เรื่องรักๆ หนักใจมั้ย (บทที่ 3 รักแล้วระวังหน่อย - ตอนที่ 1)


บทที่ ๓ รักแล้วระวังหน่อย

เมื่อเราเริ่มตามหาความรัก คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คนที่ใช่” ใช่ไหมคะ

ทำไม? เราจึงเห็นว่า ใครบางคนจึงเป็นคนที่ใช่สำหรับเรา

ก็เพราะเขามีความผูกพันกับภาวะ คุณสมบัติ หรือสิ่งต่างๆคล้ายๆกับเรา มีบางคุณสมบัติหรือภาวะที่เราใฝ่ฝันถึงเพราะความที่เรามีหรือเป็นในความเป็นจริงไม่ได้ไงคะ เมื่อเขาก็มีในสิ่งที่เราทั้งมีและไม่มีเหล่านั้น เขาจึงเป็นคนตรงตามความใฝ่ฝัน จึงเป็นคนที่ใช่สำหรับเรา

ได้เรียนไว้แล้วว่าความรักคือความผูกพันของใจกับคุณสมบัติและสภาวะต่างๆอันเป็นแรงขับในการแสวงหา การสร้าง การรักษา การทำให้มากยิ่งขึ้นของความสุข ฯลฯ ดังนั้นเมื่อจู่ๆหญิงชายพบคุณสมบัติที่ตนผูกพันในตัวสักคนที่เป็นเพศตรงข้าม คุณสมบัติที่เขาผูกพันหรือติดใจนั้นก็ทำให้เขาผูกพันเข้ากับคนคนนั้นด้วยเช่นกัน

บางคนค่อยๆรู้ถึงความเหมือนและความต่าง ทำให้ค่อยๆบ่มเพาะความผูกพันกับคนๆนั้นขึ้นทีละน้อย ทีละน้อย กว่าจะปลงใจว่าคนนี้นี่เองเป็นคนที่เรารักก็ใช้เวลานานนับปี แต่บางคน ความปักใจว่าตัวอีกคนคือคนที่เขารักเกิดขึ้นเร็วมากจนแทบตั้งตัวไม่ทัน อาจเป็นเพราะใจเขาผูกพันกับคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาให้คุณค่าเป็นอย่างมาก หรืออาจจะเพราะตัวเขาใฝ่ฝันในคุณสมบัติที่ตนไม่มีโอกาสมีได้เป็นอย่างมาก เมื่อพบสิ่งเหล่านั้นในตัวใครอีกคน จึงเกิดอาการที่เรียกว่า “ตกหลุมรัก” ในทันที

เมื่อเราตกหลุมรัก ในช่วงแรกๆเราพร้อมจะโยนเหตุผลทั้งหมดแม้กระทั่งกฎเกณฑ์ทางสังคมและจริยธรรมทิ้งไปค่ะ ในโลกของความรักทุกอย่างกลายเป็นสีชมพู ไม่ว่าคนรักจะทำอะไร ล้วนดีงาม ถูกต้อง ดูราวคนที่เรารักช่างสมบูรณ์แบบ ไม่สามารถหาที่ติได้เลย และหากคนที่เรารักมีข้อบกพร่องอย่างไร ความรักจะเป็นไปได้ไหม หากมีใครมาตักเตือนเราในเรื่องนี้ เราก็ไม่ยอมรับ

คงเพราะเหตุนี้นะคะ เลยมีคำพูดว่า ความรักทำให้คนตาบอด

แต่ชีวิตไม่อาจอยู่รอดโดยไม่มีเหตุผลได้ ดังนั้นระยะเวลาที่เราจะไม่มีเหตุผลเพราะรักนี้จึงไม่ได้มีอยู่ตลอดไป ตำราว่าระยะนี้มักเป็นเวลาอยู่ประมาณ 6 เดือนค่ะ หลังจากนั้น เราก็จะเริ่มกลับมาอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน จะเริ่มเห็นข้อบกพร่องของคนรักที่เรามองข้าม เริ่มเห็นว่าในความต่างนั้น ความต่างบางอย่างไม่ใช่ความต่างที่เราใฝ่ฝันหา บางอย่างเรารับไม่ใคร่จะได้

รวมทั้งเริ่มมองเห็นว่าความรักของเราสามารถเป็นไปได้หากมีการแก้ไขพฤติกรรมอย่างไร ปรับตัวเข้าหากันในเรื่องไหน เราต้องพยายามลดทอนสิ่งที่ไม่ดีงามของตนและของกันและกันลง หรือ เพิ่มพูนความดีงามของกันและกันอย่างไรบ้าง

หรือ เริ่มเห็นว่าแท้จริงแล้วเราสองคนอาจไม่สมควรเป็นคนที่รักกันในรูปแบบนี้ ความรักนี้ครั้งไม่ควรสานต่อ

มีไม่กี่คนหรอกค่ะ ที่พอรู้ตัวว่าตกหลุมรักแล้ว มีสติพอที่จะเห็นความเป็นจริงได้ในทันทีว่าความรักควรเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ฝ่าฝืนจริยธรรมในสังคมหรือไม่ หรือเมื่อเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ก็พยายามหาเหตุผลมาสั่งสอนใจตนให้แปรความรักแบบหนุ่มสาวนี้ไปสู่ความรักในแบบเพื่อนร่วมโลกได้ ก่อนที่รักจะฝังลึกจนทำร้ายทั้งตน บุคคลที่ตนรัก และบุคคลรอบข้างของทั้งสองฝ่าย


แต่...

ถึงแม้ความรักจะเดินหน้าต่อไปได้ ก็ใช่ว่าทางเดินของรักจะราบรื่นไปหมด ทั้งนี้ก็เพราะดังที่ได้เรียนแล้วว่า ความรัก แท้ที่จริงก็คือกิเลสประเภทที่เรียกว่า ราคะ จึงมีเรื่องที่เราควรเรียนรู้อยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ นั่นคือ เมื่อเป็นกิเลส ความรักจึงมีความเศร้าหมองแฝงอยู่ด้วยเสมอ และเพราะความรักทำให้เกิดความต้องการเสพอันเป็นตัณหา ตัณหาก็มักพาให้ใจเร่าร้อนได้เสมอ และเพราะสรรพสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัยที่แปรปรวนได้ ความรักจึงพร้อมจะแปรปรวนไปให้เราร้อนรุ่มได้เสมออีกเช่นกัน

ดังนั้น เราจึงควรรู้ธรรมชาติของความรักและตัณหาไว้ เพื่อคอยระวังใจ คอยสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความรักสามารถดำรงได้ตราบชีวิตของคนทั้งสองจะหาไม่

มาคุยกันทีละเรื่องนะคะ

ธรรมชาติของความรัก

เนื่องจากความสุขนั้นเป็นอาหารของใจที่เราจะขาดเสียไม่ได้ และเพราะความรักนำความสุขมาให้ ดังนั้นเมื่อหญิงชายมีความรัก ก็เป็นธรรมดาค่ะที่เราจะยึดมั่น จะหวงแหน ทั้งในความรักและตัวคนรัก ก็ใครล่ะคะอยากจะสูญเสียความสุขไป

จึงเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันค่ะที่เรามักระแวงว่าคนรักจะถูกแย่งชิงหรือกำลังถูกแย่งชิง ระแวงว่าคนรักจะปันใจหรือจะเปลี่ยนใจ

ความระแวงนี้มักปรากฏเด่นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จึงไม่น่าสงสัยนะคะ ว่าทำไมผู้หญิงจึงมักคอยจ้องจับผิดคนรัก คอยตามเช็คว่าคนรักไปทำอะไร อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร คอยตามหึงหวง จู้จี้จุกจิก ชวนทะเลาะในเรื่องที่ตนจับจ้องอยู่ซึ่งบางทีฝ่ายชายก็รู้สึกช่างเป็นเรื่องเล็กน้อยจนน่าอิดหนาระอาใจ

ก็เรื่องของใจแม้ใครจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเกิดในใจที่จับจ้องอยู่ก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เสมอค่ะ และบางทีความรู้สึกที่ไม่ดีของฝ่ายชายนี้ก็กลายเป็นเหตุให้ฝ่ายหญิงสูญเสียความรักไปจริงๆ

เพราะความรักจะมีความระแวงร่วมด้วยอย่างนี้นี่เองค่ะ ความรักที่ทำให้ใจเรามีความสุขจึงมีความเศร้าหมองแทรกแซมอยู่ด้วย แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเศร้าหมองไปตามธรรมชาติของความรักหรอกนะคะหากเรารู้ทันธรรมชาตินี้ของความรัก

การรู้ธรรมชาติของความรักนี้ไม่ใช่เป็นข้อแก้ตัวนะคะ ว่าก็เพราะความรักมีความระแวงเป็นพื้นอย่างนี้ ฉันก็ต้องระแวงน่ะซี ไม่ใช่ความผิดของฉันที่มีความระแวงเพราะการระแวงเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตรงข้ามเลยค่ะ เมื่อรู้ว่าความระแวงเป็นความเศร้าหมองที่แทรกอยู่ในความรัก เราจึงต้องฝึกตนให้มีสติ คอยตักเตือนตน อย่าสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้อีกฝ่ายเกิดความระแวง หรือ คอยตักเตือนตนที่จะไม่ปล่อยใจไหลไปตามธรรมชาตินั้นจนคอยตามระแวง ตามหึงหวงคนรัก มีสติคอยระลึกว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ และเพียรห้ามตนไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งยากนักที่จะห้ามได้ มีสติตามระลึกถึงสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว ว่าสมควรหรือไม่ ควรแก้ไขความเห็นอันนำมาซึ่งพฤติกรรมอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ก่อให้เกิดเหตุอันเป็นอุปสรรคแห่งความรักขึ้นมา

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เคยตรัสอธิบายว่า อุปสรรคคือเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราเอามาใส่ใจ การนำคำตรัสนี้มาสอนตนอยู่เนืองๆ ก็ช่วยให้เห็นตามความเป็นจริงได้นะคะ ว่ามีเรื่องดีๆมากมาย ทำไมเราต้องใส่ใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆจนทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันลงด้วย

การระแวงที่มีผลให้เราคอยเพ่งจ้องอีกฝ่ายหนึ่งยังเกิดโทษแก่ตัวเราอย่างที่เราก็อาจคาดไม่ถึง เพราะเมื่อเราคอยเพ่งเขาในเรื่องใดด้วยความระแวง ก็คือเรารักษาความระแวงอันจัดเข้าในกิเลสประเภทโทสะไว้ในใจตลอดเวลา ใจที่ประกอบด้วยโทสะอยู่ตลอดจะปลอดโปร่งแจ่มใสได้อย่างไรกันคะ เมื่อจิตใจไมผ่องใส ก็ทานไม่ได้ นอนไม่หลับ อาการทางใจปรากฏทางกายต่างๆอีกมาก เช่น โรคกระเพาะ ไมเกรน แผลในปาก ความดันโลหิตสูง เนือยนิ่ง ไม่อยากบริหารกายให้แข็งแรง เป็นต้น

นอกจากอาการทางใจที่ปรากฏออกทำร้ายกายแล้ว ใจเอง ก็ถูกทำร้ายด้วยเช่นกัน การยอมรับกิเลสไว้ในใจ ใจก็ย่อมหมองไปด้วยกิเลส ย่อมคิด พูด ทำ ไปตามกิเลสที่เคลือบอยู่จนกลายเป็นความเคยชิน และเมื่อชิน ก็ยิ่งทำให้เมื่อพบเห็นอะไร กิเลสชนิดนั้นก็ยิ่งไหลออกมาย้อมใจได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น จนทำให้ควบคุมตัวเองได้ยากมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ถูกกระทบด้วยอะไรก็เกิดความรู้สึกและแสดงออกในทางไม่ดีออกมาในทันทีเพราะความที่ควบคุมตัวเองไม่ได้นี่เองค่ะ คงเพราะเหตุกระมังคะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า การเพ่งหาโทษของคนอื่นอยู่เนือง อาสวะ (กิเลสที่ดองอยู่ในสันดาน ที่ไหลออกมาย้อมใจยามได้พบเห็นรับรู้เรื่องราวอะไรๆ)ของผู้เพ่งยิ่งเจริญ

เพราะถ้าเราเพ่งบ่อยๆ กิเลสเราก็ยิ่งงอกงามขึ้น ดังนั้นประโยคที่ว่า ให้ปฏิบัติคือ เมื่อเห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็ให้สักแต่ว่าได้ยิน ก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ ใจที่คอยเพ่งทำอย่างนั้นไม่ได้แน่ๆ

การคอยตักเตือนตนด้วยการน้อมใจไปให้เชื่อว่าภาวะที่แท้ของรัก แท้ที่จริงเป็นเพียงการย้อมติดดังที่ได้เรียนไว้แล้วในบทแรก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ยึดมั่นในความรักมากเกินไปจนเกิดความระแวงขึ้นได้ค่ะ

ก็ในเมื่อความรักไม่ใช่ก้อนอะไรสักก้อนที่เป็นตัวเป็นตนให้จับให้ยึด แล้วเราจะยึดมั่นอะไรได้ล่ะคะ

แต่แน่นอนค่ะ เรายังคลายความยึดมั่นในความรัก ในตัวคนรักลงจริงๆไม่ได้ การคิดให้เห็นภาวะแท้จริงของรักบ่อยๆ จึงได้ชื่อเพียงว่าเป็นการ “น้อมใจ” ไป คือพยายามทำใจให้เชื่ออย่างนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการพยายามเปลี่ยนความเชื่อของตนในเรื่องตนยังไม่พร้อมจะเชื่อ แต่การน้อมใจไปนี้ก็ช่วยให้เราที่ยังมีความยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตน ยึดมั่นในความรัก ในความสุขจากรัก ไม่คาดหวังหรือหลงใหลในรักมากจนลืมป้องกันโทษที่สามารถเกิดขึ้นได้

สุขจากรักที่เป็นสุขอันชอบธรรมตามสมมติโลก เป็นผลที่เกิดจากเหตุปัจจัยคือเพราะเรายังมีกิเลส หากเราหลงใหลในสุขนี้เสียแล้ว เราก็จะไม่มีการฝึกตนเพื่อให้พบสุขที่เลิศกว่าสุขจากความรักที่เป็นผลมาจากกิเลสนี้

ความสุขจากรักอันเกิดจากการที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับรู้สิ่งที่น่ายินดีแล้วติดใจนี้ เรียกว่า กามสุข เป็นสุขในขั้นต้นของบุคคลค่ะเพราะหาได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือต้องอาศัยสิ่ง บุคคล ภาวะ ภายนอกมาเป็นเหตุเราจึงจะได้สุข และเพราะต้องอาศัยเหตุปัจจัยจากภาย จึงเรียกว่า สามิสสุข

สามิสสุขนี้ หากไม่ได้เหตุปัจจัยจากภายนอกเราก็ไม่ได้รับความสุข หรือได้แล้วแปรปรวนไป เราก็จะกลับกลายเป็นทุกข์

ยังมีสุขที่เลิศยิ่งกว่ากามสุขอีกค่ะคือ สุขจากความสงบที่เกิดจากการเพ่งนิ่งอยู่ในใจ ดังที่ท่านเรียกว่า นิรามิสสุข เพราะไม่อาศัยเหตุปัจจัยจากภายนอก อาศัยการเพ่งรูปในใจเราเองเท่านั้น และสุขที่ตรัสว่าเป็นสุขที่เลิศยิ่งกว่านิรามิสสุข ก็คือสุขจากความดับของความต้องการอันเป็นตัณหา ความสิ้นไปของกิเลส นั่นคือ นิพพานสุข

นิพพานนั้นมีหลายระดับค่ะ ในระดับต้น เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน เกิดจากการที่ตาหูเป็นต้นกระทบอะไรแล้วเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นในใจ เราระลึกรู้ได้ว่าเรื่องราวไม่ดีที่เคยจดจำไว้เกิดขึ้นแล้ว มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว จิตใจร้อนรุ่มเพราะความคิดนั้นๆแล้ว ภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เพราะเรายึดมั่นในบางอย่างซึ่งค้านกับคำตรัสสอนที่ให้ไม่ยึดมั่นในอะไรๆ เราไม่อยากจะรับภาวะไม่ดีเหล่านั้นไว้ อยากอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน จึงอดกลั้นไว้ไม่แสดงอาการใดๆออกมา และพยายามพิจารณาให้เห็นว่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากเหตุอะไร เรายังมีความยึดมั่นในอะไร เราขาดการฝึกฝนในแง่ไหนจึงทำให้คลายความยึดมั่นไม่ได้ เราซ้ำเติมตัวเองอย่างไรที่ทำให้นอกจากจะยังคลายการยึดมั่นไม่ได้แล้ว ยังทำความยึดมั่นนั้นๆให้มั่นคงยิ่งขึ้นจนทำร้ายใจตัวเองให้ต้องร้อนรุ่มอย่างนี้

ในขณะที่สอนตน ความร้อนรุ่มก็จะค่อยๆลดลง เมื่อเห็นเหตุผล ความต้องการอันเป็นตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับ ใจเราก็สุข

ความดับตัณหา ดับทุกข์ได้เป็นครั้งๆไปอย่างนี้นี่เองค่ะ ที่เรียกว่าสันทิฏฐิกนิพพาน

แต่เพราะเรายึดมั่นในสิ่งต่างๆมานาน การสอนตนเพียงครั้งเดียว ไม่พอที่จะทำให้เราคลายจากการยึดมั่นได้หรอกค่ะ แต่ก็ทำให้เมื่อเราพบเรื่องเดิมในครั้งต่อไป เราจะอดกลั้นได้มากขึ้น ความทุกข์ที่เกิดกับใจค่อยๆน้อยลง จนในที่สุด เมื่อเราพบเรื่องราวนั้นๆอีก เรื่องราวนั้นๆไม่ได้ทำให้เราสะดุ้ง หวั่นไหว ทุกข์ใจได้อีกต่อไป ก็เท่ากับว่าเราขุดรากของตัณหาในเรื่องนั้นๆจนตัณหาเกิดใหม่ไม่ได้ หมดเหตุให้เกิดทุกข์ไปแล้วเรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องที่เราควรพิจารณาอยู่เสมอ คือ การเห็นกิเลสตนเป็นกิเลสคนอื่นค่ะ อย่างที่เราขัดใจจนคอยเพ่งจ้องคนอื่นนั้น การที่เราขัดใจก็เพราะเรามีความอยากหรือตัณหาในบางเรื่อง ตัณหานั้นไม่ได้รับการตอบสนองจึงก่อให้เกิดความขัดใจ เราจึงมักมองว่าเขามีกิเลสตัวนั้นตัวนี้แล้วแสดงออกจนขัดใจเรา แต่เราก็มักลืมดูตัวเราเองไปค่ะ ว่าแท้ที่จริง เราก็เต็มไปด้วยกิเลสไม่ต่างไปจากเขา

การพยายามตามเห็นในเรื่องต่างๆเหล่านี้ ช่วยให้ความระแวงค่อยๆลดน้อยลง เมื่อเราเพียรไม่สร้างเหตุให้เกิดความระแวง อุปสรรคในความรักก็ลดลงไปแล้วเรื่องหนึ่ง โอกาสที่จะครองรัก คงความผูกพันไว้จนชั่วชีวิต

ให้ความรักเป็นเครื่องมือในการตามเห็นความไม่น่ารักในสิ่งต่างๆแม้กระทั่งในตัวความรักเอง จนค่อยๆคลายตัวจากกิเลส ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้ในชาติภพไหน ดีกว่าหลงใหลในรัก จนยิ่งพอกพูนกิเลสมากมาย วนเวียนว่ายในทุกข์สุขตลอดไปนะคะ

ตอนนี้เริ่มจะยาวไปแล้ว ขอตัดเรื่องธรรมชาติของตัณหาไปต่อตอนหน้าค่ะ

หมายเลขบันทึก: 609489เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การพิจารณาแลเห็น..ตน..ของตน..ได้ในระดับนึงเนืองๆ...ความต่อเนื่องในสภาวะหนึ่งจะเกิดขึ้น..รู้ได้เห็นได้..มีอยู่ ตั้งอยู่ ดับไป...

(จาก..คำสอน..ของหลาย..พจ..เป็นต้นว่า..ท่าน ปราโมทย์โช..ขอโทษเจ้าค่ะหากเขียนผิด..)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท