ทำอย่างไรจะพัฒนาศักยภาพของบุคคลหรือประชาคมเหล่านี้ให้มีสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุข


ผู้สูงวัยติดเตียงยากจน มีปัญหากลืนลำบาก หกล้มจนปวดหลังรุนแรง และไม่มีคนดูแล

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมักเป็นผู้ที่มีอาการป่วยที่ส่งผลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจนไม่สามารถขยับหรือลุกขึ้นใช้ชีวิตปกติได้ จึงต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลา และจำเป็นต้องมีคนคอยดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน

ในกรณีนี้ ผู้รับบริการมีอาการปวดหลังรุนแรงภายหลังการหกล้มร่วมด้วย จึงควรส่งเข้ารับการรักษาและบำบัดอาการปวดหลังก่อนในเบื้องต้น และทำการประเมินรักษาอาการป่วยที่ทำให้เกิดการนอนติดเตียงรวมทั้งกระตุ้นกลืนไปด้วย โดยในระหว่างการบำบัดรักษานี้ หากไม่ส่งตัวผู้รับบริการมาอยู่ที่สถานพยาบาลก็ต้องมีคนคอยเข้าไปดูแลที่บ้านเนื่องจากผู้รับบริการอยู่ตัวคนเดียว และในช่วงนี้สามารถพูดคุยกับผู้รับบริการถึงความสนใจและความสามารถที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้

การบำบัดรักษาอาจใช้เวลานานเนื่องจากผู้รับบริการมีอาการร่วมหลายอย่าง ผู้บำบัดจึงต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดและช่วยหาวิธีสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ซึ่งหลังจากการบำบัดแล้ว หากผู้รับบริการสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้และทำงานได้อย่างมีความสุขก็สามารถปล่อยให้ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หากต้องมีการดูแลต่อเนื่องก็อาจต้องส่งผู้รับบริการไปอยู่สถานพักฟื้นคนชราซึ่งมีการดูแลที่ดีกว่าอยู่ตัวคนเดียว

ในช่วงนี้ต้องคอยดูแลเรื่องของสุขภาวะทางจิตของผู้รับบริการด้วยว่ามีความสุขดีกับชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ไหม หากไม่มีความสุข เกิดความเครียด ความกังวลก็ต้องหาทางบำบัดรักษากันต่อไปเพื่อให้ผู้รับบริการได้มีชีวิตของตัวเองอย่างปกติสุขที่สุด


วัยทำงานมีภาวะซึมเศร้าและไม่มีงานทำ ต้องให้พ่อแม่ผู้สูงวัยเลี้ยงดู

ภาวะซึมเศร้าส่งผลกระทบหลายอย่างต่อตัวบุคคล จะทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้ไม่แจ่มใสเหมือนเคย ร้องไห้ง่าย สะเทือนใจบ่อย หดหู่ อะไรที่เคยทำแล้วสนุกก็จะเริ่มไม่สนุกเหมือนอย่างเคย หากหนักขึ้นก็จะเริ่มคิดในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง และหากไม่ได้รับการรักษาแล้ว ในบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นมีอาการของโรคทางจิตแทรกซ้อน นอกจากทางด้านจิตใจแล้วก็ยังส่งผลต่อด้านอื่นอีกด้วย เช่นด้านร่างกายที่ไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ มีความเครียด และยังส่งผลต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการทำงานอีกด้วย

ภาวะซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในกรณีนี้อาจเกิดจากสารเคมีในสมองหรือความคิดของเจ้าตัวที่มองตัวเองในแง่ลบ ซึ่งผู้บำบัดจะสามารถรู้ได้จากการเข้าไปพูดคุยและสอบถามจากตัวผู้รับบริการเองและจากพ่อแม่ที่คอยดูแล ซึ่งหากเป็นอาการที่เกิดจากสารเคมีในสมองก็สามารถรักษาโดยการกินยาควบคู่ไปกับการพูดคุยเพื่อบำบัดรักษาด้วยได้

ในผู้รับบริการที่มีภาวะซึมเศร้าต้องใช้การพูดคุยอย่างระมัดระวังและจริงใจเพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกสบายใจ โดยเมื่อผู้รับบริการมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้บำบัดจึงช่วยเหลือในด้านของการหางานที่เหมาะสมกับตัวเองเพื่อสร้างรายได้และไม่รบกวนพ่อแม่อีกต่อไป

ในกรณีนี้อาจต้องมีการตรวจประเมินเป็นระยะเพื่อดูว่าผู้รับบริการยังคงมีภาวะซึมเศร้าหลงเหลืออยู่หรือไม่และอยู่ในระดับที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากแค่ไหน หากยังมีมากก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือในการบำบัดรักษาต่อไป


วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน ย้ำคิดย้ำทำ ผัดวันประกันพรุ่ง และติดเกม

อาการย้ำคิดย้ำทำนั้นอาจเกิดได้จากความผิดปกติในสารสื่อสมองหรือจากพฤติกรรมการเรียนรู้ ทำให้ผู้ที่มีอาการนี้คิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ กัน ซึ่งอาการนี้อาจเกิดร่วมกับโรคกลัวสังคม โรควิตกกังวลต่างๆ อีกด้วย

จากกรณีนี้ การที่ผู้รับบริการไม่ไปโรงเรียนอาจเกิดจากอาการกลัวสังคมหรือวิตกกังวลซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากอาการย้ำคิดย้ำทำ และการติดเกมอาจเป็นเพราะเกมเป็นสิ่งที่ไม่ต้องเจอกับคนอื่น ทำให้ผู้รับบริการสนใจโลกในเกมมากกว่าโลกความจริง

การบำบัดขั้นต้นคือต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจในอาการของผู้รับบริการ ซึ่งในการบำบัดนี้อาจใช้ยาควบคู่ไปด้วยเพื่อปรับในด้านของสารสื่อสมอง โดยในกรณีนี้ ผู้รับบริการเป็นวัยรุ่น อาจมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายอยู่แล้ว จึงต้องคอยติดตามผลอยู่เป็นระยะ เพราะบางครั้งอาการที่แสดงออกอาจเกิดมาจากระดับของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงร่วมด้วย

การบำบัดรักษาในกรณีนี้อาจยากในการพูดคุย แต่หากทำให้หายจากอาการย้ำคิดย้ำทำได้แล้วก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงด้านอื่นๆ ผู้รับบริการจะหายจากอาการกลัวสังคม เปิดใจยอมรับผู้อื่นมากขึ้นและกล้าที่จะกลับไปโรงเรียนเพื่อใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง

อาการย้ำคิดย้ำทำอาจกลับมาแสดงได้อีกครั้งหากถูกกระตุ้น พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลและพูดคุยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น แต่หากต้นเหตุของอาการมาจากด้านครอบครัว อาจต้องมีการพูดคุยกับทางพ่อแม่และหาวิธีช่วยเหลือต่อไป


วัยเด็กสมาธิสั้น ก้าวร้าว ตีคนแปลกหน้า และไม่ชอบออกจากบ้าน

อาการสมาธิสั้นในเด็กนี้เกิดจากสารสื่อประสาท ส่วนมากจะใช้ยาในการรักษา และพบมากในเด็กยุคปัจจุบัน ซึ่งอาการของสมาธิสั้นนี้มีทั้งแบบขาดสมาธิ เด็กจะวอกแวกง่าย ไม่จดจ่อ หลงลืม แบบซน เด็กจะไม่อยู่นิ่ง ไม่ระมัดระวัง ชอบเล่นผาดโผน แบบหุนหันพลันแล่น เด็กจะทำอะไรไปโดยไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

ในกรณีนี้ อาการสมาธิสั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากออกจากบ้านไปไหนเพราะอาจเคยถูกดุถูกว่ามาแล้วก็จำฝังใจ และอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวตามมาอีกด้วย ซึ่งการตีคนแปลกหน้าก็อาจเกิดจากอาการสมาธิสั้นร่วมด้วยส่วนหนึ่ง การบำบัดรักษาจึงต้องเริ่มที่การแก้ไขอาการสมาธิสั้นเป็นอันดับแรกแล้วจึงมาดูว่าเมื่อเด็กมีอาการดีขึ้นแล้วสามารถสอนได้หรือไม่

นอกเหนือไปจากการบำบัดรักษาเด็กสมาธิสั้นแล้วก็ต้องพูดคุยกับพ่อแม่เด็กในด้านของการเลี้ยงดูและการสั่งสอนให้เป็นไปในทางที่ดี เพราะในวัยเด็กจะเรียนรู้ง่าย หากได้รับการปลูกฝังที่ดีตั้งแต่แรกก็จะสามารถเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้เช่นกัน



จัดทำโดย

น.ส.ณัชชรีย์ ตุลย์ณวัฒน์ 5823003

นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล



เอกสารอ้างอิง


โรคซึมเศร้าโดยละเอียด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017


โรคย้ำคิดย้ำทำ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05012014-1443


สงสัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ โรงพยาบาลมนารมย์

http://www.manarom.com/article-detail.php?id=96


มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/psychiatrics/dept_article_detail.asp?a_id=392

คำสำคัญ (Tags): #exam
หมายเลขบันทึก: 616286เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2016 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2016 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท