วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ สี่สหายนัดกันไปชม พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน โดยผมติดต่อขอความอนุเคราะห์จาก รศ. พญ. ตุ้มทิพย์ แสงรุจิ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิริราช ช่วยอำนวยความสะดวก จากเว็บไซต์ที่ลิ้งค์ไว้ข้างบน พิพิธภัณฑ์นี้มีถึง ๘ ส่วน
เราไปชมระหว่าง ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. โดย รศ. พญ. ตุ้มทิพย์นำชมเอง มีทีมงานช่วย ตอนท้ายไปพบ รศ. นพ. สรรใจ แสงวิเชียรเข้าพอดี จึงได้คุยกัน เพราะคุณพ่อของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ คือ พลอากาศตรี นพ. ทิพย์ นาถสุภา เป็นแพทย์ศิริราช หลักสูตรปริญญารุ่น ๑ ส่วน ศ. นพ. สุด แสงวิเชียร พ่อของ รศ. นพ. สรรใจ เป็นรุ่น ๓
เริ่มจากจุดซื้อตั๋วเข้าชมตรงที่สมัยเป็นสถานีรถไฟ เป็นห้องซื้อตั๋วของสถานีรถไฟธนบุรี ผมได้รำลึกชาติว่า ในเดือนเมษายน ปี ๒๕๐๐ ผมนั่งรถไฟมาเรียนหนังสือต่อ จากชุมพรมาลงรถที่นี่ แล้วลงเรือจ้างข้ามฟากไปฝั่งท่าพระจันทร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนไปสู่การเป็นแพทย์
เราได้รับทราบว่า พิพิธภัณฑ์นี้อำนวยความสะดวกแก่คนตาบอดและคนหูหนวกด้วย น่าชื่นชมมาก แล้วไปเข้า ห้องศิริสารประพาส ชมภาพยนต์สามมิติเรื่องราวของพื้นที่ที่เวลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ผมได้เรียนรู้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้เรียกว่าด่านขนอน ทางรถไฟสายใต้เปิด ปี ๒๔๔๖ แต่อาคารสถานีรถไฟเก่าหลังนี้สร้างปี ๒๔๙๓ หลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ สงบ ใช้จนถึงปี ๒๕๔๖ จึงส่งมอบให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลใช้พื้นที่สร้าง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราช การุณย์ และปรับอาคารสถานีและอาคารคลังสินค้าเป็นพิพิธภัณฑ์
เราเดินต่อไปยังห้องขัติยพิมาน แสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบรมมหาราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลศิริราช โดยเฉพาะผมได้เห็นภาพถ่ายเจ้าฟ้าศิริราชกกุฏภัณฑ์บนตักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นครั้งแรก
ต่อไปยังห้องสถานพิมุขมงคลเขตบอกประวัติพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่เดิมชื่อทองอิน และเป็นพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองโคราช ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นบุคคลสำคัญในการยกทัพมาจากโคราชมาปราบพระยาสรรค์ ในช่วงที่เกิดความ ไม่สงบในช่วงท้ายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อรัชกาลที่ ๑ ปราบดาภิเศกขึ้นครองราชย์ จึงปูนบำเหน็จความดีความชอบหลานชาย (ที่เป็นลูกของพี่สาว) ผู้นี้ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เป็นต้นสกุลปาลกะวงศ์ และเสนีวงศ์ และเป็นกรมพระ ราชวังหลังเพียงองค์เดียว พระราชวังหลังมีบริเวณตั้งแต่วัดระฆังไปจนจดปากคลองบางกอกน้อย
ที่ห้องนี้มีภาพจิตรกรรมไทย พร้อมคำอธิบายประกอบดนตรีที่ให้ทั้งความอลังการ์ทางศิลปะและให้ความรู้ และมีการจัด แสดงวรรณกรรมที่ท่านนิพนธ์คือพระศรีเมือง กับงานแปลพงศาวดารจีนเรื่องไซฮั่น ภาพประกอบเรื่องไซฮั่นในพิพิธภัณฑ์ เป็นภาพปักที่ต้องสั่งทำจากจีน
เราได้ชมแผนที่กรุงธนบุรี - บางกอก ที่ทำโดยพม่าที่น่าจะเป็นไส้ศึก ที่บอกรายละเอียดยิบ ผมวิจารณ์ว่าทางไทยเรา ก็มีแผนที่พม่าแบบเดียวกัน แล้วเราก็ได้เห็นจริงๆ โดยมีแผนที่ที่เก็บไว้ในพระบรมมหาราชวัง และสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ให้นำมาศึกษา
เข้าสู่ห้องโบราณราชศัสตรา ที่ได้รับบริจาคอาวุธโบราณล้ำค่านี้จาก รศ. นพ. โรจน์รุ่ง สุวรรณสุทธิ์ ผู้สืบสกุลเสนีวงศ์ และเก็บสมบัติของตระกูลนี้ไว้ ห้องนี้ห้ามถ่ายภาพ และมีการป้องกันเข้มงวด
ผ่านไปยังห้องจำลองโรงต้มฝิ่นหลวง เพราะหลังจากไม่มีกรมพระราชวังหลังแล้ว พื้นที่ก็ถูกทิ้งร้างเสื่อมโทรม และใช้เป็นที่สร้างโรงต้มฝิ่นหลวงในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๓๓ - ๒๔๓๘ แล้วจึงรื้อออกสร้างโรงเรียนราชแพทยาลัย
เข้าสู่ห้องคมนาคมบรรหาร แสดงประวัติการสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย ที่เปิดใช้ในปี ๒๔๔๖ และใช้จนถึงปี ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๑๐๐ ปี และมีภาพยนตร์สามมิติเรื่องการโดยสารรถไฟในสมัยก่อน
สู่ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์ เป็นเรื่องราวการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ศิริราช และสยามรัฐเวชศาสตร์ แสดงการแพทย์แผนไทย และแนวคิดธรรมานามัย
จากนั้นเดินไปยังอาคารคลังสินค้า ที่จัดแสดงเรือโบราณ ยาว ๒๕ เมตร ลักษณะเป็นเรือท้องแบน ที่น่าจะเป็นเรือสินค้า ของสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นเรือไม้หุ้มแผ่นโลหะที่มีหลักฐานตราประทับที่แผ่นโลหะว่า Muntz’s Patent ทำให้ค้นหาหลักฐาน ได้ว่า แผ่นโลหะของบริษัทนี้ผลิตจำหน่าย (ที่อังกฤษ) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1832
จบลงด้วยการนั่งพักดื่มเครื่องดื่มและรับประทานของว่าง แล้วอำลากลับ
ขอขอบคุณ รศ. พญ. ตุ้มทิพย์ แสงรุจิ ในความเอื้อเฟื้อนำชม
วิจารณ์ พานิช
๒ มิถุนายน ๒๕๕๙
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก