ยุทธการ "ถอดล้อพ่วง" - โครงการพัฒนา "คุณอำนวย" มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


แทนที่จะเชิญวิทยากรจาก สคส. ซึ่งทั้งไกล จ่ายค่าเครื่องบินก็แสนแพง และมีอยู่เพียงไม่กี่ชีวิต หาวันนัดก็สุดจะยาก วิทยากร KM ในพื้นที่จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เคยจัด "ตลาดนัดความรู้เจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการวิชาชีพฯ (Track B)" ไปเมื่อเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมา   ครั้งนั้น ทีมงานประสานงานได้คัดเลือก "คุณกิจ"  (เจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการวิชาชีพฯ)  ที่ผ่านการพิจารณาว่ามีผลการทำงานดี  มาเป็นรุ่นแรกกว่า  40 ชีวิต  

ต่อมา  ทีมงานประสานงาน KM ของวลัยลักษณ์ได้ติดต่อมาอีกครั้ง   เพื่อขอวิทยากรกระบวนการ KM จัดให้แก่รุ่นที่ 2  อีกครั้งหนึ่ง    แต่ด้วยจากนโยบาย (ที่ไม่ตายตัว) ของ  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)   เห็นว่าโดยเฉพาะ  สถาบันการศึกษา ควรพัฒนา "คุณอำนวย" ของตัวเองเอาไว้   ไม่เพียงแต่เพื่อเป็น "คุณอำนวย" ภายในสถานศึกษาเองแล้ว  ยังสามารถช่วยเหลือหน่วยงานอื่นๆ  หรือภาคชุมชนที่ใกล้เคียงที่ต้องการเรียนรู้  หรือสร้างการจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นในเนื้องานจริง     ดังนั้น   ทีมงานประสานงานของ ม. วลัยลักษณ์  จึงขอเปลี่ยนเป็นเชิญวิทยากรเพื่อพัฒนา "คุณอำนวย" ของ ม.วัลลักษณ์   ก่อนการจัด "ตลาดนัดความรู้" รุ่นที่ 2 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ 

การเป็นวิทยากรของ  สคส.  ครั้งนี้  จึงจำเป็นต้องใช้ "ยุทธการ ถอดล้อพ่วง"   เพราะเมื่อครั้งแรกนั้น  สคส.  ไปเป็น "ล้อพ่วง" ให้แก่ทีมงานของ ม.วลัยลักษณ์ในการเรียนรู้ ปั่นจักยาน KM คันนี้      การประชุมครั้งนี้จึงมุ่งเป้าไปที่  "สร้างความมั่นใจ" และ "เสริมความเข้าใจเรื่องการใช้เครื่องมือ"  ให้แก่  "ว่าที่ คุณอำนวย"   เพื่อให้ปั่นจักยาน KM  ได้เองในสไตล์ของวลัยลักษณ์   โดยไม่ต้องมีล้อพ่วง ยี่ห้อ สคส.  ประคองอย่างครั้งก่อน  

 

เนื้อหาการประชุมครั้งนี้  จัดขึ้นในวันที่ 27 - 28 ตุลาคม 2548  สัปดาห์ที่ผ่านมา    โดยวันแรกนั้นมี  อาจารย์จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา   จากมหาวิทยาลัยรังสิตได้เข้าไปเล่าประสบการณ์เรื่องการจัดการความรู้ที่ได้มาจากการไปสัมภาษณ์  พูดคุยกับหน่วยงานที่ทำ KM มาแล้ว   และประสบการณ์การเป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานราชการบางแห่ง      วันที่สองของการประชุม  ผมเป็นวิทยากรอีกครั้ง  โดยเน้นไปที่  process ของการจัดตลาดนัดความรู้   ทั้งนี้รวมถึงเครื่องไม้  เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้     ช่วงที่มอบหมายโจทย์ให้ทีมงานคุณอำนวยทำ process mapping  พยายามเชียร์ให้ create วิธีการ  หรือ นำเอาเครื่องมือตัวใหม่ๆมาลองใช้ในการจัดตลาดนัดความรู้    แต่หลายท่านมาบอกว่า  ขอใช้เครื่องมือตัวเดิมดูก่อน  ให้ผ่านเวทีแรกก่อน  คงพอจะเรียนรู้เห็นเครื่องมือตัวอื่นที่คิดว่าน่าจะลองเอามาใช้เสริมกระบวนการได้       เท่าที่สังเกต  ผมเชื่อว่าแต่ละท่านถึงแม้จะไม่ได้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษา   แต่พอเห็นแววการเป็น "คุณอำนวย"  อยู่หลายคน   เพียงแต่ต้องสะสมชั่วโมงบินอีกนิดหน่อย   พร้อมทั้งต้องเรียนรู้ KM  ทั้งจาก explicit และ tacit knowledge  จากที่อื่น   แล้วเชื่อว่าสักวันหนึ่ง (เร็วๆนี้) เราจะมีทีม "คุณอำนวย"  ในแถบปักษ์ใต้ตอนบน  เอาไว้ให้ใครๆได้ไหว้วานไปทำกระบวนการ KM   แทนที่จะเชิญวิทยากรจาก  สคส. ซึ่งทั้งไกล จ่ายค่าเครื่องบินก็แสนแพง   และมีอยู่เพียงไม่กี่ชีวิต  หาวันนัดก็สุกจะยาก     วิทยากร KM ในพื้นที่จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า

คำสำคัญ (Tags): #ตลาดนัดความรู้
หมายเลขบันทึก: 6113เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2005 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นายบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

  ผลจากการจัดทำ  AAR ต่อการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการเป็นวิทยากรด้านการจัดการความรู้  ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 27-28 /10/48 ที่ผ่านมา พอจะสรุปประเด็นหลัก ๆ ได้ดังนี้ 1.  ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้รับรู้  ได้เรียนรู้ และเข้าใจแนวคิด  กระบวนการ และการใช้เครื่องมือ KM มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่แนวทางการปฏิบัติงานที่ดีเพื่อวลัยลักษณ์  รุ่นที่ 1 มาแล้ว

                     2. ผู้ผ่านการสัมมนาฯ มีความมั่นใจที่จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรภายในมหาวิทยาลัย  ภายในหน่วยงาน ทั้งในด้านกระบวนการ และการใช้เครื่องมือ KM  โดยหลาย ๆ ท่านอาจจะแอบฝัน/มุ่งหวังเล็กๆ ว่าขอเวลาหาประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง  คงจะมีโอกาสไปเป็นวิทยากรแก่หน่วยงานภายนอกบ้าง

                     3.บางท่านได้พยายามคิดพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมกับมหาวิทยาลัย  เนื่องจากเครื่องมือบางอย่างของ สคส. มีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น โปรแกรมสำหรับการใส่ข้อมูลผลการประเมินหน่วยงาน/ ธารปัญญา เป็นต้น

      อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณอาจารย์จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา  และคุณธวัช  หมัดเต๊ะ  ที่ได้เสียสละเวลาเดินทางไปเป็นวิทยากรฯ มา  ณ โอกาสนี้

     ชาววลัยลักษณ์ได้จัดกระบวนการ"KM"รุ่นที่2แล้วเมื่อ 2-4พย.48  จากยุทธการของ สคส."ยุทธการถอดล้อพ่วง" เราทีมงานวิทยากรกระบวนการ "KM"หลังจากได้รับการฝึกอบรมตามโครงการ "พัฒนาคุณอำนวย"แล้วก็ต้องปฏิบัติงานจริงกันเลย ผลที่ออกมาก็สำเร็จเกินคาดสำหรับการลงสนามครั้งแรก ("คุณเอื้อ"ให้กำลังใจเต็มที่)

     ทั้งหมดนี้ขอขอบคุณอาจารย์จิรัชฌา วิเชียรปัญญา ที่ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ทำให้เราเห็นภาพ "KM"ชัดเจนขึ้น และขอขอบคุณ คุณธวัช หมัดเต๊ะ ที่แนะนำกระบวนการ "KM"และช่วยสร้างความมั่นใจให้เป็นวิทยากรกระบวนการ "KM"ในสไตล์ของ วลัยลักษณ์จนสำเร็จในระดับหนึ่งด้วย "ยุทธการถอดล้อพ่วง" และเราจะไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น หวังว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือ และคำแนะนำต่อๆไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท