ประวัติศาสตร์ “มืดค่ำ” ของยุคไทย


ค่ำ ลูกหลานของความ คล้ำ


"ค่ำแล้ว แฮ เดือนเจอค่ำ" (ขอบคุณตัวอักษรจากยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย ศิลปวัฒนธรรม)

เมื่อสืบค้นประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ของคำเครือไท-ไตว่า รุ่ง ผู้ผุดขึ้นภายในวงโค้งเว้าและโอบล้อมโดยรอบของปุงผีฟ้า ณ เบื้องตะวันออก กินความยอกย้อนวกวนหากร่วมสายเลือดกับคำสำคัญไทยยืมรุ่นหลังว่า กรุง ผู้ตั้งใจสืบทอดอุดมการณ์จักรวรรดินิยมพระนครหลวงอันเกรียงไกร ในฐานะเมืองหลวง กษัตริย์ และเป็นกษัตริย์ ผู้รื้อถอนทิ้งรากความหมายของต้นทางว่า กุรุง ผู้ถูกกักขังในสถานที่อันจำกัดอิสรภาพใดๆ ก็คงอดไม่ได้ที่จะตามหาเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากในคำว่า มืดค่ำ ผู้มาเยือนพร้อมกับความมืดดำ ณ อีกฟากขอบฟ้ายามดวงตะวันลาลับแสง

อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบค้นอ้างอิงคำว่า มืดค่ำ หรือ night ของพวกไท-ไตไว้เมื่อปี 2009 ดังนี้

Siamese เรียก khamB2

Sapa เรียก xamB2

Bao Yen เรียก khamB2

Cao Bang เรียก g̈amB2

Lungchow เรียก kamB2

Shangsi เรียก hamB2

Yay เรียก hamB2

Saek เรียก ɣamB2

และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า *ɣamB

หาก มืดค่ำ คำนี้ใช่ของแปลกใหม่ เพราะได้ถูกโปรยปรายฝากถ้อยคำในบทความสืบจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า: ออสโตรนีเซียนและไท-กะได อยู่เป็นระยะ ตั้งแต่เรื่องลำนำแห่งสายน้ำ ผ่านมายังความสัมพันธ์ระหว่าง เรือน ของไท-กะไดและ *rumah ของออสโตรนีเซียน จนถึงบทเห่เรือนั่นของชาวเยว่ แต่ชู้รักนั้นของใคร?

ในโคลงกวีบทแรกของ Song of the Yue boatman ซึ่งเป็นบทเพลงขับขานอายุสองพันห้าร้อยปีของชาวเยว่ ผู้เคยอาศัยอยู่ในแถบชายทะเลทางตอนใต้ของปากแม่น้ำแยงซี และเข้าใจกันว่าใช้ภาษาไท-ไตในการพูดจาสื่อสาร อาจารย์ Zhengzhang Shangfang ได้พยายามถอดรหัสภาษาไว้ตั้งแต่ปี 1991 ความว่า

เสียงโอลด์ไชนีส – คำไทย:

“ɦgraams - คล้ำ, ɦee - แฮ, brons - เพลิน, tshuuʔ - เจอเจอะ, ɦgraams – คล้ำ”

และแปลเป็นภาษากวีไว้ว่า “Oh, the fine night, we meet in happiness tonight!” ซึ่งผู้เขียนขอแปลไทยตามอีกครั้งว่า “คืนค่ำนี้ ช่างแสนปลอดโปล่ง สองเรามาพบกัน แช่มชื่นสมอุรา”

อย่างไรก็ดี ในบทความเรื่องบทเห่เรือนั่นของชาวเยว่ แต่ชู้รักนั้นของใคร? ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตที่แตกต่างเป็นทางเลือกไว้ โดยโคลงท่อนนี้ควรแปลแบบภาษาสมัยปัจจุบันว่า “ค่ำแล้ว แฮ เดือนเจอค่ำ” เพราะคำว่า brons นั้นแท้จริงแล้วอาจหมายถึงคำไท-ไตเดิมว่า เบลือน ที่คือเดือนในสมัยนี้ ส่วนคำว่า ɦgraams เห็นสอดรับกับคำว่า คล้ำ ซึ่งแปลความในสมัยที่มีการขับร้องอย่างชัดเจนว่า มืดค่ำ อันแตกต่างจากคำจำกัดความของพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่า “ว. ค่อนข้างดำ, ไม่ผ่องใส, หม่นหมอง, เช่น ผิวคล้ำ หน้าคล้ำ.”

คล้ำ จึงเป็นคำควบกล้ำของภาษาไท-ไตเหมือนกับคำว่า เบลือน ที่ใช้พูดกันทั่วไปในสังคมของพวกเยว่แถบปากแม่น้ำแยงซี ไม่ต่ำกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ทั้งควรเป็นคำต้นฉบับของคำโดดว่า ค่ำ ซึ่งแตกสาแหรกออกไปภายหลัง และ คล้ำ ยังสามารถคงรูปคำควบกล้ำไว้ได้เหมือนครั้งเก่า หากลดความหมายลง หรือเคลื่อนความหมายดั้งเดิมเป็นความหม่นหมอง ค่อนข้างดำ ไม่ผ่องใส ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ คำในบทกวีข้างต้นเป็นข้อสนับสนุนชั้นดีว่าภาษาไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) มีอายุเก่าแก่กว่าที่นักวิชาการหลายท่านประมาณการไว้มาก

เมื่อจับรูปคำไท-ไตโบราณ คล้ำ และความมืดดำรวมทั้งความหม่นหมองไว้เป็นพื้นฐาน แล้วสืบภาษาขึ้นไปยังต้นขั้วยิ่งพบความน่าสนใจ เพราะความมืดคล้ำกลับมีแนวโน้มสูงว่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแนวทางเดียวกับคำว่า เบลือน และ กุรุง คือการพุ่งไปยังความสัมพันธ์ทางเชื้อสายกับภาษาออสโตรนีเซียนมากกว่าเส้นทางอื่นๆ

เป็นคำที่มีความเป็นมาร่วมกับกลุ่มคำที่หมายถึงน้ำ หรือเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยน้ำอย่างยิ่ง

ในเรื่องลำนำแห่งสายน้ำ มีภาษาน้ำคำหนึ่งว่า dalam – ดาลัม ซึ่งชาวอินโดนีเซียแปลว่าภายใน ข้างใน ก้นบึ้งเบื้องลึก หรืออยู่กลางห้วงน้ำห่างไกลจากฝั่ง เขียนในภาษาอังกฤษว่า inside ชาวฟอร์โมซาเครือญาติออสโตรนีเซียนบนเกาะไต้หวันหลายกลุ่มเรียกคำนี้คล้ายๆ กัน เช่น พวก Pazeh เรียกว่า karúm, พวก Seediq เรียกคำหนึ่งว่า ruma, พวก Amis เรียก lalumaq หรือ lalumaʡ, พวก Saaroa เรียก ruruma:nə และพวก Taokas เรียกว่า yarum ซึ่งให้สังเกตว่ามีคำยืนพื้นคือ rum หรือ lum หรือ lam นักภาษาศาสตร์ได้สืบสร้างคำเก่าแก่ชนิด Proto-Austronesian ว่า “*i-dalem (อ้างอิงจาก Austronesian Basic Vocabulary Database 2008)

นอกจากนั้นคำเรียกน้ำของชาวฟอร์โมซาหลายกลุ่ม เช่นพวก Pazeh, Siraya, Paiwan, Saaroa และ Hoanya ก็คล้ายกับ dalam เช่น dalúm, dalum, zalum, saɬomo, lalum หรือ salum เป็นต้น

และอีกหลายกลุ่มในพวก Amis, Basay, Kavalan, Siraya, Pazih, Paiwan และพวก Puyuma เรียกการเพาะปลูกปักดำ หรือ to plant ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาน้ำที่สำคัญ คล้ายกับคำว่า dalam เช่น palumaʔ, paluma, ruma-, tmalum, xuruma, təmaLəm และ smaɭəm

คำพื้นฐาน lam/lum/rum นี้ ขยายความหมายเป็นอย่างมากในหมู่พวกออสโตรนีเซียน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องน้ำ การปักดำ ภายใน เบื้องลึก และยังกินความไปถึงคำเรียกดินโคลนว่า lampung/lempung/lumpur และคำเรียกบ้านช่องด้วยว่า *rumah ซึ่งต่างขับเน้นความหมายของสีดำความดำอย่างมีนัยยะทั้งสิ้น เช่น ความพร่ามัวของสายตาเมื่ออยู่ในน้ำ การดำดิ่งในความมืดมิดของท้องน้ำกว้างทะเลลึก การอยู่ภายในพื้นที่ปิดทึบมืดสลัว หรือการปักมุดลงไปในชั้นดินเลนเหลวสีเทาดำเป็นต้น

และยังปรากฏในการเรียกความดำเหมือนๆ กันของทั้งพวกออสโตรนีเซียนและไท-กะได เป็นความดำที่พัวพันอย่างแยกไม่ออกจากภาษาน้ำแต่อย่างใด เช่นการเรียก ดำ ของพวกไท-กะไดปะปนกันหลายความหมายทั้งสีดำ การปักดำ และการดำหัว หรือแม้แต่การเรียก ดำ ที่ใช้คำว่า nam โดยตรง เช่นในพวก Kam-Sui, ไท-ไตเหนือและบางส่วนของไท-ไตตะวันตกเฉียงใต้ และยังมีที่ใช้คำว่า lam หรือ ram หรือ laŋ ซึ่งกลับไปเหมือนกับคำพื้นฐาน lam/lum/rum เช่นในพวก Lakkja, บางส่วนของไท-ไตเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ และบางส่วนของพวก Kra

นอกจากนั้นในภาษาอินโดนีเซียยังแตกไปเป็นคำว่า malam ซึ่งแปลว่ากลางคืนอย่างชัดถ้อยชัดคำ และเมื่อรวมเข้ากับคำพื้นฐาน lam/lum/rum จึงตีความได้ค่อนข้างมั่นใจว่า คล้ำ เป็นคำที่มีลำดับพัฒนาการมาจากภาษาน้ำของพวกออสโตรนีเซียนและไท-กะได เป็นคำควบกล้ำหดสั้นจากคำโบราณสองพยางค์ บนความหมายทั้งสองอย่างว่า ความมืดมัวหม่นหมอง และความมืดลับยามดวงตะวันหมดแสง

และในพวกไท-ไตสืบต่อมายังไทยลุ่มเจ้าพระยา ก็พบกลุ่มคำความหมายคล้ายกับ คล้ำ อีกหลายคำ เช่น ล้ำ, ลำ, กล้ำ และแรม เป็นต้น ซึ่งพจนานุกรมไทยฉบับเดียวกันให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

คำว่า ล้ำ แปลว่า “ก. ล่วงเข้าไปเกินเขตที่กำหนด เช่น ล้ำเขตแดน ล้ำแดนข้าศึก. ว. ยิ่ง ล้น เช่น สูงล้ำ ปัญญาล้ำ.”

คำว่า ลำ แปลว่า “น. ตัวของคน สัตว์ หรือสิ่งต่าง ๆ ไม่นับส่วนที่เป็นแขนขาหรือกิ่งก้าน เช่น ลําตัว ลําต้น เรียกสิ่งที่ยาวกลมหรือมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลําแขน ลําคอ ลําอ้อย ลํานํ้า ลักษณนามเรียกสิ่งเช่นนั้นหรือเรือ เช่น ไม้ไผ่ลําหนึ่ง อ้อย ๒ ลํา เรือ ๓ ลํา ชั้นเชิง เช่น หักลำ. น. เพลง บทกลอน เช่น ร้องส่งลำ ร้องแก้ลำ ละครพูดสลับลำ.(โบ) ว. ลํ้า ยิ่ง ล้น.”

คำว่า กล้ำ แปลว่า “[กฺล้ำ] ก. ควบ เช่น กล้ำอักษร อักษรกล้ำ ทําให้เข้ากัน กลืนกัน เช่น กล้ำเสียง เสียงกล้ำ มีโทษอันหนึ่งไซร้ กลบกล้ำพันคุณ. (โลกนิติ) คือดั่งปากเว้นกล้ำ แกล่เหมี้ยงหมากพลู. (โลกนิติ) กัลยาจะกล้ำอําความตาย. (อิเหนา).”

คำว่า แรม แปลว่า “น. ส่วนของเดือนจันทรคติที่พระจันทร์เริ่มมืดจนถึงมืด คือ ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งไปถึงแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด หรือถึงแรม ๑๕ ค่ำในเดือนเต็มเรียกว่า ข้างแรม ช่วงระยะเวลานานนับเดือนนับปี ในคำว่า แรมเดือนแรมปี. ก. ค้างคืน เช่น พักแรม.”

ซึ่งคาดว่าคำเหล่านี้เป็นการแตกสาแหรกลูกหลานออกไปจากภาษาน้ำของออสโตรนีเซียนและไท-กะไดด้วยกันทั้งสิ้น

ปล. รู้สึกว่าทำไมคำ กรอม และ กล๋อม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ช่างละม้ายทั้งรูปคำและความหมายกับคำ คล้ำ และ กล้ำ เป็นยิ่งนัก

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 7 ตุลาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 616765เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2016 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2016 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท