ประวัติเมืองสงขลา (58) พลับพลาหน้าจวน


จวนเมืองสงขลาที่ว่านี้ คงไม่ได้หมายถึงศาลากลางเก่าที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน

ช่วงก่อนวันสงกรานต์ ผมมีโอกาสไปเดินชมงานสงขลาแต่แรก ตอน เปิดเมือง 8 ป้อม 10 ประตู ซึ่งจัดขึ้นบริเวณริมกำแพงเมืองสงขลา ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถนนจะนะ

หลักฐานในรูปเอกสารและภาพถ่ายเก่าของกำแพงเมืองสงขลานี้มีอยู่ไม่มากนัก รายละเอียดที่บรรยายไว้ในหนังสือต่าง ๆ ส่วนมากจะได้มาจากความทรงจำของชาวเมืองสงขลารุ่นเก่าและการวิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยการแกะรอยจากจดหมายเหตุ พงศาวดาร แผนที่ ภาพถ่ายและคำบอกเล่า นำมาประกอบกันเพื่อไขปริศนา

การศึกษาแบบนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับการเล่นตัวต่อจิ๊กซอว์ ซึ่งบางครั้งก็ต่อง่ายวันเดียวเสร็จ บางครั้งก็ต่อยากใช้เวลาแรมเดือนแรมปี โดยเฉพาะกับจิ๊กซอว์ที่ไม่มีภาพตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ดูที่ฝากล่อง ซ้ำจิ๊กซอว์หลายชิ้นก็หายไปจากกล่องอีกด้วย รอเวลาให้ใครสักคนค้นพบจิ๊กซอว์ที่หายไป แล้วนำมาต่อให้ถูกที่ถูกทาง เมื่อนั้นภาพแห่งอดีตที่เลือนรางก็จะกระจ่างชัดขึ้น

ภาพถ่ายเก่าที่นำมาให้ชมในบันทึก 2 ทะเลฉบับนี้ เป็นภาพถ่ายสมัย ร.5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เคยลงตีพิมพ์เป็นภาพประกอบในหนังสือชีวิวัฒน์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ ์กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ฉบับพิมพ์ใหม่ปี พ.ศ. 2504 ขององค์การค้าของคุรุสภา มีคำบรรยายภาพว่า ศาลาน้ำหน้าจวนเมืองสงขลา

ส่วนต้นฉบับภาพถ่ายนี้เป็นภาพปะติดบนกระดาษ มีลายมือเก่าเขียนบรรยายว่า พลับพลาน่าจวนเมืองสงขลา

สังเกตในภาพจะเห็นด้านซ้ายสุดมีกำแพงเมืองสงขลาปรากฏอยู่ ส่วนด้านขวาเป็นทะเลสาบ มองเห็นภูเขาอยู่ไกลออกไป จวนเมืองสงขลาที่ว่านี้ คงไม่ได้หมายถึงศาลากลางเก่าที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน เนื่องจากเวลานั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ จากการศึกษาทำให้ทราบว่าเป็นจวนเก่าที่อยู่ตรงข้ามกับจวนใหม่ ต่อมากลายเป็นศาลมณฑลนครศรีธรรมราช และรื้อทิ้งเป็นที่ตั้งของชุมสายโทรศัพท์ในปัจจุบัน

แต่จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้ทราบว่าภาพนี้ถ่ายที่ไหน คือ เสาโทรเลขในภาพนั่นเอง (ลูกศรชี้) เสานี้ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว แต่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสงขลายังอยู่ที่เดิม

หมายเลขบันทึก: 607884เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2016 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2016 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ค่ะ ถ้าทุกบันทึกในชุดนี้เพิ่มคำว่า ประวัติเมืองสงขลา ลงในชื่อเรื่องด้วยนะคะ คนจะเข้ามาอ่านเยอะมากค่ะ เนื่องจากเป็นการทำ Search engine friendly ค่ะ

สิ่งที่อาจารย์บันทึกไว้ใน GotoKnow นี้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของภาคใต้และของไทยที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะที่ไว้วางใจ GotoKnow ให้ได้ช่วยจัดเก็บและนำส่งถึงประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศค่ะ

ขอบคุณอาจารย์จันทวรรณมากครับสำหรับข้อสังเกตครับ จะได้ดำเนินต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท