สายธารความรู้สู่การเลี้ยงโคอย่างพอเพียง ตอนที่ 11


สร้างโรงเรือนและคอกสำหรับเลี้ยงโคให้เหมาะสมเหมือนกับคำที่ว่า "ปลูกเรือนเอาใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน"
โรงเรือนและคอก การสร้างคอกเลี้ยงโคอาจทำแบบง่าย ๆ ไปจนถึงซับซ้อนขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของกิจการ ตามสภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรรายย่อยทั่วไปทำกันในปัจจุบันคือ สร้างรั้วคอกซึ่งบางแห่งใช้ไม่ไผ่ หรือลวดหนาม ตามแต่วัสดุที่มีในท้องถิ่นให้ขนาดพอจุโคทั้งฝูงอย่างหลวม ในบริเวณคอกควรมีแปลงหญ้าที่โคจะกินอย่างพอเพียง หรือมีแปลงพืชอาหารสัตว์ชนิดอื่นสำรองในฤดูแล้ง มีแหล่งน้ำสะอาดอยู่ใกล้ และสร้างโรงเรือนมีหลังคากันแดดกันฝนในมุมใดมุมหนึ่งของคอกตามสภาพพื้นที่เพื่อให้โคพักในเวลากลางคืนและป้องกันอันตราย โรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งเพราะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานการสร้างโรงเรือนจะต้องคิดให้รอบคอบถึงประโยชน์การใช้สอยว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าโรงเรือนแข็งแรงทนทาน สะดวกต่อการปฏิบัติงานและออกแบบก่อสร้างถูกต้องเหมาะสมก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพราะโรงเรือนมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของโค ทำให้โคสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง สถานที่ตั้งของโรงเรือนควรอยู่ในทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เพื่อป้องกันแดดร้อนในตอนบ่ายพื้นคอกหรือพื้นโรงเรือนควรอยู่ในตำแหน่งที่สูงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังป้องกันคอกแฉะในฤดูฝน และเป็นการสะดวกถ้าจะใช้วีล้างพื้นคอกให้มูลไหลลงแปลงหญ้า (ประสาน บำรุง,2546:47-49) คอกพักโค การเลี้ยงโคของเกษตรกรโดยทั่วไปจะเลี้ยงโดยปล่อยให้โคออกหากินในแปลงหญ้า ทุ่งหญ้าในตอนกลางวันและขังไว้ในคอกพักเวลากลางคืน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทำคอกพักไว้ตามใต้ถุนบ้าน ใต้ถุนยุ้งข้าวและคอกจะคับแคบโคจะอยู่อย่างแออัด บางครั้งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก การทำคอกพักนั้นควรที่จะสร้างไว้ในบริเวณคอกเลี้ยง เลือกที่จะตั้งคอกให้เป็นเนินสูงเล็กน้อย ทำหลังคาไว้ส่วนหนึ่งของคอกเพื่อให้โคหลบแดดฝน ประมาณพื้นที่ของหลังคา 2-3 ตามรางเมตรต่อโค 1 ตัว กรณีมีพื้นที่มากพอและสามารถหาวัสดุกั้นคอกได้ง่ายสามารถทำคอกให้กว้างโดยไม่จำเป็นต้องเทพื้นเป็นคอนกรีต เพราะพื้นคอนกรีตเหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการประหยัดพื้นที่สร้างคอกและวัสดุในการกั้นคอก ซึ่งถ้าพื้นเป็นคอนกรีตทั้งหมด พื้นที่ส่วนที่เป็นที่โล่งคิดเป็น 2 เท่าของพื้นที่หลังคา แต่ถ้าเป็นพื้นดิน พื้นที่โล่งควรเป็น 10 เท่าของหลัง คาหลังคาอาจทำด้วยกระเบื้อง สังกะสี หญ้าคาหรือแฝก แต่ควรสูงจากพื้นประมาณ 2.50 เมตร เพื่อป้องกันโคกินหญ้าคาหรือแฝก และถ้าเป็นสังกะสีอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ถ้าสูงกว่านี้จะมีปัญหาป้องกันแดดและฝนไม่ได้ เสาคอกอาจเป็นเสาเหล็กหรือเสาไม้หรือเสาคอนกรีต การกั้นคอกอาจใช้เหล็กแป็ปหรือไม้ เช่น ไม้ไผ้ ไม้ยูคาลิปตัส ต้นหมาก ควรกั้น 4 แนว เพื่อความทนทาน ประตูคอกควรกว้างอย่างน้อย 2-3 เมตร รางอาหารควรทำไว้ตามความยาวของหน้าคอกให้ส่วนของหลังคายื่นออกมาคลุมรางอาหารไว้ 1.5 – 2 เมตร อ่างน้ำควรเอาไว้นอกคอกป้องกันไม่ให้โคถ่ายมูลลงในถังน้ำ ไม่ควรทำขนาดใหญ่มากเพราะปริมาณน้ำจะมากแล้วทำความสะอาดไม่สะดวก รางอาหารควรเพียงพอกับจำนวนโค โดยโค 1 ตัวต้องการขนาดรางอาหารยาวประมาณ 70 เซนติเมตร นอกจากนี้ในบริเวณโรงเรือนและคอกควรมีคอกคัดและคอกปฏิบัติการเพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดการบอบช้ำในการคัดแยกโคหรือทำงานต่าง ๆ เช่น การทำวัคซีน การตีเบอร์ การตอน การผสมเทียม ฯลฯ จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นหลักการสร้างโรงเรือนและคอกตามหลักวิชาการ แต่ในแง่ของชาวบ้านที่เลี้ยงโคโดยทั่วไปแล้วจะสร้างโรงเรือนและคอกเป็นอันเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคโดยการปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา ป่าสาธารณะไม่มีคอกเลี้ยงและแบ่งแปลงหญ้าเป็นแปลง ๆ คอกจะใช้สำหรับให้โคพักในเวลากลางคืนเท่านั้น รูปแบบการสร้างคอกพักของชาวบ้านจะทำกันง่าย ๆ เช่น สร้างไว้ใต้ถุนบ้าน ใต้ถุนยุ้งข้าว หรือเป็นเพิงข้างบ้าน เหตุผลที่นิยมสร้างคอกพักไว้ใกล้ตัว ใกล้บ้านนั้นอันดับแรกก็เพื่อป้องกันขโมย สองเพื่อความสะดวกในดูแล เนื่องจากไม่มีพื้นที่สร้างโรงเรือนและคอกหรือถ้ามีก็อยู่ไกลไม่สะดวกในการดูแล แต่บางครั้งการสร้างคอกในลักษณะนี้ก็เป็นปัญหาสำหรับโคและชาวบ้าน กล่าวคือ ถ้ามีโคจำนวนมากจะทำให้โคอยู่อย่างแออัดซึ่งในแง่ของนักวิชาการแล้วการอยู่อย่างแออัดของโคจะส่งผลถึงอัตราการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ได้ หรืออาจเป็นปัญหาในแง่ของมลภาวะทางกลิ่นสำหรับคนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงได้ ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขด้วยการทำให้คนเลี้ยงโคทั้งหลายเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างโรงรือนที่ถูกสุขลักษณะให้กับผู้เลี้ยง ขณะนี้มีผู้เลี้ยงโคหลายท่านที่ได้สร้างโรงเรือนหรือคอกพักแยกจากที่อยู่อาศัยของผู้คนไปตามท้องไร่ท้องนา อย่างเช่นท่าน อบต.เพิ่ม ที่ตำบลเมืองแก อำเภอสตึก ท่านได้แยกครอบครัวเล็ก ๆ ไปสร้างบ้านหลังเล็กอยู่ที่ทุ่งนาและทำโรงเรือนและคอกพักอยู่ใกล้ ๆ พื้นที่โรงเรือนครึ่งหนึ่งจะใช้เป็นที่เก็บฟางและอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป และอีกครึ่งหนึ่งเป็นคอกพักสำหรับโค ท่านบอกว่าไม่ต้องห่วงว่ากลิ่นมูลและปัสสาวะโคจะส่งกลิ่นไปรบกวนใครเพราะใช้น้ำหมักชีวภาพราดลงไปในฟางก็จะทำให้มูลลดความเหม็นลง และโคยังกินฟางได้มากขึ้นด้วย เวลาจะให้ฟางกับโคก็ง่ายเพราะอยู่ใกล้ และเวลาจะเอามูลโคไปทำปุ๋ยในนาและใสพืชผักอิ่น ๆ ก็ไมต้องเสียเวลาเสียเงินทองขนส่งมากมาย แค่ตักใส่รถเข็นคู่ใจก็ไปได้ทุกที่ แต่ให้ระวังเรื่องฟืนไฟ อย่าไปจุดไฟไล่ยุงใกล้โรงเรือนเด็ดขาดเพราะถ้าเกิดไฟไหม้เมื่อไรจะวอดทั้งฟางและโคทันที ทางที่ดีก็คือกางมุ่งให้โคด้วยตาข่ายสีเขียวปลอดภัยเป็นที่สุด
หมายเลขบันทึก: 61330เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากฟังผลการปฏิบัติของเกษตรกร ว่าอย่างไหนทำง่าย ยาก ทุนมาก ทุนน้อย และทางเลิอกแต่ละคน ว่ามีหลักการและวิธีคิดแตกกต่างกันอย่างไร ทำไม ขีดจำกัด และทางออก จะได้จัดการความรู้ได้
ขอบคุณค่ะอาจารย์ คำถามจากอาจารย์ทำให้หนูมีประเด็นที่จะไปเก็บข้อมูลชัดเจนมากขึ้นเยอะเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ พันดา เลิศปัญญา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท