​เยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี สถาบันอุดมศึกษาที่เน้นวิจัย



ต่อจากบันทึกที่แล้ว ที่ทีมจากธนาคารไทยพาณิชย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ไปชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ในวันที่ ๓ - ๔ กันยายน ๒๕๕๙ ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง


บันทึกนี้จะเล่าความประทับใจจากการไปชม สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่บอกว่าใช้โมเดล Caltech คือเป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิผลสูง โดยในช่วงแรกเป็นคล้ายๆ สถาบันบัณฑิตศึกษา คือมีเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอกและโท ทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) ในสูตร 1 : 3 : 5 คืออาจารย์ (ระดับศาสตราจารย์) ๑ คน ต่อนักวิจัยหลังปริญญาเอก ๓ คน และนักศึกษาระดับ บัณฑิตศึกษา ๕ คน เป็น ๑ ทีม ผมคิดว่าทีมวิจัยสูตรนี้แหละ ที่จะทำให้สถาบันนี้มีผลงานวิจัยเด่นกว่าสถาบัน อุดมศึกษาอื่นๆ ในประเทศแบบเดียวกันกับ Caltech


ข้อได้เปรียบของสถาบันวิทยสิริเมธี นอกจากโมเดล 1 : 3 : 5 และเลือกอาจารย์และนักศึกษาที่เก่งและมี ความมุ่งมั่นสูงสุดมาอยู่ที่นี่แล้ว ยังเป็นสถาบันที่มีเครื่องมือวิจัยที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ และมีการใช้ เครื่องมือดังกล่าวอย่างเต็มที่ ๒๔ ชั่วโมง เพื่อทำวิจัยในระดับแนวหน้าของโลก เรื่องแบตเตอรี่ และเรื่อง OLED โดยอาจารย์มีทั้งผลงานตีพิมพ์และสิทธิบัตรเพียบ


แต่เมื่อไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย ผมยิ่งเห็นร่องรอยของการทำวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับ “ขอบฟ้าใหม่” (blue sky) จากที่เห็นว่า อาจารย์สร้างเครื่องมือสำหรับใช้วิจัยเอง เพราะหากใช้เครื่องมือ ที่มีอยู่แล้ว ก็แสดงว่าจะต้องมีคนอื่นทำงานวิจัยในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่หากสิ่งที่จะทดลองนั้น ไม่มีเครื่องมือใดที่จะใช้ได้ ต้องสร้างขึ้นใหม่ การวิจัยนั้นย่อมล้ำหน้าอยู่ในแนวขอบฟ้าใหม่อย่างแน่นอน


ผมมองว่า ความสำเร็จของสถาบันวิทยสิริเมธีในระยะยาว ขึ้นอยู่กับความสามารถมีเงินสำรองลงทุน (endowment) เอาไว้ใช้สนับสนุนการวิจัยสู่ขอบฟ้าใหม่ ที่ยังหาทุนวิจัยไม่ได้ เมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความรู้ใหม่นั้นมีคุณค่า จะบุกเบิกนวัตกรรมใหม่สู่การหนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือของอุตสาหกรรม ทุนวิจัยก็จะตามมา สำหรับเป็นเงินเดือนอาจารย์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก และนักศึกษาที่เอาทุน (scholarship) ไปดึงมา


สถาบันวิทยสิริเมธี จึงต้องทำงานผลักดันพัฒนาการของระบบทุนวิจัยของประเทศให้พัฒนาขึ้นไปอีก ทั้งทุนจากภาครัฐและจากภาคธุรกิจหรือภาคประกอบการ เพื่อให้มีทุนวิจัยมาเลี้ยงนักวิจัยอาชีพ ให้ทำงานสร้างสรรค์ผลงานเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ในภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งในการพัฒนาระบบ สังคม


ฟังความฝันของ ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภา และจาก ศ. ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดี ที่มีการตั้งเป้าว่าต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ เป็นหนึ่งใน ๕๐ อันดับแรกของโลกภายใน ๒๐ ปี คือภายใน พ.ศ. ๒๕๗๘ แล้วผมชื่นชมในความกล้าหาญอย่างยิ่ง ปณิธานนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนความเอาจริงเอาจัง ของคณาจารย์และนักศึกษา


ผมคิดว่าความสำเร็จนี้ขึ้นกับความสามารถในการสร้างกระบวนทัศน์ในการมองบทบาทของนักศึกษา ในภาพที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยไทยทั่วไป คือ VISTEC ต้องมองบทบาทนักศึกษาเป็นผู้ผลิตผลงานวิจัย ผู้เข้ามาใช้พลังริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องคัดเลือกนักศึกษาตามเกณฑ์ความสามารถนี้ หรือจริงๆแล้วต้องไม่เปิดรับสมัครนักศึกษาแบบรอตั้งรับ แต่ต้องรุกเข้าไปชักชวนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติตามที่ VISTEC ต้องการ


การทำงานวิจัยสร้างสรรค์ต้องไม่ใช่งานที่เป็นเลิศแบบลอย ต้องเน้นความเป็นเลิศแบบที่ยึดโยงอยู่กับ อุตสาหกรรม หรือภาคการผลิต หรือภาคบริการ โดยที่ต้องส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสออกไปทำงานเชื่อมโยง กับสังคมหรือชุมชนโดยรอบบ้าง เพื่อเสริมทักษะทางสังคมให้แก่นักศึกษา


วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๙


1 หน้าอาคารสำนักงานอธิการบดียามเย็น


2 อาคารสำนักงานอธิการบดียามพลบ


3 ยามค่ำ


4 มีการจัดลำดับประเด็นวิจัยไว้อย่างดี


5 รศ. ดร. วินิจ พรหมอารักษ์ กับห้องปฏิบัติการวิจัย


6 ผศ. ดร. มนตรี สว่างพฤกษ์ กับการทดลองแบตเตอรี่แบบใหม่


7 ห้องเรียน


8 วิวจากจุดสูงสุดในพื้นที่


9 สระน้ำใหญ่หน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี


หมายเลขบันทึก: 616654เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท