ประวัติเห็ดฟาง


ประวัติเห็ดฟาง

การนำเห็ดฟางมาใช้ประโยชน์เริ่มแรกสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นที่ประเทศจีนจากหนังสือของ SHU-TING CHANG ที่กล่าวถึงชาวจีนรู้จักการนำเห็ดฟางมาป็นอาหาร และปรุงเป็นยาตั้งแต่สมัยราชวงศ์เชา และเริ่มมีการเพาะในแถบจังหวัดแคนตัน มณฑลกวางตุ้ง และขยายไปทางตอนใต้ของจีนแถบเมืองกวางลี เกียงลี ฟูเคน และฮูนาน จนขยายลงมาถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย (วัลลภ พิเชฐกุล, 2526. อ้างถึงใน SHU-TING CHANG, 1972. The chainese Mushroom.)(1)

ประวัติการเพาะเห็ดฟางในประเทศไทยเริ่มครั้งแรกในปี 2480 โดยอาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ที่นำเชื้อจากห้องทดลองมาเพาะในแปลงสถานีกลางบางเขนได้สำเร็จ และนำเชื้อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกครั้งแรกในปี 2481 (วัลลภ พิเชฐกุล, 2526. อ้างถึงใน ก่าน ชลวิจารณ์, การเพาะเห็ดในประเทศไทย)(1)

ในปี 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการศึกษา และทดลองเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยได้สำเร็จ จนเป็นที่มาของรูปแบบการเพาะเห็ดแบบนำฟางกองบนพื้นหรือกองเรียงเป็นชั้นๆ ต่อมาปี 2514 ได้ริเริ่มเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนขึ้นจนเป็นที่มาของรูปแบบการเพาะเห็ดฟางในปัจจุบัน

ในปี 2521 ชมรมเห็ดฟางในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งสมาคมนักวิจัย และเพาะเห็ดฟางแห่งประเทศไทยขึ้น และได้มีการเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเห็ดฟางแก่บุคคลทั่วไป

ลักษณะของเห็ดฟาง
1. หมวกดอก (pileus)
หมวกดอกหรือดอกเห็ด มีลักษณะคล้ายร่ม ผิวเรียบสีขาวเทาจนถึงดำ ตามสายพันธุ์ และสภาพแวดล้อม กลางดอกเว้าเป็นแอ่ง มีสีเข้ม และจางลงบริเวณขอบดอก ขอบดอกคุ้มลงหรือแบนราบ ขนาดดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 – 14 ซม. เนื้อเห็ดสามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อซ้ำ และถูกอากาศ

2. ครีบ (gills)
ครีบส่วนเป็นแผ่นเล็กๆ ใต้หมวกเห็ด เรียงกันเป็นแนวขวางจากก้านดอกไปที่ปลายดอก ประมาณ 300 – 400 ครีบ ระยะห่างประมาณ 1 มม. ครีบดอกเปลี่ยนจากสีชมพูอ่อนเป็นสีน้าตาลเข้มเมื่อถึงระยะสืบพันธุ์ เนื่องจากมีการสร้างสปอร์ สปอร์ใสไม่มีสี รูปไข่ กว้างประมาณ 4.5 ไมครอน ยาวประมาณ 7.3 ไมครอน

3. ก้านดอก (stipe)
ก้านดอกทำหน้าที่ชูดอกเห็ด และลำเลียงสารอาหารให้แก่ดอกเห็ด เชื่อมอยู่ระหว่างฐานดอก และกึ่งกลางดอก ก้านดอกมีลักษณะเป็นแท่งกลม มีสีขาว ประกอบด้วยเส้นใยที่เรียงตัวกันแน่น

4. ปลอกหุ้ม (volva)
ปลอกหุ้มเป็นส่วนนอกสุดของเห็ด ทำหน้าที่หุ้มป้องกันอันตรายให้แก่ดอกเห็ด และจะปริออกเมื่อดอกเห็ดเติบโตในระยะยืดตัว และจะหุ้มอยู่บริเวณโคนก้านดอกเห็ด

5. เส้นใยเห็ด (mycelium)
เส้นใยเห็ดมีช่วงชีวิตเป็น 3 ตอน คือ
– เส้นใยขั้นแรก เป็นเส้นใยยาว เป็นช่องๆ แต่ละช่องมีหนึ่งนิวเคลียส เส้นใยชนิดนี้ยังไม่สามารถสร้างดอกเห็ดได้
– เส้นใยขั้นที่สอง เป็นเส้นใยที่มีการรวมกันของเส้นใยชนิดแรกที่สามารถเจริญเป็นตุ่มเห็ดได้
– เส้นใยขั้นที่สาม เป็นเส้นใยที่เกิดจากการรวมกัน และพัฒนาของเส้นใยขั้นที่สองทำให้มีลักษณะโครงร่างเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์

คำสำคัญ (Tags): #ประวัติเห็ดฟาง
หมายเลขบันทึก: 606611เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท