ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟาง


การเพาะเห็ดฟาง
การเพาะเห็ดฟางแบ่งออกเป็น 4 วิธี คือ แบบกองสูง แบบกองเตี้ย การเพาะในโรงเรือน และเพาะด้วยวัสดุประยุกต์ แต่เนื่องด้วยเอกสารหลายฉบับ มีวิธีการเพาะในแบบกองสูง และแบบกองเตี้ยที่แตกต่างกัน จนมักทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนตามชื่อวิธีกับสภาพความเป็นจริงที่เกษตรกรเพาะ โดยเฉพาะลักษณะความสูงของกอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอรูปแบบตามชื่อของวิธีที่อ้างอิงถึงความสูงของกองฟางเป็นหลัก ดังนี้
1. การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง
เป็นวิธีเพาะแบบดั่งเดิมที่คิดค้นโดยอาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ผู้ริเริ่มการเพาะเห็ดฟางในไทยครั้งแรก เป็นลักษณะการเพาะด้วยการกองฟางให้สูงขึ้นหรืออัดฟางในแบบไม้เป็นชั้นๆ เป็นรูปแแบที่มีการใช้ฟางหรือวัสดุเพาะจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีการเพาะด้วยวิธีนี้อยู่ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เป็นเพียงการเพาะเพื่อนำมาบริโภคภายในครอบครัวหรือจำหน่ายเป็นตลาดเล็กๆเท่านั้น

hedphang8

การเพาะแบบกองสูง

2. การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
เป็นวิธีการกองฟางหรืออัดฟางเป็นชั้นๆ วางบนพื้นดิน อาจเป็นชั้นเดียวเตี้ยหรือหลายชั้นสูงก็ได้ มีลักษณะเป็นก้อนรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก เป็นรูปแบบที่มีการใช้ฟางหรือวัสดุเพาะจำนวนมาก แต่มีพื้นที่การเกิดเห็ดฟางมากกว่าวิธีกองสูง

hedphang7

การเพาะแบบกองเตี้ย

3. การเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือน
เป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่พัฒนามาจากการเพาะแบบกองเตี้ยที่นิยมเพาะกันมานาน มักใช้สำหรับการเพาะเชิงพาณิชย์สำหรับตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อดี คือ
– ทำได้สะดวก รวดเร็ว ใช้พื้นที่น้อย และสามารถกองเป็นชั้นๆได้
– สามารถผลิตเห็ดฟางออกจำหน่ายได้ทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ และน้ำท่วมขัง
– สามารถดูแล ป้องกันศัตรูทำลาย และควบคุมคุณภาพดอกเห็ดให้สม่ำเสมอได้ง่าย

hedphang9

เพาะในตะกร้า

4. การเพาะเห็ดฟางบนวัสดุประยุกต์ เช่น การเพาะเห็ดฟางในตระกร้า ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรในแถบชุมชนเมือง

แบบโรงเรือน

วิธีการเพาะเห็ดฟาง
1. การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง
การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงสามารถเพาะได้ทั้งในที่ร่มหรือกลางแจ้ง แต่พื้นที่เพาะต้องเป็นที่ราบ และมีพื้นเรียบ มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมง่าย
วัสดุ อุปกรณ์
– ฟางข้าวหรือตอซัง
– ไม้โครง สูงประมาณ 50-80 ซม. ตามความสูงกองที่ต้องการ หรือไม้ยาวที่สามารถโค้งงอได้ ปัจจุบันเพื่อให้ง่าย บางพื้นที่มีการใช้ไม้แบบเพื่ออัดฟางให้เป็นก้อนสูง
– ผ้าพลาสติกคลุมแปลง
– บัวรดน้ำ

– แป้งข้าวสาลีหรือแป้งข้าวจ้าว
– เชื้อเห็ดฟาง

ขั้นตอนการเพาะ
– นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วัน
– นำหลักมาปักมุมทั้งสี่ด้าน โดยออกแบบกองให้ด้านยาววางแนวขวางทิศตะวันออก กว้างประมาณ 50-70 ซม. ยาวประมาณ 4 เมตร ช่วงยาวปักหลักยึดอีก ฝั่งละ 3 ช่วง เพื่อกั้นขอบแนวฟาง หรือเป็นขั้นตอนการวางไม้แบบ
– นำฟางข้าวที่แช่น้ำได้แล้ววางในแนวเดียวกันตามทางยาว พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม และขึ้นเหยียบให้ได้ความสูงประมาณ 10 ซม. จากนั้น โรยเชื้อเห็ดฟางตามขอบกอง โดยให้ห่างจากขอบลึกเข้าไปประมาณ 10-12 ซม. ก็จะได้ชั้นที่ 1
– นำฟางมาเรียงทับ โดยให้หันปลายฟางสลับกันกับกองฟางในชั้นแรก รดน้ำแล้วกดหรือขึ้นเหยียบให้สูงประมาณ 10 ซม. เหมือนกับกองชั้นแรก จากนั้นโรยเชื้อเห็ดที่ผสมกับแป้งสาลีแล้ว ก็จะได้ชั้นที่ 2
– ทำตามขั้นที่ 1 และ 2 เรื่อยๆจนได้กองสูงตามต้องการ โดยแนะนำให้กองสูงในฤดูหนาวสูงกว่าฤดูร้อน เพราะการเพาะในฤดูร้อนหากกองสูงมากอาจทำให้เชื้อตายจากอุณหภูมิจากการหมัก และสภาพอากาศได้ง่าย
– นำผ้าพลาสติกคลุมให้ทั่วกอง ควรปล่อยให้มีช่องลมเล็กน้อยเพื่อระบายอากาศ และรักษาความร้อนที่เหมาะสม

ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ในบางพื้นที่เกษตรมีการใช้อาหารเสริม เช่น รำข้าว กากมันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง เป็นต้น ใช้โรยตามขอบกองก่อนโรยเชื้อเห็ด เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และทำให้ดอกเห็ดใหญ่

การดูแล
– ในช่วงหลังการเพาะ 3-4 วัน แรก ไม่ต้องรดน้ำ
– ประมาณวันที่ 3-5 จะพบเห็นการเติบโตของเชื้อเห็ดฟางที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวหรือเกิดตุ่มเห็ดจำนวนมาก
– ประมาณวันที่ 4-5 ให้ตรวจเช็คความชื้น ด้วยการบีบฟางข้าวดู หากฟางข้าวมีน้ำไหลออกแสดงว่าความชื้นยังเพียงพอ แต่หากบีบฟางแล้วรู้สึกแห้งกรอบ ไม่มีน้ำเลยจำเป็นต้องรดน้ำให้ชุ่ม
– ในระยะประมาณวันที่ 7-9 ดอกเห็ดจะเติบโตพร้อมสามารถเก็บผลผลิตได้ ในระยะนี้ห้ามรดน้ำเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเน่าได้

2. การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟาง ด้วยการกองฟางบนดินเพียงชั้นเดียวหรือ 2-3 ชั้น ที่กองไม่สูงมาก ปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่เพาะเห็ดฟางเพื่อบริโภคเองหรือจำหน่ายตามครัวเรือนเล็กๆ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีใช้ไม้แบบ และไม่ใช้ไม้แบบ
วัสดุ อุปกรณ์
– ฟางข้าว
– อาหารเสริม เช่น รำข้าว กากมันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง เป็นต้น
– ไม้โครง
– ผ้าพลาสติก
– บัวรดน้ำ
– แป้งข้าวสาลีหรือแป้งข้าวจ้าว
– เชื้อเห็ด

ขั้นตอนการเพาะ (แบบไม่ใช้ไม้แบบ)
– นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วัน
– นำฟางข้าวที่แช่น้ำได้แล้ววางเป็นกองในแนวเดียวกันตามทางยาว เพียงชั้นเดียว รดน้ำให้ชุ่ม พร้อมใช้มือกดหรือขึ้นเหยียบให้มีความสูงประมาณ 10-15 ซม. ความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม
– นำอาหารเสริมมาโรยทับให้ทั่ว พร้อมโรยด้วยเชื้อเห็ดฟางที่คลุกกับแป้งสาลี
– นำฟางมามาโรยทับบางๆ หรือให้หนาเพียง 1-2 ซม. เท่านั้น และรดน้ำพอชุ่ม
– ทำการปักหลักยึดโครง พร้อมนำผ้าพลาสติกคลุมให้ทั่วกอง และปล่อยให้มีรูระบายอากาศเล็กน้อย

ขั้นตอนการเพาะ (แบบใช้ไม้แบบ)
– นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วัน
– นำฟางข้าวที่แช่น้ำได้แล้ววางอัดเป็นกองในไม้แบบ กว้างประมาณ 30 ซม. สูง 20-30 ซม. ความยาวตามความเหมาะสม รดน้ำให้ชุ่ม พร้อมใช้มือกดหรือขึ้นเหยียบให้มีความสูงประมาณ 10 ซม.
– นำอาหารเสริมมาโรยทับให้ทั่ว โดยโรยห่างจากขอบกองลึกประมาณ 8-10 ซม. พร้อมโรยด้วยเชื้อเห็ดฟางที่คลุกกับแป้งสาลี หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
– นำฟางมามาโรยทับเป็นชั้นต่อไป และโรยเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะได้ชั้นเห็ดที่ 3 ชั้น จากความสูงกอง 30 ซม. ชั้นสุดท้ายโรยฟางปิดบางๆ พร้อมแกะไม่แบบออก
– ปักหลักยึดโครง และคลุมด้วยผ้าพลาสติก

*การดูแล และระยะการเก็บผลิตเหมือนวิธีแรกที่กล่าวมา*

หมายเลขบันทึก: 606613เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท