​ยายซอด ตำนานแม่มดที่มีชีวิต เมืองสุรินทร์



ยายซอด ตำนานแม่มดที่มีชีวิต เมืองสุรินทร์

เมืองไทยก็มีแม่มด และเป็นแม่มดที่มีชีวิต ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้น น่าสนใจไม่น้อย ไม่ใช่เรื่องเล่าเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องจริงที่ ตำบลทุ่งมน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

ยายซอด (แปลว่า เหมือนในภาษาเขมร) เป็นตำนานที่มีชีวิต เป็นต้นฉบับรำแม่มด ซึ่งยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสารและยุคที่วัฒนธรรมบริโภคนิยมเฟื่องฟูสุดขีด

ยายซอด มีอาชีพตัดต้นไผ่ขาย มีฐานะยากจน อายุ 70 ปี แต่มีร่างกายแข็งแรง เหมือนคนอายุ 40 ปีต้น ๆ ชาวบ้านเล่าว่า วันหนึ่งยายไปตัดต้นไผ่ รู้สึกมีพลังอำนาจบางอย่างมาสิงสู่ในร่างกาย ทำให้แกมีญาณพิเศษสามารถบำบัดรักษาคนเจ็บป่วยไข้ โดยการรำท่าพิสดาร เป็นท่ารำของแม่มด หรือ พลังพิเศษเหนือมนุษย์

เมื่อพลังอำนาจลึกลับสิงเข้าร่าง ยายซอดจะพูดได้หลายภาษา ภาษาจีน ภาษาแขก ภาษาเขมร ทั้งที่ไม่เคยร่ำเรียนที่ไหนมาก่อน ผู้คนในหมู่บ้านเล่าว่า เคยมีการนำยายซอดไปทดสอบที่กรุงเทพฯต้มน้ำให้เดือด ๆ แล้วให้ยายซอด เดินเหยียบลงในอ่างกะทะน้ำมันที่ร้อนเดือดปุปุ เพื่อทดสอบพลังลึกลับ ครั้งนั้น มีการเล่าว่าได้สร้างความตื่นตะลึงแก่คนที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างมาก ต่อจากนั้น ได้ทดสอบด้วยไฟและน้ำร้อน ซึ่งไม่ได้ระคายผิวหรือทำอันตรายแก่ยายซอดได้เลย ชื่อเสียงของยายจึงเริ่มได้รับการกล่าวขานถึงในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง

ผู้คนที่เจ็บป่วย ด้วยโรคร้ายต่าง ๆ หรือโดนคุณไสย์ มนต์ดำ แม้กระทั้งของหาย ไม่สบายใจเดือดร้อน ก็หลั่งไหลมาหายายซอดให้ช่วยทำพิธีแก้ไข ปัดเป่า ให้หายได้อย่างเหลือเชื่อ

ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่าย ค่าครู บ้างเล็กน้อย แต่ยายซอดก็ไม่เคยสะสมเอาไว้ ได้มาก็ซื้อของแจกจ่ายชาวบ้าน ทำบุญให้ทานวัดหมด ทำให้ยายซอดยังดำรงสถานะคนยากจนอยู่เช่นเดิม ยังยึดอาชีพ ตัดไม้ไผ่ขายต่อไป

ยายซอดเล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะกลายมาเป็น สื่อนำพลังอำนาจลึกลับ จนคนเขาเรียกขานว่า ยายซอดรำแม่มด บางคนก็กล่าวว่ายายซอดเป็นแม่มดจริง ๆ ไปโน่น

แววตาอ่อนโยนของยาย และรอยยิ้มที่มีลักษณะลึกลับ เล่าย้อนความหลังไปเมื่อ หลายสิบปีก่อนว่า “พ่อแม่เป็นลูกชาวนา มีชีวิตที่ง่าย ๆ อาศัยอยู่กับธรรมชาติ หาอยู่หากินตามท้องนาป่าเขา พ่อแม่สอนให้รักคน รักธรรมชาติ ช่วยเหลือแบ่งปัน ไม่คด ไม่โกงใคร ถือธรรมะเป็นที่ยึดมั่น ”

“เมื่อเห็นคนได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความทุกข์จะรู้สึกทุกข์ไปด้วย มีความเจ็บปวดแทน รู้สึกว่าทำไมเขาต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมเราจึงช่วยเขาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นคนเหมือนกับเขา”

“เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ยายไปสับหน่อไม้ที่หัวนา ก็หากินตามประสา พอก้ม ๆ เงย ๆ ก็รู้สึกว่ามีคนเรียกอยู่ข้างหลัง เรียกชื่อเบา ๆ ที่ข้างหู หันไปมองก็ไม่เจอใคร ก็คิดว่า เอะนี่หูฝาดหรือเปล่า ก็ก้มสับหน่อไม้ต่อ เสียงเรียกก็ยังดังก้องข้างหูเหมือนเดิม ก็เลยถามโดยที่ไม่หันไปมองข้างหลัง ถามไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คาดหวังคำตอบ แต่เสียงที่ตอบมาก็เกือบทำให้เป็นลม ก็ทำใจดี ๆ ไว้ คิดในใจว่าที่ผ่านมาไม่เคยเบียดเบียน ทำร้ายใคร เลยถามกลับว่าต้องการอะไร ต้นเสียงแหบ ๆ เหมือนหญิงชรากำลังเหนื่อยหอบเต็มที ตอบกลับมาว่า อยากหาใครซักคนที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างความทุกข์ ความเจ็บและความทรมานของมนุษย์ ยายก็ถามต่อไปว่า เป็นสื่อกลางทำไม เสียงเดิมตอบว่า ความทุกข์ ความเจ็บและความทรมานของมนุษย์ ต้องได้รับการบอกเล่าให้กับผีสางเทวดา เพื่อขจัดปัดเป่า ให้ความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานได้หายไป ยายถามต่ออีกว่า แล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่มีเสียงตอบกลับมามีแต่เสียงหัวเราะดังก้องจนแสบแก้วหู จากนั้นก็มีเสียงดนตรีเป็นจังหวะเร็ว ๆ ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน รู้สึกว่าชอบมาก จนอดมืออดเท้าไม่ไหว ยกขึ้นส่ายร่ายรำตามจังหวะของเสียงดนตรี จากนั้นยายก็จำอะไรไม่ได้ ตื่นมาอีกทีก็มีคนรุมล้อม มีพานบายศรี ที่ข้อมือจนเต็มแขน”

“หลังจากนั้น ถ้าเห็นคนป่วยใกล้จะตายหรือไม่สบาย ก็จะรู้สึกเจ็บปวดหัวใจและอยากลุกขึ้นฟ้อนรำ เสียงดนตรีที่เคยได้ยินก็จะดังก้องขึ้นในหู และร่ายรำในท่าทางเหมือนโดนผีสิงซึ่งยายไม่เคยหัดหรือเรียนที่ไหนมาก่อน ซึ่งคนมีคนเขาเรียกว่าเป็นท่ารำของแม่มด บางครั้งคนป่วยก็ลุกขึ้นมารำด้วยเหมือนไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรไม่นานคนป่วยคนนี้ก็จะหายจากโรคภัยอย่างน่าประหลาด”

“เมื่อชาวบ้านรู้ก็มาขอให้ยายช่วยเหลือ ปัวไข ปัวเจ็บ ก็ไม่ได้คิดอะไร แค่อยากให้เขาหายจากการทนทุกข์ทรมานเท่านั้นก็รู้สึกสบายใจ ส่วนค่าครูหรือค่าแต่งขันห้าขันสิบ ยายก็เอาไปทำบุญทั้งหมด เหลือไว้ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพราะยายไม่ต้องใช้เงิน ก็หาอยู่หากินตามธรรมชาติ วิถีชีวิตเคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น”

ผศ. บุญยัง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า เป็นพฤติกรรมด้านจิตวิทยา ของสังคมอีสานที่สืบทอดการนับถือผีสาง ผีปู่ย่าตายาย หลาย ๆ พื้นที่เรียกว่า รำผีฟ้า แต่เป็นพิธีที่ใช้สำหรับช่วยเหลือคนใกล้ตาย หรือรักษาคนที่ป่วยเป็นโรคลึกลับ ซึ่งรักษาด้วยหมอแผนปัจจุบันไม่หาย หลาย ๆ คนไม่อยากสืบทอดเนื่องจากมีกฎกติกาในการรักษา และต้องการครองตนอย่างเคร่งครัด เรียกว่า “ขะลำ” ซึ่งหากปฏิบัติไม่ได้ เชื่อว่าจะกลายเป็นผีปอบ แทนที่จะช่วยคนอื่นก็จะกลายเป็นผู้ทำร้ายคนอื่นเสียเอง ดังเช่นที่มีคนโดนปอบสิง ปอบกิน ตับไต ไส้พุง อยู่ทั่วไปในสังคมอีสานที่ยังเชื่อในพิธีกรรมโบราณ เมื่อมีปอบเกิดขึ้น จึงต้องมีพิธีขับไล่ปอบเกิดขึ้น เรียกว่า “เซียงข้อง” เคยเป็นข่าวครึกโครมที่บ้านกุดกว้าง อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เมื่อหลายปีก่อน

แต่ยายซอด ไม่ได้มีข่าวเรื่องการทำผิดผี หรือมีการทำผิด หรือ ขะลำ จึงไม่ได้กลายเป็นผีปอบ ซึ่งที่ตำบลทุ่งมน ก็ไม่ได้มีเรื่องราวผีปอบไล่กินตับคน จนต้องถูกไล่ล่า จาก เซียงข้อง เช่นที่อื่น ๆ กลับกัน ยายซอด กลับได้รับความนับหน้าถือตาจากชาวบ้าน และไม่เคยถือโอกาสแสวงหาความร่ำรวยจากความเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้านแต่อย่างใด เมื่อได้เงินมาก็ซื้อของแจกจ่าย ถวายวัด แม้มีฐานะยากจน มีอาชีพตัดไม้ไผ่ป่าขายอยู่เช่นเดิม ซึ่งยายซอดก็มีความสุขตามอัตภาพ

เป็นที่น่าเสียดายว่า ต่อไปเมื่อสิ้นอายุขัยของยายซอดแล้ว การสืบทอดวิธีการ รำแม่มด หรือวิธีการรักษาคนป่วยแบบนี้ อาจจบสิ้นลงไปตามอายุขัยของยายซอดไปด้วย ไม่มีตัวตายตัวแทน เนื่องจากพลังอำนาจลึกลับ ใช่ว่าจะเกิดกับใครได้อย่างง่าย ๆ ยายซอดเองก็ไม่คิดจะตั้งเป้นโรงเรียนสอนพลังแม่มด เพื่อถ่ายทอดหรือฝึกสอนให้ใคร หรือใครอยากจะร่ำเรียนกับยายซอด ก็คงต้องคิดหนัก เพราะเป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่ดูแล้วขัดแย้งกับกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่โก้ ไม่เท่ห์ หรืออาจมองเป็นเรื่องงมงายด้วยซ้ำไป

ดังนั้น วันข้างหน้า เมื่อไม่มี ยายซอดแล้ว รำแม่มด แบบฉบับยายซอด ก็จะหายไปพร้อม ๆ กับชีวิตของยายชราที่มีคุณสมบัติพิเศษดึงพลังอำนาจลึกลับเข้ามาช่วยเหลือ ขจัดปัดเป่า ความเดือดร้อน ของคนในหมู่บ้าน




อ้างอิง . ๒๕๕๙. ยายซอด ตำนานแม่มดที่มีชีวิต เมืองสุรินทร์. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://th49.ilovetranslation.com/dR-IF2tsIrD=d/. ๑๑ กรกฎคม ๒๕๕๙


คำสำคัญ (Tags): #เเม่มด
หมายเลขบันทึก: 610131เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2016 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2016 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท