มรณกรรมของผู้แต่ง (The Death of the Author)


1. ผมอ่านบทความเรื่อง มรณกรรมของผู้แต่ง หรือ the death of the author แล้ว พบว่า ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด เนื่องจากผมไม่เก่งวรรณคดีฝรั่งเศส แต่สามารถจับใจความได้ในบางส่วน จึงอยากจะนำเสนอผู้ที่สนใจทฤษฎีการวิจารณ์วรรณกรรมบ้าง เพื่อความงอกงามของทั้งผู้เขียนและผู้อ่านโดยรวมครับ

2. มรณกรรมของผู้แต่ง เป็นการวิจารณ์หลังโครงสร้างนิยม (post-structuralist) ที่ส่งผลต่อการวิจารณ์รุ่นหลังๆเป็นอย่างยิ่ง ผมเห็นว่าเราควรทำความเข้าใจบริบท (context) ต่อการเกิดของบทความใน 2 ลักษณะ เดี๋ยวมาต่อนะครับ

3. สาเหตุของการเขียนมรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) มีสาเหตุมาจาก 1. การลุกฮือของนักศึกษาในเดือน พฤษภาคม ปี 1698 เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 1968 คือเหตุการณ์ที่นักศึกษาฝรั่งเศสทั่วประเทศ ประท้วงระบบการศึกษาและระบบทุนนิยม คนงานประท้วงนัดหยุดงานครั้ง ใหญ่ เป็นการสั่นคลอนอำนาจรัฐครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายสิบปี เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นพรรคการเมืองถูกกฎหมายเล่นตามกติกา ค่อนข้างจะนิยมโซเวียตและมีลักษณะเป็นแบบเจ้าขุนมูลนายหรือแบบข้ารัฐการ) กล่าวให้ง่ายก็คือ การเขียนบทความเรื่องนี้เพื่อต่อต้านความเป็นรัฐข้าราชการ (anti-authoritarian gesture)

4. สาเหตุของการเขียนมรณกรรมของผู้แต่ง ประเด็นที่ 2 ก็คือ การเกิดขึ้นของวรรณกรรมที่เรียกขานกันว่า วรรณกรรมหลังสมัยใหม่ (postmodern literature) เมื่อมองจากสาเหตุนี้การเขียนมรณกรรมของผู้แต่งคือความพยายามในการวิเคราะห์การเขียนแบบใหม่นั่นเอง

5. ในบทความที่เราผมจับความได้มีว่า “ในเรื่อง Sarrasine ของ Balzac ที่ได้บรรยายชายที่ถูกตอน และแสร้งว่าเป็นผู้หญิง Balzac ได้เขียนว่า “นี่เป็นผู้หญิง ที่มีความกลัว, ที่มีใจไร้เหตุผล, ที่มีความกังวลแบบสัญญาติญาณ, ที่มีความกล้าบ้าบิ่น และมีความอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง” แล้วใครหละเป็นคนพูดประโยคเหล่านี้? เป็นวีรบุรุษที่ไม่รู้ว่าชายถูกตอนอยู่ในร่างของผู้หญิงหรือ? เป็น Balzac ที่เป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งเชี่ยวชาญปรัชญาของผู้หญิงหรือ? เป็น Balzac ที่เป็นผู้แต่ง และนำแนวคิดแบบสตรีนิยมหรือ? เป็นภูมิปัญญาจักรวาลหรือ? เป็นจิตวิทยาโรแมนติกหรือ? ไม่มีวันที่เราจะรู้ความจริงข้อนี้ได้ เพราะว่า การเขียนคือการทำลายเสียงทุกเสียง และทุกๆสิ่งที่เป็นของต้นฉบับ (origin) การเขียนเป็นกลาง, ประกอบสร้างจากหลายสิ่ง, เป็นพื้นที่ที่คลุมเครือ คลุมเครือเพราะประธาน (subject) ได้หายไป, เป็นด้านลบ เพราะทุกอัตลักษณ์ถูกทำให้หายไป เหลือแต่อัตลักษณ์ยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เขียน (ผมเข้าใจว่าอัตลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่นี้ก็คือ ภาษา)

6. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

เมื่อเราบรรยายข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงอันนั้นก็ไม่เหมือนเดิม ผมเข้าใจว่าเพราะคนเราตีความอยู่ตลอดเวลา “ไม่ต้องสนใจเลยว่ามันจะเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ทันทีที่ข้อเท็จจริงถูกบรรยาย ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความจริงก็หดหาย หรือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกกระทำ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการกระทำของสัญลักษณ์เท่านั้น ความไม่ต่อเนื่องก็บังเกิด เสียงก็หดหายจากความเป็นต้นฉบับ ผู้แต่งก็ถึงกาลมรณะ การเขียนจึงเกิดขึ้น (โปรดสังเกตว่าเมื่อทุกอย่างกลายเป็นสัญลักษณ์ ความเป็นฉบับก็ไม่มี ผู้แต่งก็หายไป เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างแล้ว การเขียน ที่ไม่มีผู้แต่งจึงเกิดขึ้น)

7. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อครับ

ในตอนต่อไป Barthes จะบอกถึงประวัติศาสตร์ของมรณกรรมของผู้แต่ง “อย่างไรก็ตาม นัยยะของปรากฏการณ์นี้ก็มีอย่างหลากหลาย เช่น สังคมที่อยู่ในงานทางชาติพันธุ์วรรณนา ผู้ที่รับผิดชอบต่อเรื่องเล่าจะไม่ใช่บุคคลทั่วไป แต่จะเป็นคนทรง หรือหมอผี ผู้แต่งเป็นของที่อยู่ในสมัยใหม่ เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในยุคกลางที่มีประจักษ์นิยมแบบอังกฤษ, เหตุผลนิยมแบบฝรั่งเศส, และศรัทธาในตัวมนุษย์ที่อยู่ในช่วงปฏิรูป ยุคนี้เป็นยุคที่ให้คุณค่ากับปัจเจกบุคคล หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่าบุคคลที่เป็นมนุษย์

8. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อครับ

ประวัติศาสตร์ของมรณกรรมของผู้แต่ง “ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผลที่ว่าวรรณกรรมควรจะเป็นประจักษ์นิยมแบบวิทยาศาสตร์, สิ่งที่ดีเลิศ, และท้ายที่สุดก็คืออุดมการณ์แบบทุนนิยม ซึ่งจะให้ความสำคัญของบุคคลว่าเป็นผู้แต่ง ผู้แต่งยังคงเป็นหลักในประวัติศาสตร์วรรณกรรม, ประวัติของผู้แต่ง, บทสัมภาษณ์ต่างๆ, นิตยสารต่างๆ, ไดอารี่, บันทึกความทรงจำ ภาพลักษณ์ของวรรณกรรมที่พบเห็นได้ในวัฒนธรรมทั่วไปจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้แต่ง, บุคคลของผู้แต่ง, ชีวิตของผู้แต่ง, รสนิยมของผู้แต่ง, ความกำหนัดของผู้แต่ง ในขณะที่การวิจารณ์ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับผู้แต่ง เช่น งานของ Baudelaire คือ ความผิดพลาดของตนเอง, ความบ้าของ Van Gogh, ความโหดร้ายของ Tchaikovsky คำอธิบายของงานสามารถหาได้ในตัวผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย ที่ผลิตงานนั้นออกมา ราวกับว่าจุดสุดท้ายของการวิจารณ์จะอยู่ที่ผู้แต่ง เสียงของผู้แต่ง จะทำให้เรามั่นใจ

9. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อครับ

ในช่วงนี้ Roland Barthes ยกตัวอย่างนักเขียนที่ต้องการจะผ่อนคลายผู้แต่งลง Barthes ยกมาหลายท่านครับ เริ่มตั้งแต่ Mallarme, Valery, Proust เป็นต้น แต่ที่ผมแปลออกมีเพียงแค่คนเดียว ซึ่งก็คือ Marllarme “ถึงแม้ว่าการเข้าข้างผู้แต่งจะยังมีอำนาจมากๆ (การวิจารณ์แบบใหม่ (new criticism) ทำให้ผู้แต่งแข็งแรงขึ้น) แต่ก็มีนักเขียนบางคนพยายามที่จะทำให้การยึดที่ผู้แต่งผ่อนคลายลง ในฝรั่งเศส ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Mallarme ต้องการที่จะให้ภาษามาแทนบุคคล จนทำให้เรารู้สึกว่าภาษามาแทนผู้แต่งได้ สำหรับเขา และเราด้วยเหมือนกัน ภาษาซึ่งพูดผ่านเรา ไม่ใช่พูดผ่านผู้แต่ง การเขียน ต้องผ่านสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงภาษาที่กระทำหรือแสดง ไม่ใช่ตัวฉัน ในงานกวีนิพนธ์ของ Mallarme คือการกดทับผู้แต่ง โดยให้ความสำคัญกับการเขียน (ซึ่งในที่สุดก็คือการให้พื้นที่กับผู้อ่านขึ้นมา)”

10. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

ตอนนี้ Barthes ต้องการให้เราเห็นความแตกต่างของคำว่า ผู้แต่ง (the author) กับ ผู้บันทึก (scripter) ขึ้นมา ผมขอแปลว่าผู้แต่งก่อนนะครับ ผู้แต่งถือเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ เป็นเส้นตรงตั้งแต่การเขียนถึงหลังเขียน ผู้แต่งคือผู้ที่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูหนังสือ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งปรากฏขึ้นก่อนหนังสือ เป็นผู้คิด, ผู้ทนทุกข์, ผู้ดำรงอยู่เพื่อหนังสือ คล้ายๆกับพ่อที่มีลูกก็คือหนังสือนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้บันทึก (scripter) เป็นของสมัยใหม่ เกิดขึ้นมาพร้อมตัวบท (text) บอกไม่ได้ว่าเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเขียน ไม่เป็นประธานรวมทั้งการแสดงในหนังสือด้วย ไม่มีอะไรมากไปกว่าการออกเสียง และตัวบททุกชนิดเขียนขึ้นเพื่อที่นี่และเดี๋ยวนี้

11. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

อย่าลืมว่าการปรากฏขึ้นของผู้บันทึก (scriptor) เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเขียน (writing) ดังนั้น “การเขียนจึงไม่ใช่การบันทึก, เรื่องเล่า, การโฆษณา, ภาพตัวแทน, หรือการพรรณนาอีกต่อไป แต่การเขียนก็เป็นสิ่งที่เรียกกันว่า ปฏิบัติการแสดง (per formative) แล้วปฏิบัติการแสดงคืออะไร และการเขียนคืออะไรได้บ้าง ในแง่ผู้บันทึก จะต้องตัดออกจากเสียงทุกเสียง เกิดขึ้นโดยตัวอักษร มิใช่เกิดเพราะต้องการการแสดงออก เป็นตัวแกะรอย มิใช่เป็นต้นฉบับ หรืออย่างน้อยที่เป็นได้ก็คือ ไม่มีต้นฉบับอันใดนอกจากภาษา เมื่อมองในแง่นี้ ภาษาตั้งคำถามกับต้นฉบับทุกชนิด” (พูดให้ง่ายก็คือ สิ่งที่ Barthes ต้องการแสวงหาก็คือ สหพันธบท หรือ intertextuality นั่นเอง)

12. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อครับ

คำถามที่ต้องถามต่อไปก็คือ แล้วตัวบทวรรณกรรมคืออะไร? จากการแปลผมเห็นว่าตัวบทวรรณกรรม คือพื้นที่ที่มีหลายมิติ ในพื้นที่นั้นต้องมีความหลากหลายของการเขียน และไม่มีต้นฉบับ, คลุกเคล้ากลมกลืน, บางครั้งก็แตกหักจากกัน ตัวบทคือกระดาษบางๆ หรือ tissue ที่เป็นการอ้างคำพูดมาอ้างอิงจากศูนย์กลางของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย” ในข้อ 12 นี้มีคำสำคัญ เช่น กระดาษบาง (tissue), ศูนย์กลาง (centres), การเขียน (writing), การกลมกลืน (blend)

13. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

ในความคิดของเขา “ผู้บันทึก (scriptor) ไม่น่าจะใช่มนุษย์ เพราะว่าผู้บันทึก ขาดความสามารถที่จะรู้สึก ทำหน้าที่เหมือนกับที่เก็บคำ เพื่อการใช้ ดังนั้น ผู้บันทึกจะไม่มีอารมณ์กำหนัด (passions), อารมณ์ขัน (humors), ความรู้สึก (feeling), ความประทับใจ (impression)อีกต่อไป แต่จะคล้ายกับพจนานุกรม ที่ผู้บันทึกสามารถที่จะเขียนได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด, เป็นชีวิตที่ไม่อะไรนอกจากการเลียนแบบหนังสือ, และหนังสือโดยตัวของมันเองเป็นเพียงแค่กระดาษบางเบาที่เต็มไปด้วยสัญญะของการเลียนแบบ ที่ไม่รู้ความหมาย และผัดผ่อนความหมายเรื่อยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดความหมาย (significance) ในข้อนี้ก็คือ แนวคิดเรื่องการตีความ เขารู้สึกว่า การตีความก็เป็นไร้ประโยชน์

14. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

สำหรับเขาแล้ว การตีความ เป็นบางสิ่งที่เขาเรียกว่า กิจกรรมการต่อต้านศาสนา ข้อความนี้คืออะไร “ในความหลากหลายของการเขียน ทุกๆสิ่งสามารถที่จะถูกทำให้คลี่คลายลงได้, ไม่มีสิ่งใดจะถูกค้นพบ โครงสร้างก็คือโครงสร้าง, วิ่งไปในทุกๆจุดและทุกๆระดับ แต่ไม่มีสิ่งใดอยู่ข้างใต้: พื้นที่ของการเขียนจะถูกจัดลำดับ, ไม่มีการถูกแทง (หรือตีความ), การเขียนต้องไม่มีความหมายใดๆ และไม่ต้องสำนึกถึงสิ่งหมายใดๆ”

15. มรณกรรมของผู้แต่ง (the death of the author) ต่อ

แล้วหน้าที่ของคนอ่านที่มีต่อการเขียนเป็นอย่างไร สำหรับเขาแล้ว “ผู้อ่านก็คือพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยการอ้างอิงที่มาจากที่อื่น ซึ่งสร้างการเขียนขึ้นมาในรูปของตัวอักษร โดยที่ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องถูกทำให้หายไป ความสามัคคีของตัวบท (text’s unity) ไม่ได้ดำรงอยู่ในความเป็นต้นฉบับ แต่ดำรงอยู่ในจุดหมายปลายทาง (destination) อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางนี้จะต้องไม่เป็นส่วนบุคคล (personal): ผู้อ่านที่ไม่มีประวัติศาสตร์, ไม่มีประวัติชีวิต, ไม่มีจิตวิทยา, ผู้อ่านเป็นเพียงแค่ใครบางคน ที่นำร่องรอยทุกชนิดในตัวบทมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน” สรุปว่า การเกิดขึ้นของผู้อ่าน จะเข้าแทนที่ การตายของผู้แต่ง ทำไมจึงเช่นนั้นไปได้?

แปลและเรียบเรียงจาก

Roland Barthes. The death of the author. เอกสารpdf.

หมายเลขบันทึก: 607204เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท