ความล้มเหลวของสยามในการสร้างรัฐชาติกับการลดทอนอัตลักษณ์ของมลายู


ความล้มเหลวของสยามในการสร้างรัฐชาติกับการลดทอนอัตลักษณ์ของมลายู

(งานเขียนนี้ เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2556 รายวิชาสิทธิมนุษยนชนกับการเมืองโลก สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ 


บทนำ

สภาพการณ์ปัจจุบันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบกับปัญหาที่มีความหนักหน่วงมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ตรงกับสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งผลให้ภาครัฐตรงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล[i] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาควบคุมและแก้ไขปัญหา แต่ปัญหากลับไม่บรรเทาและคลี่คลายแต่อย่างใด มิหนำซ้ำปัญหากลับรุนแรงมากยิ่งขึ้น[ii]โดยภาพสะท้อนที่ออกมาสู่สังคมกลับมีความรุนแรงเหมือนจะมาก แต่กลับไม่ได้ความสนใจอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลทุกยุคสมัย เห็นได้จาก การส่งข้าราชการที่ประพฤติมิชอบลงมาปฏิบัติหน้าที่ และปัญหาเหล่านี้ประชาชนที่เป็นคนนอกมองว่าเป็นปัญหาที่ไกลตัว โดยไม่ได้ตั้งคำถามกลับไปว่า ปัญหาความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมีที่มาและเหตุปัจจัยใด

ขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2500 ซึ่งเป็นผลมาจากความคับแค้นที่ถูกทับถมมาเป็นระยะเวลานาน โดยการเคลื่อนไหวมีการจัดตั้งองค์กร โครงสร้างองค์กร มีการคัดเลือกคนและพัฒนาคน มีการวางแผนงานและวิธีการดำเนินงาน มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งมีการปลูกผังผ่านกระบวนการกล่อมเกลาอย่างเป็นระบบ[iii] ทั้งนี้จึงไม่สามารถทราบเป้าหมายหรืออุดมการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวในทุกยุคสมัยได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปกครองตนเอง (Autonomy)การกระจายอำนาจ (Decentralization)หรือเป้าหมายอื่นๆ แต่เสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไป มักกล่าวว่าเป็น “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” หรือ “โจรแบ่งแยกดินแดน”

ที่สำคัญ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ยังได้กล่าวไว้ เหตุการณ์การต่อสู้ในทศวรรษที่ 2490 ถือเป็นการแสดงออกทาง “สิทธิมนุษยชน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยก่อนที่จะมีกฎหมายไทยออกมารับรอง แต่ภาษาสมัยนั้น เรียกว่า “สิทธิมนุษยธรรม” โดยการเคลื่อนไหวของศาสนาอิสลาม แตกต่างจากศาสนาพุทธและคริสต์ เพราะมีการเมืองที่ไม่สามารถแยกออกจากศาสนาได้ แม้ว่าการเคลื่อนไหวของชาวไทยมลายูจะแสดงออกในเชิงสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่เป็นความผิดทางนิติรัฐไทย และคดีความของหะยีสุหลงไม่เคยได้รับความเป็นธรรมทางกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นบาดแผลที่ลึกและตอกย้ำมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน[iv] และยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาที่หนักหน่วงและมีผลกระทบด้านลบอย่างมาก คือ ปัญหาการใช้และสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งการให้ความยุติธรรมต่อประชาชนชาวมุสลิมเหล่านั้นมากกว่า โดยปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาการเมืองและการปกครองจากรัฐไทย ไม่ใช่ปัญหาศาสนาและปอเนาะแต่อย่างใด[v]


อิทธิพลของการสร้างรัฐทีมีผลต่อความเป็นมลายู[vi]

ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นข้อสันนิษฐานในการศึกษา คือ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นบริเวณที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดู แต่การเข้ามาของชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ จนกระทั่งชาวมลายูได้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม และวิถีชีวิตได้มีการแต่งงาน เชื่อมความสัมพันธ์จนกลายเป็นเจ้าเมืองและผู้มีอำนาจในเวลาต่อมา แต่สิ่งนี้ที่แสดงให้เห็นว่า ชาวมลายูเป็นคนที่มีใจเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างเข้ามาในดินแดน และกลืนชาวอาหรับให้กลายเป็นชาวมลายูได้ และชาวอาหรับเหล่านั้นได้เรียกตัวตนว่าเป็นชาวมลายูอย่างแนบเนียน[vii] ซึ่งทั้งเชื้อชาติต่างเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน แต่ในทางกลับกันคนไทยในรัฐสยามมีความประสงค์จะรวมศูนย์อำนาจ และสร้างความเป็นหนึ่งเดียว แต่ถูกปฏิเสธจากชาวมลายูหรือลูกผสมอาหรับ นั้นแสดงให้เห็นว่า ความเป็นอาหรับเป็นปัจจัยกีดกันไม่ให้ชาวมลายูยอมรับความแตกต่างและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จารีตประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความใจแคบของชาวอาหรับนั่นเอง เหตุนี้การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ประจำกลุ่มจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างสยามกับปาตานี จนในที่สุดปาตานีได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 7 หัวเมืองในพ.ศ. 2334[viii]ซึ่งเป็นการบ่มเพาะปัญหาที่มีความสำคัญเป็นครั้งแรก และอีกครั้งหนึ่ง คือ การรวมศูนย์อำนาจของรัฐชาติในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงจัดตั้งระบบมณฑลเทศาภิบาล[ix] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเจ็ดหัวเมืองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการลดฐานะเจ้าเมืองแขกให้เป็นเพียงข้าราชการเท่านั้น[x] และไม่มีอำนาจการบริหารดังเช่นก่อนหน้านั้น

ผลกระทบทีมีต่อการพัฒนาให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่5 คือ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยไม่ตระหนักถึงลักษณะทางสังคมอย่างถ่องแท้ และคำนึงเพียงผลลัพธ์ในระยะสั้น เพื่อเลี่ยงการสูญเสียอธิปไตยแห่งรัฐ ทั้งนี้หากพิจารณาในระยะยาวควรวางแผนและตัดสินใจได้ดีกว่านี้ ซึ่งพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางในช่วงเวลานั้นต่างได้รับการศึกษาจากภาคพื้นยุโรปตะวันตก แต่เกิดข้อสังเกตที่ว่า การสร้างรัฐชาติไม่ได้ดำเนินไปตามกรอบแนวความคิดของการสร้างรัฐชาติ (Nation-State) อาจเป็นเหตุผลของสภาวะสมัยใหม่จากประเทศในภาคพื้นยุโรปตะวันตก มีการพัฒนาความเป็นสมัยใหม่ในแทบทุกด้าน จึงส่งผลให้สยามต้องเร่งรีบพัฒนาความเป็นสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน แต่ในทางตรงข้ามนั้น ความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้มุ่งสลายความแตกต่างระหว่างความเป็นจารีตกับความเป็นสมัยใหม่ ยุโรปกับพื้นเมือง และตะวันตกกับตะวันออก[xi]

กรอบแนวความคิดของความเป็นรัฐชาติ (Nation-State)[xii] เป็นการสร้างรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่อธิปไตยแห่งรัฐ มีรัฐบาลบริหารประเทศ ประชาชนมีเจตนารมณ์ร่วมกัน และสิ้นสุดของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งนี้ความเป็นรัฐชาติ จะประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์ ภาษา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และค่านิยมที่มีลักษณะร่วมกัน แต่ความเป็นรัฐชาติของสยาม กลับไม่ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปัจจุบัน เพราะ รัฐที่จะเกิดขึ้นมีฐานะเป็นรัฐ (State)[xiii]ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ เขตแดน ประชาชน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย โดยรัชกาลที่ 5 ได้สร้างเพียงรัฐ แต่ไม่ได้สร้างรัฐชาติ (Nation-State) ขึ้นมาแต่อย่างใด จึงเสมือนว่าความเป็นเอกภาพของรัฐไทย (Unitary States) ไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจาก การขาดความองค์ประกอบของความเป็นรัฐชาติ และชนชั้นนำทุกยุคสมัยต่างใช้เครื่องมือและกลไกทางการเมืองเข้าบีบบังคับและกดทับความแตกต่าง (Difference)ความขัดแย้ง (Conflict)และกลุ่มทางเชื้อชาติ (Radical Groups)

ลักษณะสำคัญของกรอบแนวความคิดรัฐชาติของสยาม[xiv] คือ การสร้างจินตนาการร่วมกันด้วยภูมิศาสตร์แบบขวานทอง ดังแนวความคิดชุมชนจินตนาการที่ Benedict Anderson กล่าวไว้ว่า ชาติจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีอาณาเขตเดียวกัน คนในชาติต้องมีสำนึก จินตนาการร่วมกัน และอาศัยในดินแดนเดียวกัน ประกอบกับการยึดโยงปัจจัยทางการเมือง ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ในการสร้างรัฐไทย โดยกรอบแนวความคิดนี้มีความย้อนแย้งกับอัตลักษณ์ของชาวไทยมลายู ด้วยเหตุสามประการ[xv] คือ ความเป็นมลายู การเป็นประชาชนในปาตานีซึ่งเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ และการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งความสัมพันธ์นี้เองจึงนำไปสู่ความลักลั่นของรัฐชาติสมัยใหม่ โดยผู้ศึกษามีความเห็นว่า การสถาปนาความเป็นรัฐชาติไทยยังไม่เกิดขึ้นมาแต่อย่างใด


ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของรัฐไทยที่กระทำต่อมลายู

การมองในภาพปัญหาของคนปัจจุบันมองคนในอดีต อาจไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงสักเพียงใด เนื่องจาก ประชาชนในสมัยนั้นยังไม่ทราบเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค แต่เป็นชุดความคิดที่ผลิตขึ้นจากคนในปัจจุบันที่สร้างคุณค่าให้กับประวัติศาสตร์ ดังนั้น หากกล่าวว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำการบีบบังคับให้เมืองเล็กเมืองน้อยให้กระทำตาม จึงเป็นการวาดภาพความคิดที่ผิดไป เพราะบุคคลหนึ่งำม่สามารถสั่งการใดได้อย่างสมบูรณ์ หากไม่มีผู้สนับสนุนที่คอยช่วยเหลือและนำไปปฏิบัติให้นโยบายบรรลุเป้าหมาย โดยที่บุคคลสำคัญทั้งสอง คือ หลวงวิจิตรวาทการ คือ หนึ่งในบุคคลผู้ร่วมวางแผนที่สำคัญในการสร้างแนวความคิดชาตินิยมและความเป็นไทย ประกอบกับการมีพระยาอนุมานราชธนเป็นบุคคลที่ดำเนินการในการสร้างความเป็นไทยขึ้นมา ซึ่งเป็นบุคคลที่ดำเนินนโยบายได้สำเร็จอยู่ไม่น้อย[xvi]

เหตุการณ์ที่สำคัญและเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ คือ กรณีของหะยีสุหลง ผู้นำของชาวปาตานีที่ได้ทำการเรียกร้องและยื่นข้อเสนอ 7 ประการ[xvii]ให้กับรัฐบาลส่วนกลาง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวทำให้รัฐส่วนกลางรู้สึกสั่นคลอนและประหลาดใจกับข้อเสนอเช่นนี้ โดยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่เห็นชอบแก่การแบ่งแยกปกครองในลักษณะของมณฑล แต่ยังส่งเสริมและการจัดรูปแบบการปกครองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนโยบายการศึกษาและการเข้ารับราชการที่สำคัญ

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลโดยการรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัณ โดยหะยีสุหลงได้ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนในปี พ.ศ.2491 ตรงกับสมัยรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายมากยิ่งขึ้น แต่หะยีสุหลงได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั่นสองปี และได้หายสาบสูญเมื่อปี พ.ศ.2497 หลังจากไปพบตำรวจนครบาล[xviii] โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ทำให้ไฟของความขัดแย้งลุกลามขึ้นในสมัยต่อมา โดยชาวบ้านมักมีความเชื่อว่า “หากตำรวจนำตัวไปคงไม่มีชีวิตได้กลับมา แต่หากเป็นทหารอาจยังพอมีโอกาสได้มีชีวิตกลับมา”[xix]

กรณีของหะยีสุหลงได้กลายเป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นผลมาจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งที่จริงปัญหาได้มาหนักหน่วงในสมัยรัฐบาลควง อภัยวงศ์ และเป็นการสั่งฆ่าโดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2491-2500)ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยนี้ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองดังเช่นสมัยก่อนหน้า และในช่วงนี้เอง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการสร้างดุลแห่งอำนาจระหว่างกัน ตลอดจนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มมีบทบาทลดลงและผู้ที่เคยชุบเลี้ยงก็แปรเปลี่ยนกันไปและไม่เคารพศรัทธาเช่นดังเดิม


จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนโยบายรัฐนิยม

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487)ได้ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยม เป็นจำนวน 12 ฉบับ[xx] ระหว่างปี พ.ศ.2482-2485 โดยนโยบายรัฐนิยมมีสาระสำคัญ ดังนี้ การสร้างชาตินิยม จึงเป็นที่มาของนโยบายการผสมกลมกลืนแบบบังคับให้ชนกลุ่มต่างๆต้องยอมรับวัฒนธรรมของชาติไทย โดยใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมเข้ามาจัดระเบียบ สร้างความเจริญก้าวหน้า และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[xxi] ทั้งนี้รัฐจึงใช้มาตรการทางกฎหมายมาจำกัดสิทธิทางวัฒนธรรม เสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการใช้นโยบายรัฐนิยม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอาทิ การบังคับให้เคารพธงชาติไทย การบังคับให้หันมานับถือพุทธศาสนา ยกเลิกประเพณีปฏิบัติและพิธีกรรมต่างๆของศาสนาอิสลาม การบังคับให้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ และการให้ประชาชนที่เข้าศึกษาตามหลักสูตรของรัฐกำหนดเท่านั้นจึงสามารถรับราชการได้ เป็นต้น[xxii] โดยการบังคับเหล่านี้เป็นการตอกย้ำถึงความแตกต่างที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นความเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นเหตุทางศาสนาและเชื้อชาติ

เหตุปัจจัยนี้เองที่ทำให้การใช้นโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่สามารถดำเนินนโยบายได้บรรลุผลลัพธ์ในสี่จังหวัดภาคใต้เพราะการไม่สามารถทำให้วัฒนธรรมที่ผลผลิตของส่วนกลางครอบงำในพื้นที่จังหวัดสี่จังหวัดภาคใต้ แตกต่างจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐไทย ทั้งนี้ปัญหาที่เรื้อรังอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัชกาลที่ 5 ที่ไม่ได้คำนึงถึงกรอบแนวความคิดความเป็นรัฐชาติ ซึ่งการที่จะอยู่ร่วมกันเป็นรัฐได้ จำเป็นต้องมีความเป็นพวกเดียวกัน แต่กลับเป็นว่าชาวมลายูมุสลิมเอง มองว่าพวกของตนอยู่แถบประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีการใช้ภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเหมือนกัน และมีวัฒนธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[xxiii] เรียกง่ายๆว่า มีอัตลักษณ์ร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลสืบเนืองที่ตกทอดกลายมาสู่รัฐบาลหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้คุณค่าแห่งการทำลายชาติบ้านเมืองเป็นของรัฐบาลหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทบทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นเหยื่อทางการเมืองและการสร้างประวัติศาสตร์ที่สะท้อนออกมาเพียงด้านเดียว โดยกล่าวว่าการดำเนินนโยบายรัฐนิยมเป็นการทำลายความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือสร้างความเป็นไทยมาครอบงำท้องถิ่นทำให้กลายเป็นมาตรฐานเดียว

นอกจากนี้ ภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งย่อมมีการกล่าวถึงเช่นกัน แต่อาจเป็นกระแสรอง ดังเช่น ท่านผู้หญิงละเอียด เห็นว่า “การสถาปนารัฐนิยมไม่ได้เป็นการสถาปนาความเป็นไทยแท้ไปกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องการสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เสมอภาคระหว่างพลเมืองในชาติ”[xxiv]และจีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวถึง “รัฐนิยมทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย เช่น เรื่องการกินหมาก มีน้ำ มีไฟ มีโรงเรียน และมีโทรทัศน์ใช้เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”[xxv]รวมทั้ง ณัฐพล ใจจริง กล่าวไว้ว่า “คุณูปการอย่างหนึ่ง คือ การรักษาการปฏิวัติต่อไปโดยการปฏิวัติวัฒนธรรม นั่นคือนโยบายรัฐนิยม 12 ฉบับ เพื่อสร้างความเป็นสมัยใหม่ให้กับสังคมไทย ทั้งนี้เมื่อระบอบเปลี่ยนแล้วต้องสร้างระบอบใหม่โดยกำหนดแนวทางแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย”[xxvi] ซึ่งเป็นการนำเสนอด้านดีของนโยบายรัฐนิยมและตัวตนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อย่างไรนั้น หากต้องการสถาปนาความเป็นประชาธิปไตย และการสร้างความเสมอภาค ไม่จำเป็นต้องลดทอนความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แต่ควรมุ่งส่งเสริมให้รัฐไทยยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ความรุนแรงในการให้คู่ตรงข้ามอยู่ในสถานะจำยอมและพร้อมทำตาม ซึ่งการพัฒนาจึงกลายเป็นข้ออ้างในการลดทอนความเป็นท้องถิ่นทุกยุคสมัย และในปัจจุบันนี้เอง ชาวมลายูมุสลิมแม้จะเป็นพลเมืองไทย แต่เรียกตนเองว่า ชาวมลายู เพราะคำว่า คนไทย เป็นคำที่เอาไว้เรียกคนพุทธ[xxvii]


นโยบายรัฐนิยม การละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาต่อสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากผลลัพธ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นกลไกที่ผ่านกระบวนการทางการเมืองมาบังคับใช้ ซึ่งผลของนโยบายรัฐนิยมได้ลดทอนอัตลักษณ์ของชาวไทยมลายู และต่อมาพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ด้วยผลผลิตเหล่านี้เองทำให้ชาวไทยมลายูเกิดความบาดหมางกับข้าราชการที่มาจากรัฐส่วนกลาง และเกิดการต่อต้านในรูปแบบการเคลื่อนไหวของบุคคลหรือองค์กร ทั้งนี้การกีดกันและการละเมิดทางศาสนา ได้ครอบคลุมทั้งในด้านชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ วัฒนธรรม การแต่งกาย อาหาร และประเพณีปฏิบัติ เพราะศาสนาอิสลามเสมือนเป็นรากฐานของวิถีชีวิตของผู้ที่ศรัทธานับถือ

ผลจากนโยบายรัฐนิยมได้มุ่งสู่การสร้างชาติ ได้มีผลบังคับใช้ในบทกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485[xxviii] พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ (ฉบับที่2) พุทธศักราช 2486[xxix] พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488[xxx] สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยไม่ได้ให้เสรีภาพและคุณค่าทางศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน และยังกดทับความเป็นอื่นหรือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ทั้งยังถูกรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงและจำกัดอิทธิพลอย่างเข้มงวดโดยผ่านกลไกรัฐ อาทิ นโยบาย กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับ การแทรกแซงจากรัฐไทยในการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เป็นการแต่งตั้งบุคคลที่มาจากความเห็นชอบจากรัฐส่วนกลาง โดยไม่เกิดจากศรัทธาของชาวมุสลิมในมลายู จึงเป็นปัญหาระหว่างคนไทยพุทธกับคนมลายูมุสลิม โดยการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการกระทำที่พุทธศาสนาแย่งพื้นที่และแสดงความเป็นใหญ่เหนือกว่าคนมลายูมุสลิม

เมื่อมีการประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี จนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 และจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นในปีดังกล่าว ซึ่งผลของนโยบายได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เป็นเหตุให้ชาวมลายูมุสลิมเกิดแรงต่อต้าน เนื่องจาก มีชาวบ้านโดนตำรวจจับในข้อหาต่างๆ อาทิ การจับผู้นำศาสนาโดยปราศจากคำตอบแห่งความยุติธรรมจากรัฐเกือบทุกสมัย การห้ามสอนภาษามลายูในโรงเรียนและชุมชน ปิดโรงเรียนสอนศาสนาปอเนาะ ผู้หญิงมุสลิมมีการแต่งตัวปกปิดใบหน้าและร่างกาย และการบังคับให้เรียนภาษาไทยที่มีเนื้อหาการสอนตามแนวพุทธนิยม[xxxi]


บทสรุป

สุดท้ายนี้จึงขอสรุปว่าแนวนโยบายรัฐนิยม ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของชาวมลายูมุสลิม และทำลายความเป็นท้องถิ่นในทางวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู ทั้งที่ชาวมลายูมุสลิมมองว่าดินแดนบนพื้นแผ่นดินปาตานีมีความชอบธรรมที่จะแยกตนเป็นอิสระ แต่การมองในเชิงประวัติศาสตร์นี้เองกลับถูกตราหน้าว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน[xxxii] แม้ว่าความทันสมัยของรัฐจะเป็นเรื่องสำคัญก็ตาม แต่หากไม่สามารถยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ย่อมไม่สามารถสร้างความเป็นรัฐชาติขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางอัตลักษณ์และการเมืองที่ถูกกดทับมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้น ในสภาพการณ์ปัจจุบันควรมุ่งแนวทางการเจรจาและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และไม่ควรยุติปัญหาโดยการใช้กำลังปราบปราม เนื่องจาก ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองได้แก้ไขปัญหาโดยการใช้ความรุนแรงมาทุกยุคสมัย แต่ไม่สามารถยุติปัญหาความรุนแรงได้อย่างแท้จริง เพียงเป็นการชะลอปัญหาเท่านั้นแล


หมายเหตุ: ต้นฉบับเขียนขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2556 ไม่ได้แก้ไขเนื้อหาสาระแต่อย่างใด เพื่อให้เห็นการศึกษา ณ ช่วงเวลานั้น และการนำเสนอ ณ ช่วงเวลานั้น อาจมีแก้ไขเพียงคำเชื่อม (Conjunction) เท่านั้น




เชิงอรรถ

[i]ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2556. หน้า 1-2.

งบไฟใต้ 9 ปี (พ.ศ.2547-2556)รวมทั้งสิ้น 1.8 แสนล้าน ซึ่งในปี พ.ศ.2556 เป็นเงิน 21,124 ล้านบาท

[ii]อ้างแล้ว. ฟ้าเดียวกัน. ผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 รวมทั้งสิ้น 3,380 ศพ

แต่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวว่าผลจากความรุนแรงมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คนแต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แต่เพียงฝีมือของขบวนการ เพราะยังมีผู้เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยด้วย

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2556). ทำความเข้าใจสันติเสวนาและการเจรจาเพื่อสันติภาพ. กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน. ปัตตานี : โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. หน้า 116-126

[iii]ช่วงหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เป็นยุคเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยมีกลุ่มที่สำคัญ ดังนี้ (1) BNPP (2) PULO (3) BRN (4) GMIP และ(5) Bersatu,ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี. พิมพ์ครั้งที่ 2. ปัตตานี : โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. หน้า 25-57.

[iv]ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2555). ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โครงการมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. หน้า 87-101.

[v]ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2556). ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 59.

[vi]ความเป็นมลายู ครอบคลุมทั้งประเด็นในทางศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ และประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทั้งนี้ล้วนแล้วมีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างแยกจากกันไม่ออก เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่สามารถแยกจากสังคมและการเมืองได้

[vii]นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน. ตระกูลอาหรับฮัดรามีกับบทบาทในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา รุไบยาต. ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554. หน้า 508-533.

[viii]เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.(2547). หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 3-6.

[ix]ระบบมณฑลเทศาภิบาล ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค และมีการส่งตัวแทนจากข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยไปปกครอง ซึ่งจะเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากส่วนกลาง โดยเป็นการลิดรอนอำนาจจากเจ้าเมืองในระบบเก่ามาสู่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางตามแนวความคิดรัฐสมัยใหม่ของส่วนกลาง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมหัวเมืองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวง

[x]อ้างแล้ว. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 3-6.

เพิ่มเติม 7 หัวเมือง ประกอบด้วย เมืองปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง หนองจิก สายบุรี ระแงะ และรามันห์ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในปัจจุบัน

[xi]ทวีศักดิ์ เผือกสม และ ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย. วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา รุไบยาต. ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554. หน้า 5-13.

[xii] Robert F. Gorman. (1996). The Nation-State. International Encyclopedia of Government and Politics. East Walton Street : Chicago, Salem Press Inc. p.853-857.

[xiii]Robert F. Gorman. (1996). The State. International Encyclopedia of Government and Politics. East Walton Street : Chicago, Salem Press Inc. p.1292-1296.

[xiv]ศรัณย์ วงศ์ขจิตร. อ่านภูมิศาสตร์ในจินตนาการปลายด้ามขวานผ่านนวนิยายชายแดนใต้ยุคความรุนแรงผงาด. ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2556. หน้า 33-38.

[xv]ดักแคน แม็กคาร์โก. (2555). ฉีกแผ่นดินอิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. หน้า 6-9.

[xvi]การสร้างความเป็นไทย หรือ ชาติไทย ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สายชล สัตยานุรักษ์. (2556). พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์สามัญชนผู้นิรมิต ความเป็นไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 57-174.

[xvii]ข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มี 7 ข้อได้ส่งผ่านคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้

(1)ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

(2)การศึกษาในชั้นประถมต้นจนถึงชั้นประถม 7 ให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอด

(3)ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดนี้เท่านั้น

(4)ในจำนวนข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายู ร้อยละ 80

(5)ขอให้ใช้ภาษามลายูควบกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

(6)ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลามโดยเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

(7)ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลี (กอฎีหรือดะโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควรและมีเสถียรภาพในการพิจารณาชี้ขาด

แต่ข้อที่ 7 ยังเป็นที่สงสัยว่าถูกเขียนขึ้นภายหลังโดย หะยีอามีน บุตรชายของหะยีสุหลงจริงหรือไม่ เพราะบันทึกภาษามลายูอักษรยาวี มีเพียงหกข้อเท่านั้น ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สืบค้นที่ฐานข้อมูลออนไลน์ พุทธพล มงคลวรวรรณ. ข้อเท็จจริงบางประกาเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง.

[xviii]อ้างแล้ว. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 86-93.

และ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2551). ความรุนแรงกับการจัดการความจริง” : ปัตตานีในกึ่งรอบศตวรรษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ดูเพิ่มเติมที่ บทที่ 4 มูลนิธิของคนสาบสูญ, ทะเลสาบสงขลา 2497 ปัตตานี 2537. หน้า 154-211.

[xix]อ้างแล้ว. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย.หน้า 33-35.

[xx]ณรงค์ พ่วงพิศ. การประกาศใช้ รัฐนิยม ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487). วารสารประวัติศาสตร์ ภาคประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ปีที่ 2545. หน้า 20-42.

-รัฐนิยม ฉบับที่ 1 เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

-รัฐนิยม ฉบับที่ 2 เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

-รัฐนิยม ฉบับที่ 3 เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

-รัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

-รัฐนิยม ฉบับที่ 5 เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภค บริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

-รัฐนิยม ฉบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

-รัฐนิยม ฉบับที่ 7 เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

-รัฐนิยม ฉบับที่ 8 เรื่อง การแก้ไขเพลงสรรเสริญพระบารมี

-รัฐนิยม ฉบับที่ 9 เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

-รัฐนิยม ฉบับที่10 เรื่อง การแต่งกายของประชาชนชาวไทย

-รัฐนิยม ฉบับที่ 11 เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

-รัฐนิยม ฉบับที่ 12 เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็กคนชรา หรือคนทุพพลภาพ

[xxi]อ้างแล้ว. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย.หน้า 10-14.

[xxii]ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ หรือ อ้างแล้ว. การประกาศใช้ รัฐนิยม ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487)

[xxiii]นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชนส่วนใหญ่และความเป็นไทย. มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2555. หน้า 32.

[xxiv]คำ ผกา. มองใหม่ 2475. มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 33ฉบับที่ 1715 28 มิถุนายน –4 กรกฎาคม พ.ศ.2556. หน้า 88-89.

[xxv]บทสัมภาษณ์บุตรี จอมพล ป. มองอดีตอย่างเข้าใจ. ปาจารยสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 2 มิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ.2555. หน้า 19-21.

[xxvi]บทสัมภาษณ์ ณัฐพล ใจจริง. แปลก พิบูลสงคราม: ภาพจำ/ภาพจริง.

สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2556เวลา 11:31 น. แหล่งข้อมูล : http://news.voicetv.co.th/thailand/75447.html

[xxvii]ดาริน อินทร์เหมือน. ดัคแคน แมคคาร์โก : มองการเมืองไทยจากมุมมองแบบหลังอาณานิคม. ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2555. หน้า 23-24.

[xxviii]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59วันที่ 29 กันยายน2485. หน้า 1744.

[xxix]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60วันที่ 1 มกราคม 2486. หน้า 29.

[xxx]อ้างแล้ว. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย.หน้า 73-74.

[xxxi]เขมชาติ เทพไชย, บรรณาธิการ. (2555). มิติวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และภาพอนาคต คืนสู่สันติจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ :กระทรวงวัฒนธรรม. หน้า 93-94.

[xxxii] อ้างแล้ว. ฉีกแผ่นดินอิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ประเทศไทย. หน้า 95-96.

หมายเลขบันทึก: 609667เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2016 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2018 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท