การพังทลายของชายหาดสะกอม


การคอรัปชั่นที่ร้ายแรงที่สุด คือ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

การพังทลายของชายหาดสะกอม สงขลา อดีตถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กรกฎาคม 2559



1. ปัญหาการพังทลายของชายหาดสะกอม

ชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา มีระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 160 กิโลเมตร ภูมิสัณฐานเป็นชายหาดทรายยาวและเรียบตรง ซึ่งกำเนิดมาจากสมดุลระหว่างคลื่นและตะกอนทรายที่พัดพามาจากแม่น้ำ แล้วทับถมกันเป็นหาดทรายกลายเป็นผืนแผ่นดินที่มีเสถียรภาพมานับพันปี จึงมีชุมชนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดแนว แต่ในปัจจุบันชายหาดสงขลาพังทลายอย่างรุนแรงตลอดแนว จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือสาเหตุหลักของปัญหา และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร

การพังทลายของชายหาด ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับชายฝั่งสงขลา ซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤติและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่มาตรการป้องกันและการแก้ไขที่ดำเนินการอยู่ตลอดมาไม่ได้ส่งเสริมให้ชายหาดมีเสถียรภาพ และกลับส่งผลกระทบต่อหาดทรายที่อยู่ข้างเคียงต่อเนื่องเป็นลูกโซ่อย่างไม่สิ้นสุด ซ้ำร้ายทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนที่ส่อไปในทางทุจริตเชิงนโยบายจนยากต่อการเยียวยาแก้ไข

การศึกษาวิจัยของ โครงการนโยบายสาธารณะการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ และ เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาหาดทราย (Beach watch network) พบว่าปัญหาการพังทลายของชายหาด ต.สะกอม สงขลา เกิดจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทะเลที่ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า และยังพบว่าสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและหาดทราย

ปัญหาและสาเหตุของการพังทลายของชายหาด ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รับการศึกษาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการแปลภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และถูกตรวจสอบโดยการสำรวจภาคสนามและเอกสารอ้างอิงต่างๆ ซึ่งรายละเอียดได้ถูกกล่าวไว้ในที่นี้โดยสังเขป รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาหาดทรายที่เสียหาย และการป้องกันหาดทรายที่เหลืออยู่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข


2. ระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell)

การศึกษาสมดุลการเคลื่อนที่ของทรายชายหาด มีความสำคัญมากต่อการวางแผนใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน การเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งในบางพื้นที่อาจมีระยะทางยาวต่อเนื่องนับร้อยกิโลเมตร แต่ในบางแห่งก็เป็นเพียงระยะทางสั้นๆ การเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งจากแหล่งกำเนิด (Source) หรือแหล่งให้ทราย ไปยังแหล่งรับหรีอสะสมทราย (Sink) ของชายหาดหนึ่งๆเรียกว่า ระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell หรือ Physiographic Unit) (รูปที่ 1) ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดจำแนกชายฝั่งทั้งประเทศไว้เป็น 64 กลุ่มหาด โดยชายฝั่งสงขลามี 2 กลุ่มหาดคือ S11 และ S12 (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ระบบกลุ่มหาดจังหวัดสงขลาความยาวชายฝั่ง 157.9 กิโลเมตร



รูปที่ 1 นิยามของระบบกลุ่มหาดและการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายชายฝั่ง

ที่มา: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2557


3. สาเหตุการพังทลายของชายหาดสะกอม และผลกระทบต่อชายฝั่งบ้านบ่อโชน

ปี 2540 กรมเจ้าท่าเริ่มทำการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำคลองสะกอม และสร้างเขื่อนกันคลื่น 4 ตัวที่ชายฝั่งบ้านบ่อโชนพร้อมกัน (รูปที่ 2) ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายหาดสะกอมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากโครงการชายฝั่งไปขัดขวางกระแสน้ำและหยุดการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่ง ซึ่งมีทิศทางเคลื่อนที่สุทธิไปทางทิศตะวันตก ทำให้ทรายตกทับถมที่ตัวเขื่อนด้านตะวันออก ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปหล่อเลี้ยงชายหาดด้านตะวันดกของเขื่อนฯ หาดทรายจึงถูกกัดเซาะไปอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นได้ เป็นเหตุให้เกิดการกัดเซาะชายหาดสะกอมพังทลายอย่างรุนแรงและลุกลามไม่สิ้นสุด


รูปที่ 2 เขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองสะกอม (ก่อสร้างปี 2540-41)

ที่มา: พลิกปมข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


4. ผลการสำรวจภาคสนามชายฝั่งบ้านบ่อโชนปี 2559

การสำรวจสภาพปัจจุบันของชายฝั่งบ้านบ่อโชน ต.สะกอม ในปี 2558-59 พบที่ดินและอาคารที่พักพังทลายลงสู่ทะเล 2 หลัง (รูปที่ 3) เนื่องจากชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง และอีกหนึ่งหลังเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะเพราะอาคารอยู่ห่างจากแนวตลิ่งราว 2 เมตร ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กรมเจ้าท่าได้เริ่มถมหินทำเขื่อนขนาดใหญ่ตามแนวชายฝั่งที่พังทลายจำนวนสองโครงการเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตรด้วยงบประมาณรวม 76 ล้านบาท โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์และไม่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ศาลปกครองสงขลาตัดสินไว้ในปี 2554 แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้เกิดผลประทบอย่างรุนแรงต่อเนื่องไปยังหมู่บ้านโคกสักที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกประมาณ 800 เมตร


(ก) ที่ดินและอาคารบ้านพักพังทลายที่ชายฝั่งบ้านบ่อโชนปี 2558



(ข) กรมเจ้าท่าเริ่มถมหินทำเขื่อนที่ชายฝั่งบ้านบ่อโชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559



(ค) กรมเจ้าท่าถมดินบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะเสียหาย เดือนมิถุนายน 2559



(ง) รูปแบบเขื่อนชายฝั่งและการถมดินระยะที่ 1 บริเวณชายฝั่งสะกอมที่บ้านบ่อโชน เดือนมิถุนายน 2559

ที่มา พลิกปมข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส



(จ) การต่อเติมเขื่อนชายฝั่งระยะที่ 2 บริเวณชายฝั่งสะกอม เดือนมิถุนายน 2559

ที่มา พลิกปมข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


รูปที่ 3 การสำรวจการพังทลายของชายฝั่งสะกอม ที่บ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ ปี 2558-59


5. การวิเคราะห์ภาพถ่ายทาอากาศ Google Earth ปี 2545-58

จากภาพถ่าย Google Earth ดังตัวอย่างในรูปที่ 4 พบว่าผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำคลองสะกอม และเขื่อนกันคลื่นที่ชายฝั่งบ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ทำให้ชายฝั่งทิศตะวันตกของเขื่อนกันทรายฯ ถูกกัดเซาะพังทลายอย่างรุนแรงดังแสดงในรูปที่ 5 และตารางที่ 2 ทำให้หาดทรายที่สวยงามถูกทำลายหมดไป


รูปที่ 4 ภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ที่ใช้ในการวิเคราะห์การพังทลายของชายฝั่ง ต.สะกอม อ.จะนะ



5) การวิเคราะห์การพังทลายตามยาวแนวชายฝั่ง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา



ข) การวิเคราะห์การพังทลายตามขวางของชายฝั่งสะกอม บ้านบ่อโชน และบ้านโคกสัก ต.สะกอม

รูปที่ 5 การวิเคราะห์การพังทลายของชายหาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ปี 2541-58


ตารางที่ 2 การพังทลายของชายฝั่ง ต.สะกอม อ.จะนะ ด้วยภาพถ่าย Google Earth ปี 2541-58



6. สรุปผลการศึกษา

6.1 การสำรวจภาคสนามในปัจจุบันที่ชายฝั่งบ้านบ่อโขน

จากการสำรวจชายฝั่งบ้านบ่อโชน ต.สะกอม ในปัจจุบัน พบว่าที่ดินและอาคารพังทลายลงทะเล 2 หลัง และอีกหนึ่งหลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะ และกรมเจ้าท่าได้ถมหินทำเขื่อนขนาดใหญ่บริเวณแนวชายฝั่งเป็นระยะทางราว 200 เมตร โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงต่อหมู่บ้านโคกสักที่อยู่ข้างเคียง

6.2 การศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งสะกอมในระยะเวลา 17 ปีด้วยภาพ Google Earth

ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวฝั่งจากรูปที่ 4 และ 5 แสดงไว้ในตารางที่ 2 สรุปได้ว่า ในระยะเวลา 17 ปี (2541-58) ชายฝั่งสะกอมถูกกัดเซาะเป็นระยะทางประมาณ 3,000 เมตร โดยที่บ้านบ่อโชน (+0 ม) มีการกัดเซาะมากที่สุดถึง 109 เมตร โดยมีอัตราการกัดเซาะสูงสุดและเฉลี่ยเท่ากับ 10 เมตร/ปี และ 6 เมตร/ปี ตามลำดับ และที่บ้านโคกสัก (+1300 ม) ถูกกัดเซาะลึก 64 เมตร ด้วยอัตรากัดเซาะเฉลี่ย 3 เมตร/ปี

6.3 ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูชายหาดสะกอมให้กลับคืนมาดังเดิม

จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องในปัญหาการพังทลายของชายหาดสะกอม ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำคลองสะกอม และเขื่อนกันคลื่นที่ชายฝั่งบ้านบ่อโชน ต.สะกอม สรุปได้ว่าการฟื้นฟูชายหาดสะกอมดำเนินการดังต่อไปนี้

- ต้องพิจารณาชายหาดสะกอมด้วยวิธีระบบกลุ่มหาด (S11) ตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เสนอไว้

- รื้อถอนเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งที่บ้านบ่อโชน เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการตามธรรมชาติของหาดทราย

- คืนสมดุลให้กับชายหาดด้วยการถ่ายเททรายที่ติดสะสมทางทิศตะวันออกของเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำคลองสะกอม คืนให้กับชายหาดทางทิศตะวันตกที่สูญเสียทรายไปในอัตราไม่น้อยกว่า 100,000 ลบ.ม/ปี ดังแสดงในรูปที่ 6

- ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าและธรรมชาติของหาดทรายให้แก่ชุมชนชายฝั่ง ต.สะกอม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษาหาดทรายอย่างยั่งยืนตลอดไป


รูปที่ 6 การถ่ายเททรายจากแหล่งสะสมทรายที่เขื่อนกันทรายฯไปสู่หาดทรายที่ถูกกัดเซาะ

ที่มา: Sorensen (1991)


-------------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 611275เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท