เที่ยวอีสานใต้ : วันที่สอง


เช้าวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ตื่นเมื่อเวลา 05.00 น. ตามปกติของคนสูงวัยนอนเร็วตื่นเร็ว ทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย เวลา 06.00 น. ลงไปทานอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรมส้มโอ


อิ่มแล้วออกไปชมวิวทิวทัศน์หน้าโรงแรมส้มโอ ที่นี่อากาศดี แต่งสถานที่ไว้สวยงาม ยังมีเวลา ทุกคนต่างเก็บภาพมุมสวย ๆ ไว้เป็นที่ระลึก


07.00 น. ล้อหมุน เป้าหมายไปไหว้ย่าโม มาเมืองโคราชต้องไปไหว้ย่าโมหรือท้าวสุรนารี

ประวัติ......ที่มา วิกิพีเดีย

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมาเป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก (ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองพนมซร็อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร็อกมาอยู่ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมืองพนมซร็อกมาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจนทุกวันนี้)

เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า แม่ มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือ นางสาวบุญเหลือ

ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริรวมอายุได้ 81 ปี


08.10 น. ทุกคนกลับขึ้นรถ มุ่งหน้าสู่ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เช้านี้เสียเวลาเพราะมีสมาชิกลืมกระเป๋นเดินทางไว้ที่โรงแรม (ตามประสาผู้สูงวัย) พนักงานโรงแรมใจดีเอามาให้ถึงรถบัสของเรา


ประวัติ......ที่มา วิกิพีเดีย

เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะเขมร หรือ กัมพูชา มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน


ออกจากที่นี่มุ่งตรงไปจังหวัดร้อยเอ็ด เวลาประมาณ 13.30 น. แวะทานมื้อกลางวันที่ห้างโรบินสัน เพราะคณะฯของเรา 80 กว่าชีวิต หาร้านรองรับลำบาก เข้าห้างสะดวกที่สุด เพราะต่างคนต่างทานตามอัธยาศัย


ทุกคนเรียบร้อย กลับขึ้นรถ มุ่งหน้าไปชมทิวทัศน์ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด รถหาที่จอดพวกเราเดินลัดเลาะถนนไปที่บึง ผ่านประตูเมือง "ถนนข้าวหอมมะลิ" มีภาษาแปลก ๆ ลองอ่านดูนะคะ เก็บมาฝากค่ะ


บึงพลาญชัย ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไมต่างๆ ร่มรื่นและในบึงน้ำมีปลาชนิดต่างๆ หลายพันธุ์มากมาย มีเรือสำหรับให้ประชาชนได้พายเล่นในบึง นอกจาก นั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้ง จัดมหรสพต่างๆ ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่า สนใจ คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาว ร้อยเอ็ด พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้ พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้

ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นสวนสัตว์และน้ำตกจำลอง สนามเด็กเล่น นกชนิดต่างๆ สวนสุขภาพ เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออก กำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้างพลานามัยแก่ชาว ร้อยเอ็ด


15.00 น. แวะวนอุทยานผาน้ำย้อย ที่นี่สวยงามมากแต่เราไม่ต้องเดินขึ้นไปด้านบน มีรถบริการแล้วแต่บริจาค


วนอุทยานผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ เดินทางโดยรถยนต์สายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กม. จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ2136 ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจได้แก่

ผาน้ำย้อย

เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลตกและซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว บ้านโคกกลาง ตำบลโคกสว่าง มีเนื้อที่ป่ารอบๆ บริเวณหน้าผาพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด นับเป็นป่าที่มีค่าและหายากยิ่ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า ฯลฯ ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 200 เมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 380-500 เมตร เป็นภูเขาแบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บนเขาลูกนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่งสร้างในพื้นที่ 2,500 ไร่ ตามไหล่เขามีศาลาการเปรียญที่ใหญ่โตมาก มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วัดนี้มีชื่อว่า "วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม" โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

พระมหาเจดีย์ชัยบาดาล

เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตัวองค์พระธาตุได้แบ่งเป็น 5 ชั้น และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยบาดาลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี

เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในวรรณคดีประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมะอี่ ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 85 กม.มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นเนื้อที่สำหรับปลูกต้นไม้แบ่งตามวรรณคดี เช่น เรื่องพระเวสสัดรลิลิตพระลอ ลิลิตตะเบงพ่าย ลานพุทธประวัติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแยกตามสรรพคุณ บริเวณสวนมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม


จากที่นี่ คณะฯของเรามุ่งไปสู่จังหวัดมุกดาหาร ถึงมุกดาหาร เวลา 18.00 น. เข้าโรงแรมที่พัก คืนนี้พักที่ โรงแรมพลอยพาเลซค่ะ


ได้ห้องแล้ว เขาให้อาบน้ำเพื่อจะได้สบายตัว เดินทางมาทั้งวัน ทุ่มตรงให้ลงไปร่วมกิจกรรมและทานอาหารมื้อเย็น แต่ตัวเองยังอิ่มเพราะทานมื้อกลางวันช้า เหนื่อย อาบน้ำแล้วขอนอนพักผ่อนตามสถานะผู้สูงวัยค่ะ ....ฝันดีนะคะ....Good night!!!!

พรุ่งนี้พบกันไปเที่ยวอีสานใต้ต่อค่ะ



หมายเลขบันทึก: 611014เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2016 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2016 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท