เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง ตอน 6 Tracking retractions as a window into the scientific process


สำนักพิมพ์ต้องเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบจริยธรรม และศีลธรรมของนักวิจัยเจ้าของบทความ ก่อนรับบทความเข้าสู่กระบวนการของสำนักพิมพ์ต่อไป กรณีที่บทความใดปรากฎความฉ้อฉล สำนักพิมพ์จะไม่รับบทความของนักวิจัยทุกคนที่ปรากฎรายชื่อในบทความฉบับนั้น ทุกกรณี




สองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนบทความที่ผิดจริยธรรมและถูกถอดถอนออกจากวารสาร มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ [1] สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้นิพนธ์ นักวิจัย และสถาบันเปลี่ยนแปลงไป [2]



ที่มา [1]
ที่มา [1]

[1] Fang FC, Steen RG, Casadevall A. Misconduct accounts for the majority of retracted scientific publications.Proc Natl Acad Sci USA. 2012 Oct 16; 109(42) :17028-17033 doi: 10.1073/pnas.1212247109

[2] Steen RG, Casadevall A, Fang FC (2013) Why Has the Number of Scientific Retractions Increased? PLoS ONE 8(7): e68397. doi:10.1371/journal.pone.0068397



ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้กระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองบทความมีประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น แต่ทว่าจำนวนบทความวิชาการที่มีการฉ้อฉล ทุจริต ไม่ได้มีจำนวนลดลงเลย กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการฉ้อฉลทางวิชาการมีความซับซ้อนมากขึ้น อาทิ ใช้วิธีการปลอมแปลงผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองบทความ (fake reviewers) ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์ถอดถอนบทความออกจากวารสารชื่อดังหลายแห่ง




แม้ว่าบทความที่ปรากฎความฉ้อฉล ประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพวิจัย (misconduct) จะถูกถอดถอนออกจากวารสารไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อย ที่อ้างอิงบทความเหล่านั้น





Integrity team

เมื่อรูปแบบวิธีการฉ้อฉลเริ่มซับซ้อนมากขึ้น สำนักพิมพ์และทีมบรรณาธิการก็ต้องปรับเปลียนวิธีการตรวจสอบให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยตรวจสอบคุณภาพบทความและการทุจริตอื่นๆ ในบทความเพียงอย่างเดียว (ตรวจสอบ document) ก็ต้องเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบประวัตินักวิจัยและทีมวิจัย เจ้าของบทความนั้นๆ ตลอดจนตรวจสอบยืนยันตัวบุคคล ว่ามีตัวตนจริง รวมถึงสถานที่ทำงานที่ระบุในบทความวิชาการ

โดยกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนนี้ต้องใช้ทีมงานตรวจสอบที่เรียกว่า integrity team ดังบทสัมภาษณ์ Matt Hodgkinson (สำนักพิมพ์ Hindawi) กับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบประวัตินักวิจัยที่เป็นผู้ส่งบทความไปยังสำนักพิมพ์ ว่านักวิจัยนั้น มีคุณธรรมจริยธรรมซื่อสัตย สุจริตยึดมั่นในหลักวิชาชีพ หรือไม่


อ่านบทสัมภาษณ์ Matt“We don’t want to be caught napping:”



Matt Hodgkinson ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมา บทความที่ส่งมายังสำนักพิมพ์นั้น มีจำนวนบทความที่นักวิจัยประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพมากขึ้น รูปแบบของกลโกงเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่เคยฉ้อฉลทุจริตด้วยการคัดลอกผลงานของตัวเองหรือของผู้อื่น ดัดแปลงข้อมูล สร้างข้อมูลเท็จ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นเช่น ปลอมแปลงผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองผลงานหรือ fake reviewer โดยการสร้าง email account ปลอมขึ้นมา


ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องเพิ่มขั้นตอนตรวจสอบจริยธรรม และศีลธรรมของนักวิจัยเจ้าของบทความ ก่อนรับเข้าสู่กระบวนการของสำนักพิมพ์ต่อไป โดยสำนักพิมพ์จะสืบค้นข้อมูลและตรวจสอบประวัตินักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของบทความ ว่าเคยมีประวัติถูกถอดถอนบทความหรือไม่ (จากฐานข้อมูล Retraction Watch) ซึ่งการตรวจสอบในระยะแรกนั้น ทีมงานสืบค้นด้วยวิธี manual คือค้นหาเอง ทำให้ใช้ระยะเวลาการตรวจสอบนาน บางวันตรวจสอบได้เพียงบทความเดียว ส่งผลให้มีจำนวนบทความที่รอการตรวจสอบ integrity ในขั้นตอนนี้มีจำนวนมาก ต่อมาสำนักพิมพ์ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Exchange Platform) เชื่อมโยงกับฐานข้อมูล Retraction Watch ซึ่งช่วยให้การสืบค้นประวัติการถูกถอดถอนบทความมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ทีมตรวจสอบต้องค้นหาข้อมูลของนักวิจัยทุกคนที่ปรากฎรายชื่อในบทความ ยืนยันตัวบุคคล ตรวจสอบ email และผลงานที่ผ่านมาจากฐานข้อมูลต่างๆ



ขั้นตอนการตรวจสอบ integrity โดยสรุป ดังนี้

1. Tracking retraction ตรวจสอบว่าบทความดังกล่าวเคยถูกถอดถอนหรือไม่ (จาก Retraction Watch) หากพบว่าบทความนั้นมีประวัติเคยถูกถอดถอนออกจากวารสารใดวารสารหนึ่ง หรือถูกกล่าวอ้างว่าผิดจริยธรรมวิชาชีพวิจัย บทความนั้นก็จะถูกกรองออกไปในขั้นตอนนี้ (rejected before review process)

2. Verify email address ตรวจสอบ email ของทุกคน (ip address, ส่ง email)

3. ยืนยันตัวบุคคล author, reviewer, editor จากฐานข้อมูล Open Researcher and Contributor ID (ORCID)* และฐานอื่นๆ กรณีที่นักวิจัยไม่เคยลงทะเบียน ORCID ทางสำนักพิมพ์จะแจ้งให้นักวิจัยลงทะเบียนให้เรียบร้อยก่อน

4. สืบค้นข้อมูลผ่าน search engine ค้นหาความเชื่อมโยง email address, ผลงานวิจัยของ author ทุกคนเปรียบเทียบข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงจากแหล่งต่างๆ

5. ตรวจสอบการฉ้อฉลที่อาจปรากฎในบทความ (1) การโจรกรรมทางวิชาการ (Plagiarism); (2) ปลอมผลงาน (fabrication); (3) ปลอมแปลงข้อมูล (falsification); (4) การไม่มีกิตติกรรมประกาศผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญต่องานวิจัย (failure to acknowledge the key people to research); (5) การทดลองที่มีการวางแผนโกง (rigging experiments) และ (6) ตั้งใจแปลผลข้อมูลให้คลาดเคลื่อน (misinterpretation of results)

*หมายเหตุ สำนักพิมพ์ที่มีนโยบายให้ผู้ที่ส่งบทความทุกคนต้องลงทะเบียนที่ Open Researcher and Contributor ID (ORCID) คือ The American Geophysical Union (AGU), eLife, EMBO, Hindawi, the Institute of Electrical & Electronics Engineers (IEEE), the Public Library of Science (PLOS) ตามประกาศ [Publishers to require ORCID identifiers for authors]



แบบจำลองกระบวนการของสำนักพิมพ์



สำหรับระยะเวลาการตรวจสอบ integrity นั้น ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาทิ ข้อมูลในฐานข้อมูลต่างๆ การโต้ตอบระหว่าง corresponding author กับ editor (หาก corresponding author ไม่เปิด email กระบวนการพิจารณาก็ใช้เวลามากขึ้น) เป็นต้น




กรณีที่อาจพบระหว่างการตรวจสอบ integrity


  • กรณีที่ทีมตรวจสอบ ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลของนักวิจัยท่านหนึ่งท่านใดที่ปรากฎรายชื่อในบทความนั้นได้ ทีมตรวจสอบจะติดต่อขอข้อมูลอย่างละเอียดจาก corresponding author ดังตัวอย่าง




  • กรณี email address ของ co author (ท่านหนึ่งท่านใด) ที่ระบุในบทความ มีการเชื่อมโยงไปที่นักวิจัยคนอื่น หรือมีนักวิจัยคนอื่นนำ email นั้นไปใช้ในบทความชิ้นอื่น (นักวิจัยสองคนใช้ email address เดียวกัน) ทีมตรวจสอบจะติดต่อ corresponding author ให้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว ดังตัวอย่าง



หลังจากชี้แจงเหตุผลแล้ว (สมเหตุสมผล) ทีมตรวจสอบจะให้เปลี่ยน email account ที่เป็นประเด็นออก และแก้ไขข้อมูล email ในฐานข้อมูลของสำนักพิมพ์ พร้อมทั้งติดต่อนักวิจัยท่านนั้นอีกครั้งหนึ่ง (ติดต่อผ่าน email account ใหม่) เพื่อยืนยันว่ามีตัวตน และยืนยันว่ามีส่วนร่วมในบทความ ดังตัวอย่าง




หมายเหตุ corresponding author ขึ้นกับนโยบายของสำนักพิมพ์

    • สำนักพิมพ์บางแห่ง corresponding author ที่ระบุในบทความ ต้องเป็นคนเดียวกันกับ corresponding author ที่ submit บทความ (มีได้คนเดียว)
    • สำนักพิมพ์บางแห่ง corresponding author ที่ระบุในบทความ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกับ corresponding author ที่ submit บทความ (มีได้สองคน)



เมื่อผ่านขั้นตอนตรวจสอบ integrity เรียบร้อยแล้ว สำนักพิมพ์จะติดต่อค้นหา reviewer และเลือก reviewer เอง ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็จะตรวจสอบประวัติ ข้อมูลต่างๆ ยืนยันตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่พิจารณาบทความ (reviewer) เช่นเดียวกับที่ตรวจสอบนักวิจัย




นอกจากนี้ Matt ให้สัมภาษณ์ต่อว่าทางสำนักพิมพ์ Hindawi ได้เพิ่มบทลงโทษ นักวิจัยที่ประพฤติผิดจริยธรรมวิชาชีพวิจัย (misconduct) โดยจะปฏิเสธบทความฉบับที่ตรวจพบการทุจริตฉ้อฉลทันที และปฏิเสธบทความอื่นๆ ที่ส่งไปวารสารฉบับอื่นในเครือสำนักพิมพ์ด้วย นอกจากนี้ห้ามผู้นิพนธ์และผู้ร่วมนิพนธ์ที่ปรากฎรายชื่อในบทความที่ตรวจพบการกระทำผิด ส่งบทความใดๆ มายังสำนักพิมพ์ทุกกรณี* เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 36 เดือน ในกรณีที่สำนักพิมพ์ตรวจพบการกระทำความผิดอื่นใดที่ผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพวิจัย สำนักพิมพ์มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มบทลงโทษ นอกเหนือจากที่ชี้แจงข้างต้น (ผู้เขียนเข้าใจว่า สำนักพิมพ์มีมาตรการลงโทษนักวิจัยทุกคนที่มีรายชื่อในบทความฉบับที่ตรวจพบความฉ้อฉล)


ทุกกรณี* แม้จะเปลี่ยนทีมวิจัย เช่น co author ที่มีชื่อในบทความที่ตรวจพบการฉ้อฉล ส่งบทความร่วมกับนักวิจัยท่านอื่นที่ไม่มีชื่อปรากฎในบทความที่มีปัญหา (มีชื่อร่วมกับนักวิจัยไม่มีประวัติเสื่อมเสีย) สำนักพิมพ์ก็ไม่รับบทความ


อนึ่ง Jeffrey Beall ไม่ได้บรรจุรายชื่อสำนักพิมพ์ Hindawi ไว้ใน รายชื่อ predatory journal

เพิ่มเติม


ในอนาคต มีแนวโน้มว่าสำนักพิมพ์หลายแห่ง จะเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ integrity (tracking retraction) ในกระบวนการกลั่นกรองบทความวิชาการ


ภัทรพร คงบุญ

8 ตุลาคม 2559



หมายเลขบันทึก: 616758เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2016 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2016 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท