ไปประชุมวิชาการพยาบาลที่ มอ. และได้พบลูกศิษย์


เทคโนโลยีที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานคือ "Human interaction"

ดิฉันหายหน้าไปจากบล็อกชั่วคราว เพราะป่วยเป็นหวัด ทำให้สมองและใจไม่ค่อยแจ่มใส แต่ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ทุกวัน เพียงแต่นำเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้สมาชิกทราบช้าหน่อย

ฝ่ายบริการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมวิชาการเรื่อง Update Nursing Management in Medicine ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ณ ห้องทองจันทร์หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุดคณะแพทยศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำความรู้ใหม่ไปบูรณาการจัดการแก้ไขและตอบสนองความต้องการในการดูแลผู้ป่วยทางอายุรกรรมได้อย่างปลอดภัย และเพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ในการดูแลผู้ป่วยทางอายุรกรรม

ผู้เข้าประชุมครั้งนี้เกือบ ๓๕๐ คน

ดิฉันได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง Nursing Management in DM ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. แต่เดินทางไปถึงตั้งแต่ช่วงเช้า จึงได้ฟังการบรรยายบางส่วนของแพทย์ใน ๒ หัวข้อคือ Management in HCC/UGIB โดย ผศ.นพ.อุทัย เก้าเอี้ยน และ Nutrition in CRF โดย ผศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ด่านเดชา วิทยากรทั้ง ๒ ท่าน บรรยายด้วยภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย มีผู้สนใจซักถามจนคุณหมออุทัยต้องมานั่งเขียนคำตอบให้ภายหลัง เพราะเวลาไม่พอสำหรับการตอบคำถาม

เนื้อหาการบรรยายของดิฉัน ไม่ทราบจะตรงความคาดหวังของผู้จัดและผู้ฟังหรือไม่ เพราะไม่ได้เน้นเรื่องการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่บอกให้ทราบถึงขนาดของปัญหาผู้ป่วยเบาหวาน และบอกว่าเทคโนโลยีที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานคือ "Human interaction" การดูแลเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาล ไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ป่วยเบาหวานได้ดีพอ จึงได้นำเสนอเรื่องที่พยาบาลจะมีบทบาทได้ ดังต่อไปนี้

   ๑. การป้องกันเบาหวาน ด้วย Lifestyle intervention ที่เน้นการลดน้ำหนักและ
   การออกกำลัง มีงานวิจัยสนับสนุนคือ Finnish Diabetes Prevention Study และ Diabetes
   Prevention Program รวมทั้งการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว
   โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีที่สุด ซึ่งมีงานวิจัยที่สนับสนุนคือ DCCT และ UKPDS
   ๒. การให้การศึกษาเพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถจัดการตนเองได้ โดยเน้นว่าการศึกษา
   ต้องช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง (What to do) มีทักษะในการดูแลตนเอง  
   (How to do it) มีความมั่นใจและแรงจูงใจในการดูแลตนเอง (Want to do it) มีทักษะในการ
   แก้ปัญหาและสามารถเอาชนะอุปสรรคในการดูแลตนเองได้ (Can do it)
   ๓. การทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดที่มีทักษะครบ
   ทุกด้าน ในกรณีนี้ดิฉันยกตัวอย่างเรื่องการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ 
   เน้นเรื่องเท้า
   ๔. การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แน่นอนว่า
   ต้องเล่าเรื่องเครือข่ายของเรา กิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์
   บล็อกอีกตามเคย 

ไปหาดใหญ่คราวนี้ ได้พบกับ ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อนร่วมงานเก่า และได้พบกับ "ลูกศิษย์" พยาบาลที่จบจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รุ่น ๑ และ ๒ สิบกว่าคน ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ ทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และได้พบกับลูกศิษย์พยาบาลปริญญาโท สมัยที่อยู่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทุกคนมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้เป็นความสุขของคนที่เป็นครูค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘

คำสำคัญ (Tags): #ประชุมวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 6127เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
หนูเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น อาจารย์ทำให้หนูมีความรู้สึกว่า เบาหวานเป็นโรคที่น่าสนใจ เป็นภัยเงียบที่สามารถคร่าชีวิตได้อย่างง่ายดาย แต่ที่สำคัญมันเป็นโรคที่ป้องกันได้ หนูมีความรู้เรื่องเบาหวานน้อย แต่สนใจมาก  อาจารย์บรรยายวันนั้นได้ดีมากนะค่ะ ดีใจที่ได้เจอกับอาจารย์แม้ว่าหนูจะเป็นเพียง 1 ใน 350 คนที่เฝ้ามอง และชื่นชมอาจารย์อยู่ไกล ๆ  หนูอยากทำวิจัยเรื่องเบาหวานจริง ๆ นะค่ะ แต่ก็รู้ตัวว่ายังทบทวนวรรณกรรมได้น้อยมาก ยังหาช่องว่างที่น่าทำไม่ได้เลย เอาไว้ มีวิทยายุทธ์มากกว่านี้ จะขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์นะค่ะ ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

สวัสดีค่ะ

หนูชื่อ จินตนา น่ะค่ะ จำได้หรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท