สมุนไพรไทย - “หมอกบ่วาย”


รักษามะเร็งตับเหตุตายปีละกว่าหมื่น                         

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุข  ลงพื้นที่ จ.หนองคาย  สำรวจแหล่งสมุนไพร "หมอกบ่วาย"  หมอพื้นบ้านอีสานเคยใช้รักษาโรคท้องมานจากโรคตับแข็ง  มะเร็งตับ มาลาเรีย  พบยังเหลือแหล่งเดียวในประเทศที่  อ.โพนพิสัย ใกล้สูญพันธุ์  เร่งอนุรักษ์คุ้มครอง และทำวิจัยฤทธิ์ต้านมะเร็ง  ซึ่งคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับปีละกว่า 12,000 ราย      นายพินิจ  จารุสมบัติ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย  นพ.ปราชญ์  บุณยวงศ์วิโรจน์  รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และ  พญ.เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ  รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เดินทางไปสำรวจสมุนไพรหมอกบ่วาย  ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ขึ้นบริเวณบึงแพรวเงือก  หน้าวัดป่านาเพียงใหม่  อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  ซึ่งในวัดดังกล่าว  ได้มีการสงวนป่าอนุรักษ์สมุนไพรหลากชนิดที่มีอยู่ในตำราแพทย์แผนไทย  และไม่มีในพื้นที่อื่น ๆ ไว้ประมาณ 300 ไร่ สำหรับสมุนไพรหมอกบ่วาย เป็นพืชล้มลุก ในอดีตหมอพื้นบ้านในภาคอีสานใช้ต้นแห้งนำมาดองกับเหล้า เพื่อรักษาโรคท้องมาน ส่วนต้นสดจะนำมาขยี้ทาแก้กลาก  เกลื้อน  ส่วนในตำรายาไทยใช้ทั้งต้น  กินแก้โรคบิด  ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และแก้ไข้มาลาเรีย      ลักษณะของต้นสมุนไพรหมอกบ่วาย  เป็นพืชใบเดี่ยว  ขึ้นในที่โล่ง ตามทุ่งหญ้า ในที่ทราย  และมีแสงแดดมาก ลำต้นแผ่ระนาบพื้นดิน ขนาดกว้างเท่ากับเหรียญสิบบาท  กลีบใบสีเขียวอ่อนเรียงสลับกัน  มีขนสีแดงขึ้น และปลายขนจะมีเมือกใสคล้ายน้ำค้างเกาะอยู่ตลอดวัน  ชาวบ้านจึงเรียกกันหลายชื่อ เช่น จอกบ่วาย หรือน้ำค้างกลางเที่ยง มีก้านช่อยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จากการสำรวจสมุนไพรดังกล่าว พบว่าขณะนี้มีเหลืออยู่ที่เดียวในประเทศคือ  ที่หน้าวัดป่านาเพียงใหม่  อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  และเหลือน้อยมาก ใกล้จะสูญพันธุ์  เนื่องจากถูกนายทุนบุกรุกที่  ปลูกพืชยืนต้นอื่นแทน      นายพินิจ  ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เร่งอนุรักษ์ขยายพันธุ์ และทำโครงการศึกษาวิจัยต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ  โดยเฉพาะการนำมารักษาโรคมะเร็งตับ  โรคตับแข็ง  ที่คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 12,000 ราย โดยพบมากเป็นอันดับ ของภาคอีสาน       ทางด้าน พญ.เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ  รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า  จากการติดตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของพืชสกุลเดียวกับหมอกบ่วาย  พบทั่วโลกมี 4 สกุล รวม 105 ชนิด  ส่วนใหญ่เป็นพืชกินแมลง  พบได้ทั่วไปในพื้นที่และอุณหภูมิแตกต่างกัน  ส่วนในไทยพบพืชสกุลนี้ ชนิด ที่ จ.เลย  เรียกว่า จอกบ่วาย  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โดรเซอรา  เบอมานนิอี วาช์ล ( Drosera burmannii vahl )  ชนิดขึ้นในภาคอีสาน เรียกว่า  หญ้าน้ำค้าง ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  โดรเซอรา  อินดิก้า แอล. ( Drosera indica L.) และชนิดที่ขึ้นที่จ.ตราดเรียกว่า ปัดน้ำ หยาดน้ำค้าง หญ้าไฟตะกาด ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าโดรเซอรา  เพลตาต้า (Drosera peltata Sm.)  โดยพืชสมุนไพรในปัจจุบัน  สามารถจำแนกสายพันธุ์ได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น      พญ.เพ็ญนภา  กล่าวต่อไปว่า  สำหรับในกลุ่มสมุนไพรตระกูลหมอกบ่วายนี้  เป็นพืชกินแมลง จากการสืบค้นการวิจัยทั่วโลกมีงานวิจัยหลายที่ พบว่ามีสารสำคัญกลุ่มฟลาวโวนอยส์ ( Flavonoids) ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบ ยาคลายการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ที่ประเทศบราซิล พบว่าพืชชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ  ต้านมะเร็งได้  ในประเทศแถบยุโรป  ได้นำพืชสกุลนี้มาสกัดด้วยแอลกอฮอล์  นำมาใช้เป็นยาแก้ไอ  โดยพบว่าใบของพืชชนิดนี้ซึ่งมีเมือกเหนียว ๆ ใส  อาจเกิดการระคายเคืองได้  แต่ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีรายงานการวิจัย  ซึ่งในตำราแพทย์แผนไทยใช้สมุนไพรนี้รักษาโรคท้องมานในอดีต  ซึ่งสาเหตุของโรคท้องโตนี้ มาจากการเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับ หรือจากไข้มาลาเรีย  ทำให้ตับ ม้ามโตได้เหมือนกัน      ส่วนในตำรายาอีสานของไทย ระบุว่า  หมอกบ่วายเป็นยาแก้เลือดออกทางขุมขน  ซึ่งน่าจะมาจากปัญหาตับวาย ทำให้เลือดออกง่าย  เพราะฉะนั้น  สมุนไพรหมอกบ่วาย น่าจะอนุรักษ์และทำการศึกษาวิจัยในทิศทางอาจใกล้เคียงกันกับต่างประเทศ  หากได้ผลดีก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง  โดยเฉพาะอาจเป็นข่าวดีของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ  ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้   ขณะนี้มีผู้คนน้อยมากที่จะรู้จักสมุนไพรหมอกบ่วาย ตัวนี้ แม้แต่ชาวบ้านหนองคายก็ไม่รู้จัก ในการใช้สมุนไพรตัวนี้ต้องระวัง อาจมีอาการแพ้ได้  ต้องใช้โดยหมอแผนโบราณหรือหมอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง และเชื่อถือได้ อย่ากินเองโดยพลการ  เพราะสมุนไพรมีทั้งคุณและโทษ  และหากประชาชนพบเห็นสมุนไพรตัวนี้ที่ใด  สามารถแจ้งข้อมูลมาที่สถาบันการแพทย์แผนไทย 0 2591 7686

 

คำสำคัญ (Tags): #สมุนไพร
หมายเลขบันทึก: 61225เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2006 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท