุม การเลือกตั้งเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศตามมติตกลงของการประชุมใหญ่ พ.ศ. ๒๕๑๘

๓. กรรมาธิการวัฒนธรรม รับผิดชอบการศึกษา การสาธารณสุขของพระสงฆ์ งานด้านวรรณคดี ตำรา หลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละกรรมาธิการนั้น ได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นบุคคลและจัดสรรหน้าที่ตำแหน่งตามความรู้ความสามารถ การปกครองคณะสงฆ์ขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาวนั้นได้แบ่งสมาชิกขององค์การออกเป็น ๓ ประเภท

๑. สมาชิกกิตติมศักดิ์

๒. สมาชิกแก่นสาร

๓. สมาชิกสามัญ

ภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ที่นับถือพระพุทธศาสนาล้วนแต่มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกขององค์การนี้ได้ แต่จะต้องมีเงื่อนไขถูกต้อง คือมีอายุ ๑๔ ปีขึ้นไป มีสัญชาติลาว มีชีวประวัติอย่างชัดเจนมีจิตใจรักชาติรักศาสนา องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ระดับศูนย์กลาง มีอายุประจำการ ๕ ปี

๒. ระดับจังหวัด มีอายุประจำการ ๔ ปี

๓. ระดับเมือง มีอายุประจำการ ๓ ปี

รูปแบบการบริหารงานของศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวมีดังนี้

- ประธานองค์การ มี ๑ รูป

- รองประธาน มี ๑ หรือ ๒ รูป

- เลขาธิการ มี ๑ รูป

- รองเลขาธิการ มี ๑ รูป

- คณะกรรมาธิการ มี ๕ ถึง ๗ รูป

- คณะประจำศูนย์กลางองค์การมี ๑๓ ถึง ๑๕ รูป

- คณะกรรมการศูนย์กลางองค์การ มี ๓๕ รูป

สมาชิกองค์การรูปใดที่ละเมิดกฎระเบียบมติคำสั่งไม่ปฏิบัติตามต่อแนวทางนโยบายองค์การหรือธรรมวินัยและกฎหมายของรัฐบาล จะต้องถูกพิจารณาโทษตามความเหมาะสม อิงตามสภาพเงื่อนไขตัวจริงองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้วางโครงการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน คือด้านการปกครองภิกษุสามเณรต้องเคารพธรรมวินัยปฏิบัติสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในขอบเขตพระธรรมวินัย เคารพพระเถระตามลำดับอาวุโสดำเนินการปกครองแบบประชาธิปไตย มีความยุติธรรม ความเสมอภาค โดยยึดถือความสามัคคีบนพื้นฐานความรักชาติและรักพระพุทธศาสนา ในด้านการเมืองโดยยึดมั่นทัศนะที่ถูกต้อง พระสงฆ์สามเณรลาวต้องได้รับสิทธิผลประโยชน์ทางการเมืองเสมอภาคกันปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย ยกระดับความรับรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ติดตามสภาพการณ์ภายในและต่างประเทศ ปฏิบัติงานตามกำลังความสามารถเพื่อสนับสนุนในการปฎิบัติภารกิจของชาติ มีสิทธิ์เข้าร่วมขบวนการมหาชนที่ก้าวหน้า ในด้านการต่างประเทศจะต้องยึดหลัก ๕ ประการ ร่วมกันโดยสันติวิธีสร้างความสัมพันธ์อันดีกับองค์การจัดตั้งพุทธศาสนาและบรรดาองค์การจัดตั้งอื่นๆ ที่ก้าวหน้าในโลก มีส่วนร่วมในปกปักษ์รักษาสันติภาพในภาคพื้นเอเชียและในโลก

การประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้ยังได้มีมติเพิ่มเติมอีก ๑๓ ข้อ ในข้อที่ ๓ มีข้อความเกี่ยวกับลิทธินิกายของพระสงฆ์ลาวว่าพระสงฆ์สามเณรในประเทศลาว ไม่มีการจำแนกลัทธินิกายไม่ให้พูดหรือเขียนว่ามหานิกายหรือธรรมยุต นอกจากที่มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเท่านั้น พระสงฆ์สามเณรลาวเป็นเอกภาพกันตามพระธรรมวินัย ให้เรียกว่าพระสงฆ์สามเณรลาว ข้อ ๔ มีข้อความว่า พระสงฆ์สามเณรลาวในทั่วประเทศย่อมมีอิสรภาพตามกฎหมายเท่ากับประชาชนพลเมืองลาวตามพระธรรมวินัย สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองตามกฎหมาย[๒]

ที่จริงแล้วการบริหารงานการปกครองคณะสงฆ์ก็มีจุดอ่อนและข้อบกพร่อง เนื่องจากว่าผู้บริหารงานไม่เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ตามการแต่งตั้งและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่เนื่องมาจากสาเหตุที่ขาดความรู้ความเข้าใจในสภาพการณ์ที่ตนเองปกครองอยู่ การปกครองคณะสงฆ์ที่พระมหาเถระทั้งหลายจะต้องเอาใจใส่ในเหตุการณ์เฉพาะหน้าดังนี้

๑. พระสงฆ์จะต้องปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้มีความตื่นตัวทางด้านการเมือง ให้พวกเขาได้เข้าใจในการเป็นเจ้าของประเทศชาติ

๒. พระสงฆ์และคฤหัสถ์จะต้องร่วมมือกันในการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของพรรคและรัฐบาล สำหรับพระสงฆ์จะต้องประพฤติตามหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา

๓. พระสงฆ์และคฤหัสถ์จะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน โดยเฉพาะพระสงฆ์จะต้องแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติหน้าที่ของตน

๔. พระสงฆ์และคฤหัสถ์จะต้องให้ความร่วมมือในการศึกษาวัฒนธรรมและสาธารณสุข พระสงฆ์จะต้องช่วยสอนประชาชนให้พวกเขาได้เข้าใจในหลักศีลธรรม

๕. พระสงฆ์และคฤหัสถ์จะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอโดยการแสวงหาความรู้เพื่อร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่ ในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม[๓]

ตามเอกสารแผนการการปฏิบัติงาน ๕ ปี ขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้วางแผนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๙ ได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารงานให้มีความชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการแบ่งอำนาจหน้าที่ การปกครองระดับศูนย์กลาง คณะกองเลขาต้องไปทำงานที่สำนักงานทุกวัน ทุกๆ เดือนต้องมีการประชุมและทุก ๆ ปีต้องมีการประชุมประจำปี เพื่อทบทวนผลการปฏิบัติงานว่าที่ผ่านมาได้ประสบผลสำเร็จและล้มเหลวในหน้าที่อะไรบ้าง การปกครองระดับจังหวัดทุก ๆ สามเดือนจะต้องให้มีการประชุมเป็นประจำ พระมหาเถระทุกรูปที่มีหน้าที่รับผิดชอบศึกษาอบรมทางด้านแนวคิดการเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เจ้าคณะจังหวัดจะต้องแก้ไขปัญหานั้นให้ทันกับสภาพการณ์ ให้ถือปฏิบัติตามแผนการ ๕ ปีนี้ผสมกับแผนบริหารงานในคณะจังหวัดทุกๆ ๕ เดือนจะต้องสรุปผลการปฏิบัติงานและส่งให้ศูนย์กลางรับทราบ

นอกจากนี้คณะปกครองระดับจังหวัดจะต้องทำแผนงบประมาณและให้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทุก ๆ จังหวัดจะต้องจัดให้มีห้องสมุดสำหรับเจ้าคณะเมืองก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับคณะจังหวัด เพราะเป็นการปกครองท้องถิ่นของคณะสงฆ์ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้ในท้องถิ่นและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมนี้ก็ต้องนำประชาชนปฏิบัติตามประเพณีอันดีงามและพยายามกำจัดปัญหาในการเชื่อถือที่ขาดเหตุผลของประชาชน[๔]

สรุป การบริหารงานด้านการปกครองคณะสงฆ์ลาวจาก พ.ศ. ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบัน องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้ใช้กฎระเบียบและมติของการประชุมธรรมวินัย ธรรมนูญปกครองสงฆ์ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการปกครองคณะสงฆ์ โดยประสานความร่วมมือจากรัฐบาลเช่นการจัดฝึกอบรมรับฟัง การเผยแผ่นโยบายการบริหารประเทศ ของรัฐบาลทั้งนี้ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้เข้าใจแนวทางการเมืองของรัฐบาลลาว กรมการศาสนาที่สังกัดแนวลาวสร้างชาติ ได้มีบทบาทโดยตรงในการประสานงาน จากภาครัฐและต่างประเทศเพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานของคณะสงฆ์ลาว การปกครองคณะสงฆ์ได้ปรับปรุงทางด้านโครงสร้าง และแต่งตั้งพระมหาเถรที่มีความรู้ทางธรรมวินัยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานด้านการปกครองคณะสงฆ์ตามความจำเป็นที่มีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในองค์การสงฆ์และปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะในระยะปัจจุบันนี้ การปกครองคณะสงฆ์ลาวได้นำใช้ธรรมนูญปกครองสงฆ์กฎระเบียบสังฆาณัติ ในการปกครองคณะสงฆ์มติของพรรคและรัฐบาลลาวที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์ลาว

๒. การบริหารด้านการศึกษา

การศึกษาของคณะสงฆ์ลาวนั้นในระยะแรกหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๕๑๘ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้จัดการศึกษาของคณะสงฆ์ร่วมในคณะกรรมาธิการวัฒนธรรม ดำเนินการศึกษาตามหลักประชาธิปไตยของประชาชน การศึกษาของพระสงฆ์สามเณรนอกจากศึกษาธรรมวินัยแล้วยังจะต้องศึกษาความรู้รอบตัวที่มีลักษณะรักชาติ การศึกษาทุกระดับโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีคุณภาพและต้องมีการปรับปรุงระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าทางสังคม คณะกรรมาธิการการศึกษาได้พยายามให้พระสงฆ์สามเณรได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑ ขององค์การพุทธศาสนาได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการมีพระมหาเถระ ๔ รูป

พร้อมนี้องค์การพุทธศาสนายังได้มีมติข้อที่ ๙ ยังได้กล่าวไว้เกี่ยวกับโรงเรียนบาลีชั้นประถม และโรงเรียนบาลีชั้นมัธยม ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการปกครองระดับจังหวัดเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สำหรับการศึกษาที่สูงกว่านั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ[๕] ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาวได้ออกข้อตกลงแต่งตั้งคณะกรรมรับผิดชอบการศึกษาอบรมฝึกอบรมครูสอน ให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้อำนวยการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาอบรมครูพระ[๖] คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำการอบรมครูพระที่จะไปสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจแนวทางนโยบายการศึกษาของรัฐบาลลาว โดยความเป็นจริงแล้วการศึกษาของคณะสงฆ์ในเวลานั้นได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากกระทรวงศึกษา กีฬา และธรรมการ ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงเลขที่ ๙๘ ของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการแต่งตั้งคณะอำนวยการโรงเรียนพระสงฆ์ คณะกรรมการชุดนี้ได้แบ่งอำนาจหน้าที่ออกเป็น ๓ แผนก

๑. แผนกปกครอง

๒. แผนกวิชาการ

๓. แผนกการเมือง

โดยมีมติร่วมกันดังต่อไปนี้

๑. สำหรับชั้นประถมให้เรียนตั้งแต่ประถม ๓ ขึ้นไป เนื่องจากว่าพระสงฆ์สามเณรลาวส่วนมากมีความรู้อยู่แล้ว กรรมการจึงทำหลักสูตรเท่ากับชั้นประถมเพียง ๓ ปี และเรียนวิชาธรรมวินัย โดยใช้พุทธประวัติประกอบเข้าในการสอนธรรมะ ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีในการสอนวินัย เพื่อทำให้นักเรียนชั้นที่ ๑ มีความเคยชินต่อคำศัพท์ภาษาบาลี

๒. สำหรับชั้นมัธยมใช้หลักสูตรพุทธศาสนาเข้า ๒ วิชา คือวิชาธรรม และวิชาบาลี โดยแปลคำศัพท์ที่ใช้ในพิธีสังฆกรรมต่างๆ ทางวินัยสงฆ์และหลักไวยากรณ์

๓. โรงเรียนสร้างครูชั้นอุดม ใช้หลักสูตรทางพระพุทธศาสนา ๒ วิชา คือ วิชาแปลพระอภิธรรม และวิชาไวยากรณ์บาลี

คณะกรรมการชุดนี้สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักสูตรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้การเรียนการสอนของพระสงฆ์สามเณรได้มีความต่อเนื่อง[๗] สำหรับนิตยภัตรและเงินเดือนครูสอนสำหรับพระสงฆ์สามเณรหรือคณะศึกษาสงฆ์และคณะอำนวยการโรงเรียนมีสิทธิได้รับนิตยภัตรดังต่อไปนี้

๑. หัวหน้าคณะอำนวยการศึกษาสงฆ์ทั่วประเทศ ได้รับเดือนละ ๒,๕๐๐ กีบ คณะอำนวยการได้รับรูปละ ๒,๐๐๐ กีบ

๒. หัวหน้าคณะศึกษาสงฆ์จังหวัด หัวหน้าคณะอำนวยการสร้างครูสงฆ์ชั้นกลางและหัวหน้าคณะอำนวยการโรงเรียนอุดมศึกษาสงฆ์ ได้รับเดือน ๒,๐๐๐ กีบ และ ๑,๗๐๐ กีบ

๓. หัวหน้าคณะอำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาสงฆ์ได้รับเดือนละ ๑,๗๐๐ กีบ และคณะ ๑,๕๐๐ กีบ

๔. หัวหน้าโรงเรียนประถมศึกษาสงฆ์ได้รับเดือนละ ๑,๕๐๐ กีบ

สำหรับครูสอนชั้นอุดมศึกษาได้รับเดือนละ ๒,๐๐๐ กีบ ครูสอนชั้นมัธยมศึกษา ได้รับเดือนละ ๑,๓๐๐ กีบ คณะอำนวยการและครูสอนโรงเรียนสร้างครูชั้นกลาง เป็นภาระหน้าที่ของกรมธรรมการเป็นผู้จัดงบประมาณให้โรงเรียนพระสงฆ์ที่ขึ้นกับศูนย์กลางโรงเรียนพุทธศาสนาโดยตรง มี ๒ โรงเรียน คือ

๑. โรงเรียนสร้างครูสงฆ์ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต้นตั้งอยู่วัดองค์ตื้อมหาวิหาร

๒. โรงเรียนอุดมศึกษาสงฆ์ ตั้งอยู่วัดพระธาตุหลวงเหนือ

เพื่อให้การศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีคุณภาพทางกระทรวงศึกษาและรัฐบาลลาวได้ให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ให้คณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ได้ปรับปรุงโรงเรียนพระสงฆ์ที่มีอยู่แล้วให้มีเงื่อนไขอำนวยความสะดวกต่อการเรียนการสอนตามหลักสูตรของโรงเรียนสร้างครูสงฆ์ ตรวจตรารวบรวมสถิติเพื่อให้เกิดความถูกต้องในการบริหารคณะสงฆ์ให้มีคุณภาพดีขึ้นทีละก้าว[๘]

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้ให้คณะกรรมาธิการศึกษาสงฆ์จัดการประชุมเพื่อแก้ไขหลักสูตรทางพระพุทธศาสนาตามทิศทางยุทธศาสตร์ของการศึกษา จาก
พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้การเป็นประธานของอาจารย์ผ่อง สมฤก ประธานคณะกรรมการค้นคว้าปรัชญาพระพุทธศาสนา การประชุมได้ตกลงเป็นเอกภาพกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรทางพระพุทธศาสนา ๔ วิชา คือ ธรรมประยุกต์ วินัย บาลีสันสกฤต และประวัติพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับสภาพและจุดพิเศษของการศึกษาสงฆ์ในระยะใหม่[๙]

อิงตามแผนการ ๕ ปี ครั้งที่ ๑ ขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้มอบหน้าที่ให้ พระมหาวิจิตร สิงหาราช เป็นประธานคณะอำนวยการโรงเรียนอุดมศึกษาสงฆ์ และพระมหาผ่อง สมฤก เป็นประธานคณะอำนวยการโรงเรียนสร้างครูสงฆ์ มีบทบาทภาระหน้าที่ จะต้องพัฒนาการศึกษาคณะสงฆ์ให้มีความเจริญก้าวหน้าตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

การประชุมใหญ่ของคณะสงฆ์ครั้งที่ ๓ นี้ยังได้รับรองโครงการดำเนินงานโดยเฉพาะการศึกษาของคณะสงฆ์จะต้องร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนขึ้นตั้งแต่ประถมศึกษาถึงชั้นอุดมศึกษา และโรงเรียนสร้างครูสงฆ์ การนำเอาวิชาพระพุทธศาสนาเข้าไปสอนในโรงเรียนครูสงฆ์จะต้องเลือกเฟ้นให้เหมาะกับสภาพการณ์ คณะกรรมการศึกษาสงฆ์ในแต่ละระดับจะต้องมีนโยบายสร้างโรงเรียนให้พระสงฆ์สามเณรได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง รักษาธรรมเนียมประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่โบราณกาลนั้น การจะทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาสงฆ์จะต้องสืบต่อลบล้างการไม่รู้หนังสือคืออ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ( ภาษาลาว เรียกว่า กืกหนังสือ) ส่งเสริมพระสงฆ์สามเณรที่มีความรู้ความสามารถให้เป็นครูสอนเพื่อให้ลูกหลานได้เล่าเรียนตามกำลังความสามารถ[๑๐]

หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ใช้นโยบายจิตนาการใหม่ ได้กำหนดแจ้งนโยบายต่อพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ผูกพันกับสังคมคนลาวมายาวนาน มติกองประชุมใหญ่ของศูนย์กลางพรรคได้ระบุไว้ว่ารัฐจะสืบต่อส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์และขยายระบบโรงเรียนสงฆ์ให้ดีขึ้นโดยมีเนื้อนัยทางธรรมและทางโลกพร้อมกันนี้รัฐก็จะสร้างเงื่อนไขให้พระสงฆ์สามเณรได้ประกอบส่วนในการสร้างสาธารณประโยชน์ และภารกิจในการพัฒนาประเทศชาติ[๑๑]

กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะการปรับปรุงการศึกษาสงฆ์เพื่อยกสถานะโรงเรียนสร้างครูสงฆ์ขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์ โดยข้อตกลงเลขที่ ๔๔๙/สส พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย พระเถระจากองค์การพุทธศาสนา นักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่จัดตั้งโครงการหลักสูตรวิทยาลัยสงฆ์เพื่อส่งเสริมพระสงฆ์สามเณรให้มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่พุทธศาสนาและผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ในหน้าที่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้พระสงฆ์สามเณรเป็นผู้มีคุณภาพทางด้านแนวคิดและการปฏิบัติงาน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเห็นว่าพระสงฆ์ลาวได้มีส่วนร่วมในแก่การพัฒนาประเทศ คณะกรรมการร่างหลักสูตรได้จัดทำหลักสูตรของวิทยาลัยสงฆ์จนสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยจึงทำการเปิดเรียนในปี พ.ศ. ๒๕๓๙[๑๒] อิงตามบทสรุปผลการปฏิบัติงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้สรุปเกี่ยวกับการศึกษาสงฆ์มีโรงเรียนชั้นมัธยมทั้งหมด ๒๓ แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนมัธยมตอนปลายทั่วประเทศ ๔ แห่ง ในนครหลวงเวียงจันทน์มีโรงเรียนวิทยาลัยสงฆ์ทั้งหมด ๔ แห่ง[๑๓]

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ขึ้น คณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ ได้กล่าวว่าโรงเรียนพระสงฆ์ทั้งหมดทั่วประเทศมี ๕๖ แห่ง ครูอาจารย์มีทั้งหมด ๔๐๙ คน โรงเรียนมัธยมสงฆ์ตอนปลาย ๔ แห่ง ครูอาจารย์ ๙๐ คน มีนักเรียนทั้งหมด ๓,๗๕๙ รูป วิทยาลัยสงฆ์ ๑ แห่ง ครูอาจารย์ ๓๐ คน มีนักเรียนทั้งหมด ๗๐ รูป และมีนักเรียนพระสงฆ์ลาวที่กำลังเรียนอยู่ประเทศพม่า ๙ รูป นักเรียนพระสงฆ์ลาวอยู่ประเทศไทย ๑๙ รูป[๑๔]

ในบทสรุปนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาได้ยอมรับว่าการศึกษาสงฆ์นั้นยังมีปัญหาการขยายตัวช้า ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบันนี้ และยังมีปัญหาด้านคุณภาพ หลักสูตรและตำราเรียนยังไม่ได้คุณภาพและพอเพียงต่อความต้องการเพื่อจัดตั้งปฏิบัติมติศูนย์กลางพรรคว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่พยายามยกคุณภาพการศึกษาสงฆ์ให้สูงขึ้น คณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ได้กำหนดหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ ให้นักเรียนเรียนวิชาทางวิชาทางพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรที่คณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ได้จัดทำขึ้น และให้เรียนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้ เช่น อักษรศาสตร์ วิชาวรรณคดี วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ คณะกรรมาธิการศึกษาสงฆ์จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาของรัฐบาลเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดความสะดวกแก่การศึกษาสงฆ์ และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาสงฆ์ให้ได้คุณภาพ ฝึกอบรมพระสงฆ์ให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักวิชาครู พร้อมกันนี้ก็จะต้องหางบประมาณที่เป็นนิตยภัตรแก่ครูที่เป็นพระสงฆ์[๑๕]

สำหรับแผนขยายโรงเรียนของคณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ ได้ทำการขยายโรงเรียนสงฆ์ให้มีขึ้นหลายจังหวัด เช่น จังหวัดจำปาศักดิ์ ได้สร้างโรงเรียนพุทธศิลปะ ๑ แห่ง และโรงเรียนปริยัติธรรม ๑ แห่ง พร้อมกันนี้ก็ได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ และสร้างวิทยาลัยสงฆ์จำปาศักดิ์ขึ้น ๑ แห่ง นอกจากนี้ยังมีการขยายโรงเรียนมัธยมปลายศึกษาตอนปลายสงฆ์ขึ้นอีก เช่น จังหวัดคำม่วน ๑ แห่ง อุดมชัย ๑ แห่ง เวียงจันทน์ ๑ แห่ง สำหรับจังหวัดสุวรรณเขตได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้น ๒ แห่ง โดยมอบภาระหน้าที่ให้คณะศึกษาสงฆ์ประจำจังหวัดรับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสงฆ์ในจังหวัดของตนให้มีความก้าวหน้า ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าจังหวัดสุวรรณเขตมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการศึกษาสงฆ์

สำหรับคณะกรรมาธิการการศึกษาได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยปรับปรุงโครงสร้างพัฒนาบุคลากรสร้างโรงเรียนให้เพียงพอต่อการขยายตัวและเพิ่มขึ้นของจำนวนนักเรียนทั้งพระภิกษุและสามเณร นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาสงฆ์ยังได้มีแผนนโยบายสนับสนุนให้นักศึกษาสงฆ์ลาว ขอทุนเรียนฟรีจากรัฐบาลและคณะสงฆ์พม่าและประเทศไทยเห็นได้ว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ถึงจะมีการขยายตัวช้าแต่ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

๓. คณะบริหารด้านการเผยแผ่

สำหรับคณะกรรมาธิการเผยแผ่ ศาสนาขององค์การพุธศาสนาสัมพันธ์ลาวหลังเปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครองลาว พ.ศ.๒๕๑๘ ได้จัดการประชุมใหญ่ขึ้นได้มีมติรับรองโครงการดำเนินงาน และคณะบริหารงานศูนย์กลางพระพุทธศาสนารับรองมติแต่งตั้งพระเถระรับหน้าที่ตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมาธิการเผยแผ่มีคณะกรรมาธิการ

คณะกรรมการเผยแผ่ นี้มีหน้าที่จัดทำแผนงานและโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับการเมืองการปกครองและแนวทางของรัฐบาล โดยนำเอาหลักศีลธรรมทางศาสนาประสมประสานกับสภาพการตัวจริงเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมให้ประชาชนเลิกการเชื่อถืองมงาย เช่นการเชื่อถือผีและ พราหมณ์[๑๖] โดยความเป็นจริงแล้ว การเทศนาเผยแผ่ ก็เป็นหน้าที่พระภิกษุสงฆ์ แต่ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาที่อยู่ในสภาพหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจสภาพการตัวจริงโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตของประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้มีมติแต่งตั้งศูนย์สัมมนาสงฆ์ขึ้น หนึ่งคณะเพื่อเป็นสถานที่อบรมให้แก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร[๑๗]

อิงตามผลสรุปจากการประชุมขององค์การพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้สรุปการเผยแผ่พุทธศาสนามีดังนี้ คือได้เทศนาทางวิทยุเป็นประจำและได้จัดตั้งคณะกรรมการลงไปประสานสมทบกับองค์การปกครองท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในทุกระดับ และจัดตั้งคณะกรรมการเทศนาขึ้น ๑ คณะ นำโดยพระอาจารย์มหาผ่อง สมฤกษ์ หลังจากดำเนินการได้หลายปีคณะกรรมการนี้ได้จัดพิมพ์หนังสือสำหรับการเทศนาออกหลายเล่ม และได้จัดทำแผนนโยบายไว้เป็นหลักการในการเผยแผ่ศีลธรรม คือ

-พระสงฆ์สามเณรจะต้องรู้จักประยุกต์หลักศีลธรรมทางด้านพุทธศาสนาเพื่อประยุกต์ใช้กับแนวทางการเมืองของรัฐบาล

-การเผยแผ่ศีลธรรมทางพุทธศาสนาต้องมีการกลั่นกรองเลือกเฟ้นสิ่งที่เป็นสัจธรรม เพื่อให้ประชาชนได้หลุดพ้นออกจากการเชื่อถืองมงายไร้เหตุผล

-พิธีการทางพระพุทธศาสนาต้องไม่อยู่ในลักษณะฟุ่มเฟือย จำแนกออกจากศาสนาพราหมณ์และผีออกจากศาสนาพุทธ

-การเทศนาแต่ละครั้งจะต้องให้สอดคล้องกับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความสามัคคีรู้จักพึ่งตัวเอง[๑๘]

จากบทสรุปรายงานผลการปฏิบัติงาน ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้สรุปผลการเผยแผ่ไว้ทุกจังหวัดได้ตั้งหน้าเทศนาอบรมเผยแผ่ศีลธรรมอย่างกว้างขวาง โดยมีประชาชนให้ความเคารพและเชื่อถือปฏิบัติตามหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าคนลาวนั้นได้เชื่อถือศาสนามาช้านาน การเทศนาเผยแผ่ทางด้านศีลธรรมให้ประชาชนนั้นสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขาได้เป็นอย่างดี[๑๙]

ในระยะนี้การเผยแผ่ศีลธรรมทางด้านพระพุทธศาสนานั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลลาว เพราะพระสงฆ์สามเณรมีบทบาทสำคัญต่อสังคมลาว องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้จัดตั้งคณะกรรมการเผยแผ่ศีลธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ขึ้น ๑ คณะ คณะกรรมการเผยแผ่มีสิทธิและหน้าที่ดังต่อไปนี้

๑. ทำการศึกษาอบรมศีลธรรมให้แก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้ความเข้าใจในพุทธศาสนา

๒. จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการเทศนาปาฐกถาธรรมที่สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐบาล

๓. ค้นคว้าและเรียบเรียงหนังสือเทศนาประยุกต์เข้ากับแนวทางนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

๔. จัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นในท้องถิ่นที่เหมาะสม โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเงื่อนไขอำนวยความสะดวก

๕. ปรับปรุงเรียบเรียงหนังสือศาสนพิธีและพิมพ์เผยแผ่ทั่วประเทศ[๒๐]

การดำเนินการขององค์การสงฆ์เพื่อปฏิบัติตามแผนการ ๕ ปีของรัฐบาล ครั้งที่ ๒ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อรับประกันผลสำเร็จในหน้าที่ของตน ประกอบส่วนเข้าในการปฏิบัตินโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล คณะบริหารงานคณะสงฆ์ทุกระดับได้ทำการเทศนาโฆษณาอธิบายให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจว่าในปัจจุบันนี้การปกปักษ์รักษาประเทศชาติต้องมีสติระวังตัวรักษาเอกราชอธิปไตยและผืนแผ่นดินของชาติ พระมหาเถระทุกระดับได้ช่วยปลุกระดมลูกหลานประชาชนให้สมัครใจร่วมกันป้องกันชาติ[๒๑]

อิงตามการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้กำหนดนโยบายในการเผยแผ่ไว้ดังนี้

๑. การเทศนาเผยแผ่ศีลธรรมโฆษณาอบรมนั้นมีจุดประสงฆ์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจหลักศีลธรรมทางด้านพระพุทธศาสนาและนโยบายของรัฐบาล

๒. การเทศนาหรือการโฆษณาอบรมนั้นเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์สามเณรที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนา แต่ก็จะต้องเลือกเฟ้นเอาหลักธรรมคำสอนทางด้านพระพุทธศาสนา ที่มันสอดคล้องกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงในเวลานี้

๓. การเทศนาหรือศึกษาอบรมประชาชนต้องมีเป้าหมายทำให้ประชาชนเลิกการเชื่อถือสิ่งที่ไร้เหตุผล ไม่หมกมุ่นในอบายมุขละเลิกจากการพนัน

๔. บทเทศนาต้องแก้ไขปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรมทำให้ประชาชนปฏิบัติเบญจศีลและเบญจธรรม

๕. บทเทศนาแต่ละบทให้มีจุดประสงฆ์ส่งเสริมมูลเชื้อสามัคคี ทำให้ประชาชนมีความขยันในการทำมาหาเลี้ยงชีพ[๒๒]

การเผยแผ่ศีลธรรมทางพุทธศาสนานั้น นอกจากจะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชน ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้นิมนต์พระสงฆ์ให้เข้าร่วมสัมมนาหรือปาฐกถาธรรม เพื่อเผยแผ่บทบาทพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมลาว เช่นกระทรวงวัฒนธรรมได้นิมนต์พระเถระไปร่วมสัมมนาเพื่อรับฟังแนวคิดของพระสงฆ์ผู้มีบทบาทชี้นำนำพาประชาชนลาวให้เกิดความตื่นตัวทางด้านการเมือง และร่วมกันในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ เพราะไม่ว่าอยู่ในสภาพการณ์ใดๆ ก็ตาม เช่น เมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขปราศจากภัยสงคราม พระสงฆ์ก็ยังมีบาทและอิทธิพลต่อสังคมลาวเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ ดังนั้นบทบาทของพระสงฆ์จึงได้การยอมรับเป็นที่กว้างขวางจากประชาชนและผู้นำรัฐบาล[๒๓]

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้จัดการประชุมใหญ่ขึ้นอีกครั้งเพื่อทบทวนผลงานในปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการเผยแผ่ศีลธรรมทางพุทธศาสนา ที่ได้รับการปรับปรุงสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยดีเสมอมา ภายใต้การเป็นประธานของพระอาจารย์ชาดี กนฺตสีโล ได้จัดโครงการขึ้น ๒ โครงการ

๑. โครงการฝึกอบรมพระธรรมกถึก ได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ ได้เปิดการฝึกอบรมพระธรรมกถึกขึ้นที่วัดพุทธวงศาป่าหลวง มีพระสงฆ์สามเณรเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน ๙๒ รูป โดยใช้เวลาในการฝึกอบรมอยู่ ๕๔ วัน ต่อมาก็ได้ฝึกอบรมอีกเป็นครั้งที่ ๒ มีพระสงฆ์สามเณรเข้าร่วมอีก ๕๑ รูป ที่มาจาก ๑๗ จังหวัดทั่วประเทศ การฝึกอบรมได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนและมีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้เข้าสู่จิตใจของประชาชน และให้พระสงฆ์สามเณรรักษาประเพณีระเบียบวินัยของพระสงฆ์ไว้ให้มั่นคง การฝึกอบรมได้ใช้เวลา ๒๒๐ วัน โครงการนี้ได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

๒. โครงการอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๐ ได้เปิดการอบรมการฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานในนครหลวงเวียงจันทน์ ปรากฏว่าได้มีประชาชนลาวสนใจเข้าร่วมปฏิบัติอย่างมากมาย โดยเฉพาะการฝึกอบรมขึ้นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น การจัดฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นได้ใช้ระยะเวลาเรียน ๗ วัน ได้มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติ ๒,๘๕๙ คน พระสงฆ์ ๘๓๖ รูป สามเณร ๔๙๔ รูป ประชาชน ๑,๕๑๔ คน พิเศษยังมีชาวต่างประเทศสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมตัวจริง ๓๑ คน

การจัดฝึกอบรมธรรมกถึกและวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นได้จัดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้พวกเขาได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา[๒๔]

ตามโครงการดำเนินงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว โดยรับรองจากการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ คณะกรรมาธิการเผยแผ่ได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. คณะเผยแผ่แต่ละระดับจะต้องทำการฝึกอบรมธรรมกถึกและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมในการปฏิบัติ

๒. พระมหาเถระทุกรูปที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเผยแผ่ จะต้องฝึกอบรมพระสงฆ์สามเณรที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนให้พวกเขาได้เรียนรู้หลักธรรมให้เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

๓. สำนักเผยแผ่ทุกระดับต้องเลือกเฟ้นเอาหลักศีลธรรมประยุกต์เข้ากับสภาพการตัวจริง เพื่อให้การเทศนาแต่ละครั้งได้ประสบผลสำเร็จ

๔. คณะเผยแผ่ต้องร่วมมือกับองค์การปกครองฝ่ายบ้านเมือง อำนวยความสะดวกในการเผยแผ่ศีลธรรมของพระสงฆ์และให้ประชาชนเคารพระเบียบกฎหมายของบ้านเมือง[๒๕]

เพื่อให้มีหลักการในการปฏิบัติงานของกรรมาธิการบริหารงานคณะสงฆ์องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้นำใช้ธรรมนูญปกครองสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเผยแผ่ มีดังต่อไปนี้

๑. จัดตั้งสังฆบัญญัติ สังฆาณัติ กฎระเบียบในการดำเนินงานเผยแผ่ศีลธรรม ฝึกอบรมธรรมกถึก และวิปัสสนากัมมัฏฐานในทั่วประเทศ

๒. การพัฒนาบุคลากร เช่น วิปัสสนาจารย์ ต้องให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ทุกจังหวัดต้องมีวิปัสสนาจารย์ประจำ

๓. นำใช้วิปัสสนาจารย์ผู้มีประสบการณ์เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ

๔. ชี้นำในการจัดพิมพ์ตำราเกี่ยวกับการเผยแผ่ศีลธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาปฏิบัติ[๒๖]

สำหรับองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้ถือเอางานทางด้านการเผยแผ่ศีลธรรมเป็นงานหลักและให้ความสำคัญแก่คณะกรรมาธิการเผยแผ่ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการการเผยแผ่จากระดับศูนย์กลางถึงระดับอำเภอ และจัดให้มีศูนย์อบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานในนครหลวงเวียงจันทน์และตามจังหวัดต่างๆ เช่น หลวงพระบาง สุวรรณเขต และจำปาศักดิ์ การเทศนาธรรมทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกวันพระและวันอาทิตย์ได้ปฏิบัติเป็นประจำต่อเนื่อง

สรุปการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศลาว องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเผยแผ่ขึ้น เพื่อทำหน้าที่โดยตรงในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้แก่ประชาชนลาวทั้งภายในและต่างประเทศและจัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นหลายสำนักในทั่วประเทศ โยมีสำนักใหญ่ตั้งอยู่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรด้านการเผยแผ่ศาสนา โดยจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ให้มีความรู้ความสามารถ ในคณะกรรมาธิการเผยแผ่นี้ยังได้จัดหน่วยเผยแผ่ศีลธรรมขึ้นทั้งในระดับศูนย์กลาง และระดับท้องถิ่นเช่นจัดให้มีหน่วยงานเผยแผ่ศีลธรรม นครหลวง โดยร่วมมือกับกรมศาสนาที่ดูแลทางด้านนโยบายและแนวทางของรัฐบาลลาวเพื่อรับประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงานการเผยแผ่ศีลธรรมทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นได้รับผลสำเร็จพอสมควร แต่ก็ยังไม่บรรลุตามความประสงค์เพราะขาดบุคลากรที่มีศักยภาพ ในการทำหน้าที่เผยแผ่ศีลธรรมให้เข้าสู่จิตใจประชาชนคนลาว

๔. การบริหารงานของคณะกรรมการสาธารณูปการ

คณะบริหารงานของคณะกรรมการสาธารรูปการตามมติการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑ขององค์การพุทธศาสนาลาว พ.ศ. ๒๕๑๘ อิงตามแผนการดำเนินงานที่ได้รับรองจากาการประชุมใหญ่ครั้งที่หนึ่ง ได้กำหนดหน้าที่จะต้องปฏิบัติ คือ คณะกรรมการสาธารณูปการ จะต้อง สร้างผลงานในการพัฒนาประเทศพื้นฟูบูรณะวัตถุโบราณ ปูชนียสถาน และวัดวาอารามให้เป็นที่เหลื่อมใสสัทธาของประชาชนพร้อมนี้ก็ต้องรักษาศิลปะวรรณคดี ส่งเสริมศิลปหัตถกรรม พระสงฆ์สามเณรลาว สามารถเป็นช่างหัตถกรรมได้ตามความเหมาะสม[๒๗]

การปฏิบัติงานในฐานะกรรมาธิการสาธารณูปการนี้ ได้จัดส่งงบประมาณให้ต่างจังหวัดเพื่อซ่อมแซมอาคารเรียนและทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โบสถ์ วิหาร และ กุฏิพระสงฆ์ งบประมาณเหล่านี้คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล[๒๘] ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ คณะกรรมาธิการสาธารณูปการ ได้รับงบประมาณจากการช่วยเหลือของประเทศญี่ปุ่น องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวจึงจัดตั้งคณะกรรมการบูรณะพระธาตุหลวงขึ้นภายใต้การเป็นประธานของ พระอาจารย์มหาผ่อง สมฤกษ์ พระมหาวิจิตร สิงหราช เป็นรองประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการนี้จะต้องร่วมมือกับแผนก พิพิธภัณฑ์ และวัตถุโบราณดำเนินการบูรณะพระธาตุหลวงเพื่อ รักษาไว้ ซึ่งทรัพย์สมบัติของชาติ[๒๙]

การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณวัตถุและโบราณสถานนั้นคณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากบทสรุปผลการปฏิบัติงาน ๕ ปีของคณะกรรมาธิการสาธารณูปการมีรายละเอียดดั่งต่อไปนี้ได้เสนอแผนการสร้างวัดในนครหลวงเวียงจันทร์ สร้างโบสถ์วัดพระธาตุหลวงเหนือ สร้างศาลาวัดเทพนิมิต สร้างโบสถ์วัดศรีฐานเหนือ สร้างศาลาวัดมหาพุทธวงศาป่าหลวง ซ่อมแซมมหากุฏิวัดพระธาตุหลวงเหนือ ซ่อมแซมศาลาวัดศรีฐานเหนือ งบประมาณที่ใช้จ่ายในการก่อสร้างได้รับจากการบริจาคของประชาชน อีกส่วนหนึ่งได้รับเงินบำรุงจากรัฐบาลทุกๆ ปี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาวได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ๖,๕๐๐,๐๐๐ กีบ และได้จัดแบ่งเงินจำนวนนั้นไปต่างจังหวัด เพื่อทำการบูรณะวัตถุโบราณในแต่ละท้องถิ่น[๓๐]

สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้ทำการสรุปผลงานการสร้างถาวรวัตถุทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด เช่น ได้สร้างกุฏิ ๑๕๗ หลัง โบสถ์ ๒๖ หลัง ศาลา ๒๗ หลัง โรงเรียน ๑๓ แห่ง ทุก ๆ จังหวัดได้เอาใจใส่ศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุและวรรณคดีอุโบสถร้างและพระพุทธรูปต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดตั้งห้องสมุดประจำจังหวัดขึ้น[๓๑]

ในการประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนาครั้งที่ ๓ คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้จัดทำนโยบายและกำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อเป็นหลักการในการอ้างอิงสำหรับคณะกรรมาธิการสาธารณูปการ คือ คณะปกครองทุกระดับจะต้องเอาใจใส่ก่อสร้างวัดวาอารามให้ถูกต้องและเหมาะสมตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์และให้ถูกต้องตามประเพณีที่พระสงฆ์ลาวเคยปฏิบัติสืบกันมา วัดใดจะทำพิธีผูกพัทธสีมาจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมาธิการสาธารณูปการตามสายการจัดตั้ง สำหรับการซ่อมแซมโรงเรียนและบูรณปูชนียสถาน สำหรับอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์นั้น เป็นหน้าที่คณะบริหารงานศูนย์กลางรับผิดชอบ ให้คณะบริหารงานทุกระดับเอาใจใส่รักษาปูชนียสถานวัตถุโบราณ มีพระธาตุเจดีย์ ภายใต้การชี้นำของคณะบริหารงานส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น การก่อสร้างหรือการซ่อมแซมวัดวาอารามนั้นให้ถือเอาการซ่อมแซมเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของคณะบริหารงานแต่ละระดับต้องรับผิดชอบเอง[๓๒]

ในปีที่ผ่านมาองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้สร้างหอธรรมสภาโดยจะต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลและการบริจาคจากประชาชน และการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์เป็นตึกขนาด ๒ ชั้น มีความกว้าง ๑๔ เมตร บรรจุเตียงนอนได้ ๒๗ เตียง โดยได้ทุนก่อสร้างจากท่าน Dr. Marcel C. Roy นอกจากนี้ยังได้ใช้จ่ายงบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมทั่วประเทศ คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้ร่วมมือกับคณะปกครองฝ่ายรัฐบาลในการทำหน้าที่รักษาปูชนียสถานอันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา[๓๓]

จากผลสรุปของการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ที่จัดขึ้นปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้สรุปผลงานการก่อสร้างและซ่อมแซมบรรดาอาคารเรียนและโบสถ์ศาลา เช่น ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดศรีพรหม แขวงเชียงขวาง วัดสันติภาพ ในปีนี้องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้ปรับปรุงบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหลวงให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและบูรณะโบสถ์วัดองตื้อมหาวิหารให้กลับคืนสู่สภาพเดิม นอกจากงานทางด้านการก่อสร้างแล้วคณะกรรมาธิการสาธารณูปการระดับต่าง ๆ ยังได้เอาใจใส่รักษาวัตถุโบราณ โดยเฉพาะได้ร่วมมือกับองค์การจัดตั้งรัฐบาลในการปกปักษ์รักษาทรัพย์สมบัติแห่งชาติไม่ให้ศูนย์หายไปตามกาลเวลา[๓๔]

คณะกรรมาธิการสาธารณูปการนอกจากได้ปฏิบัติงานตามนโยบายขององค์การพุทธศาสนาแล้วยังได้ปฏิบัติตามสิทธิ์และหน้าที่ที่กำหนดไว้ในธรรมนูญปกครองสงฆ์ ดังต่อไปนี้

๑. สร้างกฎระเบียบในการสร้างถาวรวัตถุและศาสนสมบัติให้สอดคล้องตามระเบียบกฎหมายของรัฐบาล

๒. จัดสร้างกองทุนเพื่อรักษาศาสนสมบัติ

๓. คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้มีหน้าที่เพิ่มขึ้นอีก คือจะต้องฟื้นฟูการนำใช้ยาพื้นเมืองปกปักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยทางพุทธศาสนา[๓๕]

องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ขึ้น พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะกรรมาธิการสาธารณูปการได้ประเมินผลงานที่ผ่านมาในการพัฒนาการก่อสร้างศาสนวัตถุเพื่อให้มีความเจริญรุ่งเรืองตามสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาปูชนียสถานเนื่องจากได้รับบริจาคปัจจัยจากประชาชนลาวทั่วประเทศ คณะกรรมการสาธารณูปการได้กำหนดแผนงานที่จะต้องปฏิบัติในอนาคต

๑. การคุ้มครองรักษาศาสนวัตถุโดยให้แต่ละวัดประสานร่วมมือกับอำนาจการปกครองของรัฐบาลและแผนกวัฒนธรรมเพื่อช่วยกันรักษาวัตถุอันมีค่าของชาติไว้

๒. ซ่อมแซมศาสนวัตถุที่ชำรุด เช่น ศาลา โบสถ์ พระธาตุเจดีย์ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๓. คณะกรรมาธิการสาธารณูปการแต่ละระดับก่อนที่จะอนุญาตให้มีการสร้างวัดขึ้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะอิงตามนโยบายของรัฐบาลนั้นอยากให้ทางคณะสงฆ์สร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาแก่ประชาชนและพระสงฆ์สามเณร

๔. คณะกรรมาธิการสาธารณูปการจะต้องออกกฎระเบียบในการคุ้มครองศาสนสมบัติให้ผู้บริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้จะต้องมีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการคุ้มครองรักษาศาสนสมบัติที่เป็นวัตถุอันล้ำค่าของชาติให้มีความรู้ในคุณค่าของศิลปะลาวที่มีมาช้านานและให้เอาใจใส่ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุนโยบายที่คณะกรรมาธิการสาธารณูปการและองค์การพุทธศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมต้องได้ประสานสมทบในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดศักยภาพในการรักษาทรัพย์สมบัติของชาติ[๓๖]

สรุป การบริหารงานด้านสาธารณูปการนั้นเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการสาธารณูปการมีหน้าที่โดยตรงในการบูรณะซ่อมแซมศาสนาวัตถุที่ชำรุดชุดโทรม ให้มีความสะดวกเพียงพอ และรับประกันในการใช้งานได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศาสนา เกี่ยวกับงานด้านศิลปะสถาปัตยกรรมให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติลาวเพราะการควบคุมดูแลการก่อสร้างพัฒนาวัด ที่เป็นงานเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรม นั้นเป็นงานที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อความเป็นชาติลาว คณะกรรมาธิการสาธารณูปการ ถ้าเปรียบเทียบกับหน่ายงานอื่นขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวเห็นได้ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญแต่ถ้าดูจากผลงานเห็นได้ว่ายังขาดความเอาใจใสจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนี้อาจเป็นสายเหตุที่เกิดมาจากผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานนี้เอง ถ้ามองจากภาพรวมแล้วองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด จากการศึกษาพบว่าได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการบูรณะศาสนาวัตถุ ที่มีความสำคัญระดับชาติโดยเฉพาะพระมหาเถระระดับการนำขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวได้มีส่วนรับผิดชอบในงานสาธารณูปการถึงแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ การให้ความสำคัญแก่ศิลปะและเอกลักของชาตินั้นก็ยังจะต้องทำงานกันเป็นคณะโดยมีความเห็นเป็นมติจากที่ประชุมโดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานในการตัดสิน สำรับงานทั่วไปของคณะกรรมาธิการสาธารณูปการในส่วนศูนย์กลางและท้องถิ่นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นทำตามอำนาจหน้าที่ ที่จะต้องดูแลเอาใจใส่โดยตรง

ถึงอย่างไรก็ตามผู้วิจัยเห็นว่า ในหน่วยงานนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่คือขาดความเอาใจใส่จากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และขาดบุคลากรที่มีความรู้และศักยภาพที่เพียงพอเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นของงานด้านสาธารณูปการ

บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย

(๑) หนังสือ

ภูมี วงษ์วิจิตร. คำปราศรัยในการประชุมสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๙, (อัดสำเนา).

พระมหาคำตัน เทพบัวลี. มติแต่งตั้งรับผิดชอบการศึกษาสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๘, (อัดสำเนา).

พระอาจารย์ชาลี กนฺตสีโล. ธรรมะกับสังคมลาว, พ.ศ. ๒๕๓๘, (อัดสำเนา).

องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว. เอกสารแผนการปฏิบัติงาน ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ -๒๕๒๙, (อัดสำเนา).

. โครงการดำเนินงานองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวพ.ศ. ๒๕๓๓, (อัดสำเนา).

. เอกสารยุทธศาสตร์การศึกษาสงฆ์, (เอกสารโรเนียว).

. ข้อตกลงว่าด้วยภาระบทบาทของวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๙, (อัดสำเนา).

. บทสรุปผลงาน ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐, (อัดสำเนา).

. บทสรุปรายงานการปฏิบัติงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พ.ศ. ๒๕๔๐.

. โครงการบริหารงานคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๒๓, (อัดสำเนา).

. เอกสารสรุปผลงาน ๖ เดือน พ.ศ. ๒๕๒๖, (อัดสำเนา).

. ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดตั้งปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๓๓,
(อัดสำเนา).

. เอกสารกองประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๓๓, (อัดสำเนา).

. เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๐, (อัดสำเนา).

๒. ภาษาอังกฤษ

(1) Book:

Flippo, Edwin B. Management : A Behavioral Approach. Boston: Allyn& bacon, 1971.

D. G. Muller. A model for human resource development. Personnel Journal. 35 (28), May 1976.

Gilley, Jerry W. and Eggland, Steven A. Principles of Human Resource Development. New York : Addison Wesley, 1990.

Hertzberg. Motivation Moral and Money. New York : Psychology Co., 1968.



*อาจารย์ ดร., อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

[๑]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, ธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว, ( เวียงจันทน์: กระทรวงศึกษา, ๒๕๔๗), หน้า ๑-๒.

[๒]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, มติ ๑๓ ข้อ, พ.ศ. ๒๕๑๘, (อัดสำเนา), หน้า ๕๔-๖๔

[๓]ภูมี วงษ์วิจิตร, คำปราศรัยในการประชุมสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๙, (อัดสำเนา), หน้า ๕-๗.

[๔]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารแผนการปฏิบัติงาน ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ -๒๕๒๙,
(อัดสำเนา), หน้า ๑-๖.

[๕]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๘, หน้า ๑๗-๖๒.

[๖]พระมหาคำตัน เทพบัวลี, มติแต่งตั้งรับผิดชอบการศึกษาสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๘, (อัดสำเนา),
หน้า ๑.

[๗]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารบันทึกกองประชุมกับกรมธรรมการ พ.ศ. ๒๕๓๘, (อัดสำเนา), หน้า ๑-๒.

[๘]กระทรวงศึกษา กีฬาและธรรมการ, แผนการศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๐, (อัดสำเนา), หน้า ๗-๘.

[๙]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, หนังสือแต่งตั้งกรรมการปรับปรุงหลักสูตรเรียนทางพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๓๐, (อัดสำเนา), หน้า ๑.

[๑๐]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, โครงการดำเนินงานองค์การพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวพ.ศ. ๒๕๓๓, (อัดสำเนา), หน้า ๙๓-๙๕.

[๑๑]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารยุทธศาสตร์การศึกษาสงฆ์, (เอกสารโรเนียว), หน้า ๑.

[๑๒]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, ข้อตกลงว่าด้วยภาระบทบาทของวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๙, (อัดสำเนา), หน้า ๑-๔.

[๑๓]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, บทสรุปผลงาน ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐, (อัดสำเนา), หน้า ๒-๓.

[๑๔]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, บทสรุปรายงานการปฏิบัติงานขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๖-๗.

[๑๕]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๒๐-๔๓.

[๑๖]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑พ.ศ. ๒๕๑๘, หน้า ๒๓-๖๙.

[๑๗]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๖๒.

[๑๘]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, โครงการบริหารงานคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๒๓, (อัดสำเนา), หน้า ๑ – ๒.

[๑๙]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารสรุปผลงาน ๖ เดือน พ.ศ. ๒๕๒๖, (อัดสำเนา),
หน้า ๘.

[๒๐]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดตั้งปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๓๓,
(อัดสำเนา), หน้า ๓.

[๒๑]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารกองประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๓๓, (อัดสำเนา), หน้า ๔๔-๔๖.

[๒๒]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, โครงการดำเนินงาน พ.ศ. ๒๕๓๓, (อัดสำเนา), หน้า ๙๒ – ๙๓.

[๒๓]พระอาจารย์ชาลี กนฺตสีโล, ธรรมะกับสังคมลาว, พ.ศ. ๒๕๓๘, (อัดสำเนา), หน้า ๔-๑๒.

[๒๔]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๐, (อัดสำเนา), หน้า ๘-๑๑.

[๒๕]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, โครงการดำเนินงานในการเผยแผ่ศาสนา, พ.ศ. ๒๕๔๐,
(อัดสำเนา), หน้า ๔๔-๔๕.

[๒๖]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, ธรรมนูญปกครองสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๔๑, (เวียงจันทน์: โรงพิมพ์ชาวหนุ่ม, ๒๕๔๑), หน้า ๑๔ – ๑๕.

[๒๗]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๘, (อัดสำเนา),
หน้า ๒๑-๖๓.

[๒๘]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารสรุปผลงาน พ.ศ. ๒๕๒๐, (อัดสำเนา), หน้า ๒.

[๒๙]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณะพระธาตุหลวง ปี ๒๕๒๐, (อัดสำเนา), หน้า ๑.

[๓๐]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารสรุปผลงาน ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓, (อัดสำเนา),
หน้า ๗.

[๓๑]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารสรุปผลงาน พ.ศ. ๒๕๒๖, (อัดสำเนา), หน้า ๘.

[๓๒]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, บทสรุปรายงานผลการปฏิบัติงานการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๓๒, (อัดสำเนา), หน้า ๔๙ – ๕๒.

[๓๓]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐,
(อัดสำเนา), หน้า ๓ – ๔.

[๓๔]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, เอกสารการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๑๑- ๑๒.

[๓๕]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, ธรรมนูญปกครองสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑๕ – ๑๖.

[๓๖]องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว, แผนการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการสาธารณูปการ พ.ศ. ๒๕๔๗, (อัดสำเนา), หน้า ๔.

หมายเลขบันทึก: 617735เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท