Mind’s eye Phu tai Sepon : รัก(แรก)พบ สบตา ผู้ไทเซโปน


รัก (แรก) พบ สบตา ผู้ไทเซโปน

ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเข้าใจว่า กลุ่มชาติพันธ์ผู้ไทในประเทศไทยนั้น จะมีถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัด นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธ์ เท่านั้น ที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมผู้ไทที่ชัดเจน นอกนั้นก็จะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป หรือแทรกอยู่ตามที่ต่างๆ และไม่ได้เปิดเผยตัวตน

แท้จริงแล้วยังมีผู้ไทกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่ลงไปทางตอนใต้ ในบางพื้นที่ของอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอชานุมาน อำเภอเสนางคนิคม อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกรวมกันว่า “ผู้ไทเซโปน”

ที่เรียกว่า “ผู้ไทเซโปน” เพราะย้ายมาจากเมืองเซโปน รวมทั้งเมืองพิน และเมืองนอง สามเมืองที่ติดกับชายแดนเวียดนาม ของแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นอาณาจักรเดียวกัน



เมื่อแม่น้ำโขงกลายเป็นเขตแบ่งอาณาจักรลาว-ไทย การเดินทางไปมาหาสู่กันดังเช่นอดีตนั้นทำไม่ได้แล้ว ทำให้ผู้ไทกลุ่มนี้ค่อยๆเลือนหายไปจากแผนที่โลกทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว พร้อมกับการหายไปค่อนข้างมากของวัฒนธรรมผู้ไทในดินแดนแถบนี้ กอร์ปกับการจัดแบ่งเขตการปกครองใหม่ ทำให้ดินแดนผู้ไทแถบนี้ได้ถูกแยกไปอยู่กันละจังหวัด การไปมาหาสู่กันและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยกันนั้นถูกแยกขาดจากกันไปด้วย

แต่ยังมีบางชุมชน บางหมุ่บ้าน ที่ยังรักษาวัฒนธรรมผู้ไทเอาไว้อย่างเข้มแข็ง ทั้งภาษาพูด เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและวิถีชีวิตผู้ไท พร้อมกับฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมผู้ไทขึ้นมาใหม่ เช่น บุญเส่งกองตุ้มของชุมชนบ้านกุดแข้ด่อน ตำบลกุดเชียงหมี หรือ บุญข้าวจี่ผู้ไทที่ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร หรือบุญไขประตูเล้า ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นต้น


นอกจากนั้นได้มีความพยายามไปมาหาสู่กันเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายผ่านงานบุญประเพณี และเครือญาติ ตลอดจนโลกโชเชียลมีเดีย อินเตอร์เนท เฟสบุคส์ พร้อมได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมผู้ไทกลับคืนมา ค่อยๆสร้างอัตลักษณ์ผู้ไทเซโปนให้เผยโฉมออกสู่สาธารณะได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น และยังได้มีการสร้างปฏิบัติการย้อนรอยประวัติศาสตร์ผู้ไทเซโปนกลับคืนสู่อดีตและดินแดนแผ่นดินแม่ เมืองพิน เมืองเซโปน เมืองนอง กลับไปสืบเสาะหาเครือญาติ และสร้างสัมพันธ์กันตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน ทำให้อัตลักษณ์ของผู้ไทเซโปน ได้กลับเปิดเผย อวดโฉม สร้างสีสรรค์อย่างมีชีวิตชีวาในกระแสโลกยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่า ได้สร้างความมั่นใจในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ตัวตน ได้มากโขเลยทีเดียว

ตลอดทั้งการเกิดขึ้นของสมาคมผู้ไทโลก ที่ศูนย์กลางอยู่ที่เรณูนคร อันเป็นดินแดนผู้ไทที่โด่งดังมานานแล้ว และมีเป้าหมายในการรวมชาติพันธ์ผู้ไทในโลกนี้เข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยใช้วัฒนธรรมผู้ไทเป็นเครื่องมือก้าวข้าวพรมแดนแห่งรัฐชาติตามแนวทางของอาเซียนได้อย่างแนบเนียน และยังได้สร้างปรากฎการณ์การรวมกลุ่มชาติพันธ์ผู้ไทในครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ผ่านการจัดงาน “วันผู้ไทโลก” มีการเชิญกลุ่มผู้ไทในที่ต่างๆในประเทศไทย และในประเทศ สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีการจัดกันมาทุกปี เป็นจำนวน 6 ครั้งมาแล้ว

และในครั้งที่ 7 นี้ งานวันผู้ไทโลกจะได้จัดขึ้นในดินแดนผู้ไทเซโปน เป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นที่บ้านโคกก่อง ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2560 มีเทศบาลบุ่งค้าเป็นเจ้าภาพหลัก โดยการสนับสนุนของสมาคมผู้ไทโลก ถือเป็นปักหมุดว่า ดินแดนแถบนี้ถือเป็นหนึ่งในดินแดนผู้ไทของโลก และพร้อมแล้วที่จะเปิดเผยตัวตนอวดชาวโลก

หนึ่งในงานนั้นคือ อยากขอเชิญชวนชมนิทรรศการ Mind’s eye Phu tai Sepon : รัก(แรก)พบ สบตา ผู้ไทเซโปนเป็นการแสดงภาพความเป็นมาและเป็นไปของผู้ไทเซโปน ในแบบใสๆ เรียบง่าย แต่เปี่ยมพลัง


หมายเลขบันทึก: 613939เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2016 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2016 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท