เสียงกระซิบเบาเบา...จากรั้วแดง - ขาว


หากได้ยินคำว่า "โรงเรียนเอกชน" โดยทั่วๆ ไปแล้วจะมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ สื่อการเรียนการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานมาเพื่อศึกษาเล่าเรียน ณ สถานศึกษาแห่งนั้น จะมีความคาดหวังสูงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนทั้งทางด้านร่างกาย วุฒิภาวะทางอารมณ์ และสติปัญญาไปพร้อมๆ กัน แต่กับโรงเรียนเอกชนชื่อดังจังหวัดนครราชสีมาหากลับเป็นเช่นนั้นทุกด้านไม่ ตลอดระยะเวลา 3 ปีเศษนี้ ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งเป็นครูผู้สอน ได้ทำการเรียนการสอนในรายวิชาชีววิทยา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างขณะสอนหนังสือและช่วงพักจากการสอน ข้าพเจ้าจะคุยเล่น หยอกล้อกับนักเรียน เล่าเรื่องทั่วๆ ไป ข่าวเหตุบ้านการเมืองปัจจุบัน สารทุกข์สุกดิบ และซักถามนักเรียนถึงปัญหาในการเรียนที่ผ่านๆ มา ซึ่งพบว่าไม่มีปีไหนที่จะไม่มีเสียงบ่นและเสียงสะท้อนจากนักเรียนเลย อาทิเช่น "ทำไมโรงเรียนของเราถึงสอนเนื้อหาไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐบาลเลยคะ" หรือ "ทำไมโรงเรียนของเรามีกิจกรรมเยอะจังเลยครับ...ผมไม่ได้เรียนเลย" และยังมีคำถามอื่นๆ อีกมาก ในช่วงปีแรกข้าพเจ้าทำได้เพียงแค่บอกนักเรียนไปว่า "มันเป็นหลักสูตรที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้นครูไม่สามารถแก้ไขอะไรได้" ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจนักเรียนเป็นอย่างมาก และตั้งแต่บัดนั้นมาข้าพเจ้าจึงเฝ้าสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูลถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งโดยรวมสามารถสรุปได้ออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารสถานศึกษา และ ปัญหาด้านวิชาการ

เรือที่ไม่มีหางเสือ ย่อมไร้จุดหมาย เฉกเช่นเดียวกัน โรงเรียนจะมีประสิทธิภาพได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนหรือ ผอ. ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางของสถานศึกษานั้นๆ โดยทำงานร่วมกับคณะผู้ร่วมบริหารฝ่ายต่างๆ โรงเรียนแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้ความดูแลของคณะ...แห่งประเทศไทย ทุกๆ 3 ปี จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้บริหารสถานศึกษาโดย ผอ. คนเดิมจะย้ายจากสถานศึกษาเดิมไปยังสถานศึกษาใหม่ ส่วน ผอ. ใหม่จะย้ายเข้ามาแทนที่ในสถานศึกษานั้น เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ก. เมื่ออยู่ครบวาระ 3 ปี จะทำการย้ายไปประจำ ณ โรงเรียน ข. แต่ที่โรงเรียน ก. จะมีผู้อำนวยการคนใหม่มาประจำการแทน เป็นต้น ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสซักถามกับเพื่อนครูต่างโรงเรียนในเครือ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ความว่า ถึงแม้จะมีการผลัดเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนก็ตาม โรงเรียนก็ยังคงมีมาตรฐานดังเดิมทั้งทางด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งวัดผลได้จากผลการสอบวัดคุณภาพนักเรียนในเครือ หรือ FSG และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ซึ่งผลทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งนั่นหมายความหลักสูตรสถานศึกษาน่าจะมีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนผู้อำนวยการจะทำการบริหารส่วนที่ยังด้อยอยู่บ้างบางส่วนเท่านั้น ตรงกันข้ามกับโรงเรียนนี้ หากมีผู้อำนวยการใหม่ย้ายเข้ามาบริหารร่วมกับคณะผู้ร่วมบริหารฝ่ายต่างๆ จะมีการบริหารงานตามนโยบายของผู้อำนวยการเท่านั้นโดยปราศจากมาตรฐานที่เคยมี ยิ่งไปกว่านั้น จากการประเมินคร่าวๆ ของข้าพเจ้าเอง พบว่า ผู้อำนวยการจะกล่าวถึงข้อดี ข้อเสีย ปัญหา และการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านวิชาการน้อยมาก แต่จะเน้นพัฒนาด้านสันทนาการและนันทนาการหรือกล่าวง่ายๆ คือ เน้นกิจกรรมเสียมากกว่า ซึ่งถือว่าขาดความสมดุลโดยไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเล็งเห็นถึงหลักสูตรสถานศึกษาว่าควรจะปรับปรุงหรือพัฒนาไปในทิศทางใด

ผลการเรียนหรือเกรดไม่ได้จำเป็นเสมอไป แต่ก็สำคัญ โรงเรียนนี้จะมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นทางด้านภาษาอังกฤษและจากหลักสูตรสถานศึกษาเอง การเรียนการสอนก็จะเน้นภาษาอังกฤษ แต่ในความคิดของข้าพเจ้าเล็งเห็นว่าไม่จำเป็นในบางรายวิชา ยกตัวอย่างเช่น ในรายวิชาชีววิทยาเพิ่มเติมจะทำการเรียนการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพิ่มเข้าไปอีก จากการสังเกตของข้าพเจ้า พบว่า ไม่เพียงแต่ผู้เรียนจะมีภาระวิชาที่ต้องเรียนเพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่ผู้เรียนยังไม่ได้ประโยชน์ด้านภาษาอังกฤษจากการเรียนในรายวิชานี้และข้าพเจ้าคิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ ถ้าหากอยากฝึกทักษะด้านต่างๆ ทางภาษาอังกฤษควรจะมีกิจกรรมให้ปฏิบัติโดยตรง และจากการทำการเรียนสอนของข้าพเจ้าที่ผ่านมาพบอีกว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาด้านภาษาอังกฤษไม่ต่างจากสถานศึกษาอื่นๆ ในประเทศ อีกทั้งการอ่านจับใจความไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็ตาม ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรและนอกจากนี้ในรายวิชาอื่นๆ ก็พบปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนมีแนวโน้มลดลงซึ่งทำให้ผลของ O-NET ลดต่ำลงด้วยเช่นเดียวกัน

จากปัญหาที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัญหาส่วนอื่นๆ อีกมากเช่น การติดต่อประสานงานของแต่ละส่วน เป็นต้น ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ข้าพเจ้าคาดว่าเหตุการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อการบริหารโรงเรียนเป็นอย่างมากในอนาคต เพราะไม่มีหลักการ เหตุผล หรือการจัดการที่เป็นระบบระเบียบแบบแผน ทำให้ขาดมาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอนในการพัฒนา หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า โรงเรียนกำลังเผชิญปัญหาถึงจุดที่วิกฤติแล้ว

หมายเลขบันทึก: 614576เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2016 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2016 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท