๓ รูปแบบการเขียนบทความวิชาการ


๑๗.๐๐ น. ของวันนี้ นักศึกษาจำนวน ๗ คน ปรึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนบทความวิชาการ ซึ่งไม่ใช่บทความวิจัย ผมได้เสนอรูปแบบบทความวิชาการจำนวน ๓ แบบ โดยระบุว่า สิ่งที่เสนอนี้เกิดจากการสังเกต อย่างไรก็ตาม ใน ๓ แบบที่กล่าวนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันคือ (๑) อารัมภบท เป็นการเกริ่นเพื่อจะบอกว่าในเนื้อหาของบทความมีอะไรบ้าง อาจเขียนในลักษณะให้น่าติดตามหรือไม่ก็ได้ แต่ควรเขียนให้อยากติดตาม อาจสรุปอารัมภบทด้วยการตั้งคำถามก็ได้ ทั้งนี้เพื่อจะค้นหาคำตอบจากเนื้อหา (๒) ส่วนเนื้อหา เป็นการกล่าวพรรณนารายละเอียดต่างๆ และ (๓) ส่วนสรุป โดยมากการสรุป มักเป็นการสรุปเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด แต่สิ่งที่ผู้เขียนมักไม่เขียนไว้คือ "ตัวตน" ซึ่งน่าจะคือลักษณะทางมนุษยศาสตร์ หากเป็นลักษณะทางสังคมศาสตร์ จะมีลักษณะพบข้อมูลอะไรก็ว่าไปอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนสรุป นอกจากสรุปเนื้อหาแล้ว ควรสรุปสิ่งที่ผู้เขียนได้รับไว้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ปรากฎในเนื้อหา หากแต่เกิดความรู้ขึ้นภายในบุคคลจากการศึกษาเนื้อหา

บทความแบบที่ ๑ เป็นบทความแบบเข้ม ในส่วนอารัมภบทและส่วนสรุปยังคงเดิมเหมือนที่กล่าวมา แต่่ในส่วนเนื้อหาจะมีเนื้อหาจำนวน ๓ ชุดคือ (๑) เนื้อหาชุดแรกจะเป็นการทบทวนวรรณกรรมและ/หรือทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการเขียนในลักษณะความเรียง มีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างตรงไปตรงมา (๒) เนื้อหาชุดที่สอง จะเป็นรายละเอียดและข้อค้นพบจากพื้นที่ อาจจะด้วยการสังเกต การสัมภาษณ์ กระบวนการกลุ่ม ฯลฯ เรียบเรียงให้สอดคล้องกับเนื้อหาชุดแรก เป็นการเอาเนื้อหาชุดแรกเป็นฐานสู่เนื้อหาชุดที่สอง (๓) วิเคราะห์ให้เห็นถึงข้อมูลชุดที่สองที่สามารถอธิบายได้ด้วยเนื้อหาชุดแรก แจงรายละเอียดข้อค้นพบที่มีจุดเด่นกว่าข้อค้นพบอื่นอย่างไร ข้อค้นพบอื่นด้อยกว่าข้อค้นพบของตนอย่างไร หาองค์ความรู้อื่นมาสนับสนุนของตนเพื่อให้งานของตนมีน้ำหนักกว่า

บทความแบบที่ ๒ เป็นบทความแบบแยกส่วน ออกเป็น ๒ บทความ บทความแรก ส่วนอารัมภบทและส่วนสรุปคงเดิม ในส่วนเนื้อหาเป็นการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเรียบเรียงในเชิงสังเคราะห์ จะได้เนื้อหาความรู้จากการสังเคราะห์งานต่างๆ โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาเชิงพื้นที่ แต่หากมีการนำข้อมูลพื้นที่มาด้วย ก็น่าจะนำมาในลักษณะตัวอย่าง บทความสอง ในส่วนเนื้อหาจะกล่าวถึงเฉพาะข้อมูลวิเคราะห์เชิงพื้นที่ งานแบบนี้จะต้องเป็นงานเชิงลึก ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์เท่านั้น

บทความแบบที่ ๓ เป็นบทความแบบรวม โดย ๑ บทความ ประกอบด้วยส่วนอารัมภบทและส่วนสรุปที่ยังคงเดิม ในส่วนเนื้อหาจะมี ๒ ชุดข้อมูลคือ ข้อมูลทบทวนวรรณกรรม/ทฤษฎี และข้อมูลพื้นที่ ภายใต้คำถามที่ว่า ในเรื่องนี้ มีข้อมูลอะไรบ้าง นำมาเรียบเรียงเป็นเนื้อหาเดียวกัน จากนั้นจึงเรียบเรียงข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ พบอย่างไร ว่าไปอย่างนั้น

๒๐.๐๐ น. จิตสาธารณะยุติลง ออกจากที่ทำงานค่ำๆ แบบนี้ รู้สึกไม่ไว้วางใจอยู่เหมือนกัน ... เป็นความระแวงที่ไม่มีในภาคกลางของประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 617582เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท