.....ธรรมชาติ...( กลบท นายโรงลืมกรับ).....


แสงสุดท้ายปลายฟ้าเริ่มลาลับ....สีสลับสวยสาแลตาสบ



.....แสงสุดท้ายปลายฟ้าเริ่มลาลับ
สีสลับสวยสาแลตาสบ
ทั้งแดงส้มบ่มเหลืองเรื่อเรืองพบ
คงลาหลบไม่ช้าเพ - ลาชัด

.....ตะวันหายคลายแจ้งร้อนแรงลึก
ดำผนึกเร็วรี่ปฏิบัติ
มวลหมู่ดาวสกาวห้วงดั่งดวงรัตน์
ไร้เมฆขัดตามองแสงส่องนัก

.....ตามสุมทุมพุ่มหนาถึงคราดึก
เหล่ามฤคเที่ยวท่องคะนองหนัก
เข้าเล็มแทะแซะลึกอย่างคึกคัก
มิยอมพักกินดะแข่งรวิ

.....กระพริบพราวขาวนวลไม้มวลแมก
เกาะละแวกลำพูมองดูสิ
งามเย็นตากล้าแข่งแสงรพิ
ไร้ที่ติหิ่งห้อยตัวน้อยนิด

.....มหัศจรรย์สรรสร้างระหว่างโลก
เปลี่ยนหมุนโยกตายปลูกมิผูกติด
มีร้อนหนาวพราวฝนเวียนวนชิด
มิเบือนบิดย่างสู่ฤดูวัตร

.....สรรพสิ่งจริงแท้มิแปรผิด
ทำให้คิดเรียนรู้มองดูผลัด
ควรน้อมนำธรรมชาติที่วาดทัศน์
อย่าพึงขัดขืนกลายทำลายลบ

วันปีย์

.....ผังกลบท

ที่เรียกว่า กลบทนายโรงลืมกรับ คือ ทุกบรรทัด จะต้องลงส่งสัมผัสนอก ด้วย คำ ลหุ (คำตาย) เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 616754เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2016 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2016 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีจ้ะอาจารย์วันปีย์

มาทักทายก่อนนอนจ้ะ

ราตรีสวัสดิ์จ้าา


สวัสดีครับ อาจารย์ คุณมะเดื่อ ไม่ได้เจอกันนาน ยังคิดถึงอยู่ครับ ขอบคุณมากนะครับผม

เรียนอาจารย์ อ่านดูแล้ว สำเนียงเสียงสัมผัส คล้ายบทขับยักษ์ ของนายหนังตลุง

ขอสาธกยกยักษ์หวักเหล็ก แบกโลกหมูใสชุดโลกมุดลิด

ประมาณนี้ครับอาจารย์ กลอนขับบทยักษ์

กลบท นายโรงลืมกรับ

- ข้อบัญญัติ : บัญญัติพิเศษเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ

-๐- ตลอดสำนวน บังคับให้ส่งสัมผัสระหว่างวรรคทุกวรรค (สัมผัสนอก) ด้วย "คำตาย" เท่านั้น


...- เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ครั้งเมื่อวางโกลนเรือ "เอนกชาติภุชงค์" แล้วเสร็จ จำต้องมีการลองน้ำ "พระราชวังบวรฯ" โปรดที่จะเสด็จล่องเรือจากท่าวาสุกรีไปขึ้นที่วังหน้า ด้วยความฉุกละหุก นายโรงผู้จัดเตรียมอุปกรณ์ ลืมนำ "กรับ" ลงเรือให้อาลักษณ์ขับเห่ พอเรือออกจากท่า อาลักษณ์ก็เริ่มเห่ แต่หา กรับ ไม่เจอ แต่ด้วยปรีชา จึงต้องว่ากลอนท้ายหัก จะได้ไม่ต้องลง กรับ กรมพระราชวังบวร เห็นเป็นการแปลก เลยถามอาลักษณ์ว่า เฮ้ย นี่มึง ด้นกลอนกลอะไร อาลักษณ์จึงตอบไป ว่า นี่เป็นกลบท "นายโรงลืมกรับ" พระเจ้าข้า


.....นี่เป็นที่มาของ กลบท บทนี้ครับ ผมได้ คัดลอกมาจากผู้ทรงความรู้ทางผัง และ ข้อกำหนด ของกลอนกลบทต่างๆของ ท่าน Black Sword ( หมู มยุรธุชบูรพา ) ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง กระบวนการ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และกลบท ต่างๆของไทยเรา ก็คงจะมาจากรากฐานเดียวกัน คือมาจากการร้อง การเล่น ของพื้นบ้าน และชาวบ้านในยุคนั้น แต่มาแตกแขนงออกไปตามสมัยนิยม และตามความคิดคำนึงของผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในสมัยนั้นๆ ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท