เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๖. มุมมองใหม่ต่อการสอบ


บันทึกชุดเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่นี้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Lifeซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๖ มุมมองใหม่ต่อการสอบ ตีความจากบทความชื่อ A New Vision for Testing (http://www.nature.com/scientificamerican/journal/v313/n2/full/scientificamerican0815-54.html) โดย Annie Murphy Paulบอกว่าการทดสอบมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ หากใช้เป็นโดยให้ข้อสรุปประเด็นสำคัญ ๔ ข้อ ดังนี้

  • กระแสต่อต้านการสอบในสหรัฐอเมริกาในหมู่ผู้ปกครองและครู มาจากกฎหมาย No Child Left Behind ในปี ค.ศ. 2002ที่บังคับสอบเด็กทุกปี
  • ข้อตำหนิคือ การสอบแบบเอาเป็นเอาตายก่อความวิตกกังวลทั้งในนักเรียนและในครูเกิดผลเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องติวเตรียมสอบแทนที่จะเป็นห้องเรียนรู้ที่มีความหมาย
  • ผลการวิจัยในศาสตร์ด้านการเรียนรู้ และด้านจิตวิทยา บอกว่าหากมีวิธีทดสอบที่ถูกต้อง จะมีผลช่วยส่งเสริมการเรียนรู้คือช่วยให้ทบทวนความจำเนื้อหาได้ดีขึ้นและช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึก
  • วิธีการทดสอบแบบใหม่ของสหรัฐฯ เป็นการทดสอบการเรียนรู้ระดับลึก (deep learning)

หลังอ่านจบตลอดบทความ ผมสรุปว่ามุมมองใหม่คือ ใช้การสอบบ่อยๆ เป็นตัวช่วยให้นักเรียน ดึงความรู้กลับมาใช้ (retrieval)ตามด้วยการให้คำแนะนำป้อนกลับทันที (immediate feedback)ซึ่งหมายถึง การสอบเป็นกลไกหนุนการเรียนรู้ให้เกิดความรู้ที่แน่นแฟ้นขึ้นเป็นการช่วยให้นักเรียนทำกระบวนการ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ความจำใช้งาน (working memory) กับความจำระยะยาว (longterm memory)ดังบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/432221

การทดสอบที่ดี คือใช้ข้อสอบที่ถามความรู้ที่ลึกตามด้วยการเฉลยและให้คำแนะนำป้อนกลับที่ดี จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึก (deep learning)และยังช่วยให้เกิดทักษะในการทำความเข้าใจและพัฒนาวิธี การเรียนรู้ของตนเอง (metacognition)อันจะนำไปสู่ การเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้และเกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเชื่อมโยง (mastery learning)ดังที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร (https://www.gotoknow.org/posts/550596)

สรุปง่ายๆ ว่า การทดสอบที่ดี ช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ (learning skills)ก่อผลดีระยะยาว ตลอดชีวิต

ผู้เขียนเปิดฉากของการทดสอบที่ดี ที่ห้องเรียนชั้น ม. ๒ของโรงเรียน Columbia Middle School ในรัฐ อิลลินอยส์ที่ครู Patrice Bain ใช้การทดสอบฝังอยู่ในการสอนหรือการเรียนรู้โดยฉายข้อสอบขึ้นจอ ให้นักเรียนแต่ละคนตอบด้วย คลิกเก้อร์ แล้วเฉลยทันทีและให้ feedback ต่อคำตอบที่ผิด โดยที่คนตอบผิด ไม่เสียหน้า เพราะไม่รู้ว่าเป็นคำตอบของใคร

ครู Patrice Bain มีวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนตั้งใจตอบข้อสอบ โดยตั้งชื่อสภาพที่นักเรียน ทั้งห้องตอบข้อสอบข้อใดข้อหนึ่งถูกหมดทุกคนว่า “spirit fingers”และคอยย้ำว่าวันนั้นมี spirit fingers กี่ครั้งแล้วทำให้บรรยากาศตื่นเต้นเร้าใจ และไม่เครียด ทั้งๆ ที่นักเรียนถูกสอบอยู่ตลอดเวลา

วิธีที่ครู Patrice Bain ใช้เรียกว่า ฝึกทบทวนความรู้ (retrieving practice)ไม่เรียกว่าสอบ เพราะมันแสลงใจคนอเมริกันอันเป็นผลจากกฎหมายบังคับให้เด็กนักเรียนต้องสอบบ่อยๆ สร้างความเครียดและเบื่อหน่ายไปทั่วทั้งในหมู่นักเรียน ครู และผู้ปกครอง

ฝึกทบทวนความรู้ : สอบเพื่อเรียน

ครู Patrice Bain สอนโดยวิธีนี้มาเป็นเวลายี่สิบปีได้ผลการเรียนของนักเรียนที่ดีเด่นกว่าวิธีการที่ใช้กัน โดยทั่วไปและครู Patrice Bain ได้รับการยกย่องมากแต่วิธีการของครู Patrice Bain ก็ไม่แพร่หลาย

จนครู Patrice Bain พบกับศาสตราจารย์ Mark McDaniel แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่เซ็นต์หลุยส์ ที่กำลังทำวิจัยเรื่อง retrieval practice จึงเกิดความร่วมมือกันเพื่อวิจัยทดลองใช้ retrieval practice เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเชื่อว่า เมื่อเด็กทบทวนความจำ เอามาใช้งาน ความจำจะเปลี่ยนแปลง เกิดความรู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และดึงออกมาใช้ง่ายขึ้นซึ่งก็คือเกิดการเรียนรู้นั่นเอง

การปฏิบัติมาประสานพลังกับการวิจัย มีการวิจัยในสถานการร์จริงในหลากหลายโรงเรียน เกิดการยืนยันผล และอธิบายผลด้วยทฤษฎีว่าด้วยการเรียนรู้ ของสมอง เทคนิคสอนโดยมีการฝึกทบทวนความรู้ (retrieval practice) เป็นระยะๆ จึงโด่งดัง และมีการพัฒนาคู่มือครูชื่อ How to Use Retrieval Practice to Improve Learning (http://www.retrievalpractice.org/download/)

มีผู้อธิบายว่า สมองคนเราวิเศษมากมีกลไกช่วยให้เลือกทำงาน เฉพาะเท่าที่จำเป็นหรือสำคัญโดยจะเลือกจำความรู้ที่มีการดึงออกมาใช้งานบ่อยๆretrieval practice จึงช่วยการเรียนรู้ โดยเตือนสมองว่า ความรู้ส่วนที่มีการทบทวนดึงออกมาใช้คราวนี้มีโอกาสที่จะเอาไปใช้งานในอนาคตสมองก็จะจดจำความรู้ นั้นไว้ โดยเราไม่รู้ตัว

ผลการวิจัย บอกว่า การดึงความรู้ออกมาจากความจำระยะยาว (longterm memory) ออกมาสู่ความจำใช้งาน (working memory) จะช่วยให้เกิดความแน่นแฟ้น (consolidation) หรือความมั่นคง (stabilization)ของความจำระยะยาวดีกว่าการอ่านทบทวนหนังสือหรือสมุดจดการบรรยายตามปกติ มีหลักฐานจากการวัดการทำหน้าที่ของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำใน retrieval practice สมองทำงานมากกว่าในการอ่านทบทวน

ในกระบวนการฝึกทบทวนความรู้ (retrieval practice)จะมีการดึงความรู้เดิมจากความจำระยะยาวออกมาใช้งานในสถานการณ์ใหม่จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า “transfer” คือเรียนรู้การใช้งาน ความรู้ในบริบทใหม่เมื่อมีการฝึกเช่นนี้ซ้ำๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ลึก (deep learning)และจำได้ทนนาน ดึงออกมาใช้งานได้คล่องแคล่ว

มีการวิจัยเปรียบเทียบความแน่นแฟ้นของการเรียนรู้ที่ได้จากการทบทวนความรู้ ๒ แบบคือแบบใช้ retrieval practiceกับแบบให้ทำ concept map ผลคือ retrieval practice ให้ผลดีกว่า

สอบแล้วทบทวนตนเอง

มีเทคนิคง่ายๆ ที่ Marsha Lovett ผู้อำนวยการของ Eberly Center for Teaching Excellence and Educational Innovation, Carnegie Mellon University คิดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทดสอบแต่ละครั้ง เรียกว่า “กระดาษห่อผลสอบ” (Exam Wrapper) เป็นกระดาษแผ่นเดียว ที่ส่งให้นักเรียนแต่ละคนพร้อมกับ กระดาษคำตอบที่ตรวจและให้คะแนนแล้วตัวอย่างคำถามง่ายๆ มีดังนี้

นักเรียนใช้เวลาทบทวนบทเรียนต่อไปนี้เท่าไร

  • อ่านสมุดจดในชั้นเรียน ... นาที
  • ทำโจทย์แบบฝึกหัดซ้ำ ... นาที
  • ฝึกทำโจทย์แบบฝึกหัดโจทย์ใหม่ ... นาที
  • อ่านหนังสือเรียน ... นาที

หลังจากได้เห็นผลคะแนนสอบแล้วขอให้ประมาณคะแนนที่ลดลงเนื่องจากข้อผิดพลาดต่อไปนี้

  • ร้อยละ ... เนื่องจากไม่เข้าใจหลักการ (concept)
  • ร้อยละ ... เนื่องจากสะเพร่า
  • ร้อยละ ... เนื่องจากไม่สามารถคิดวิธีแก้โจทย์ได้
  • ร้อยละ ... เนื่องจากสาเหตุอื่น (ขอให้ระบุ)

จากประมาณการข้างบนนักเรียนจะเปลี่ยนวิธีเตรียมตัวสอบ สำหรับใช้ในการสอบคราวหน้าอย่างไรบ้างเช่นจะเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติในการเรียน เพื่อฝึกทักษะบางอย่างขอให้ระบุให้ชัดเจนจะให้ครูช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

..........................................…………………………..................................................................................................................…………….

......................................................................................................................................................................................................

......................................................................................................................................................................................................

เครื่องมือ “กระดาษห่อผลสอบ” เป็นกุศโลบายให้นักเรียน ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflect) เกี่ยวกับวิธีการเรียนของตน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนพัฒนา ความเข้าใจวิธีเรียนของตนและพัฒนาทักษะ ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีเรียน (metacognition) ของตนเมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นักเรียนจะมีความสามารถตรวจสอบกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้และกลายเป็นคนที่กำกับการเรียน ของตนได้ (self-regulated learner)

จากผลการวิจัยเรื่อง “กระดาษห่อผลสอบ” มีหนังสือเรื่อง Using Reflection and Metacognition to Improve Student Learning ออกจำหน่าย

วิธีสอบที่ผิดก่อพิษร้าย

วิธีสอบที่ผิดเกิดจาก

  • ใช้ข้อสอบมาตรฐานจากบริษัท ที่ทำธุรกิจด้านการศึกษาและต้องการนำข้อสอบมาใช้ ในการสอบครั้งต่อๆ ไป จึงปกปิดคำเฉลยและผลคะแนนสอบก็ส่งกลับมาที่โรงเรียนช้า กินเวลาหลายสัปดาห์ทำให้นักเรียนไม่ได้รับ “คำแนะนำป้อนกลับ ในทันทีที่สอบเสร็จ” (immediate feedback)การสอบจึงเป็นเพียงการวัดความรู้ (assessment) ไม่ส่งผลพัฒนาการเรียนรู้เป็นการสอบเพื่อวัดผล ไม่ใช่สอบเพื่อเรียนรู้
  • ใช้ข้อสอบที่ถามความรู้ระดับตื้นแทนที่จะถามความรู้ระดับลึก ด้ายคำถามปลายเปิด
  • หลงเน้นการสอบจากส่วนกลางสอบเพื่อวัดผลแทนที่จะให้ครูจัดการสอบเน้นสอบเพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ (test to teach)

สรุป

การสอบเพื่อวัดผล มีคุณต่อนักเรียนน้อยกว่าการสอบเพื่อช่วยหนุนเสริมการเรียนรู้และช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้มีวิธีการทดสอบที่ช่วยให้นักเรียนทบทวนและปรับปรุงวิธีการเรียนของตนเป็นการสอบเพื่อพัฒนาทักษะในการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๙ พ.ค. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 610573เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท