เรื่องรักๆ หนักใจมั้ย (บทที่ 4 คิดอย่างไรเมื่อใจเขาเปลี่ยน)


หากจะถามว่า ในเมื่อต้องคิดมาถึงขั้นนี้อยู่แล้ว ทำไมไม่คิดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรก จะต้องเสียเวลาพิจารณาเป็นขั้นๆอยู่ทำไม อยากให้ลองคิดตามดูค่ะ ...

บทที่ 4 คิดอย่างไรเมื่อใจเขาเปลี่ยน

แม้จะมีการระมัดระวังในการครองรักครองเรือน แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดในโลก คือการแปรปรวน ความไม่แน่นอน ดังนั้น วันที่คู่ชีวิตไม่อยากให้มีก็อาจเดินทางมาถึงได้ เมื่อถึงเวลานั้น เราส่วนใหญ่มักควบคุมความคิดได้ยาก

แม้เราจะไม่พยายามคิดถึงอดีต คิดในทางที่จะไม่ทำให้ตนทุกข์มากยิ่งขึ้น คิดแต่ในแง่ดี แต่บางที เราก็ถูกความคิดหลอก

คือถูกหลอกให้คิดไปว่าสิ่งที่เราคิดนั้น ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว ถูกหลอกให้เห็นว่าเราสามารถเอาชนะความทุกข์ได้ ความทุกข์หมดสิ้นไปจากใจแล้ว ซึ่งในความจริงอีกด้าน เราอาจถูกความโกระ การผูกโกรธ บดบังความรู้สึกที่แท้จริง จนทำให้คิดไปว่าเราสามารถจัดการกับความทุกข์ได้

เมื่อต้องพบกับการสูญเสีย เราควรสังเกตตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดตรงกับสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ถ้าเราบอกว่าเราให้อภัยได้แล้ว เรารักษาใจตนเองได้แล้ว แต่กลับคิดถึงเรื่องราวในอดีตอยู่บ่อยๆ พอคิดถึงทีไร ความรู้สึกเสียใจ โกรธ น้อยใจ ไม่ลดน้อยถอยลง หรือพอคิดถึงเรื่องราวในหนหลังขึ้นมาทีไรก็ต้องขบกราม น้ำตาคลอ ลมหายใจถี่กระชั้นเสียทุกที อย่างนี้คงต้องตั้งข้อสังเกตว่าเราโดนความคิดตัวเองหลอกเข้าให้แล้ว ความคิดนั้นไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องตามสภาวะ แต่เป็นความคิดที่เป็นอกุศล

เพราะใจเราเมื่อเราเกาะเกี่ยวกับอะไร ไม่ว่าในทางชอบหรือชัง เรื่องราวนั้นๆ บุคคลที่เราเห็นว่าเป็นต้นเรื่องนั้นๆ ก็จะราวกับว่ามีตัวตนอยู่ในใจเรา เราจึงตริหรือเริ่มระลึกถึงเรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นขึ้นมาเนืองๆ


เหตุปัจจัย ตัวบุคคล ความรู้สึก ความต้องการ ความนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องใดๆที่เคยเกิดขึ้น ที่เราจำได้แล้วตริ (วิตก) ขึ้นมาใหม่ อันเป็นเหตุให้เราตรองหรือคิดตาม (วิจาร) เหล่านี้แหละค่ะที่เราเรียกว่านิมิต

นิมิต หมายถึงเครื่องกำหนดหมาย ลักษณะ เหตุ เค้ามูลดังนั้นนิมิตที่เราตริถึงจึงเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา เช่น นิมิตว่าชาย นิมิตว่าหญิง นิมิตว่าภูเขา นิมิตว่าต้นไม้ ฯลฯ

หรือนามธรรมต่างๆ เช่น พุทธลักษณะ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ความโกรธบุคคลอื่น ความโกรธตัวเอง ความภูมิใจในตัวบุคคลอื่น ความภูมิใจในตนเอง ความคิดอาลัยหาบุคคลอื่นในทางชู้สาว ความริษยา ความอยากเอาชนะ ความเสียใจที่ยังละความเห็นผิดไม่ได้ ความดีใจที่เอาชนะความต้องการที่เกิดจากกิเลสตนได้ในแต่ละครั้ง ความตระหนี่ ความโลภ การเพ่งเล็งผู้อื่น ฯลฯ

หากเรื่องที่ตริขึ้นเป็นกุศล นำไปสู่ความดีงาม ความดับทุกข์ ความสิ้นไปของกิเลส ก็เรียกว่ากุศลวิตก ในเรื่องนี้เราอาจตรองตามได้เพราะสามารถนำไปสู่การแก้ไขการกระทำ การได้ความรู้ที่เพิ่มขึ้น และ ความสงบของจิต

ตัวอย่างเช่น ตริหรือวิตกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วก็ตรองหรือวิจารตามว่าทรงมีพระคุณต่อโลกอย่างไรบ้าง เราสามารถตอบแทนพระคุณพระองค์ได้อย่างไรบ้าง เราได้ทำอะไรไปแล้วเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของพระองค์บ้าง การกระทำที่ได้ทำแล้ว เป็นการกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่ หรือยังมีกิเลสใดแฝงอยู่ เช่น ที่เราเผยแพร่ธรรมเพราะเหตุผลคือนอกจากผู้อื่นจะได้รู้ธรรมที่ตรัส อิ่มใจกับการพิจารณาตามเหมือนอย่างที่เราอิ่มแล้ว เรายังพลอยได้รับผลประโยชน์เช่นเป็นต้นว่าได้รับการยกย่องด้วย ผู้อื่นนอกจากจะจดจำคำสอนแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตจนอยู่เป็นสุขได้แล้ว เราเองยังพลอยได้รับการจดจำไปด้วย เมื่อเห็นอย่างนี้ก็รู้ได้ว่าตนเอาธรรมะมาค้าขาย จิตก็พลุ่งพล่านด้วยความละอาย จึงอบรมจิตใหม่ไปในทางตรงข้ามคือทำจิตให้ทำการด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เมื่อใดที่ทำการเผยแพร่ธรรมด้วยใจอยากให้ผู้อื่นเห็นความงามของธรรมเหมือนที่ตนเห็น แม้จะเผยแพร่แล้วอาจจะเสียประโยชน์ตนแต่ก็เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นก็ยังคงเดินหน้าทำต่อไป เพราะมีความเห็นว่าสุขจากการชนะใจตนได้นั้นประเสริฐกว่าสุขจากการพึ่งพิงสิ่งอื่น ก็แสดงว่าจิตเริ่มคล้อยการอบรม การตอบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้าเริ่มเป็นการตอบแทนอย่างแท้จริง จิตจึงสงบ อย่างนี้เป็นต้น

สมดังคำตรัสในคาถาในขุททกนิกาย ธรรมบท ที่ว่า

ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูนพันในสงคราม

หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่

แต่ผู้ชนะตนได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม

ซึ่งการชนะตน ในที่นี้หมายถึงการชนะกิเลสมีโลภะเป็นต้น นั่นเองค่ะ

ส่วนเรื่องที่ตริขึ้น ที่ทำให้ใจต่ำดังที่กล่าวไว้แล้วคิดตามไปในทางที่เบียดเบียน ทำความโกรธที่ดับไปแล้วให้คงอยู่ ทำให้ทุกข์ใจ ทำให้อกุศลธรรมงอกงามในใจ เรียกว่าอกุศลวิตก ซึ่งหากมีอกุศลวิตกเกิดขึ้น มีคำตรัสสอนให้เราปฏิบัติตามไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

บุคคลควรขวนขวายในกรรมอันงาม พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่า ถ้าทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

กรรมอันงามอันเป็นบุญนี้ก็คือการห้ามจิตจากการคิดไปในทางไม่ดีอันเป็นบาปนั่นเองค่ะ หากมีสติรู้ตัวว่าคิดไม่ดีขึ้นมาทีไร ให้รีบห้ามปราม ไม่อย่างนั้นใจเราจะยินดีในการกระทำคือการคิดในใจนั้นไปเรื่อยๆ และหากเราไม่รับทำบุญคือละเสีย เราก็จะยินดีในการกระทำบาปนั้น ก็จะคิดตามไปเพื่อการเบียดเบียน ด้วยความโลภ ด้วยความเพ่งเล็ง ฯลฯ อย่างเพลิดเพลิน จนเมื่อบาปอกุศลธรรมงอกงามมากๆเข้า ก็ล้นออกจากใจมาสู่การกระทำทางกาย วาจา ทำความเดือดร้อนให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

การเปลี่ยนความคิดถึงสิ่งนั้นๆหรือนิมิตนั้นในทางที่ไม่ดี มาคิดถึงสิ่งนั้นในแง่มุมใหม่หรือเปลี่ยนจากนิมิตเดิมมาเป็นนิมิตใหม่ ก็คือการทำกรรมอันงามเพื่อห้ามใจจากบาปตามที่ตรัส

ซึ่งขั้นตอนในการแก้ไขอกุศลวิตกมีทั้งหมดดังนี้

ขั้นที่ ๑ เปลี่ยนนิมิตที่เป็นอกุศล ให้เป็นกุศล

ขั้นที่ ๒พิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกนั้น

ขั้นที่ ๓ไม่ใส่ใจนิมิตที่เป็นอกุศลนั้นๆ

ขั้นที่ ๔พิจารณาสัณฐานของวิตก

ขั้นที่ ๕กัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต

แต่การที่จะละบาปนั้น ยากตรงที่เป็นการกระทำที่ขัดกับความต้องการอันเป็นตัณหา ตัณหาเมื่อถูกขัดเราก็อึดอัดใจ แถมผลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ใจที่ถูกตัณหาครอบงำปรารถนา ก็อดที่จะหวนกลับไปยึดนิมิตเดิม คิดตามในแบบเดิมอีกไม่ได้

จึงควรสอนใจตนด้วยคำตรัสต่อไปที่ว่า

หากบุคคลทำบาปไปไซร้ ไม่พึงทำบาปนั้นซ้ำบ่อยๆ

ไม่พึงทำความพอใจในบาปนั้น เพราะว่าการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

หากบุคคลพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ

พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะว่าการสั่งสมขึ้นซึ่งบุญนำสุขมาให้


ตัวอย่างเช่น นิมิตของเราคือใครคนหนึ่ง เมื่อตริถึงตัวเขาขึ้นมา ก็ตรองตามไป เป็นต้นว่า ไคิดว่าเขาจะรู้สึกกับเราเหมือนที่เรารู้สึกกับเขาไหม เมื่อไหร่เขาจึงจะรู้ใจเราสักที ตอนนี้เขาทำอะไร อยู่ที่ไหน เป็นต้น แต่พอสติระลึกได้ว่ากำลังคิดถึงเขาในทางชู้สาว เนื่องจากสถานภาพของเขาหรือเราไม่ใช่คนโสด เรากำลังมีตัณหาเป็นเพื่อนคนที่สอง ถ้าเปรียบเรากับเพื่อนว่ากำลังต่อสู้กันอยู่ เราก็ถูกเพื่อนเอาชนะได้เสียแล้ว เรายอมให้เพื่อนชักพาไปเสียแล้ว

แต่ใจที่อยากคิดนั้นห้ามยากจนถึงกับอาจห้ามไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อจิตอยากจะคิดก็ปล่อยให้คิดไปค่ะ เพียงแต่เปลี่ยนแง่มุมในการคิดหรือก็คือเปลี่ยนนิมิตเสียใหม่ แทนที่จะกำหนดนิมิตคือตัวเขา เรื่องราวเกี่ยวกับเขา ก็เปลี่ยนเป็นมากำหนดนิมิตที่ตัวเรา มาเป็นเราที่ประกอบด้วยมโนสุจริต ให้เราที่มีมโนสุจริตนี้ต่อสู้กับเพื่อนคนที่สองที่กำลังนำเราไปในทางที่ผิด เพื่อนชวนเราคิดถึงเขาในทางชู้สาวจนเราไม่มีความสุข ก็เปลี่ยนเป็นเราคิดถึงตัวเราด้วยเมตตา ให้เราเมตตาตนเองอยากให้ตนเองมีความสุขกับใจที่ไม่มีความเห็นผิด เพื่อนชวนเราคิดปรารถนาให้เขารู้ใจเราอันจะทำให้เขาลำบากใจ ก็เปลี่ยนเป็นเรามาตั้งความปรารถนาว่าจะยินดีกับความสุขในชีวิตคู่ของเขาตลอดไป เพื่อนชวนเราคิดอยากอยู่กับเขาอย่างมีความสุข ก็เปลี่ยนเป็นเราหวังให้เขามีความสุขกับชีวิตกับคู่ตามปกติของเขา นี้ ก็คือการแก้ไขอกุศลวิตกในขั้นที่หนึ่ง

แต่เพราะเรายังคลายความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ ยังคลายความผูกพันไม่ได้ ด้วยการเปลี่ยนความคิดไปในทางที่ดีอาจต้านทานความอยากที่มีไม่ได้ หากอบรมเมตตาแล้วอกุศลวิตกไม่ดับ หรือ เรื่องราวของเขาจึงจรมาสู่ใจได้ใหม่ จึงต้องมีการชี้โทษของการที่ไม่เมตตาตน หรือ เมตตาตนไม่พอจนปล่อยให้เพื่อนได้ชัยชนะ ชี้ให้เห็นโทษของอกุศลวิตกหากปล่อยใจให้คิดไปในทางตกต่ำ ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาและทุกข์ตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เช่น ทำกิเลสส่วนหนึ่งที่ไหลออกมาย้อมจิต (อาสวะ) แล้วคิดไปต่างๆเพื่อเสพสุขจากความคิดนั้น เมื่อคิดเสร็จ กิเลสก็ไหลกลับคืนสู่สันดาน แต่การกลับคืนนี้ไม่คืนเปล่า ไม่ใช่ออกมาเท่าไหร่ก็คืนกลับไปเท่านั้นค่ะแต่เป็นการเอาปริมาณกิเลสเดิมที่มากกว่าเก่า หรือทั้งกิเลสเดิมบวกด้วยกิเลสใหม่ ไหลกลับเข้าไปรวมกับกิเลสเดิมที่นอนเนื่องในสันดาน (อนุสัย) ทำให้กองกิเลสให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคิดไปในทำนองนี้ อกุศลวิตกก็จะดับ เป็นต้น นี้เป็นการกระทำในขั้นที่สอง

แต่... จิตนี้กลับกลอก ห้ามยาก รักษายาก แม้จะอบรมเท่าไรก็ยังอยากไหลกลับไปสู่ความเพลิดเพลินที่นำทุกข์มาให้ ความเป็นเขาจึงยังจรมาสู่ใจอยู่ ยังอยากจะคิดถึงอยู่ แต่ความที่เคยสอนตนมาแล้ว ต่อสู้กับเพื่อนมาแล้ว ความอยากในทางที่ไม่ควรจะลดระดับความรุนแรงลง ก็เพียงหันเหความสนใจออกไปจากความคิดฟุ้ง อย่าปล่อยให้ตนไม่มีสมาธิจนความเป็นเขาจรเข้ามาได้ โดยการไปทำงานอื่นที่ต้องใช้สมาธิเช่น การอ่านหนังสือ การทำงานฝีมือ การวาดภาพ การเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการแก้ไขอกุศลวิตกในขั้นที่สาม

แม้จะนำเรื่องราวมาพิจารณาหลายต่อหลายครั้ง แต่เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้เหตุผลอย่างทั่วถึง เพราะความที่ไม่สามารถมีสติสมบูรณ์ได้ตลอดเวลา เพราะยังคลายความเห็นที่เป็นตนยังไม่ได้ ฯลฯ จึงทำให้คลายความยึดมั่นในสิ่งต่างๆยังไม่ได้ เมื่อยังมีความเห็นว่าเป็นเขาเป็นเราอยู่ แม้อาจจะวางใจไปได้แล้วในบางครั้ง แต่ก็อาจคิดถึงเขาในแง่มุมเดิมได้อีก จึงน้อมการคิดเพื่อให้จิต “เห็น” ตรงตามความเป็นจริง ให้พ้นจากความเห็นว่าเป็นตน น้อมจิตให้เห็นตามด้วยความเป็นธาตุ เป็นสภาพเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจควบคุม ก็จะค่อยๆเลิกคิดถึงเขาในแง่มุมเดิม อันเป็นการแก้ไขอกุศลวิตกในขั้นที่สูงขึ้นคือขั้นที่สี่

หากจะถามว่า ในเมื่อต้องคิดมาถึงขั้นนี้อยู่แล้ว ทำไมไม่คิดอย่างนี้เสียตั้งแต่แรก จะต้องเสียเวลาพิจารณาเป็นขั้นๆอยู่ทำไม อยากให้ลองคิดตามดูค่ะ ว่าเรายังจับต้องตัวเราแล้วยังรู้สึกอุ่น เห็นตัวเราในกระจกแล้วยังพอใจที่เห็นภาพที่ดูดี ยังพอใจที่มีคนชื่นชมเรา นั่นลูกของเรา เรารัก เรามองเห็นลูก โอบกอดลูกได้อยู่ ยังอยากให้ลูกเป็นนั่นเป็นนี่ ประสบความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ แล้วอยู่ดีๆจะให้บอกตัวเองว่า ที่จับอยู่เห็นอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี มีแต่ความเห็นว่าเป็นเรา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา มีแต่ธาตุที่มารวมกันเข้าจนประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่าง เคลื่อนไหวได้ รู้สึกนึกคิดได้ แยกออกมาจากตัวเราเท่านั้น นั่นไม่ใช่ลูกของเรา ใจเราๆที่ยังเป็นปุถุชนย่อมไม่เห็นด้วย

เรื่องอย่างนี้หากไม่มีการน้อมการคิดมาเป็นขั้นๆ ยังไม่เคยพบกับความดับของความต้องการ แม้จะได้นำมาคิด ก็เป็นเพียงการคิดตามที่ได้รับการบอกเล่า ความรุนแรงของความต้องการจึงยังไม่ลดระดับลง เมื่อไม่เคยพบความดับ โอกาสจะเกิดสภาพเกิดดับที่เป็น การเห็นด้วยจิต ก็ยากที่จะเป็นไปได้

แม้จะยังมีความเห็นว่าเป็นตนอยู่ เมื่อการพิจารณามาถึงขั้นที่สี่ การยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตนก็จะลดลงไปบ้าง และเมื่อเห็นพ้องสภาวะมาจนถึงขนาดนี้ หากอกุศลวิตกยังจรเข้ามาอีก จิตที่ต้องการความสงบย่อมมีกำลังเพียงพอที่จะข่มจิตที่จะคิดไปตามตัณหา เราจึงสามารถใช้การแก้ไขอกุศลวิตกในขั้นที่ห้า ที่ตรัสว่าให้กดลิ้น ดุนเพดาน ข่มจิตด้วยจิตได้

หากมีข้อสงสัยว่า ทำไมต้องกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ไปพร้อมๆกับการข่มจิตด้วยจิต สันนิษฐานเอาเองค่ะ ว่าเป็นการใช้การกระทำทั้งทางกายและใจไปในเวลาเดียวกัน ใช้การกระทำทางกายดึงความสนใจไปส่วนหนึ่ง กับใช้กำลังของจิตดวงที่ประกอบด้วยตริในทางที่เป็นกุศล ข่มจิตดวงที่ตริในทางอกุศลอีกส่วนหนึ่ง จนจิตดวงที่เป็นกุศลเกิดดับอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้โอกาสการเกิดจิตดวงที่เป็นอกุศล และเพราะการกัดฟันไปด้วยเอาลิ้นดุนเพดานไปด้วย จึงไม่สามารถทำการรุนแรงได้ จึงไม่เป็นการทำร้ายตนเอง อีกทั้งเป็นการกระทำอยู่เพียงภายในร่างกาย อิริยาบถภายนอกจึงดูเป็นปกติ

เพราะมีคำตรัสในที่หนึ่งว่า บัณฑิตไม่พึงแสดงอาการขึ้นๆลงๆ

จึงสามารถละเรื่องที่จิตตริขึ้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกจากใบบัว หยาดน้ำที่พลันตกจากปลายมีด จนทำให้เกิดความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆว่า รูปก็สักแต่ว่าเป็นรูป เห็นก็สักแต่ว่าเห็น เสียงก็สักแต่ว่าเป็นเสียง แม้จะรู้ความหมายของเสียงแต่ก็ไม่ร้อนรนอีกต่อไป ก็จะวางใจเป็นกลางได้กับสิ่งที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้

ก็จะวางใจเป็นกลางกับความเป็นเขาได้ในที่สุด เรื่องกวนใจก็จะลดไปแล้วเรื่องหนึ่ง ความทุกข์ก็ลดลงไปอีกหน่อยหนึ่ง ซึ่งก็มายความว่าเราสามารถเอาชนะเพื่อน ชนะใจตนเองได้แล้วเรื่องหนึ่ง

และการชนะใจตนเองได้นี้ดีกว่าการชนะใจคนที่เราแอบรัก ชนะคู่ของเขาที่เราเคยเห็นว่าเป็นคู่แข่งในน้ำใจรักของเราเสียอีก

หากสามารถปฏิบัติต่อเหตุที่ทำให้ทุกข์ใจอย่างนี้ได้ในหลายๆเรื่อง ทุกข์ก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลง แต่เพราะเรื่องที่กวนใจเรามีมาก ต้องหยิบมาพิจารณาทีละเรื่องๆ กว่าจะชนะใจตนเองจนวางใจเป็นกลางกับทุกเรื่องได้ ไม่ใช่เวลาน้อยๆเลยค่ะ ดีไม่ดี ตลอดชีวิตนี้ก็ยังทำไม่ได้

อันที่จริงมีการอบรมจิตที่สูงขึ้นไป แต่ไม่ขอพูดถึงในที่นี้นะคะ ที่ยกตัวอย่างมาก็เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการทำงานทางใจ ที่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนไป สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฒฑโน) เคยอธิบายว่า การปฏิบัติก็เหมือนกับขั้นบันได เราต้องจับปล่อย จับปล่อย เป็นขั้นๆ ในขณะที่เท้าพาเราเดินสูงขึ้นไป มือก็จับอยู่ที่ราวบันไดเหนือขั้นที่เท้าวางอยู่ เมื่อเราก้าวขึ้นสู่ขั้นที่สูงขึ้นไป มือที่จับอยู่ก็ปล่อยจากที่เดิมแล้วเลื่อนไปจับราวในตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นไปกว่าเดิม อีกทั้งต้องก้าวเป็นขั้นๆ จะก้าวข้ามขั้นไม่ได้ หรือบันไดจะขาดเสียในระหว่างก็ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ขั้นสูงสุด

และขอปิดท้ายด้วยพระคาถาที่ว่า

ปัญญาเกิดเพราะการหมั่นตามประกอบ เสื่อมสิ้นไปเพราะการไม่หมั่นตามประกอบ

บัณฑิตรู้ทั้งทางเจริญและทางเสื่อมทั้งสองนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

หวังความสวัสดีจะมีแก่ทุกท่านค่ะ

หมายเลขบันทึก: 612552เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2016 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2016 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา

คุณยายแวะมาเยี่ยมและศึกษาหาความรู้ด้วยค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท