"เราตามใจหรือใจตามเรา"



---------Following mind or let it follows us.-----------


เราถูกสอนมานานจากสังคมและศาสนาว่า ชีวิต มีจิต มีใจเป็นแก่นสาร ที่สร้างคุณสมบัติให้ชีวิตมีลักษณะต่างๆ และเราเชื่อว่า จิตใจคือ แหล่งสร้างแรงกระทำหรือพลวัตรในชีวิต ที่ทำให้เกิดผลตามเงื่อนไข ตามกาลเวลาและเจตนา เคยเถียงความเชื่อเก่าๆ ด้วยตัวเองบ่อยๆ ว่า เรามีใจ หรือมีจิต จริงหรือ เรามักจะกล่าวแทนตัวเองเสมอว่า จิตใจของเรา แต่เราเข้าใจมันลึกซึ้งแค่ไหน มันอยู่ไหน มันทำงานอย่างไร มีความสำคัญต่อชีวิตและภาพลักษณ์อย่างไร

ในทางศาสนาพุทธมองว่า จิตคือ แหล่งกำเนิดการกระทำและผลิตผล มันสร้างสรรค์พฤติกรรมของเราให้เป็นไปตามแรงกระตุ้น และสัญชาตญาณ พุทธศาสนาจึงเชื่อว่า พฤติกรรมทั้งปวงถูกควบคุมโดยจิต คำกล่าวนี้จริงหรือ หรือเป็นแค่ตามคัมภีร์ ความเชื่อที่สืบๆมา เราต้องวิเคราะห์และวิจารณ์บรรพชนของเราด้วยเหตุผลกลไกของสติปัญญาของคนรุ่นนี้ ถ้าใจคือ ผู้มีอำนาจหรือเจตจำนงของเรา หรือมีพลังอำนาจเหนือพฤติกรรมของเราเอง เราจะต้องยินยอมและจำนนต่อจิตหรือไม่ เราต้องยอมหรือตามใจหรือไม่ มีคนบอกว่า "อย่าตามใจ" เพราะใจไม่มีความแน่นอนหรือไม่มีฐานที่มั่นคง แล้วใจแบบไหนที่ว่านี้ มันทรยศตต่อเรา ทำไมเราจึงเชื่อว่า ใจไม่ดี จึงไม่ต้องตามใจ เพราะอะไรๆๆๆๆ

ผมตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าพ่อแม่เราบอกสอน ให้ตามใจท่าน มันจะดี เชื่อฟังคำสอนของครูบาอาจารย์จะได้ดี ตามใจแฟนจะได้ความรัก ตามใจลูก เขาจะเชื่อฟังเรา ตามใจเจ้านายจะได้ขั้น และคำชม แต่พอบอกว่า ตามใจตนเอง จะทำให้เสียหายหรือเคยตัวจริงหรือไม่ น่าคิดว่า ทำไมคนยุคนนี้จึงไม่ค่อยเชื่อใจกันด้วย ดังนั้น เราควรตามใจตนเองหรือไม่

อีกมุมหนึ่ง ถ้าเราพูดว่า ให้ใจตามเรา นั้นก็ฟังดูแปลกๆ แสดงว่า เราให้ความสำคัญตัวเรา คำว่า "ตัวเรา" คืออะไร ประกอบด้วยอะไร แล้วให้ใจตามอะไร ร่างกาย ความต้องการของกาย ความรู้สึก หรือรับรู้ต่างๆ อะไรคือ ตัวที่จะให้ใจตาม เราเชื่อมั่นสิ่งเหล่านี้ว่า แน่นอนและมั่นคง เราเชื่อมั่นได้แค่ไหน ผมคิดเองว่า สิ่งนี้คือ ควาามอยาก ความต้องการ ความคิด ความรู้สึกแบบสามัญชน หรือคนธรรมดาที่ร่างกายเรียกร้องทางกายภาพนั่นคือ "ตัวเรา" ถ้าสิ่งเหล่านี้ ถูกกิเลส หรือถูกกระตุ้นละ กายหรือตัวเรา จะยืนหยัดในความมั่นคงและถูกต้องหรือไม่

ถ้าเราเชื่อว่า ให้ใจตามเรา แสดงว่า เราไม่เชื่อใจหรือไม่ไว้ใจใช่ไหม ในทางประสบการณ์เรารู้ว่า ใจนั้นคือ สภาวะการรับรู้ การตอบสนองและการตอบโต้ หากมันแสดงพฤติกรรมใดๆ ออกไปแบบสม่ำเสมอ มันอาจกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยจนทำให้เกิดรูปแบบที่เป็นเบ้าหลอมหรือเป็นทางเดินของใจด้วย นี่คือ นิสัยของจิตกระนั้นหรือ เราจะสร้างจิตให้น่าเชื่อถือและทำให้เป็นผู้นำหรือผู้ตามดีละ

ให้เราสังเกตพฤติกรรมของเราอย่างละเอียด ลึกๆ ในแต่ละวัน แต่ละอารมณ์ จะพบความจริงและมายาในตัวเราเอง บางทีใจเราเป็นผู้ตาม บางครั้งก็เป็นผู้นำ เราไม่เห็นความแน่นอนขององคาพยพของชีวิตนี้เลยว่า ใจคือ สิ่งเที่ยงตรง ถาวร หรือกายเป็นสิ่งแน่นอน มั่นคง แล้วมันขึ้นอยู่กับอะไร? นี่คือ สสารความคิด ที่เราควรใส่ใจว่า อะไรคือ แก่นของสสารของชีวิตนี้

"ใจ" นั้นเป็นสิ่งมายา กลวงๆ เปล่าๆ มาแต่แรก มันไม่มีคุณสมบัติใดๆ เมื่อมันถูกสะสมจากประสบการณ์ของโลก มันจึงมีความหมายและเกิดสัญลักษณ์ หรือภาพลักษณ์ขึ้น ส่วน "กาย" คือ พื้นฐานหรือแหล่งการสร้างการแสดงออก เพื่อให้เกิดผลต่างๆ และไม่มีอะไรมั่นคง เป็นไปตามเงื่อนไขของกาล กฎ และการกระทำ มันเสี่ยงต่อการล่มสลายในขณะใดๆก็ได้

กลับไปประเด็นที่ว่า "ตามใจหรือให้ใจตาม" ขึ้นอยู่กับสภาวะสติ ปัญญา ทักษะในการใช้ชีวิต การกระทำในแต่ละวัน ว่าเราจะมีข้อมูลทางสังคม อุดมคติในตนเอง และประสบการณ์อย่างไร ที่จะบังคับให้ตามใจหรือให้ใจตาม ผมเชื่อว่า การตามใจนั้น มิได้แปลว่า เลวร้ายเสมอไป หรือดีเสมอไป มันมีเงื่อนไขทางข้อมูลและสังคมเป็นหลัก

ส่วนให้ใจตามนั้น ต้องฝึกคำว่า "ตนเอง" ให้ดีพอที่จะให้ใจตามให้ได้ นั่นคือ ต้องมีหลักยึดที่ชัดเจน มั่นคง แน่นอน เช่น รัฐบาลมีหลักธรรมาภิบาล ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความถูกต้องในธรรม ในกฎหมาย เป็นหลัก ไม่เอนโอนต่ออำนาจเงินตราหรือผู้มีอำนาจ ถ้ายึดหลักเช่นนี้ สามารถมทำให้ใจ (ประชาชน) ตามได้ ตรงกันข้าม มันก็จะขาดความเชื่อมั่น และความเป็นธรรมขึ้น

ดังนั้น การตามใจคือ การตอบสนองความต้องการของตนใน ๒ อย่างคือ ๑) ตามใจที่่มีธรรม มีหลัก นั่นคือ ใจที่มีฐานที่น่าเชื่อ น่าตาม ๒) ตามใจที่ต้องการแบบอิสระตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณ อย่างนี้ ไม่ควรตาม ควรจะฝึกใจนี้ให้อยู่บนหลักการหรือหลักธรรมทางศาสนาให้เห็นข้อเสียของอำนาจใจ ที่กระตุ้นเรา

ส่วนให้ใจตามนั่น เราต้องฝึกให้ใจให้รู้ยอมเป็น อ่อนน้อมหรือไม่ปล่อยให้ใจอิสระจนเกินไป พฤติกรรมของกายที่ดี คือ ผู้ที่เหมาะที่จะให้ใจตามอย่างไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ทั้งสอง ก็มีมุมที่แตกต่างกันได้ แล้วแต่รากฐานพฤติกรรมของเราที่ถูกหล่อหลอมมาบนโลกใบนี้ และจะตัดสินใจไปในทิศทางใด (อนาคตของตนเอง) ส่วนทิศทางย่างไปของชีวิตที่ถูกบังคับให้เป็นไปคือ ความสิ้นสุดของกายและใจ (ตาย)



คำสำคัญ (Tags): #ตามใจ ใจตาม
หมายเลขบันทึก: 608825เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท