​ปณิธาน ปล่อยวาง เปลี่ยนแปลง



“ท่านอยากจะได้แผ่นดิน หรืออยากจะเป็นแค่เศรษฐี ? …สมบัติพัสถานเหล่านี้แหละเป็นสาเหตุแห่งความหายนะของราชวงศ์ฉิน ท่านเอามันไปแล้วจะมีประโยชน์อันใด ? จงรีบนำทัพกลับไปป้าซั่ง รีบไปจากที่นี่เถอะ ! … บัดนี้เพิ่งจะบุกเข้ากวานจงเท่านั้น ท่านก็เกิดความหลงใหล จนลืมเป้าหมายสำคัญไปเสียแล้ว”

จากหนังสือเรื่อง “10 กุนซือยอดอัจฉริยะ”


การบรรลุความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะย่อมต้องเจอทั้งอุปสรรคใหญ่น้อยร้อยแปดพันประการ แต่ปัญหาใดก็ไม่หนักหนาเท่าสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเราเอง


1. ปณิธาน


มนุษย์เป็นสัตว์ที่รักสบาย

หากไม่มีสิ่งกระตุ้นที่ดีแล้ว เราก็มักจะใช้ชีวิตไปเรื่อยเฉื่อย หาเงินได้นิดหน่อยก็นำไปเที่ยวเตร่กินเหล้า เมื่อเจองานยาก ๆ ก็มักจะท้อแท้และเลิกล้มเอาง่าย ๆ

“ปณิธาน” จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะเอาชนะขีดจำกัดในจิตใจของมนุษย์ เพราะหากไม่มีจุดมุ่งหมายที่แรงกล้า เราก็จะใช้เวลาและพลังชีวิตไปแบบไร้ทิศทาง งานที่ทำอยู่ก็ย่อมไม่มีทางบรรลุความเป็นเลิศได้

นี่คือ เหตุผลซึ่งทำให้คนธรรมดา ๆ ซึ่งมีปณิธานแรงกล้าสามารถเอาชนะคนฉลาดล้ำลึกที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตอันแน่ชัด

การตั้งปณิธานที่ยิ่งใหญ่ ก็อาจไม่เหมาะสำหรับใครบางคนที่รักชีวิตแบบพอเพียง หรือไม่ต้องการความเสี่ยงที่มากเกินไป แต่ครั้นจะไม่มีปณิธานอะไรเลย เราก็อาจตกไปในหล่มปลักของความล้มเหลวและอ่อนแอ

ทางแก้ ก็คือ การตั้งปณิธานให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง

“เราจะใช้เวลาว่างจากงานประจำ สำหรับเขียนนิยายให้ได้ปีละ 2 เล่ม”

บางคนอาจมองว่า เป้าหมายแบบนี้เล็กเกินไป แต่อย่าลืมว่า เมื่อเราเหนื่อยกับงานประจำแล้ว เราย่อมอยากจะพักผ่อนหย่อนใจ การจะแบ่งเวลาวันหยุดมาใช้กับการเขียนหนังสืออีกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก หรือหากทำได้จริง ก็มักจะเจอกับอุปสรรคระหว่างทางมากมาย ตั้งแต่เพื่อนโทรมาชวนไปเที่ยวทะเล ลูกก็ร้องจะกินนม ไปจนกระทั่งถึง ความกังวลว่าเมื่อเขียนเสร็จแล้วจะมีสำนักพิมพ์ต้องการผลงานชิ้นนี้บ้างมั้ย ? เราจะสู้กับนักเขียนเก่ง ๆ ที่เป็นเจ้าสนามอยู่ได้หรือ ? ยังไม่นับว่าเมื่อเจออุปสรรคทั้งความสมจริงของเนื้อหา การใส่บทพูดเฉียบคมให้ตัวละคร เราก็แทบจะกระโจนออกจากเก้าอี้แล้วไปสังสรรค์กับเพื่อนให้สาสมใจ

หากเราไม่มีปณิธานแรงกล้า แม้แต่เป้าหมายเล็ก ๆ เราก็ไม่อาจฝ่าฟันไปได้

ดังนั้น เมื่อตั้งปณิธานในเรื่องใด จงลงมือทำแบบเต็ม 100 โดยไม่ต้องกังวลกับความล้มเหลว ขอเพียงได้กระทำ นั่นคือ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว


2. ปล่อยวาง


การตั้งปณิธาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราละทิ้งความเย้ายวนของกิเลสและความท้อแท้ทั้งหลาย เพื่อทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเราให้กับความฝันที่ยิ่งใหญ่นั้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้งปณิธานที่เราตั้งไว้ ก็อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เราจึงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนแผนการให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่เราต้องเผชิญอยู่

ในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่มีพระมหากษัตริย์คนใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า ผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า นโปเลียน

หากทว่า เพราะความไม่ปล่อยวางของพระองค์ที่ต้องการจะเป็นเจ้าครอบครองไปทั่วยุโรป จึงทำให้ตัดสินใจนำกองทัพที่ยิ่งใหญ่เข้าไปบุกยึดประเทศรัสเซียในปี 1812 แม้จะเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี แต่ในที่สุด ก็ต้องปราชัยให้กับธรรมชาติอันหนาวเหน็บของดินแดนแห่งนี้

ความพ่ายแพ้เพียง 1 ครั้ง ได้กวาดต้อนชัยชนะนับ 10 ครั้งของพระองค์ไปหมดสิ้น และความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวนี้ ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ชะตากรรมที่ตกต่ำและแสนเศร้าของพระเจ้านโปเลียน

“ปล่อยวาง” เป็นสิ่งที่พูดได้ง่าย แต่ยากในการปฏิบัติ เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่เป็นข้ออ้างของคนเกียจคร้าน หรือเป็นขีดจำกัดอันตรายซึ่งไม่ควรก้าวข้ามไป

ข้าพเจ้าไม่มีสูตรสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะการตัดสินใจเป็นภารกิจที่สลับซับซ้อนของมนุษย์ทุกคน แต่ข้าพเจ้ามีคำแนะนำสั้น ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็คือ หากเรื่องใดที่เราทุ่มเททำอย่างสุดชีวิตแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววความสำเร็จ เราควรที่จะปล่อยวางลงบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว อย่าก้าวเส้นแบ่งแห่งความเป็นและความตายเข้าไป เพราะท่านอาจจะไม่ได้กลับออกมาอีกเลย

การปล่อยวางเมื่อเดินมาถึงทางตัน ไม่ใช่ความพ่ายแพ้หรือว่ายอมจำนน หากเป็นการสงวนทรัพยากรอันมีค่าไว้สำหรับการค้นหาเส้นทางและวิธีการใหม่ ๆ เพื่อจะกลับมาอย่างผู้ชนะในท้ายที่สุด

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทรง “ปล่อยวาง” จากการบำเพ็ญทุกรกริยานั่นเอง


3. เปลี่ยนแปลง


หากเราเป็นผู้ครอบครองอำนาจหรือความมั่งคั่ง เราก็ย่อมปรารถนาให้สภาวะนั้นคงอยู่ไปชั่วนิรันดร์ แต่ในความเป็นจริง เราไม่อาจหนีพ้นความเปลี่ยนแปลงได้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลง เราไม่อาจโถมเข้าหามันอย่างรวดเร็วเกินไป เพราะผู้ชนะในเกมความเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ล้วนแต่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของสิ่งเก่าและสิ่งใหม่

“เติ้งเสี่ยวผิง” ในวัย 74 ปี เป็นบุคคลที่น่ายกย่องมากในการเปลี่ยนแปลงประเทศจีนจากสังคมคอมมิวนิสต์ที่ยากไร้ไปสู่เศรษฐกิจแบบตลาดที่ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องอดอยากหิวโหยอีกต่อไป

สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขอายุที่ขวางกั้นความคิดแปลกใหม่ แต่เป็นจิตใจที่คับแคบของบุคคลนั้นต่างหาก

ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศหรือสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ก็ไม่ควรยึดติดกับความก้าวหน้าทางความคิดหรือเทคโนโลยีพลิกโลกเท่านั้น หากยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย

ดร.ซุนยัดเซ็น มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจีนตั้งแต่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ อีกทั้งราชวงศ์ชิงก็ฟอนเฟะและผุกร่อนอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่กว่าที่ภารกิจยิ่งใหญ่จะบรรลุผลได้ อายุของท่านก็ปาเข้าไป 45 ปีแล้ว

ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง แต่มีเพียงผู้ที่เปิดใจเรียนรู้และปรับตัวอย่างรอบด้านเท่านั้นที่จะบรรลุความสำเร็จได้

หมายเลขบันทึก: 607565เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2016 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2016 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท