ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๔๘ : ผลการประเมินโครงงานบ้านวิทย์น้อย เรื่อง "ผลของดินทราย สำลี และกระดาษชำระ ต่อการเจริญเติบโตของต้นถั่ว"


โครงงานเรื่อง "ผลของดินทราย สำลี และกระดาษชำระ ต่อการเจริญเติบโตของต้นถั่ว" เป็นของนักเรียนระดับอนุบาล ๑/๑ โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา เป็นโครงงานเชิงทดลอง ไม่ได้เป็น "โครงงานผลิตและทดลอง" ไม่เหมือนการเพาะถั่วงอกเอามาทำอาหารของโรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา หรือ การสอนเด็กทำไข่เค็มเหมือนที่โรงเรียนเทศบาลบูรพาฯ แต่เป็นโครงงานที่มุ่งไปที่การทดลองอย่างเดียว

ที่มา ทำอะไร อย่างไร นานแค่ไหน เด็กได้อะไร

ในหน่วยการเรียนเรื่อง "การเจริญเติบโตของพืช" ครูถามว่า "พืชเจริญเติบโตได้อย่างไร" "เด็ก ๆ รู้จักพืชอะไรบ้าง และมอบหมายให้เด็ก ๆ ไปสอบถามผู้ปกครอง วันรุ่งขึ้น ครูเขียนคำตอบของเด็ก ๆ (พืชกินน้ำและปุ๋ยจึงโต) ลงบนกระดาษชาร์ท (ให้เด็กมีส่วนร่วมด้วยการทาสี) แล้วนำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเพาะต้นถั่วเขียว ก่อนจะพาเดินสำรวจหาวัสดุที่จะมาปลูกต้นถั่วเขียว จนได้ดินทราย สำลี และกระดาษชำระ มาเป็นตัวแปรต้น เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของถั่ว โดยควบคุมจำนวนต้นถั่วในภาชนะเดียวกัน และปริมาณน้ำ รวมถึงแสง และอุณหภมิให้เหมือนกัน

ผลการประเมินตามเกณฑ์วัฏจักรนักวิทย์น้อย (ดาวน์โหลดเกณฑ์ได้ที่นี่)

ผมจะเขียนผลการประเมินเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เห็นเหตุและผลของการให้คะแนนในแต่ละข้อของเกณฑ์ประเมินตามความเห็นเมื่อพิจารณาจากหลักฐาน ทั้งที่ได้อ่านจากเล่มและทั้งจากที่ได้ฟังการนำเสนอเมื่อครั้งไปลงพื้นที่โรงเรียน

๑) เป็นโครงงานหรือไม่

วิธีให้คะแนนข้อนี้ เกณฑ์กำหนดให้ดูว่ามีวัฏจักรวิจัย ๖ ขั้นตอนและต่อเนื่องเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ให้หยุดตรวจ ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ถ้าใช่... ให้ ๑ คะแนน และหากครบกระบวนต่อเนื่องมากกว่า ๒ วงรอบ ให้ ๓ คะแนน

โครงงานนี้ผมให้คะแนน ๑ คะแนน ผ่านเกณฑ์การประเมิน ถือเป็นโครงงานทดลอง มีการฝึกทักษะตามวัฏจักรนักวิทย์น้อยครบถ้วนทั้ง ๖ ขั้นตอน ๑ วงรอบ ดังนี้

  • ชี้ชวนให้สงสัย (ตั้งคำถาม) : ครูตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดความสงสัย (คงจะ)เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนในหน่วยการเรียน
  • พาให้คาดเดาคำตอบ (รวบรวมความรู้และตั้งสมมติฐาน) : ครูมอบหมายให้เด็กๆ ไปสอบถามผู้ปกครอง แล้วคำตอบมาเล่าให้ครูและเพื่อนฟัง (เด็กอนุบาล ๑ เล่าเรื่องได้เก่งครับ ... ลูกสาวผมต้องถามนำมากหน่อย) ผมคิดว่าน่าจะเป็นคุณครูที่ออกแบบการทดลองครับ
  • พิสูจน์ตรวจสอบคำตอบนั้น (สำรวจตรวจสอบ พิสูจน์สมมติฐาน) :พาเด็ก ๆ ปลูกต้นถั่ว ใช้เวลาสังเกตทั้งสิ้น ๑๗ วัน
  • แบ่งปัน อธิบาย (อธิบายอภิปรายผลการทดลอง) : ครูให้เด็กอธิบาย
  • ระบาย บันทึก (จดบันทึกผลการทดลอง) : ครูให้เด็ก ๆ วาดภาพเมล็ดถั่วเขียว และต้นถั่วที่เจริญเติบโต
  • สรุปผลและนำเสนอ (สรุปการทดลองและนำเสนอ) :ครูออกแบบให้เด็กตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าถั่วที่ปลูดด้วยดินชนิดใด ทำให้ถั่วเจริญเติบโตได้ดีที่สุด โดยการหยิบลูกบอลไปวางในขวดโหล แล้วช่วยเด็ก ๆ สรุปผลการทดลอง

๒) ที่มาของคำถามในการทำโครงงาน

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเกิดจากครู ๑ คะแนน ถ้าเป็นเด็กและครูช่วยกันตั้งคำถาม ได้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กตั้งคำถามเอง จะได้ ๓ คะแนน

ผมให้ ๑ คะแนนครับ

๓) การะบวนการในการสำรวจตรวจสอบ

เกณฑข้อนี้มี ๒ ข้อย่อย ๑) ดูที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการสำรวจตรวจสอบ ถ้าครูคิดให้ ๑ คะแนน เด็กและครูร่วมกันให้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กคิดให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๑ คะแนน ชัดเจนว่าแต่ละขั้นตอนครูได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการคิด

เกณฑ์ข้อย่อย ๒) เด็กทำเองหรือไม่ ถ้าใช่!! ให้ ๓ คะแนน ถ้าเด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้ ๒ คะแนน และถ้าครูพานำทำตลอด จะได้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๒ คะแนนครับ เด็ก ๆ ได้ร่วมในทุกขั้นตอนของการปลูกถั่วตามภาพประกอบในเล่มโครงงาน

๔) การรายงานผลและการบันทึกการสำราวจตรวจสอบ

เกณฑ์บอกว่า มีการบันทึกหรือไม่? ถ้ามี ให้ดูต่อว่าสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ ๒ คะแนน ถ้าไมสอดคล้องให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่มีการบันทึกให้ไม่ให้คะแนน

ข้อนี้ ๑ คะแนน มีการวาดภาพต้นถั่วเขียวที่กำลังเจริญเติบโต แต่ไม่ได้จำแนกระหว่างชนิดของดิน

๕) การสรุปและอภิปรายผลการตรวจสอบ

ข้อย่อย ๕.๑) เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าสิ่งที่สรุปสอดคล้องกับคำถามและผลการสำรวจให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่ให้ ๐ คะแนน ส่วนข้อย่อย ๕.๒) ถามว่าใครเป็นนสรุปถ้าเป็นครูให้ ๐ คะแนน เด็กต้องมีส่วนร่วมในการสรุป ถึงจะได้ ๑ คะแนน

ข้อ๕.๑) ให้ ๑ คะแนน และ ๕.๒) ให้ ๑ คะแนนครับ เด็กได้มีส่วร่วมตลอดทุกกิจกรรม

๖) การส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเด็กได้ฝึกการสังเกต การวัด การจำแนก การเปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา การคำนวณ การจัดกระทำกับข้อมูลและสื่อความหมายข้อมูล การลงความเห็นจากข้อมูล การพยากรณ์ ฯลฯ เหล่านี้ อย่างน้อย ๔ ทักษะขึ้นไป ให้ ๓ คะแนน ถ้า ๓ทักษะให้ ๒ คะแนน และถ้า ๒ ทักษะให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ได้ไป ๒ คะแนนครับ ได้แก่ สังเกต การวัด (ถ้าเห็นข้อมูลการวัดด้วยจะดีมาก) และการลงความเห็นจากข้อมูล

๗ การส่งเสริมพัฒนาการหรือทักษะด้านอื่นๆ

เกณฑ์ข้อนี้ส่งเสริมการบูรณาการวัฏจักรนักวิทย์น้อยกับการฝึกทักษะด้านอื่นๆ เช่น ด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้านสังคมเช่นการทำงานร่วมกัน ด้านการเคลื่อนไหวหรือฝึกร่างกายให้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้แข็งแรง หรือ ด้านอารมณ์และจิตใจให้เด็ก ๆ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ทักษะชีวิต ฯลฯ โดยกำหนดว่า ถ้ามี ๔ ด้าน ขึ้นไปให้ ๓ คะแนน ถ้ามี ๓ ด้านให้ ๒ คะแนน ถ้ามี ๒ ด้านให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ให้ ๒ คะแนนครับ ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ด้านการเคลื่อนไหว เพราะเด็กทุกคนได้ลุยเอง

๘) ความริเริ่มสร้างสรรค์ของโครงงาน

โครงงานมีความแปลใหม่หรือไม่ ถ้าคัดลอกหรือปรับเปลี่ยนโครงงานจากผู้อื่นโดยไม่ได้ทำจริง ให้ปรับตก แต่ถ้านำหัวเรื่องคนอื่นมาทำเองให้ ๑ คะแนน ถ้าครูและเด็กริเริ่มขึ้น ให้ ๒ คะแนน แต่ถ้าเป็นโครงงานที่แปลกใหม่จริงๆ ให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๒ คะแนน ครับ

สรุปผลการประเมิน

สรุปทั้ง ๘ ข้อ โครงงานนี้ได้คะแนนรวม ๑๔ คะแนน ผ่านเกณฑ์ประเมิน เหมาะสมที่ได้รับตราพระราชทานครับ

จบเท่านี้ครับ ... สู้ครับ

หมายเลขบันทึก: 609484เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท