ชีวิตที่พอเพียง ๒๖๗๕. พัฒนาตน



หนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ ของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เรื่อง วินัยและคุณธรรมสำหรับพัฒนาตน เป็นเทศนาของท่านพุทธทาสในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นช่วงที่สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงไปมากแล้ว และท่านก็ปรารภ ในเทศนานั้น

แต่สาระในเทศนา มีความแหลมคม และดูท่านจะตั้งใจเทศน์เป็นพิเศษ เพราะเป็นการเทศน์ให้แก่คณะครู

สำหรับผม นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” ที่ถูกละเลย เพราะการศึกษาหลงไปเอาใจใส่แค่เพียงเข้าใจวิชา ที่เป็นสิ่งนอกตัว ไม่เอาใจใส่ความรู้หรือวิชาเพื่อเข้าใจตัวเอง บังคับใจตนเองได้ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อ ยกระดับความเป็นมนุษย์ และข้อบกพร่องนี้ นำไปสู่วลี การศึกษาหมาหางด้วน อันโด่งดังของท่านพุทธทาส

การเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระบบ ในทุกระดับชั้น และต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผมเชื่อว่าทักษะจากการฝึกฝนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต ที่เราพูดถึงกันในขณะนี้

ความรู้จากหนังสือวินัยและคุณธรรมสำหรับพัฒนาตน เล่มนี้ เมื่อเอามาตีความสังเคราะห์เข้ากับหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ด้าน cognitive neuroscience เราจะเห็นความสำคัญของ “การพัฒนาตน” เพื่อชีวิตที่ดี ว่าจะต้องพัฒนาตน เพื่อบรรลุความไร้ตัวตน หรือลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

โดยท่านพุทธทาสบอกว่า “ตัวตน” มี ๕ ระดับที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ เรียกว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยตัวตนแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายกาย กับฝ่ายจิต รูปเป็นฝ่ายกาย ที่เหลืออีก ๔ ขันธ์เป็นฝ่ายจิต ทั้งหมดเป็นบ่อเกิดของตัวตน ที่ชักนำความทุกข์ยากตามมา การพัฒนาตน ก็คือการพัฒนาขันธ์ ๕ นี่แหละ พัฒนาให้เรารู้เท่าทันขันธ์ ๕ ไม่ตกเป็นเหยื่อของขันธ์ ๕ ซึ่งอยู่ในตัวเราเองทั้งหมด

ร่างกายหรือรูปมันมีประสาทรับรู้ คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ นั่นคือขันธ์ที่ ๑ เมื่อรับเข้ามาแล้ว กลไกให้รับรู้คือเวทนา จากนั้นความรู้เดิมที่ฝังใจก็จะเข้ามาตีความตามอคติที่มีอยู่ เกิดเป็นสัญญา (รู้พร้อม รู้สึกตัว) เกิดการปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้เข้ามา เรียกว่า สังขาร เกิดความอยากกระทำบางอย่าง และเกิดการกระทำ ตามด้วยการตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ๔ ขั้นตอนข้างต้น เป็นอารมณ์ เรียกว่า วิญญาณ

ตัวตนที่ไม่ได้รับการฝึก ไม่ได้พัฒนา จะยึดมั่นกับขันธ์ ๕ ข้างต้น เรียกว่ามีอุปาทานต่อสิ่งทั้ง ๕ นั้น เมื่อมีการฝึกและพัฒนาตนดีแล้ว อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ก็ไม่เกิด แต่มีการรับรู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่ง เรียกว่าหมดตัวตน หรือหมดความเห็นแก่ตัว ท่านบอกว่าวิธีภาวนาให้หมดตัวตน เรียกว่า กรรมฐานภาวนา

ผมตีความเรื่องการรู้เท่าทันขันธ์ ๕ เพื่อลดตัวตน ว่าเป็นกระบวนการด้าน EFที่เมื่อฝึกฝนดีแล้ว ก็จะกำกับหรือบังคับตัวเองได้ ไม่ลื่นไหลไปตามอารมณ์ที่พลุ่งพล่านตามแรงกระตุ้นภายนอก หรือแรงกระตุ้นภายใน เป็นสภาพที่ทาง neuroscience บอกว่า สมองส่วน prefrontal cortex (สมองมนุษย์) ควบคุมสมองส่วน amygdala (สมองสัตว์เลื้อยคลาน) ได้

การเรียนรู้ หรือการศึกษา ต้องฝึกฝนมิตินี้ด้วย จึงจะเป็นการศึกษาที่ครบถ้วน เกิดการพัฒนาตนอย่างครบทุกด้าน

การตีความของผม จะถูกต้องหรือไม่ ก็ไม่ทราบ


วิจารณ์ พานิช

๒๗ เมษายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 607704เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท