ความสามารถพิเศษของรัชกาลที่ ๙


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร) เมื่อทรงพระเยาว์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับ “ความสามารถพิเศษของรัชกาลที่ ๙” ไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร) เมื่อทรงพระเยาว์ (พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๘๙). (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐) เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา และพิมพ์ซ้ำในโอกาสมหามงคลสมัยที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ (พระราชพิธีกาญจนาภิเษก) โดยจัดพิมพ์เป็นขนาดเล่มเล็กปกอ่อน เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติแก่ยุวชนรุ่นหลัง

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์ถึง “ความสามารถพิเศษของรัชกาลที่ ๙” ไว้ในหน้า ๔๐๓—๔๐๔ ว่า “ได้กล่าวมาแล้วและมีภาพหลายภาพแสดงให้เห็นว่าทั้งสองพระองค์สนพระทัยในการกั้นน้ำสร้างเขื่อน แต่เพิ่งได้ทราบว่าไม่ใช่เป็นเพียงการเล่น แต่ยังเป็นการเรียนรู้อีกด้วย หลังจากที่ได้ไปกราบทูลสัมภาษณ์ปลายปี ๒๕๒๙ เมื่อรัชกาลที่ ๙ ยังทรงพระเยาว์มาก คือ เมื่อประทับอยู่ที่โรงเรียนเลอ ฟัวเย่ ที่เลเพลหยาดส์ ปี ๒๔๗๗ และ ๒๔๗๘ ได้ทรงสังเกตและจำวิธีที่เขาใช้ในการนำน้ำมาใส่ในอ่างให้เด็กเล่น เขาไปเอาน้ำจากลำธารที่ไหลใกล้ๆ ทำทางตื้นๆ ให้น้ำไหลลงมาได้ เอาดินเหนียวใส่ลงไปในทางและเอาขวดไปถูให้เรียบ

ทางด้านการช่างต่างๆ จะเป็นด้านช่างกล ช่างไฟฟ้าหรือช่างวิทยุก็มีความเข้าใจตั้งแต่เล็กๆ เรื่องทรงแก้จักรเย็บผ้าให้แหนนนั้นมีผู้เล่ามาแล้ว แต่ขอเล่าอีกครั้งหนึ่งอย่างที่แม่เล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ตามปกติแม่ไม่ยอมให้ใครให้ของลูกๆ นอกจากจะเป็นวันเกิดหรือปีใหม่ วันหนึ่งแม่เห็นพระอนุชาเล่นรถคันใหม่อยู่ เมื่อทราบว่าแหนนเป็นผู้ให้ก็ไปถามว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ แหนนก็ตอบว่ามาแก้จักรเย็บผ้าให้ จึงต้องให้รางวัลไป

ในด้านวิทยุทรงเล่าให้ฟังว่าเครื่องวิทยุที่บ้านไม่ทรงมีสิทธิที่จะแตะต้องมีไว้ฟังข่าวเท่านั้น แต่เมื่ออายุสัก ๑๐ ปีได้ ก็มีโอกาสสร้างของตัวเองขึ้นมาได้ ที่โรงเรียน มีการขายสลากในงานของโรงเรียนงานหนึ่ง ท่านก็ได้สลากเป็นคอยล์ (Coil) ท่านก็ศึกษาถามผู้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นวิทยุออกมาได้ เขาก็บอกว่าให้ท่านซื้อแร่สีดำ (Galena หรือ Galenite หรือ PbS) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเครื่อง “คือที่รับไฟฟ้าในอากาศที่เป็นคลื่นวิทยุ” และหูฟังอีกคู่หนึ่ง ทั้งหมดราคาประมาณ ๑๐ แฟรงค์มาต่อกันอย่างไรไม่ทราบ ทรงสามารถฟังวิทยุที่เขาส่งได้ ยังแบ่งกันฟังคนละหูกับพระเชษฐา ต่อไปพระเชษฐาก็ซื้อของพระองค์เอง

เมื่อเสด็จกลับเมืองไทยปี ๒๔๘๑ มีบริษัทถวายเครื่องวิทยุฟิลิปส์ (Philips) เครื่องหนึ่งแด่รัชกาลที่ ๘ ทรงนำกลับมาที่โลซานน์ด้วย ตอนแรกๆ ก็ทรงฟังอยู่ด้วยกันเพราะบรรทมห้องเดียวกัน แต่ต่อมารัชกาลที่ ๘ ทรงย้ายห้อง และทรงทิ้งวิทยุไว้กับพระอนุชา เลยทรงต่อลำโพงไปเพื่อส่งรายการวิทยุไปถวายพระเชษฐาด้วย วันหนึ่งข้าพเจ้าอยู่ในห้องของข้าพเจ้า เล่นแผ่นเสียงบนเครื่องไฟฟ้าซึ่งต้องนำเสียงไปออกลำโพงของวิทยุพระอนุชาพอดีเปิดวิทยุของท่านและก็คิดว่าสถานีอะไรกันเล่นแผ่นเสียงเหมือนกับแผ่นเสียงของพี่เรา ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงเข้าพระทัยว่าระบบไฟฟ้านั้นมันติดต่อกันได้หมด”

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า นายทศพนธ์ นรทัศน์ ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)

หมายเลขบันทึก: 617186เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท