วิชาการพัฒนานิสิต : Blog (เขียน blog)


การเขียนเรื่องราวอันเป็นหมู่บ้านและมหาวิทยาลัยเช่นนั้น คือการเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ในเรื่อง "บริบทชุมชน" เชื่อมโยงไปยัง "ประวัติศาสตร์ชุมชน" อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพื่อให้นิสิตได้รู้อะไรหลาๆ อย่าง เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ แถมยังยึดโยงกับแนวคิด 9 ข้อคิดในการจัดกิจกรรมเรียนรู้กับชุมชน



1

ผมตัดสินใจให้นิสิตในรายวิชาการพัฒนานิสิต "เขียน blog" จำนวนอย่างน้อย 5 เรื่อง ประกอบด้วย

  • เรื่องเล่าในชุมชนอันเป็นบ้านเกิด
  • เรื่องเล่าสถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัย
  • เรื่องเล่าจิตอาสา
  • และเรื่องเล่าอีก 2 เรื่อง โดยไม่บังคับเจาะจงว่าจะเล่าเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษ

เรียกเป็นภาษาวัยรุ่นหน่อย ก็คือ "เอาที่สบายใจเล่า" นั่นแหละ



2

เหตุผลที่อยากให้นิสิตได้เขียน Blog มีหลายประการ แต่ที่แน่ๆ คือ การจัดการความรู้ผ่านการเขียน -

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าการเขียน คือการชำระประสบการณ์ชีวิต และการเขียน คือหนึ่งในกระบวนการของการจัดการความรู้ รวมถึงการมีสถานะเป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง ซึ่งต่างประเด็นที่บรรจุไว้ในการเรียนการสอนอยู่แล้ว



3

ผมให้นิสิตได้เขียนเรื่องหมู่บ้านตนเองและเรื่องเล่าในมหาวิทยาลัย หลักๆ แล้วคือการสร้างกระบวนการเพื่อให้นิสิตได้บททวนประเด็น "บริบทชุมชน" ของตนเอง เพื่อผูกโยงไปสู่ "บริบทชุมชน" อันหมายถึงหมู่บ้าน หรือสถานที่ที่นิสิตและทีมงานกำลังจะไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการ (โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต) ตามหลักคิดของ ชุมชนคือห้องเรียน - เรียนรู้ผ่านกิจกรรม

การเขียนเรื่องราวอันเป็นหมู่บ้านและมหาวิทยาลัยเช่นนั้น คือการเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ในเรื่อง "บริบทชุมชน" เชื่อมโยงไปยัง "ประวัติศาสตร์ชุมชน" อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพื่อให้นิสิตได้รู้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ แถมยังยึดโยงกับแนวคิด 9 ข้อคิดในการจัดกิจกรรมเรียนรู้กับชุมชนด้วย เช่น

  • รู้ตัวตนโครงการ
  • ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า
  • คลังปัญญาชุมชน
  • หันกลับไปดูบ้านเกิด ฯลฯ




4



ผมให้นิสิตเขียน Blog เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการจัดการความรู้ผ่านการเขียน หรือกระทั่งเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการ สุ จิ ปุ ลิ รวมถึงฝึกการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังที่นิสิตต้องสกัดการเรียนรู้ผ่านการเขียนเรื่องเล่าแนบท้ายในเล่มรายงานอยู่แล้ว

ดังนั้น กระบวนการที่ผมมอบหมายนั้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเขียนเพื่อถอดบทเรียน หรือการเขียนเพื่อ AAR ผลการดำเนินงานไปในตัวอย่างไม่ผิดเพี้ยน




5



ผมให้นิสิตเขียน blog ในเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้ AAR ตัวเองในเรื่องกิจกรรมที่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม ทั้งโดยปราศจากเงื่อนไข และมีเงื่อนไข เพื่อให้นิสิตได้รู้ -ตระหนักรู้ว่า เมื่อทำสิ่งใดแล้ว ได้เรียนรู้อะไร และเกิดการเปลี่ยนแปลงใดในตัวตนของนิสิต เป็นหนึ่งใน 9 ข้อคิดการจัดกิจกรรมเรียนรู้กับชุมชน ในประเด็น "ก่อเกิดความรู้ใหม่" และนั่นยังรวมถึงการทบทวนความรู้เพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการที่กำลังจะมีขึ้น




6



ผมให้นิสิตเขียน blog เพื่อฝึกให้นิสิตได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ ฝึกการสืบค้นข้อมูล-ความรู้ ฝึกการเสพสื่อและสังเคราะห์สื่อสู่การเผยแพร่ บนหลักของการ "อ้างอิง" แหล่งข้อมูล




...

ครับ-นี่คือเหตุผลง่ายๆ ของการ "ให้งาน"

ผมไม่คิดว่ามันจะเป็น "งานงอก" อะไรเลย เพราะมันคือกระบวนการเรียนรู้ที่มีในรายวิชาการพัฒนานิสิตอยู่แล้ว เป็นการจัดการเรียนรู้ที่อิงแอบกับเหตุและผล และยึดโยงกับการเรียนรู้ด้วยตนเองไปในตัว




สู้ๆ ครับ --

หมายเลขบันทึก: 610636เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2016 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โอ .... เหตุผลง่าย ๆ ที่ดูดีมากค่ะ

นิสิตได้ประโยชน์ไม่ขาดหายจากถิ่นเกิด คนอ่านได้ประโยชน์ในเรื่องที่สนใจ เช่น เมืองอุดร บ้านหมูม่น คำชะโนด ฯ

ครับ พี่หมอ ธิ

ผมเองก็มีเจตนาเช่นนั้นจริงๆ มันเหมือนชวนให้นิสิต /ผู้เรียนได้หวนกลับเข้าสู่ตนเองอีกรอบ เป็นการเรียนรู้เพื่อมิให้ถุกพรากไปจากรากฐานของนิสิตเอง

ขอบพระคุณพี่หมอฯ มากๆ นะครับที่เข้าไปเกื้อหนุนและให้กำลังใจแก่นิสิตอยู่เนืองๆ หลายบันทึกเลยทีเดียว

ค่อยมาดูกันว่า จากนี้ไป จะมีนิสิตอีกกี่คนที่ยังจะเขียนต่อเนื่องอีกต่อไป ---

การเขียนพัฒนาความคิดของคนนะครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท