เรื่องเล่าตำนานหมู่บ้าน บ้านคางฮุง ตำบลผักแว่น อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด


เรื่องเล่าตำนานหมู่บ้าน บ้านคางฮุง ตำบลผักแว่น อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

ท่านผู้รู้ได้กล่าวเล่าไว้ว่า เมื่อประมาณสามร้อยกว่าปีมาแล้วได้มีพระภิกษุรูปหนึ่ง (หลวงปู่ศรี) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงปู่วัดเก่า” พร้อมด้วยญาติโยมได้อพยพร่อนรอนแรมมาจากบ้านกล้วย จังหวัดอุบลราชธานี สาเหตุที่อพยพมาก็เพราะว่าหนีความแห้งแล้ง เพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านต้องตกระกำลำบากและเมื่อเดินทางมาถึงดินแดนเขตแคว้นสวนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ราบสูง หลวงปู่ท่านก็ได้สำรวจดูภูมิประเทศและบอกกับญาติโยมว่าที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ดี จึงได้พาญาติโยมก่อร่างสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมามีจำนวนประมาณ 14 ครอบครัว และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านน้อยนาเรียง” (ตั้งอยู่บริเวณของบ้านโนนศึกษาในปัจจุบัน)


กาลเวลาได้นำพาสู่การเพิ่มมากทวีขึ้นของบุคลากรภายในหมู่บ้าน จนเกิดความแออัดเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยต่อมาประมาณ พ.ศ. 2249 หลวงปู่ท่านจึงได้พาญาติโยมย้ายมาจากบ้านน้อยนาเรียงออกมาสร้างบ้านหมู่บ้านแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านน้อยนาเรียง ซึ่งที่นี่ก็เป็นที่อุดมสมบูรณ์ หลวงปู่ท่านบอกว่าถ้าสร้างหมู่บ้านในเขตแคว้นแห่งนี้ (บริเวณบ้านคางฮุง) ต่อไปในภายภาคหน้าจะต้องเจริญเป็นแน่นอน ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันย้ายหมู่บ้านไปอยู่ทางทิศเหนือของบ้านน้อยนาเรียง ที่ดินบริเวณบ้านน้อยนาเรียงจึงจัดเป็นสวนของแต่ละครอบครัว (บ้านโนนศึกษาในปัจจุบันก่อตั้งขึ้นมาใหม่)แต่ตอนนั้นหมู่บ้านที่ย้ายมาก่อตั้งใหม่ยังไม่มีชื่อหมู่บ้าน อยู่มาวันหนึ่งหลวงปู่ท่านได้นำช้างไปเลี้ยงที่ริมลำน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านที่ตั้งใหม่ (กุดคางฮุง) ซึ่งข้างลำน้ำแห่งนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งใหญ่กว่าต้นไม้อื่นๆในเขตบริเวณนั้นและเป็นที่พักอาศัยของนกนานาชนิด แม้กระทั่งผู้คนที่สัญจรไปมา โดยเฉพาะตัวหลวงปู่เองท่านยังได้อาศัยต้นไม้ต้นนั้นเป็นที่พักพาอาศัย (ต้นคางฮุง) ท่านจึงได้นำเอาชื่อต้นไม้ต้นนั้นมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง : หนังสือตำนานหมู่บ้าน วัดเทวาพิทักษ์ ตำบลผักแว่น อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

หมายเลขบันทึก: 608950เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2016 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครับ ได้รู้ที่มาที่ไปอันเป็นชื่อของหมู่บ้านตนเอง ก็ถือว่าดีแล้วครับ

ชื่นชมครับ แต่ก็อยากให้อ้างอิงข้อมูล ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท