​ครูเรฟมาไทยครั้งที่สอง


โยงสู่ระบบการผลิตครู และการพัฒนาครูประจำการ ที่ต้องทำใหม่ จัดใหม่ ให้ได้ทักษะและ ค่านิยมความเป็นครู ในลักษณะ “ครูเพื่อศิษย์” ที่มุ่งพัฒนาศิษย์ทั้งคน และทุกคน

ครูเรฟมาไทยครั้งที่สอง

สสค. เชิญครูเรฟมาคุยกับครูไทยเป็นครั้งที่สอง หลังจากมาครั้งแรกเมื่อ ๕ ปีก่อน ดังที่ผมบันทึกไว้ ที่นี่และชมวีดิทัศน์การบรรยายของท่านได้ ที่นี่

คราวนั้น ท่านมาเปิดตัวหนังสือแปล ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ที่แปลจาก Teach Like Your Hair’s On Fire ของท่าน ซึ่งเป็นหนังสือต้นเหตุให้ผมหันมาสนใจเรื่องการศึกษาของประเทศ และเป็นต้นตอของคำว่า “ครูเพื่อศิษย์” คราวนี้ก็มาเปิดตัวหนังสือแปลอีกเล่มหนึ่งของท่าน คือ ครูแท้แพ้ไม่เป็น แปลจาก Real Talk for Real Teachers

วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ ตอนเย็นท่านบรรยายเรื่อง การพัฒนาครู ประสบการณ์จากประเทศจีน ผมมัวรถติดอยู่จึงพลาดโอกาสฟัง แต่ก็ได้มีโอกาสฟังช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยน มีครูจีนมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย ๒ ท่าน จับความได้ว่าทางประเทศจีนเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเด็ก และเคร่งครัดเรื่อง พฤติกรรมของครูมาก ไม่ทราบว่าเริ่มจากเรื่องครูขว้างแก้ว ที่ผมเขียนบันทึกไว้ ที่นี่ หรือเปล่า แต่เมื่อได้มี โอกาสถามคนฟังในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็ทราบว่า ครูเรฟสะท้อนว่าประเทศจีนเอาใจใส่คุณภาพการศึกษามาก แต่สังเกตว่ายังด้อยเรื่องความมีน้ำใจ

มีครูไทยเอ่ยเรื่องการดูแลเด็กออทิสติก ครูเรฟบอกว่าเรื่องเด็กออทิสติกในอเมริกามีปัญหามาก ครูไม่อยากดูแลเด็กเหล่านี้ เพราะต้องกรอกแบบฟอร์มหนา ๒๐๐ หน้าตามที่บังคับไว้ในกฎหมาย โดยที่สิ่งที่ต้อง กรอกส่วนหนึ่งไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก จะเห็นว่า เส้นทางเดินของสหรัฐอเมริกายิ่งยึดถือความสัมพันธ์ บนฐานกฎหมายมากขึ้น ๆ หลายส่วนก่อผลร้าย ผมมีข้อสังเกตว่า สังคมไทยก็เดินตามก้นอเมริกาอีกแล้ว เรากำลังให้กฎหมายเป็นใหญ่ แทนที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นใหญ่ อย่างที่สังคมไทยเราเคยเป็น ในอดีต ที่จริงกฎหมายหลายเรื่องเป็นของดี แต่บ้ากฎหมายจนละเลยมิติของสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์น่าจะ ก่อผลร้ายมากกว่าผลดี

วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ช่วงเช้าท่านบรรยาย ๒ ชั่วโมงเต็ม เรื่อง Real Talk for Real Teachers โดยมี ดร. ชนันท์ เป็นผู้แปลอย่างทันควัน อย่างออกรสชาติมาก ตามด้วยการถามตอบ

ครูเรฟมีฐานะเป็น “ครูกบฏ” ของโรงเรียนโฮบาร์ท และของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกบฏสันติที่มี แนวร่วมมากมาย ได้แก่พ่อแม่ของศิษย์ที่เรียนจบ ป. ๕ ไปแล้ว ศิษย์เก่า และผู้ชื่นชมผลงานของครูเรฟ นอกจากผลงานพัฒนาศิษย์แล้ว ครูเรฟยังมีผลงานหนังสือ และการไปพูดในที่ต่างๆ คราวนี้ทางประเทศจีน เชิญไปเป็นครั้งที่ ๑๖ สสค. จึงถือโอกาสเชิญมาเปิดตัวหนังสือ

เท่ากับครูเรฟทำงานพัฒนาระบบการศึกษาของโลกในฐานะ “ครูนอกกรอบ” ตามสไตล์ของท่าน มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของอเมริกาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในการพูดและในหนังสือเล่มใหม่ของท่าน

ครูเรฟเปิดฉากการพูดด้วยการบอกว่า ครูต้องทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ หากต้องการให้ศิษย์เป็นอย่างไร ครูต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่าง เพราะศิษย์จะจ้องมองครูอยู่ตลอดเวลา รายละเอียดของการพูดสะท้อนว่า ครูเรฟมุ่งปูพื้นฐานความสำเร็จระยะยาวในชีวิตของศิษย์ ซึ่งเลยเรื่องผลการสอบปลายปีไปอย่างมากมาย เลยเรื่องการเรียน/สอนวิชา ไปสู่การสอนคน/ฝึกศิษย์ให้เป็น มนุษย์ระดับ ๖ ซึ่งจะเป็นคุณต่อชีวิตตลอดไป

ในเรื่องความสำคัญของการอ่าน ครูเรฟอธิบายเรื่องการสอนให้เด็กชอบอ่านหนังสือด้วยการที่ ครูกับเด็กอ่านหนังสือด้วยกัน อ่านหนังสือดีที่เป็นวรรณกรรมคลาสสิค ครูเรฟจะบอกศิษย์ว่า ในหนังสือ นั่นคือตัวเธอ ให้จับความรู้สึกของตนเองให้ดี เด็กจะอ่านไปน้ำตาไหลไป บางคนสะอื้นด้วยความซาบซึ้ง การอ่านที่จับใจเช่นนี้ จะปลูกฝังความรักการอ่าน

ในช่วงประสบการณ์และบทเรียนการทำงานของครูไทย กลยุทธการสร้างลักษณะนิสัยและ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยวิทยากร ๒ ท่านคือ ครูวีระยุทธ เพชรประไพ ครูรางวัลยิ่งคุณ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูศิลปะแห่งโรงเรียนเสิงสาง จ. นครราชสีมา กับคุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ครูนอกระบบ แห่งการสร้างพลเมือง ทำให้ผมเกิดความเข้าใจว่าทั้งสองท่าน เป็นครูผู้สร้าง การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ให้แก่เด็กๆ

ทำให้ผมตระหนักว่า ทุกวิชาสอนสู่ Transformative Learning ได้ทั้งสิ้น และหากมุ่ง “สอนคน” ครูจากทุกวิชาจะรวมทีมกันทำงานได้สนุกยิ่งขึ้น มีพลังสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น และเกิดผลสัมฤทธิ์ง่ายขึ้น ที่สำคัญ ครูจะยิ่งเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น จะเกิด PLC แบบใหม่ คือแบบข้ามวิชา โดยมีเข็มมุ่งอยู่ที่การเรียนรู้และ พัฒนาการของศิษย์

ผมชอบเป้าหมาย FICS ในการทำหน้าที่ครู ของครูวีระยุทธ ซึ่งย่อมาจาก Feelings, Intelligence, Characters, Skills ในส่วน Feelings มี Happiness ซ่อนอยู่ด้วย

หลังจากนั้น เป็นช่วง ๑๕ นาทีที่ผมมีหน้าที่ “เชื่อมโยงแนวคิดและประสบการณ์ครูแท้สู่ระบบการศึกษา ไทย” ที่ผมบอกว่าผมจดประเด็นไว้มากมาย ให้พูด ๑ ชั่วโมงก็ได้ แต่มีช่วงถามตอบโดยครูเรฟรออยู่ เป็นช่วงที่จะประเทืองปัญญาสุดสุด ผมจึงจะตั้งข้อสังเกตเพียง ๔ ประเด็น

  • จากครูแท้ สู่ระบบการศึกษาที่แท้ ที่ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมความดีงามภายในตัวมนุษย์ ก้าวข้ามเกรดหรือผลการสอบ ไปสู่การพัฒนามนุษย์ระดับ ๖ ขอขยายความในบันทึกนี้ว่า คำว่า “แท้” บ่งบอกว่ามีของปลอมอยู่ดาษดื่น
  • โยงสู่ระบบการผลิตครู และการพัฒนาครูประจำการ ที่ต้องทำใหม่ จัดใหม่ ให้ได้ทักษะและ ค่านิยมความเป็นครู ในลักษณะ “ครูเพื่อศิษย์” ที่มุ่งพัฒนาศิษย์ทั้งคน และทุกคน
  • ฟังและชมวีดิทัศน์ของครูเรฟ และฟังครูไทยสองท่านแล้ว ผมเกิดความรู้สึกว่า เด็กแม้วัย ๙ - ๑๐ ขวบ มีศักยภาพ มีพลัง มากกว่าที่เราคิดมาก ทุกคนเป็นคน “พิเศษ” หน้าที่ของครูคือ เปิดโอกาสให้พลังเหล่านั้นออกมา ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีทักษะนี้
  • ทุกวิชาเชื่อมสู่การพัฒนามนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ระดับหก (ทำดีเพราะมันดี ไม่ใช้เพื่อหวังผล ตอบแทน) จะเกิดผลนี้ได้ รูปแบบการเรียนรู้ต้องเป็นการปฏิับัติ ที่นักเรียนรู้ว่าการทำงานนั้น มีคุณค่าต่อชีวิตในอนาคตของตนอย่างไร ไม่ใช่เรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากครู หรือจากหนังสือ และครูจากทุกวิชาสามารถรวมตัวกัน โดยใช้เป้าหมายสร้างมนุษย์ระดับ ๖ เป็นเป้าหมายร่วม รวมตัวกันเป็น PLC ตีความ เรียนรู้จากกิจกรรมที่ให้ศิษย์ทำ และจาก พฤติกรรมของศิษย์หลากหลายแบบ นำมาปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้ การทำหน้าที่ครู จะสนุกมาก และเกิดการเรียนรู้มาก นี่คือ PLC ข้ามวิชาที่บันทึกไว้แล้วในตอนต้น

ผมอดแถมประเด็นที่ ๕ ไม่ได้ ว่าจากการสนทนากันนอกรอบ และจากที่ครูเรฟเล่า รวมทั้งของครู วีระยุทธ และครูหนู (พรรณิภา) ด้วย ผมสรุปกับตนเองว่า ครูที่ดีและเก่งคือครูที่เป็น “นักเรียนรู้” เรียนรู้อยู่ตลอด เวลา และครูที่ดีที่สุดของครูคือนักเรียนนั่นเอง ครูต้องฝึกทักษะการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (คือการทำหน้าที่ครู) แล้วนำผลมาไตร่ตรองสะท้อนคิด ผมมีข้อสังเกตว่า ครูเรฟไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เก่งมาก คือทำได้ลึกมาก รวมทั้งมีวิธีคิดแบบแหวกแนว (unconventional) ไม่คิดตามที่คนทั่วไปคิด

หลังจากนั้นเป็นช่วงตอบคำถามที่มีผู้เขียนถามส่งมา เป็นช่วงที่ผมชอบที่สุดเพราะจะได้เรียนรู้ในมิติ ที่ลึกกว่าการบรรยาย ในช่วงนี้ผมได้เรียนรู้

  • วิธีลงโทษนักเรียนเกเรหรือไม่ตั้งใจเรียน แบบไม่ดุด่าว่ากล่าวเฆี่ยนตีใดๆ แต่ลงโทษโดยไม่ให้ เข้าร่วมกิจกรรมการเรียน ซึ่งผู้ถูกลงโทษจะรู้สึกว่าตนปิดโอกาสของตนเอง และจะไม่ ประพฤติเช่นนั้นอีก จะใช้การลงโทษแบบนี้ได้ ครูต้องจัดกระบวนการเรียนที่สนุก เกิดความสุข และเกิดการเรียนรู้ที่เด็กสัมผัสได้เอง
  • ในอเมริกา (และในประเทศไทย) ระบบการศึกษาถูกระบบผลประโยชน์เข้าครอบงำ ทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทขายตำราเรียน ขายบริการสอบวัดผล และผลประโยชน์ แบบอื่น เข้าเบี่ยงเบน “การศึกษาที่แท้” ไปเป็น “การศึกษาปลอมๆ” อย่างที่เราเห็นกันอยู่
  • เวลา ๑ ปี (ในชั้น ป. ๕) กับ “ครูแท้” มีคุณค่าต่อชีวิตของศิษย์ สามารถจารึกรากฐานชีวิตได้ แม้ในปีก่อนๆ และปีหลังๆ นักเรียนอยู่ในระบบ “การศึกษาปลอมๆ” เขาก็จะสามารถ รอดพ้นจากความ หลอกลวงของการศึกษาปลอมๆ ได้ เป็นข้อค้นพบที่ปลอบใจครูเรฟ และครูเพื่อศิษย์ อีกจำนวนมาก
  • วันดีที่สุด และวันร้ายที่สุดในชีวิตครู เป็นวันเดียวกัน หากครูเผชิญวิกฤตแล้วถอดใจ วันนั้นเป็นวันร้าย หากครูเผชิญวิกฤตแล้วสู้ วันนั้นเป็นวันดี เพราะจะเป็นวันที่ นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

ฟังเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เช้าวันนี้แล้ว เรื่องโครงการประชารัฐด้านการศึกษาในเว็บไซต์นี้ เป็นเรื่องน่าหัวเราะ

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๒๕๕๙


บรรยากาศในห้องประชุม



ถ่ายจากด้านหลังห้อง



ครูเรฟกับ ดร. ชนันท์ ล่ามชั้นยอด



คุณพรรณิภา, ครูวีระยุทธ, และคุณสรวงมณฑ์

หมายเลขบันทึก: 615888เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2016 05:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2016 05:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Was the talk recorded? If so is there a plan to release a video for the benefit of others (not attended the talk)? Any other presentation forms?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท