กาแฟไต้ร่มสวนยาง .....มีความเป็นไปได้ขนาดไหน??????????


มีคำถามจากคนปลูกยางเยอะมากว่าจริงๆ แล้ว สามารถปลูกกาแฟ (อราบิก้า) ใต้ร่มสวนยางได้มั้ย เพราะหลายข้อมูลบอกว่าได้ แต่หลายคำแนะนำบอกไม่ได้ ............เกิดคำถามจึงต้องหาคำตอบกันว่าแท้จริงแล้วปลูกได้มั้ย? คุ้มค่ามั้ย? (ความเห็นส่วนตัวจากที่ได้ข้อมูล..อยู่ตอนท้ายนะคับ)

ความเป็นไปได้การปลูกกาแฟใต้ร่มยางพารา

กาแฟ นับเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของโลก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบนพื้นที่สูงของประเทศเอธิโอเปีย สายพันธ์หลัก ๆ มี 2 สายพันธุ์

ได้แก่โรบัสต้า ลักษณะพันธ์ต้นสูงใหญ่ และให้ผลิตเยอะกว่า ประเภทสายพันธ์อาราบิก้า ในสารกาแฟ จะมีคาเฟอีที่สูง ทำให้รสชาติค่อนข้างจะขม แหล่งปลูกเยอะคือประเทศเวียดนาม อินโตนีเซีย

อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ อาราบีก้า เป็นกาแฟที่มีคุณภาพดี ให้ทั้งรสชาติ (flavour) และกลิ่นหอม (aroma) ลักษณะทรงพุ่มขนาดเล็ก

สำหรับประเทศไทยปลูกกาแฟโรบัสต้า ร้อยละ 98 โดยมากปลูกทางภาคใต้เช่น ระนองสุราษฎร์ธานี และชุมพร อีกประมาณร้อยละ 2 เป็นกาแฟอราบิก้าซึ่งปลูกมากตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือ กาแฟที่มีชื่อเสียงของไทยได้แก่ กาแฟดอยช้าง ซึ่งปลูกบนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ถือว่าเป็นกาแฟได้จากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล และรสชาติดีเทียบเคียงกับกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก


ความเห็นและความจริงจากผู้เกี่ยวข้องจากการปลูกกาแฟ

พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกกาแฟควรเป็นที่ๆมีความสูง ประมาณ 800-12,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความลาดชันไม่เกิน 50% การเตรียมพื้นที่พร้อมสำหรับปลูกกาแฟ ในฤดูฝน ที่ (ประมาณมิถุนายน-กรกฎาคม) (ข้อมูล ..กรมวิชาการเกษตร)

สามารถเติบโตได้ดี ระดับความสูง ที่ 450 จากระดับน้ำทะเล มีรสชาติที่นุ่ม และมีกลิ่นหอมกลมกล่อม ให้ความขมและเปรีย้วน้อยกว่า โรบัสต้าซึ่งมีอัตราคาเฟอีนสูงกว่า ฉะนั้นความดูแลเอาใจใส่มากกว่า ทำให้ราคาสูงกว่าพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่จะนำกาแฟทั้งสองชนิดมาผสมตามสัดส่วนที่ตลาดต้องการ (ข้อมูล..จากบริษัทเอกชน ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องการกาแฟ)

อันที่จริงกาแฟอาราบิก้านั้นสามารถปลูกได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเล เพียงแต่ต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นผิวดิน ไม่ให้ดินมีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศา (ให้ดีราว 25-29 องศา จะเหมาะสุด ซึ่งควบคุมได้ง่ายดายมากด้วยการปลูกไม้บังร่ม และให้ระบบน้ำหยุด,,,ส่วนการดูแลรักษานั้นไม่ยาก เพียงแค่เอาใจใส่เล้กน้อย เน้นเรื่องความชื้นและอุณหภูมิแค่นั้นเอง ที่ใครๆ บอกว่าต้องปลูกบนดอยสูงนั้นเป็นเรื่องความเชื่อครับ ที่เมืองกาญจน์ ปลูกได้ดี ที่ปากช่องก็ผลใหญ่ เมืองจันทน์ก็ปลูกได้ ผมเองกำลังจะไปปลูกที่ปทุมธานี (ข้อมูล....จากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายใหญ่ และทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟครบวงจร จ.เชียงราย)

ข้อมูลพื้นฐานโดยทั่วไป

  • พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟคือพื้นที่ร่มมีแสงแดดอ่อนประมาณ 50% หรือแทรกระหว่างต้นไม้อื่น อาราบีก้าเป็นกาแฟที่ปลูกในที่มีอากาศเย็น เช่น ทางภาคเหนือของประเทศไทยจึงจะให้ผลผลิตที่ดีการปลูกในที่มีแสงแดดจัดเกินไป ลักษณะต้นและใบจะไม่ค่อยสวยงามการออกดอกมีมากแต่ขนาดและความสวยงามจะลดลง
  • ต้องการการปรับตัวในช่วงปีแรกเมื่อปลูกในที่ราบและอุณหภูมิค่อนข้างสูงอย่างที่สวนไม้หอมของฝ่ายปฏิบัติการวิจัยฯ ดังนั้นจึงต้องดูแลในเรื่องแสงและน้ำเป็นพิเศษในช่วงปีแรก
  • พยายามรักษาความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 %
  • อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
  • มีการกระจายของฝน 5 - 8 เดือน
  • พื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระยะเวลาออกดอก ถึงเก็บเกี่ยวใช้ระยะเวลา ประมาณ 6 เดือน
  • พื้นที่ระดับความสูง 700 – 1,200 เมตร จากระดับทะเล ระยะเวลาออกดอกถึงเก็บเกี่ยวใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน
  • ระยะการปลูกกาแฟ 2x2 เมตร ในพื้นที่หนึ่งไร่ ปลูกได้จำนวน 400 ต้น ในกรณีใต้ร่มยาง ควรปลูกระยะประมาณ 2x2 เมตรแถวคู่แนวยาวระหว่างแถวยางพารา
  • ควรจะเริ่มปลูกได้เมื่อต้นยางพาราได้ 4 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีทรงพุ่มที่เพียงพอต่อการให้ร่มเงาต้นกล้ากาแฟ
  • กาแฟต้องการร่มเงาที่มีแสงรำไร หากสวนยางที่ทรงพุ่มค่อนข้างทึบเกินไป อาจส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง
  • โดยทั่วไป กาแฟเริ่มออกดอกช่วง ธันวาคม- มกราคม ของทุกปี (แต่ละพื้นที่อาจไม่ตรงกัน) ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สวนยางเริ่มผลัดใบ
  • ด้านการตลาด ปัจจุบันมีพ่อค้าท้องถิ่นมารับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่หากส่งเสริมในระดับกว้าง ควรหาตลาดรองรับเพิ่มเติม
  • ราคาผลผลิตต่อหน่วยของกาแฟในพื้นที่ราบจะต่ำกว่าบนพื้นที่สูง แต่ระยะเวลาในการออกดอกจนถึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะสั้นกว่าในเขตพื้นที่สูง

ปัจจัยที่มีผลต่อรสชาติของกาแฟ

เพื่อที่จะรู้จักกับศาสตร์และศิลปะแห่งการดื่มกาแฟอย่างแท้จริงเราจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อรสชาติของกาแฟ

- สายพันธุ์กาแฟ เช่นอราบิก้าหรือโรบัสต้า

- ถิ่นที่ปลูก เช่นปลูกที่สูงมากจะทำให้สุกช้า ความหนาแน่นของเมล็ดมากทำให้รสชาติดี

- กรรมวิธีการผลิตสารกาแฟ (Green beans) เช่นกรรมวิธีแบบแห้ง หรือกรรมวิธีแบบเปียก

- การคั่ว เช่นการคั่วอ่อนจะให้รสชาติเปรี้ยวชัดเจนกว่าการคั่วเข้ม

- การเก็บรักษา เช่นกาแฟที่โดนอากาศ แสงแดด ความร้อน หรือความชื้น จะมีกลิ่นหืน

- การชง เช่นการแท้มป์กาแฟเบาเกินไปจะทำให้ได้รสชาติที่จืดจาง

อายุการเก็บเกี่ยว
ผลกาแฟในแต่ละสภาพพื้นที่ปลูกไม่พร้อมกันจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากที่ปลูกแล้วในปีที่ 3 แต่จะสามารถให้ผลผลิตได้เต็มที่ในอายุปีที่ 5 ซึ่งช่วงเวลาและระยะการออกดอกดอกจนกระทั้งผลสุก(เชอรี่) ขึ้นอยู่กับสถานที่ปลูก

การปลูก

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพื้นที่

1. ทำแนวระดับโดยใช้อุปการณ์ช่วย เช่น ไม้รูปตัวเอเขาควาย หรือระดับน้ำ ทำแนวปลูกกาแฟ โดยมีระยะระหว่างต้น 2 เมตรระยะห่างระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความลาดชัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2-2 เมตร

2. ขุดหลุมปลูกกาแฟขนาด 0.5 x 0.5x 0.5 เมตร (หรือ 1 X 1 X 1 ศอก) แยกหน้าดินกับดินก้นหลุม ออกจากกันหน้าดินจะใช้ผสมใส่ลงที่ก้นหลุม

3. การผสมดินใส่ก้นหลุมจะประกอบด้วย หน้าดิน ปุ๋ยคอกปูนขาว (โดโลไมท์) ปุ๋ยฟอสเฟต และฟูราดาน ผสมให้เข้ากัน ใส่ก้นหลุมไว้

4. กลบด้วยกินก้นหลุมให้เสมอปากใช้ไม้ปักทำเครื่องหมายหลุมไว้

ขั้นตอนที่ 2 การปลูก

1. นำต้นกล้าที่มีขนาดเหมาะสมความสูงประมาณ 45-50 ซม. มีใบ 6-8 คู่ สมบูรณ์แข็งแรงผ่านการฝึกให้ทนทานต่อแสงแดดจัดและการขาดน้ำ ในเบื้องต้นแล้ว

2. นำต้นกล้าลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้กลบดินให้แน่น

3. ใช้ไม้ปักกันลมโยกคลอน


การดูแลรักษาต้นกาแฟ

การกำจัดวัชพืช

กาแฟควรได้รับการกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอในฤดูฝน โดยเฉพาะหลังปลูกใหม่อายุ 1-3 ปี เพราะต้นยังเล็กไม่สามารถเจริญ เติบโตแข่งกับวัชพืชได้

การใส่ปุ๋ย

ในระยะที่กาแฟยังไม่ติดผลควรใส่ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อกาแฟเริ่มติดผลแล้ว (ปีที่ 4 เป็นต้นไป) ต้องใช้ปุ๋ย 15-15-15 ใช้หลักการคร่าวๆคือ ใส่ 3 ครั้ง ในเวลาต้น-กลาง-ปลายฤดูฝนครั้งหนึ่งๆใส่ 30-150 กรัม (1-5 กำมือ) ขึ้นอยู่กับ ปริมาณการติดผลและขนาดการเติบโตของลำต้น

การคลุมโคน
ทุกครั้งหลังใส่ปุ๋ยต้องมีการคลุมโคนต้นเพื่อไม่ให้ปุ๋ย ถูกชะล้างหรือระเหยสูญหายไป นอกจากนั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ควรคลุมโคน เพื่อรักษาความชื้นในดิน ทำให้กาแฟรอดตาย พ้นฤดูร้อนได้

การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งช่วยให้กาแฟสามารถเจริญเติบโต ได้ทรงพุ่มที่สวยงามแข็งแรงผลผลิตสูงสม่ำเสมอ พยายามอย่าให้กาแฟมีลำต้นหลักเกิน 3 ลำต้น (1-3 ลำต้นจะดีที่สุด) และกระตุ้นให้เกิดหน่อใหม่ที่โคนต้นเมื่อต้องการ จะเปลี่ยนลำต้นหลักใหม่ หลังจาก 8-10 ปีผ่านไป

การตัดแต่งกิ่งสำหรับระยะ 3-5 ปีแรก

การตัดแต่งกิ่งแบบ 2 ลำต้น

ต้นกาแฟที่มีลำต้นเดียว ถ้าต้องการให้มีสองลำต้นให้ตัดยอดสูงจากพื้นดินประมาณ 45 ซม. เมื่อมีหน่อใหม่เกิดขึ้น ที่ปลายยอดให้ตัดทิ้งเหลือไว้ 2 กิ่ง ริดกิ่งแขนงที่อยู่ ชิดลำต้นออกให้หมดรวมทั้งกิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่า 30 ซม.จากพื้นดิน เพื่อไม่ให้เป็นมดและแมลงใช้เป็นทางขึ้นต้นกาแฟ

การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นกาแฟอายุตั้งแต่ 8 ปีเป็นต้นไป

หลังจากกาแฟอายุ 8-10 ปีมีจำนวนข้อที่ติดผล น้อยลง สภาพต้นทรุดโทรม และผลผลิตต่ำ ต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้เกิดยอดใหม่ (การทำสาว)


กรณีสวนกาแฟใต้ร่มยางพารา ลุงประกาศ ปานะที และลุงชาติ ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

สวนอยู่ ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ลักษณะพื้นที่ราบ ความชื้นสัมพันธ์ค่อนข้างสูง ดินร่วนซุย เนื่องจากเจ้าของได้นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์โรยลงในระหว่างแถวยาง ร่วมกับใบยางพารา ระดับความสูงที่ 480 เมตร จากระดับน้ำทะเล

เดิมปลูกกาแฟใต้ร่มลำไย ต่อมาได้แบ่งพื้นที่บางส่วนปลูกยางพารา และได้นำกาแฟ มาปลูกใต้ยางพาราเมื่อต้นยางอายุได้ 5 ปี ปัจจุบันยางพาราอายุ 7 ปี กาแฟปลูกได้ 2 ปี เริ่มให้ผลผลิตทั้งยางพาราและกาแฟ

ปกติกาแฟเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ 2 ปี และค่อนข้างเต็มที่เมื่ออายุได้ 5 ปี ผลผลิตเฉลี่ย 15 – 20 กิโลกรัม/ต้น/ปี (ผลเชอรี่) หรือ 2-2.5 กิโลกรัม/ต้น/ปี (กาแฟสาร)

สวนลุงชาติ ได้ขายผลผลิตในรูปกาแฟดิบ (เชอรี่) ให้กับโรงคั่วกาแฟ ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สรวย ในกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาที่ทางโรงคั่วซื้อจากขตปลูกกาแฟในพื้นที่สูง ประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท นอกจากนี้ลุงชาติมีโครงการที่จะขยายการปลูกกาแฟภายใต้สวนยางพาราสวนอื่นๆของลุงเอง เพราะโรงคั่วในพื้นที่พร้อมรับซื้อได้ไม่จำกัด ตลอดถึงโรงคั่วในเขตจังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่ก็ติดต่อมาเช่นกัน ....

ประเด็นข้อเสนอประกอบการพิจารณา

  • ระยะการปลูกกาแฟ 2x2 เมตร ในพื้นที่หนึ่งไร่ ปลูกได้จำนวน 400 ต้น ในกรณีใต้ร่มยาง ควรปลูกระยะประมาณ 2x2 เมตรแถวคู่แนวยาวระหว่างแถวยางพารา
  • ควรจะเริ่มปลูกได้เมื่อต้นยางพาราได้ 4 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีทรงพุ่มที่เพียงพอต่อการให้ร่มเงาต้นกล้ากาแฟ
  • กาแฟต้องการร่มเงาที่มีแสงรำไร หากสวนยางที่ทรงพุ่มค่อนข้างทึบเกินไป อาจส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง
  • โดยทั่วไป กาแฟเริ่มออกดอกช่วง ธันวาคม- มกราคม ของทุกปี (แต่ละพื้นที่อาจไม่ตรงกัน) ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สวนยางเริ่มผลัดใบ
  • ด้านการตลาด ปัจจุบันมีพ่อค้าท้องถิ่นมารับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่หากส่งเสริมในระดับกว้าง ควรหาตลาดรองรับเพิ่มเติม
  • ราคาผลผลิตต่อหน่วยของกาแฟในพื้นที่ราบจะต่ำกว่าบนพื้นที่สูง แต่ระยะเวลาในการออกดอกจนถึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะสั้นกว่าในเขตพื้นที่สูง

ความคิดเห็นและแนะนำส่วนตัวจากศึกษาข้อมูล

1 .สามารถปลูกกาแฟใต้ร่มสวนยางใด้ หลังจากยางได้อายุ 3 ปีขึ้นไป

2. ผลผลิตกาแฟใต้สวนยาง จะไม่เต็มที่หรือเยอะเหมือนปลูกทั่วไป เพราะพอยางโตร่มเงาจะเยอะเกินไป แต่ถ้าสางใบให้ได้รับแสงบ้างจะเพิ่มผลผลิตขึ้นได้

3. ระดับความสุงที่ต่ำกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล กาแฟก็เจริญเติบโตได้ดี และมีตลาดรับซื้อแต่ราคาจะต่ำกว่ากาแฟพื้นที่สูง เฉลี่ย กก.ละ 5-10 บาท (ผลเชอรี่)

4. กาแฟใต้ร่วมยาง คือพืชเสริม ซึ่งมียางเป็นพืชหลัก เพราะฉะนั้นคือการใช้พื้นที่ว่างใต้ร่มยางให้เกิดประโยชน์ แม้ไม่ได้ผลผลิตเต็มร้อยเหมือนทำสวนกาแฟปกติ แต่ดีกว่าปล่อยว่างไว้ (สำหรับคนที่ไม่รู้จะปลูกพืชอะไรร่วมยางนะ)

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก

ลุงประกาศ ปานะที และลุงสุชาติ เกษตรกรชาวสวนยาง ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

http://web.agri.cmu.ac.th

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

www.thecoffeecartel.co.th/index.php?lay

หมายเลขบันทึก: 606610เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2016 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท