ศูนย์การเรียนชุมชนตำบลตากแดด เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชน เหมือนกับศูนย์การเรียนแห่งอื่น ๆ ซึ่งมีร่วมร้อยแห่งในจังหวัดชุมพร ทุกวันเสาร์ ที่นี่จะถูกใช้เป็นสถานที่พบกลุ่มของนักศึกษาสายสามัญ ตั้งแต่ระดับผู้ไม่รู้หนังสือ จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน คือ นางจิรา อำพันกาญจน์ เป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากโต๊ะเก้าอี้ สำหรับใช้เป็นที่นั่งให้นักศึกษาที่มาพบกลุ่มแล้ว ที่ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ มีโต๊ะ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ซึ่งทุกคนตั้งชื่อมันว่า " โต๊ะนอนเรียน " ซึ่งเป็นโต๊ะ ที่นักศึกษาของกลุ่มนี้ร่วมมือร่วมใจกันทำให้เป็นพิเศษ สำหรับ นายณรงค์ศักดิ์ พยุหกฤษ อายุ 21 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 77 ม. 1 ต.ตากแดด อ.เมือง จ.ชุมพร เพราะนายณรงศักดิ์ หรือที่ใคร ๆ ในหมู่บ้านมักเรียกกันติดปากว่า "น้องจิม " เป็นคนพิการ แขน ขาลีบ ไม่สามารถ นั่ง หรือเดินไปไหน มาไหนด้วยตนเองได้ จะมีก็เพียงรถเข็น 4 ล้อเก่า ๆ ที่ญาติทำให้น้องจิมนอน เวลาต้องการเคลื่อนย้ายตัวเอง ไปบริเวณรอบบ้าน
ตอนต้นปี 47 น้องจิมบอกกับญาติ ๆว่า อยากเรียนหนังสือ อยากมีความรู้เหมือนคนอื่น ๆบ้าง ทุกคนก็เลยลงความเห็นว่าต้องพาน้องจิม ไปสมัครเรียนที่ศูนย์การเรียนชุมชนตากแดด ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้ใหญ่หลาย ๆคนในหมู่บ้าน เนื่องจากน้องจิมไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อนเลย ครูจิรา จึงให้น้องจิมลงทะเบียนเป็นนักศึกษาระดับพื้นฐาน คือระดับผู้ไม่รู้หนังสือ ถ้าวันที่พบกลุ่มเป็นวันที่อากาศดี ไม่มีฝนตก ญาติ ๆ ก็จะพาน้องจิม พร้อมกับรถเข็น 4 ล้อ พ่วงมากับรถมอเตอร์ไซด์ มาส่งน้องจิมที่ศูนย์การเรียน...เพราะน้องจิม อยากมาพบเพื่อน ๆ ซึ่งมีหลากหลายอายุ อาชีพ วันแรกที่มา น้องจิมต้องนอนเรียนบนพื้นกลางห้อง เพราะไม่สามารถนั่งเรียนบนเก้าอี้ได้ เป็นที่สงสารของเพื่อน ๆ มาก ทุกคนเลยช่วยกันออกแบบโต๊ะพิเศษให้น้องจิม ใช้นอนเรียนเวลามาพบกลุ่ม และตั้งชื่อว่า โต๊ะนอนเรียน วันไหน ฝนตก น้องจิมมาไม่ได้ครจิรา ก็จะแวะไปสอนที่บ้าน หรือบางครั้งเพื่อนที่มีรถยนต์ก็จะเอารถไปรับ มาจากบ้าน เพราะรู้ว่าน้องจิมอยากจะเจอเพื่อน แม้อาทิตย์ละครั้ง ก็ยังดี การได้มาพบเพื่อนทำให้โลกใบเล็กของน้องจิม มีความสดใส และสว่างไสวไปด้วยพลังแห่งความรู้ ความเอิ้ออาทร ที่ได้รับจากครูและเพื่อน ๆ
จากการเอาใจใส่ดูแลของเพื่อน ๆและครูภายใน 1 ปีน้องจิมก็สามารถอ่านออกเขียนได้ ในระดับดีเป็นที่น่าพอใจ... เทอม 1/2548 ครูจิราเลยให้น้องจิมลงทะเบียน เป็นนักศึกษาระดับประถมศึกษา โชคดีที่แม้ แขนขนลีบ แต่กล้ามเนื้อที่นิ้วมือของน้องจิมยังแข็งแรง จึงสามารถเขียนหนังสือได้ และเขียนลายมือสวยด้วย ถ้าใครมีโอกาสผ่านไปที่ศูนย์การเรียนชุมชนต.ตากแดด ในวันที่มีการพบกลุ่ม จะเห็นภาพแห่งความเอื้ออาทรของเพื่อน ที่มีให้น้องจิมเสมอ เวลาน้องจิมมาถึงที่ศูนย์การเรียน ทุกคนจะวิ่งไปรับ ทักทาย พูดคุยกันด้วยความสนุกสนาน เป็นกันเอง นักศึกษาผู้ชายก็จะช่วยกันยกน้องจิม เข้าไปที่ห้องเรียน วางน้องจิมบนโต๊ะนอนเรียน เตรียมตัวทำกิจกรรมการเรียนรู้กันต่อไป เพื่อนในห้องทุกคน..ไม่มีใครมองเห็นความพิการของน้องจิม รวมทั้งตัวน้องจิมด้วย ที่นี่มีแต่บรรากาศของการดูแล เกื้อกูล ศูนย์การเรียนที่นี่ นับเป็นอีกแหล่งของการเรียนรู้ ของชุมชน ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ถึงเวลาแล้วที่ สถานศึกษาทุกแห่ง ต้องเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ให้คนพิการทุกคนได้เข้ารับการศึกษาอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ทุกคน
จิรา อำพันกาญจน์ ..ครูศูนย์การเรียนชุมชน
ผมอ่านไปด้วย ซาบซึ้งใจไปด้วยครับ เป็นสิ่งที่งดงามมากครับสำหรับสังคมในปัจจุบันนี้ อยากเห็นภาพถ่ายของ "โต๊ะนอนเรียนครับ" เพื่อที่จะได้จุดประกายในงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ กายอุปกรณ์เหล่านี้คนพิการมีสิทธิอยู่อย่างเต็มเปี่ยมครับ ที่รัฐจะต้องจัดหาให้ ตามสิทธิที่เขามี คือ
1. ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีทางการแพทย์
2. ได้รับการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
3. ได้รับคำแนะนำชี้แจงและปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพ
4. ได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม
5. บริการจากรัฐในการเป็นคดีความและในการติดต่อราชการ