สมุนไพรไทย - ยอ


ยอ : ยอดเยี่ยม
ยอ เป็นต้นไม้ขนาดกลาง ใบเขียวเป็นมันเหมือนใบหูกวาง ยอเป็นต้นไม้ที่คนโบราณทุกบ้านปลูกไว้เป็นเคล็ด เพื่อที่จะได้รับการสรรเสริญเยินยอ นับว่าเป็นความฉลาดของคนสมัยก่อนอย่างยิ่งในการหากลอุบายให้คนปลูกต้นยอไว้กับบ้าน เพราะว่ายอเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามากมาย ทั้งในแง่ของการใช้เป็นอาหาร เป็นยา เป็นสีย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้ายชั้นยอด เปลือก ราก เนื้อไม้ ใบ ของยอให้สีเหลืองแกมแดงที่ติดคงทน ในเชิงวัฒนธรรมยังมีการใช้ใบยอรองก้นหลุมเสาเอก และเสาโทเวลาปลูกบ้าน ใช้ใบยอรองขันพิธีบายศรีสู่ขวัญในงานมงคลต่างๆ เป็นต้น ใบยอจะใช้รองก้นกระทงห่อหมก ห่อหมกใบยอเป็นอาหารที่ช่างผสมกลมกลืนกลมกล่อมและเข้มข้น แม้เราจะใส่ผักชนิดอื่นลงไปแทนก็จะไม่ลงตัวหรือทดแทนความอร่อยได้ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าเวลาทำห่อหมก ยายจะสั่งให้คนปลาช่อนตัวโตๆ กับเครื่องแกงและกะทิ ต้องคนจนเข้าเนื้อจริงๆ ให้ข้นเหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน

ในตอนนั้นคิดแต่ว่าทำไมพวกผู้ใหญ่ถึงชอบกินอะไรยากๆ ดีแท้ แต่พอห่อหมกถูกนึ่งเสร็จสรรพเรียบร้อย กลิ่นจะหอมกรุ่นชวนกิน กลิ่นใบยอจะฟุ้งไปกับกลิ่นเครื่องแกง ในเวลาอีกไม่นานนัก ยายจะมีห่อหมกพุงปลาที่ใส่กระทงเฉพาะเป็นรางวัล สำหรับหลานตัวจ้อยที่คนเครื่องแกง จนเจ้าตัวอดคิดไม่ได้ว่าแขนมันน่าจะโตขึ้นเป็นสิบเท่าแล้วกระมัง เดี๋ยวนี้ถ้าใครช่างสังเกตหน่อยจะพบว่า เราจะหากินหาซื้อห่อหมกใบยอได้ยากขึ้นทุกที

ใบยอ นับเป็นอาหารสมุนไพรที่เพียบไปด้วยคุณค่าจริงๆ ใน 100 มิลลิกรัม มีวิตามินซี 76 มิลลิกรัม มากกว่ามะนาวถึงสองเท่า แคลเซียม 350 มิลลิกรัม มากกว่านมสามเท่า นอกจากนั้นยังมี วิตามินเอ เหล็กและฟอสฟอรัส ในปริมาณสูง ใบยอจึงเป็นผักที่ควรส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างยิ่ง เพื่อเป็นแหล่งแคลเซียมในสตรีวัยหมดประจำเดือน เป็นแหล่งวิตามินซีที่เพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อการต้านมะเร็ง เป็นแหล่งวิตามินเอป้องกันการตาบอดในเด็กและยังเป็นแหล่งฟอสฟอรัสและเหล็กที่ดีได้อีกด้วย โดยทั่วไปไม่นิยมกินใบยอสดๆ นอกจากจะใช้นึ่งโดยรองก้นห่อหมกรับประทาน ส่วนใบอ่อนๆ นิยมลวกให้สุกรับประทานเป็นผักจิ้มหรือจะหั่นเป็นฝอยๆ แกงเผ็ด แกงอ่อม จะมีรสขมอ่อนๆ ครั้งหนึ่งใบยอ จึงถูกจัดให้เป็นผักคู่ครัวคนไทยก็ว่าได้

ในแง่ประโยชน์ทางยาการรับประทาน ใบยอจะช่วยในการย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย มีบางท่านนำใบยอที่ไม่แก่ไม่อ่อนจนเกินไป หั่นตากแดดบดเป็นผงละลายน้ำร้อน ดื่มครั้งละสองช้อนกาแฟ หรือผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินครั้งละสองเม็ด ส่วนผลของยอ หรือลูกยอ ใช้เป็นได้ทั้งอาหารและยาเช่นกัน ผลยอเป็นผักที่มี มีวิตามินซีสูงใกล้เคียงกับมะขามป้อมคือ 208 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ผลอ่อนของยอใช้แกงส้ม แกงเลียง ส่วนผลแก่ใกล้สุกทางอิสานนิยมนำมาทำส้มตำแทนมะละกอ

ผลของยอมีรสเผ็ดร้อนช่วยขับลมในลำไส้ แก้คลื่นเหียนอาเจียน ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุไฟได้ดีนัก จึงนิยมใช้ทำยารักษาโรคท้องอืดท้องเฟ้ออาหารไม่ย่อย ทั้งผลดิบผลสุก จะนิยมฝานผลแก่จัดเป็นแว่นๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงให้ละเอียดละลายน้ำร้อน กินครั้งละ 2 ช้อนชา หรือผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานครั้ง 1-2 เม็ด การใช้ผลลูกยอจะมีสรรพคุณที่แรงกว่าใช้ใบ กินแล้วผายลมสบายท้องดีจริงๆ แต่ไม่ยักกะมีใครหัวใสทำขาย ผลสุกของยอก็เป็นยาชั้นยอดในการขับลมและช่วยย่อย คุณยายที่บ้านชอบเก็บลูกยอมาบ่มในไหเกลือ โดยฝังเข้าใปในเกลือ สักวันสองวันลูกยอจะสุก แล้วจะเอามาจิ้มเกลือกิน บางท่านนิยมจิ้มน้ำผึ้งกิน ยายบอกว่ายอเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงธาตุแก้ท้องอืด ช่วยระบายท้อง ยายจะกินลูกยอทั้งเม็ด และยังกำชับว่าผู้หญิงควรกินลูกยอสุก หรือลูกยอที่แก่จัดเพื่อบำรุงเลือดลม ขับเลือดเสียไม่ให้มีเลือดคั่งค้าง คนโบราณเชื่อว่าถ้าเลือดร้ายออกไป ผิวพรรณจะสดใสเปล่งปลั่ง ไม่เป็นสิวฝ้า อารมณ์ดี ลูกยอสุกกินยากมากเพราะกลิ่นจะฉุนๆ แต่เมื่อกินบ่อยๆ ก็จะชินไปเอง ส่วนสตรีท่านใดอยากมีผิวหน้าสดใส แต่ทนกลิ่นลูกยอไม่ได้ก็อาจจะฝาน ลูกยอที่แก่จัดแล้วตากแห้งบดเป็นผงชงน้ำ หรือทำเป็นลูกกลอน หรือบรรจุใส่แคปซูล รับประทานก็ได้

ยอจึงเป็นสมุนไพรที่เป็นยาอายุวัฒนะของสังคมไทย เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งในใบและผล ยังเป็นยาช่วยย่อย บำรุงธาตุไฟ แก้ท้องอืดท้องเฟ้ออันเป็นปัจจัยแรก ที่จะทำให้ร่างกายเป็นปกติ ไม่เสียสมดุล ทั้งยังช่วยขับประจำเดือนฟอกเลือดสตรีให้งาม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ได้อีกด้วย

มีลูกยออีกชนิดหนึ่งไม่ใช่พืช เป็นอะไรที่คนชอบรับประทานกันมาก เรียกว่าวันไหนที่ได้รับลูกยอเข้าไปจะรู้สึกไม่หิวข้าวเลย มันอิ่มอกอิ่มใจ คุณค่าของลูกยอชนิดนี้ถ้าใช้ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและถูกจังหวะ จะช่วยเยียวยาจิตใจคนและสังคมได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ถ้าใครชอบกินลูกยอชนิดนี้มากเกินไปโดยไม่ใช้สติปัญญาพิจารณาก็อาจจะมีพิษ โดยจะมีอาการตัดสินใจผิดๆ ไม่ค่อยฟังใคร นึกว่าข้าเก่งสุดในปฐพี ซึ่งเป็นอาการของนักการเมืองและผู้นำของไทยส่วนใหญ่จะเป็นกันมาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda citrifolia Linn.
 

 

คำสำคัญ (Tags): #สมุนไพร
หมายเลขบันทึก: 61247เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับคุณ ชุติกาญจน์ เมตตาคุณ

  • ชอบทานตำลูกยอ...แต่ไม่ค่อยชอบคำเยินยอ ครับ
  • ไปเฮฮาศาสตร์2 ที่มหาชีวาลัยอีสาน สวนป่าท่านพ่อครูบาฯ  ได้เก็บลูกยอมาตำส้ม 1 ครก ได้ชิมคนละคำครับ (เพราะตำแบบเผ็ดๆ)  แก้ง่วงได้ดีมาก

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท