เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 17- 23 ตุลาคม 2559


24 ตุลาคม 2559

เรียน ผู้บริหาร เพื่อนครูและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 ถึงสำนักงานเช้ากว่าปกติ ดูความเรียบร้อยในการติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ได้ลงนามในสมุดถวายความอาลัย ขึ้นไปเตรียมการประชุมที่ห้องทำงาน สลับการลงนามแฟ้มเอกสาร จน 10 นาฬิกาเข้าประชุม กศจ. มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีวาระสำคัญ คือ การเลื่อนขั้นเงินเดือนและการเสนอตั้ง อกศจ. การเลื่อนขั้นเงินเดือนผ่านไปด้วยดี ส่วนการตั้ง อกศจ.รอไว้ก่อน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประธานสั่งปิดประชุมหลังเที่ยง ระเบียบวาระที่เหลือไว้คราวหน้า ผมดูปฏิทินงานของ ผวจ.แล้ว คงนัดประชุมได้ 31 ตุลาคม 2559 เวลา 13.00 น. งานที่กำหนดไว้ก่อนนั้นตามสั่งการ สพฐ. ก.ค.ศ. ต้องเลื่อนออกไปก่อน ผมได้พยายามแล้วตามคติประจำใจ "ความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดิน" เดิมคิดว่าจะกลับจากอินเดีย 22 ตุลาคม 2559 เมื่อการณ์เปลี่ยนไปเป็นเช่นนี้ก็จะกลับ 27 ตุลาคม 2559 บ่ายประชุมกรรมการรับนักเรียนที่มีท่าน ดร.สุทธศรี วงศ์สมาน เป็นประธาน พิจารณาร่างประกาศที่ต้องตัดตอนออกหลายข้อความ เพราะไปลอกของ สพฐ.มาเกือบทั้งดุ้น เลิกประชุมนั่งเซ็นแฟ้มงานจนเกือบ 17.00 น.


วันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2559 เช้าเข้าสำนักงานลุยแฟ้มเอกสารต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจารย์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์มาพบ เพื่อคุยกับโรงเรียนเครือข่าย 4 แห่งในการร่วมมือกันพัฒนาโรงเรียน ในอนาคตจะมีมหาวิทยาลัยเข้าเป็นคู่พัฒนาทุกโรงเรียน ก่อนเที่ยงขึ้นไปพบผู้ทำแผนงบประมาณพัฒนาบุคลากร สพฐ.จะให้เงินมา 10 ล้านในการพัฒนาครูและบุคลากร ตั้งหลักว่าจะให้โรงเรียนรับผิดชอบไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน ที่เหลือเขตจะทำโครงการที่ต้องทำในภาพรวม บ่ายออกไปซื้อยาและของใช้จำเป็นในการเดินทางไปต่างประเทศ ได้ครบแล้วกลับไปเขตเพื่อเซ็นแฟ้มเอกสารด่วนทั้งหลายให้เสร็จสิ้นความกังวล


วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2559 ออกจากบ้านตี 4 เพราะเขานัดไว้ที่สนามบิน 05.00 น. กำหนดเครื่องออกเวลา 08.55 น. คิดไว้ก่อนแล้วการเดินทางด้วยสายการบินแอร์อินเดีย และไชน่าแอร์ไลน์ เครื่องต้องล่าช้ากว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อเขานัดหมายก็ต้องรักษากติกา ไปถึงตรงเวลาคณะส่วนใหญ่ถึงสนามบินแล้ว และได้รับแจ้งว่าเครื่องล่าช้ากว่ากำหนด 2 ชั่วโมง คือ กำหนดออก 10.55 น. เขาแจกคูปองราคา 350 บาทคนละใบสำหรับไปทานอาหารว่างในสนามบินแทนความล่าช้า เข้าไปด้านในก็เดินดูสินค้าพอเหนื่อยก็แวะพักห้องรับรองของคิงส์เพาเวอร์เพราะเป็นสมาชิก มีน้ำชากาแฟและขนมให้กินตามอัธยาศัย การเดินทางครั้งนี้เป็นการพานักเรียนไทยระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแข่งขันคณิตศาสตร์ WIZMIC ที่เมืองลัคนาว ประเทศอินเดีย ถึงเดลีประมาณบ่ายสองโมง ผู้ประสานงานในอินเดียมารับและจะดูแลคณะจนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2559 พาไปกินข้าวกลางวันโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ไม่ไกลจากสนามบินนัก เป็นอาหารบุฟเฟ่ทั้งพื้นเมืองและฝรั่ง อิ่มแล้ว เดินทางไปเมืองอักรา (AGRA) รถติดมากกว่าจะหลุดออกจากเมืองหลวงเดลีได้ก็เกือบมืด ถนนไปอักราเป็นทางด่วนเหมือนมอเตอร์เวย์บ้านเรา มีด่านเก็บเงินเป็นระยะ ๆ ออกจากทางด่วนเข้าตัวเมืองก็ผจญกับรถติดถนนแย่อีกพักใหญ่ถึงที่พักโรงแรมดับเบิลทรี ฮิลตัน ถือว่าระดับ 5 ดาวประมาณ 4 ทุ่ม ต้องกินกินข้าวเย็นรอบดึกอีกมื้อ


วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2559 ตื่นเช้าทิ้งกระเป๋าไว้ห้องพัก รถพาไปจุดแรกคือทัชมาฮาล ผมมาครั้งที่ 3 จึงเดินเกร่ถ่ายภาพอยู่หลังประตูทางเข้าเพราะร้อนจัด หลายคนเดินขึ้นไปชม จากนั้นผ่าเปลวแดดที่ร้อนแรงไปชมป้อมอักรา ทัชมาฮาล ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลกที่ออกแบบโดยช่างจากเปอร์เซีย อาคารตรงกลางเป็นรูปโดม มีหอคอยสี่เสาล้อมรอบ ตรงกลางด้านในเป็นที่ฝังพระศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล และ พระเจ้าชาห์จาฮัน และประตูสุสานที่สลักตัวหนังสือภาษาอาระบิค เป็นถ้อยคำอุทิศและอาลัยต่อสิ่งรักที่จากไป และมีความสมมาตรในทุกด้าน สร้างขึ้นด้วยหินอ่อนฝังด้วยอัญมณีเพชรพลอยที่แตกต่างกัน 28 แบบ ในช่วงที่ ทัชมาฮาล สร้างเสร็จสมบูรณ์ กษัตริย์ชาห์ จาฮัน ได้ถูกจองจำอยู่ที่คุกอักราโดยบุตรชาย และหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต ก็ได้มีการนำพระศพมาฝังไว้เคียงข้างพระมเหสี พระนางมีโอรสและธิดาให้ชาร์จะฮาน 13 พระองค์ ในปี 1631 พระนางทรงสิ้นพระชนม์ระหว่างมีพระประสูติกาลนั่นเอง ป้อมอักรา เริ่มสร้างขึ้นโดยอักบาร์เมื่อปี พ.ศ. 2108 ชาหังคีร์และชาห์ ชหานสร้างเพิ่มเติมต่อมา ประตูทางเข้ามีความใหญ่โตมากกว่าที่ป้อมแดงเดลี และไม่มีเชิงเทินบับหน้าทางเข้าจากประตูใหญ่ทำให้คดเคี้ยว ป้อมอักรา เป็นทั้งพระราชวังที่ประทับและเป็นป้อมปราการ ต่อมาพระโอรส คือ พระเจ้าชาฮันกีร์ และพระนัดดา (โอรสของพระเจ้าชาฮันกีร์) พระเจ้าชาห์ จาฮาน ได้สร้างสร้างขยาย มาแวะร้านขายหินอ่อนสวยงามแต่หนักเกินกว่าใครจะคิดซื้อกลับบ้าน เที่ยงกลับไปกินข้าวเอากระเป๋าที่โรงแรม ออกจากโรงแรมมาแวะร้านขายเสื้อผ้าชื่อดังของเมืองอักรา ได้จ่ายเงินกันบ้างก็สบายใจ เดินทางไปเมืองชัยปุระ หรือ Jaipur ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอักรา สองข้างทางเป็นไร่นา ทางดีบ้างแย่บ้างถึงชัยปุระประมาณ 3 ทุ่ม พักที่โรงแรม crowne plaza และทานข้าวเย็นที่โรงแรม


วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2559 ตื่นเช้าที่เมืองชัยปุระ หรือ จัยปูร์ (Jaipur) นครแห่งชัยชนะ คนอินเดียเรียกเมืองนี้ว่า จัยปูร์ หรือ จัยเปอร์ รัฐราชสถานได้ชื่อว่า นครสีชมพู (Pink city) โดยที่มาของเมืองสีชมพูก็เนื่องจากในปีค.ศ. 1876 มหาราช ซาราม ซิงห์ (Maharaja Ram Singh) ได้มีรับสั่งให้ประชาชนทาสีชมพูทับบนสีปูนเก่าของบ้านเรือนตนเอง เพื่อแสดงถึงไมตรีจิตครั้งต้อนรับการมาเยือนของเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) เจ้าชายมกุฎราชกุมารของอังกฤษ ซึ่งภายหลังคือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 (King Edward Vll) แห่งสหราชอาณาจักรและต่อมารัฐบาลอินเดียก็ยังออกกฎหมายควบคุมให้สิ่งก่อสร้างภายในเขตกำแพงเมืองเก่าต้องทาสีชมพูเช่นเดิม จนกลายเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาและทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ต่างพากันเดินทางมายังเมืองชัยปุระอย่างไม่ขาดสาย เช้านี้เดินทางไปราชวังบนยอดเขา โดยรถจิ๊ปเป็นพาหนะ ราชวังแห่งนี้ตั้งบนยอดเขามองเห็นวิวได้ทั้งเมือง นอกนั้นยังก่อกำแพงไปตามสันเขาเหมือนกำแพงเมืองจีน ชื่อAmber Fort โดยมีสถาปัตยกรรมและการดีไซน์ภายในที่สวยงามโดดเด่นไม่แพ้อาคารอื่น ๆ ในเมืองชัยปุระ ซึ่งได้ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบราชปุต (Rajput) และฮินดู (Hindu) ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว ป้อมปราการแห่งนี้จะสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เพราะมีขนาดใหญ่ เป็นอาคารสีขาวครีมสวยงาม


บนยอดเขานี้มีของมาขายเป็นที่สนุกและรำคาญไปพร้อมกัน ลงจากวังบนยอดเขาต่อด้วยวังกลางน้ำ ที่ชื่อ ฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พระราชวังสายลม (The Palace of Wind) เป็นส่วนหนึ่งของพระรางวังซิตี้พาเลซ เรียกได้ว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองแห่งนี้เลยก็ว่าได้ ด้วยที่นี่มีสถาปัตยกรรมสุดโดดเด่น สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1799 โดย Maharaja Sawai Pratap Singh ตัวอาคารเป็นสีชมพูอมส้ม สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพูและสีแดง บริเวณอาคารด้านหน้าจะเป็นตึก 5 ชั้น มีลักษณะคล้ายกับรังผึ้ง โดยจะมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ ตกแต่งอย่างงดงามด้วยลายฉลุ


ยามเช้าจะมีแสงสะท้อนที่สวยงามสุด ๆมาแวะชมร้านขายพรมที่วิจิตรพิสดาร จนปัญญาที่จะอุดหนุน จากนั้นทานข้าวเที่ยงที่โรงแรมMUSKAN MIDWAY HOTELใกล้ ๆกัน จากนั้นเดินทางเข้ากรุงเดลีแวะโรงเตี้ยมมาเรื่อย ๆ มาเจอรถติดขนาดหนักตอนเข้าเมือง ถึงที่พักโรงแรม VIVANTA 3 ทุ่ม ทานอาหารเย็นรอบดึก แล้วพักค้าง


วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2559 หลังอาหารเช้าเดินทางไปสถานทูตไทยประจำอินเดีย ท่านอุปทูตนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุงและท่านทูตพาณิชย์ นายธราดล ทองเรือง ให้การต้อนรับ ได้มีโอกาสถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ชั้น 3 ของสถานทูต สถานทูตกำลังซ่อม จึงต้องมาเช่าอาคารนี้เป็นการชั่วคราว รถไปส่งที่สนามบินอินทิราคานธีเพื่อขึ้นเครื่องบินเดินทางไปเมืองลัคนาว (Lucknow) วันนี้เครื่องบินตรงเวลา จึงถึงที่หมายเร็ว แต่อากาศร้อนมาก


คณะนักเรียนจาก CMS มาต้อนรับที่สนามบินมอบมาลัยดอกดาวเรืองตามธรรมเนียม นั่งรถไปยังโรงเรียน เข้าที่พักที่เคยมาพักรวมครั้งนี้ 3 ครั้ง


เย็นชวนพรรคพวกนั่งรถสามล้อเครื่องไปห้างสรรพสินค้าในละแวกใกล้โรงเรียนชื่อ Phoenix United Mall, Alambagh เสื้อผ้าราคาถูกมาก เป็นผ้าฝ้ายเนื้อดีทำในอินเดีย เช่น กางเกงยีนส์ลีวายรุ่น 511 ขาย 3300 รูปีคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 1600 บาท


วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2559 ตื่นเช้าเยี่ยมเยียนเด็กและทีมงาน สาย ๆ เดินทางไป Phoenix United Mall, Alambagh อีกครั้ง เพื่อซื้อของใช้ เที่ยงกิน Mc Donal บ่ายเขานัดหมายพิธีเปิด 17.00น. ปีนี้ทีมเข้าแข่งขันน้อย ครั้งแรกเจ้าภาพให้เข้าแถวเพื่อเดินไปหน้าโรงเรียน ตอนหลังมาเปลี่ยนใจ เดินทางลัดเข้าตัวอาคาร


แต่พิธีเปิดก็คล้ายที่เคยจัดมามีการแสดงของนักเรียนหลายชุดๆละหลายคน มีผู้ปกครองมาชมลูกแสดงเต็มห้องประชุม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาเปิด กว่าจะจบเกือบสามทุ่ม

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1


หมายเลขบันทึก: 617403เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2016 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2016 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาเชียร์การทำงาน

งานเยอะมากเลยครับ ผอ

สนใจทำ MOU พัฒนาครูกับ มหาวิทยาลัยทักษิณ ( มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลาเดิม) ไหมครับ

ผมจะส่งร่างการทำ MOU ไปให้ดูครับ ผอ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท