ชีวิตที่พอเพียง ๒๗๑๓ เฉียดหิมพานต์ ๕. โซนามาร์กและคาร์กิล


วันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ เราเดินทางไปค้างคืนที่ คาร์กิล (Kargil) เป็นเมืองใหญ่ที่สองในแคว้นลาดั๊กรองจากเมือง เลย์ อยู่ทิศเหนือของเดลี ห่างออกไปหนึ่งพันกิโลเมตร ความสูง ๒.๗ กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลมีชื่อเสียในด้าน Kargil War 1999 เป็นสงครามภูเขา ร้อยละ ๙๕ ของประชากรเป็นมุสลิมที่เหลือนับถือพุทธนิกายทิเบต

คนไทยที่เคยไปเที่ยว รีวิวไว้ ที่นี่ รูปสวย รายละเอียดเพียบ

เช้าวันที่ ๒๗ ที่บ้านเรือของศรีนาการ์เราตื่นตีสี่ครึ่งเตรียมออกเดินทาง ตีห้าเจ้าหน้าที่โรงแรมมาตะโกนปลุก หกโมงกินอาหารเช้าเป็นข้าวต้ม มีน้ำชากาแฟและขนมปังปิ้งตามธรรมเนียมทุกเช้า เจ็ดโมงเศษๆ ก็พร้อมออกเดินทางตอนแรกไปทางเหนือผ่านหมู่บ้าน ทุ่งนา และมีต้นไม้สองข้างทางเขียวชะอุ่มผ่านท่อน้ำกระโจนจากภูเขาลงมาลอดใต้ถนน ไปลงลำธารฝั่งตรงกันข้าม เราแวะถ่ายรูปสองนาทีแล้วเดินทางต่อ ไปแวะเข้าห้องน้ำมีร้านขายผ้าอยู่ใกล้ๆมีคนต่อจาก ๑,๒๐๐ รูปีเป็น ๖๐๐ แล้วก็เลยเฮโลกันไปซื้ออีกหลายคน สาวน้อยกับผมยืนรอ ผมเร่ไปถ่ายรูปมัสยิด หนุ่มน้อยคนขายผ้าบอกว่ามัสยิดนี้อายุ ๗๐๐ ปีอยากเข้าไปชมไหม เราขอบคุณและบอกว่าต้องรีบไป แต่เจ้าของร้านใกล้ๆ ก็มาลากเราไปชมเสื้ออินเดียปักมือ ซึ่งเราไม่รู้จะซื้อไปสวมในโอกาสไหน

เดินทางต่อจนไปถึง โซนามาร์ก (Sonamarg) ราวๆ เก้าโมงครึ่งคนส่วนใหญ่ไปขี่ม้าชมวิวมี ๔ คนที่ไม่ขี่ม้า คือหมอลัดดา ดำริการเลิศ, คุณนวลอนันต์ ตันติเกตุ, สาวน้อย และผมเราชวนกันเดินขึ้นเนินไปชมวิวและถ่ายรูปมีคุณอุ้ย ธีรธัช อารีราษฎร์ หัวหน้าทัวร์เดินชมวิวและคอยช่วยเหลือพวกเรา โดยเฉพาะสาวน้อยเราได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีฝุ่น เย็นสบายกำลังพอดี (น่าจะราวๆ ๒๐ องศา) ชมวิว และถ่ายรูปวิวเนินเขา ที่มียอดเขาที่มีหิมะคลุมเป็นฉากหลังและมองลงไปข้างล่าง ที่หุบเขามีลำธารไหลลงมาจากเขา เป็นครั้งที่สองที่ผมนึกในใจว่า อินเดียยังมีทรัพยากรน้ำที่ยังนำมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่โดยเฉพาะการผลิตพลังงาน

เวลาราวๆ ๑๐.๓๐ น. ก็กลับมารวมพล นั่งรถไปโรงแรม Glacier Heights เพื่อรับประทานอาหารมีไข่เจียวแบบไทยอีกแล้ว

ก่อน ๑๑.๓๐ น. เราก็ออกรถเดินทางต่อ เพื่อหลบรถบรรทุกตอนเดินทางผ่าน Sojilla Pass ที่เป็นถนนไม่ดี บางช่วงเป็นถนนดินวกวนตามไหล่เขา ยาว ๓๐ กิโลเมตร เพราะมีข้อตกลงกันว่ารถเล็กเท่านั้นที่ใช้ทางได้ก่อนเที่ยงหากเราออกก่อนเที่ยง ก็จะต้องไปผจญฝุ่นรถบรรทุก ซึ่งเราก็เจอรถบรรทุกจนได้ แต่เป็นรถบรรทุกของทหาร คนขับรถของเราขับเก่งมากแต่น่าหวาดเสียว เพราะแกขอทางแซงรถบรรทุกตรงที่น่ากลัวว่าหากถนนตรงไหล่ทางทรุด เราก็ตกเขาทั้งคันรถทันทีแกขับแบบนี้นับสิบครั้ง และบางช่วงภูเขาข้างบนเป็นดิน ลักษณะเดาว่าร่วนๆ น่าสงสัยว่าอาจถล่มลงมาเมื่อไรก็ได้

เนื่องจากถนนไม่ดี จึงมีทีมซ่อมถนนเป็นระยะๆ และบางช่วงรถต้องจอดหลีกทางให้กันการเดินทางจึงช้ามาก

ช่วงนี้คุณเปานั่งทางขวามือ ได้มีโอกาสถ่ายรูปถนนที่วนไปวนมาบนไหล่เขานับสิบชั้น สวยงามมากและบนยอดเขา มีหิมะคลุมมีกองหิมะทับถมเป็นน้ำแข็งเป็นแนวยาวตามหลืบเขาเป็นระยะๆ กว่าสิบแห่งบางช่วงลงมาถึงถนน และมีคนขอหยุดรถลงไปจับน้ำแข็งที่กำลังละลาย หมอสมศักดิ์เล่าว่าเย็นมาก และเป็นน้ำแข็งจริงๆช่วงนี้ภูเขามีต้นสนประปรายสลับกับหญ้า

ก่อนเข้าแคว้านลาดั๊กมีลานน้ำแข็งใหญ่อยู่ทางขวามือน้ำแข็งยังมีอยู่อุดมสมบูรณ์มีรถจอดข้างทางจำนวนมาก เข้าใจว่ามีบริการเล่นสกี

๙๖ กิโลเมตรก่อนถึง คาร์กิล มีป้ายต้อนรับเข้ารัฐลาดั๊กภูมิประเทศเปลี่ยนไป เป็นถนนอยู่บนไหล่เขาที่ไม่สูงมาก อย่างตอนผ่าน Sojilla Pass มีลำธารขนานไปกับถนนน้ำไหลเชี่ยว เป็นน้ำจากหิมะละลาย สีฟ้าขุ่นทำให้รู้สึกสดชื่นสองข้างทางยังมีกองหิมะ/น้ำแข็งและธารน้ำแข็ง (เดาว่าเป็นธารชั่วคราว ไม่ใช่ธารล้านปี อย่างที่เราเคยสัมผัสที่ Jungfraujorg สวิตเซอร์แลนด์) เป็นระยะๆ และอากาศสดใสไม่มีฝุ่นอย่างที่เราคุ้นมา ๓ วัน รถแล่นผ่าน High Altitude Warrior School ลักษณะเป็นแคมป์ที่มีเต็นท์เราทราบเพราะมีป้ายบอก และถ่ายรูปมาตั้งแต่ออกจากศรีนาการ์ ยิ่งใกล้พรมแดนรัฐลาดั๊ก ก็ยิ่งเห็นทหารถือปืนรักษาการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งกองทหาร

คณะของเราแวะถ่ายรูปวิวที่จุดหนึ่ง มีคนมาขอทาน

หลังจากนั้นก็เข้าเมืองแรกของรัฐลาดั๊ก ชื่อ Drass เป็นเมืองชายแดน รถแล่นผ่านเขตแดนอยู่ใกล้ๆมีพิพิธภัณฑ์การสู้รบกับปากีสถานเราแวะเข้าห้องน้ำ เห็นพิพิธภัณฑ์ผมก็น้ำลายหก แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นทัวร์ธรรมชาติ ไม่ใช่ทัวร์ประวัติศาสตร์

เมื่อเข้ารัฐลาดั๊ก ทีมทัวร์ต้องไปรายงานตัวที่สถานี Tourism Development Authority of Kargil การข้ามขตรัฐของอินเดียมีพิธีกรรมมากรวมทั้งบริษัททัวร์ก็ต้องเปลี่ยนชุดที่คาร์กิลทีมของศรีนาการ์กลับไป ทีมของเลย์มารับที่นี่

ถนนในเขตลาดั๊กสภาพดีรถจึงวิ่งได้เร็วแต่ก็มีบางช่วงที่ถนนไม่ดี ฝุ่นตลบสองข้างทางเป็นภูเขาหิน บางช่วงเห็นชัดว่าเป็นลาร์วาแต่ก็มีหินชะนวน ผมเห็นคนงานแซะออกเป็นชั้นๆ ดูแล้วคนไม่มีความรู้ ธรณีวิทยาอย่างผม เดาว่ามีหินหลายชนิดยิ่งใกล้คาร์กิล เนินเขาริมแม่น้ำก็เริ่มมีต้นไม้มากขึ้นๆ ส่วนใหญ่เป็นต้นเบิร์ช (birch) สูงชะลูดเห็นได้ชัดเจนว่าเป็๋นฝีมือมนุษย์ที่ทำกำแพงหินกั้นเนินเขาเป็นชั้นๆเก็บความชุ่มชื้นไว้เมื่อหิมะละลาย

ถึงคาร์กิล และเข้าโรงแรม Zojila Residency Hotel เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. เราได้ห้องพัก ๒๐๑ อยู่ชั้น ๓ดีที่มีเจ้าหน้าที่ช่วยขนกระเป๋าเพราะแค่เดินขึ้นตัวเปล่าก็ต้องค่อยๆ เดิน มีคนรู้สึกปวดหัว หรือเหนื่อยเล็กๆ น้อยๆ หลายคนบอกยากว่าเพราะขึ้นที่สูงอากาศจาง หรือเพราะเหนื่อยจากการเดินทางเราขึ้นไปอาบน้ำและพักผ่อนที่ห้อง พอ ๑๗.๓๐ น. ก็ชวนกันออกไปเดินชมเมืองมีคนแนะให้เดินไปทางซ้ายของโรงแรมพบว่าเป็นอาคารห้องแถวสร้างใหม่ยังไม่เสร็จเดินไปหน่อยเดียวสาวน้อยรู้สึกไม่สบาย จึงเดินกลับโรงแรมได้ถ่ายรูปวิวเมืองนิดหน่อย

กลับไปนั่งคุยกับทีมที่เดินทางมาด้วยกันที่หลังโรงแรม ริมแม่น้ำโซจิลาตามชื่อโรงแรมอากาศเย็นสบายคุณดอร์เจย์ (Labsang Dorjay) เจ้าของบริษัททัวร์จากเลห์มารับและทักทายด้วยการเอาผลแอปริค็อตแห้งมาแจก บอกว่าเป็นผลผลิตจากต้นที่บ้านของตนเองที่เลห์คุยกันได้ความว่าเคยเป็นลามะอยู่ ๑๘ ปี ที่อินเดียใต้แล้วไปอยู่ไต้หวัน ๑๑ ปีต่อด้วยไปเป็นล่ามให้วัดทิเบตที่ลอนดอน ๒ ปี เพิ่งเปิดบริษัททัวร์ได้ ๒ วันพูดได้ ๘ ภาษาเขียนได้ ๕ ภาษา

กินอาหารเย็นแล้วกลับห้องนอน

ที่คาร์กิล คนยังเป็นมุสลิมแต่ก็มีพุทธทิเบตปนบ้างหน้าตาคนเป็นแขกปนทิเบต

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ห้อง ๒๐๑ Hotel Holiday Ladakh, Leh, India



1 ลาก่อนแคชเมียร์ดินแดนเขียวชะอุ่ม



2 ดินแดนแห่งนาข้าว


3 ถนนแล่นขนานไปกับแม่น้ำสินธุ


4 มัสยิดของหมู่บ้าน อายุ ๗๐๐ ปี


5 ผ่านทิวทัศน์สวยงาม


6 ทิวทัศน์ค่อยๆ เปลี่ยนไป


7 ที่โซนามาร์กลูกทัวร์ ๒๓ คนขี่ม้าชมวิว


8 อีกสี่คนเดินชมวิว


9 วิวที่สวยงาม



10 อาคารหลังคาเขียวคือโรงแรมที่เรากินอาหารกลางวัน


11 กินฝุ่นรถทหาร


12 กองหิมะที่ทับถมเป็นน้ำแข็ง จะละลายหมดในฤดูร้อน


13 เข้าเขตรัฐลาดั๊ก ทัศนียภาพเปลี่ยนไป



14 วิวที่ Sojila Pass



15 ยิ่งใกล้คาร์กิลความเขียวชะอุ่มก็ยิ่งเพิ่มขึ้น



16 ถนนเมืองคาร์กิลไม่มีทางเท้า


17 แม่น้ำโซจิลาและถนนบนไหล่เขาทางออกจากเมืองคาร์กิล



18 ล็อบบี้โรงแรมโซจิลา



19 ใกล้ๆ โรงแรม


20 ใกล้ๆ โรงแรม

หมายเลขบันทึก: 611239เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท