ระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจบริการอาหาร


หลานตาชูหลานตาชู...หรอยท้องถิ่นกลิ่นอายฝรั่ง : คอลัมน์ชวนชิม

ขอเวลาสำราญลิ้นกับรสชาติเข้มข้นของอาหารในถิ่นใต้อีกสักครั้งเถอะค่ะ ทว่าคราวนี้ขอบอกกล่าวถึงร้านอาหารสไตล์ยุโรปผสมผสานกับอาหารไทยๆ ในจังหวัดพัทลุง นามว่า "หลานตาชู สเต็กเฮ้าส์" นอกจากการละเมียดอาหารแบบจานต่อจานแล้ว ยังมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับร้านมาเล่าขานให้ฟังอีกด้วยล่ะ


ภายในร้านตกแต่งด้วยไม้ให้มีกลิ่นอาย "ล็อกโฮม" นิดๆ ตามความชื่นชอบของ อัฎฐพร ทองศรีนุ่น ผู้ก่อร่างสร้างร้านนาม "หลานตาชูสเต็กเฮ้าส์" จนกลายเป็นจุดนัดหมายพบปะสังสรรค์ของชาวเมืองลุงรวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมาในละแวกอำเภอควนขนุน อัฎฐพรเล่าให้ฟังว่า ตอนเรียนอยู่ปี 1 ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตัวเองโดยลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย ช่วงแรกทำงานในร้านอาหารไทย หน้าที่ก็หั่นเนื้อต่างๆ ก่อนจะย้ายไปสมัครงานที่ร้านฝรั่งชื่อ "ลูซี ซิกซ์ (LUCI 6)" เป็นพนักงานล้างกระทะตามคำแนะนำของเพื่อนอยู่ 6 เดือน ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยกุ๊ก จากนั้นก็เปลี่ยนไปทำงานที่ร้าน "ฟีดแบ็ก" ตำแหน่งกุ๊กนานเกือบ 8 ปี พอเก็บเงินได้เกือบ 2 ล้านบาทจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เปิดได้แค่ปีกว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็จบเพราะขาดทุน หลังจากแต่งงานขอยืมเงินเพื่อนมาลงทุนขายก๋วยเตี๋ยว โดยเริ่มจาก 2-3 โต๊ะ ค่อยๆ ขยายเป็น 15 โต๊ะใน 3 ปี ในที่สุดจึงมาเป็น "หลานตาชู สเต็กเฮาส์" อย่างทุกวันนี้


รู้ทั้งรู้ว่าว่าหลานตาชูฯ ขึ้นชื่อเรื่องสเต็ก รายไหนรายนั้นได้ชิมเป็นต้องกล่าวถึง แต่ครั้งนี้ตั้งใจว่าขอเบรกจากอาหารเอลิสต์ด้วยจานพื้นๆ บ้านๆ และด้วยชัยภูมิที่ตั้งของพัทลุงไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเล กระนั้นพระเจ้าก็ทรงโปรดเมตตาประทานทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ "ทะเลน้อย" ซึ่งมากมายไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติให้ชาวบ้านได้อาศัยใช้ทำมาหากิน ไม่เฉพาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูดทรัพย์จากนักเดินทาง แต่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดจำนวนมากอีกด้วย

ใครไปใครมาเป็นต้องเห็นสารพัดปลาน้ำจืดแปรรูปวางจำหน่าย และ "ปลาดุกร้า" ก็เป็นสินค้าโอท็อปมียอดขายอยู่ในอันดับต้นๆ ของที่นี่ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจหากร้านอาหารระดับต้นของจังหวัดจะมี "ปลาดุกร้าทอด" บรรจุไว้เป็นหนึ่งในจานแนะนำของเมนู เพราะแค่ทอดในน้ำมันร้อนจัดจนเหลืองกรอบได้ที่ ตักขึ้นเสด็จน้ำมันแล้วโรยหน้าด้วยพริกขี้หนูซอย หอมซอย ก่อนจะบีบน้ำมะนาว เท่านั้นแหละเป็นอันว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนความแซบ

อีกจานที่อยากให้ลองทาน "คั่วกลิ้งหมู" ดูธรรมดาทว่าไม่ทิ้งลายความเผ็ดร้อนของพริกแกงปักษ์ใต้ แถมยังมีพริกไทยสดแซมในเนื้อแกงช่วยเพิ่มดีกรีความหรอยได้ถนัดถนี่ดีนักล่ะ หรือว่าถนัดแบบมีน้ำแกงคลุกข้าวขลุกขลิกก็ต้องไม่พลาด "แกงเหลืองปลากระพงยอดมะพร้าว" ปลากระพงชิ้นโตๆ เคี่ยวในน้ำแกงครบทุกรสทั้งเผ็ด เปรี้ยว เค็ม ตัดหวานนิดๆ ไม่ให้รสชาติโดดเด้งเกินไปนัก นอกจากนี้ยังมี "ปลากระพงนึ่งมะนาว" อีกจานแซบเว่อร์ที่ทางร้านบรรจุใส่ในเมนูไว้คอยเอาอกเอาใจนักชิม "ปลา" ส่วนเคล็ดลับความอร่อยก็ไม่เน้นความซับซ้อนแค่เลือกใช้ปลาสดๆ และน้ำยำรสจัดจ้านเท่านั้นเป็นพอ

และเพื่อทะนุถนอมกระเพาะอาหารกับลำไส้ของลูกค้าไว้ใช้งานให้นานวัน (กว่านี้) ทางร้านก็เตรียมเมนูเบาๆ เอาใจนักชิมรสอ่อนไว้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจานสุดคลาสสิกประจำถิ่นใต้อย่าง "ใบเหลียงผัดไข่" เลือกเฉพาะใบอ่อนมาลงกระทะผัดกับไข่ใส่เครื่องปรุงให้มีรสเค็มๆ มันๆ ตามฉบับชาวด้ามขวานไทย ส่วน "ต้มข่าปูทะเล" ก็มีดีที่ความเข้มข้นของน้ำซุปผสมผสานความหวานจากเนื้อปูทะเลก้ามโตๆ สดๆ จึงได้ใจนักชิมผู้พิศมัยอาหารประเภทต้มกะทิไป (เกือบ) เต็มสิบ...

เอาเป็นว่าคราวหน้าหากมีโอกาสไปเยือนถิ่นเมืองลุง "หลานตาชู สเต็กเฮ้าส์" เขาเปิดให้บริการที่ ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จากสี่แยกโพธิ์ทอง ตรงไปทางหาดใหญ่ประมาณ 2 กม.อยู่ด้านขวามือ ก่อนถึงโรงเรียนควนขนุน จองโต๊ะหรือสอบถามเส้นทางโทรศัพท์ 0-7468-1658

....................................................

(หลานตาชู...หรอยท้องถิ่นกลิ่นอายฝรั่ง : คอลัมน์ชวนชิม)

อ้างอิง http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/157085

ttp://www.phatlungtoday.com/forum/index.php?topic=660.0

http://software.thaiware.com/3663-PakeySoft-Restaurant.html

ใช้โปรแกรม PakeySoft Restaurant (โปรแกรมบริหารงานภัตตาคาร ร้านอาหาร)

http://software.thaiware.com/3663-PakeySoft-Restaurant.html

คำสำคัญ (Tags): #สารสนเทศ
หมายเลขบันทึก: 613121เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2016 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2016 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท