เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 10 - 15 พฤษภาคม 2559


15 พฤษภาคม 2559

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2559 เช้านี้มีหลายเรื่องให้กังวลโดยเฉพาะการประชุม กศจ.ในวันที่ 12 พค 2559 ระเบียบวาระยังไม่เสร็จ เดิมเช้านัดประชุมร่วม 3 เขต เพื่อซักซ้อมการนำเสนอวาระให้ราบรื่น ต้องสับเปลี่ยนเวลาไปบ่าย เพราะ สพฐ.เรียกไปประชุมที่เพื่อเตรียมรับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 พค 2559 นนทบุรีจะต้องจัดครูไปร่วมที่เมืองทองธานีเกือบ 4000 คน เมื่อรวมกรุงเทพมหานครและปทุมธานี จะต้องได้ยอดรวม 2 หมื่นคน ท่านเลขาธิการ กพฐ. ประธานการประชุมได้ซักซ้อมฝ่ายต่าง ๆ ในส่วนกลาง ผมถามที่ประชุมเรื่องการแต่งกาย ได้รับการยืนยันว่าชุดสุภาพ ภาพรวมพอไปได้แต่ดูจะไม่ค่อยลงตัวอีกหลายเรื่อง นิทรรศการโรงเรียนประชารัฐ สพป.นนทบุรี เขต 1 รับมาช่วยดำเนินการให้ หลังทานข้าวกล่องมื้อกลางวันเดินทางกลับเขตเพราะมีประชุมร่วม 3 เขต หารือเรื่องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิใน อนุกรรมการ กศจ. 3 คณะ สพป.นนทบุรี เขต 2 และ สพม.3 เตรียมคนมาเสนอ 2 - 3 ราย ของเขต 1 ไม่ได้เตรียมเพราะประธาน กศจ.ท่านให้สิทธิประธานอนุกรรมการ กศจ.สรรหามา ผมในฐานะเลขานุการรับทราบและได้รับการแจ้งรายชื่อบางส่วนมาแล้ว จึงไม่ได้จัดหารายชื่อในส่วนนี้อีก อย่างไรก็ตามที่ประชุมก็จัดคนลงจนครบเพื่อเสนอ กศจ.ตัดสินใจ ในเรื่องของระเบียบวาระก็ให้นำเสนอแบบการประชุมครั้งแรก เป็นรายเขต แต่อย่าให้ยืดเยื้อยาวนาน เลิกประชุมออกมาเซ็นแฟ้มงาน มีหลายเรื่องต้องมาให้ผมตัดสินใจทั้งที่ไม่จำเป็น เช่น การแบ่งคนไปนิเทศติดตามโรงเรียน น่าจะคุยกันนอกแบบในกลุ่มนิเทศฯ ไม่ต้องมาเบิกค่าน้ำกับเงินหลวง หลายเรื่องควรให้ผมรับรู้และตัดสินใจ ก็ไปตัดสินใจเอง รู้อีกทีก็แก้ไขไม่ได้แล้ว นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับผม ต้องปรับตัวไม่เขาก็เราจึงจะไม่เป็นทุกข์

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2559 ตั้งใจเดิมจะเดินทางไปร่วมประชุมของ สพฐ.ที่พัทยา เขาให้รอง ผอ.เขต และ ผอ.กลุ่มแผน ไปประชุม เชิญ ผวจ.นนทบุรี ไปเป็นวิทยากร แต่กังวลว่า ถ้าไปพัทยาวาระการประชุมคงไม่เรียบร้อยในการประชุมพรุ่งนี้ อีกประการหนึ่งเดิมท่านรองฯ พีรากร บุนนาค เคยดูแลเรื่องนี้ก็ไม่อยู่ จึงตัดสินใจประจำเขตเข็นงานให้เสร็จเพราะสำคัญ เช้าคณะโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์มาเยี่ยมได้แลกเปลี่ยนความคิดในการจัดการศึกษากันพอสมควร ตามด้วย นักศึกษาปริญญาเอก จาก มศว.ประสานมิตร มาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญปริญญานิพนธ์ ปฏิเสธว่าผมจบแค่ปริญญาโท จะเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับปริญญาเอกได้อย่างไร เขาก็บอกว่าเอาประสบการณ์ในการทำหน้าที่ ผอ.เขต 13 ปี มาเป็นตัวกำหนด รับการบ้านเขามาเพราะหากไม่รับเขาอาจไม่จบด้วยหมดเวลาแล้ว ตามด้วยบุคคลที่อ้างว่ามาจากยูนิเซฟแต่เอาเข้าใจจะมาเรี่ยไร บ่ายประชุมผู้บริหารโรงเรียนเรื่องรับนายกรัฐมนตรี แบ่งสรรปันส่วนคนที่จะไปในโควตา 800 คน จะจัดค่าพาหนะให้คนละ 200 บาท ก็ลงตัวดี กลับมาลงชื่อในเอกสารคำขอวิทยฐานะ ว.13 เป็นการลงนามที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดเพราะไม่มีเวลา คนอ่านคือกรรมการกลั่นกรองเขารับรองมาแล้ว ลงไปตามวาระการประชุมเพราะ ประธาน กศจ.ประสานมา ปรากฏว่ายังไม่แล้ว เป็นที่น่าสงสารคนทำงานจาก 3 เขตมารวมเป็นเรื่องเดียว ผมเองก็หมดเวลาที่จะผ่อนปรนต้องเสร็จในเย็นนี้ จึงมีภาวะกดดันทุกฝ่าย นั่งรอจนได้วาระการประชุมที่ออกมาสดๆร้อนๆให้ ผวจ.ในฐานะประธาน กศจ. ซึ่งเลขานุการก็ยังไม่ได้อ่านว่าถูกผิดอย่างไร ตัดสินใจว่าต้องปรับทีมงานเลขานุการใหม่จะปล่อยให้ต้องติดตามขนาดนี้จะเสียไมตรีกันไปเปล่า ด้วยเป็นงานใหญ่ที่เสี่ยงสูง หากให้ปัญหาด้านธุรการมาเป็นอุปสรรคจะเสียหายเกินกว่าจะแก้ไขเยียวยา

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 เช้าตรวจระเบียบวาระการประชุมเมื่อคืนมีแก้ไขเล็กน้อย ตั้งทีมงานเลขานุการเพิ่มอีก 2 ราย ช่วยจัดทำรายงานการประชุมที่ต้องฉับไว เพราะมีผลต่อการลงนามในประกาศ คำสั่ง ตามมติที่ประชุม เช้าปาะชุมกองทุนโชติ เกียรตินาวิน และกองทุนประถมศึกษา น่าเสียดายที่คนทำงานในระดับเขตคิดแต่เรื่องงานที่ทำไม่ใช่งานของตัวเองอยากปัดให้พ้นไป ในขณะที่ระดับบนแย่งงานที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของตัว ความคิด 2 ประการนี้สวนทางกัน คิดแบบแรกนำมาแต่ความเสื่อมถอยในบทบาทอำนาจหน้าที่ อาจสบายขึ้น แต่ก็สบายแบบไม่มีคุณค่าอะไร ความคิดแบบสองสร้างความสำคัญให้ตนเองหรือองค์กร สามารถกวาดต้อนทรัพยากรทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมเป็นของตน คนแรกลุกก็ต้องเสียม้า เสียทั้งงานทั้งคน โอกาสดีย่อมไม่มาเคาะประตูสองหน พึงพิจารณาให้รอบคอบและลึกซึ้งจะพบคำตอบ บ่ายประชุม กศจ. มีบรรยากาศที่ลงลึกมากกว่าคราวที่แล้ว ระเบียบวาระของ สพม.3 เดินไปได้แบบชลอตัวเหมือนรถติด แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี มีบางเรื่องที่ผมต้องออกแรงช่วย เพราะความคิด ประสบการณ์และมุมมองของกรรมการต่างกัน ผมมีมุมมองเดียว ต้องรักษากติกาคือความชอบด้วยกฎหมายของการพิจารณาทางปกครองขององค์กรกลุ่ม อย่าง กศจ. ทุกคนฟังเหตุฟังผลก็ผ่านไปด้วยดี วาระของ สพป.นนทบุรี เขต 2 ใช้เวลาน้อยลงเพราะเป็นเรื่องทำนองเดียวกับ สพม.3 ยิ่งของ สพป.นนทบุรี เขต 1 เร็วกว่าทุกเขต จนประธานบอกว่าต่อไปเอาไปไว้วาระแรกบ้าง เมื่อประชุมเสร็จงานต่อมาคือรายงานการประชุม อย่างที่บอกหากรายงานการประชุมไม่เสร็จจะเสนอให้ประธานลงนามในประกาศตามมติที่ประชุมย่อมเป็นไปไม่ได้ คุยกับ 3 เขต ต้องระดมคนมาช่วยกัน วันเดียวก็เสร็จ ออกจากเขตประมาณ 1 ทุ่ม ได้รับโทรศัพท์จากเลขาธิการ กพฐ. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ว่ารายการนายกรัฐมนตรีพบครูพรุ่งนี้ ขอให้ครูแต่งเครื่องแบบสีกากี จึงต้องระดมส่งไลน์ โทรศัพท์สื่อการกันจนเที่ยงคืนจึงครบถ้วน

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2559 แต่งกายเครื่องแบบสีกากีตามนัดหมายเข้าเขตสักพักก็เคลื่อนพลสู่เมืองทอง รถเริ่มติดเล็กน้อย แน่อาคารชาเลนเจอร์คลาคล่ำไปด้วยครูสีกากี เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนถึง 2 หมื่น กลายเป็นคลื่นมนุษย์ที่ต้องแย่งอากาศกันหายใจ เป็นครูสังกัด สพป.และสพม. ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี เดินไปรับไหว้กันไป มีขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกทุกระยะ กว่าจะถึงจุดจัดนิทรรศการก็เวียนหัวเหมือนกัน โรงเรียนประชารัฐ ที่โรงเรียนใน สพป.นนทบุรี เขต 1 ไปช่วย สพฐ.จัด ดูเด่นเป็นสง่าใครผ่านไปมาก็แวะถ่ายรูป ก่อนเที่ยงเขาให้ออกไปด้านนอกพื้นที่เพื่อตรวจอาวุธอีกรอบ เลยไปกินข้าวที่ร้านอาหารของเมืองทอง เข้าด้านในอีกครั้ง แบบตามคลื่นมหาชน ด้านในจัดเก้าอี้ไว้ตามผังที่กำหนดคือกลุ่มสี มีเข็มกลัดเป็นสัญญลักษณ์ ผอ.เขต ถูกให้นั่งแถวหลังผู้ตรวจราชการกระทรวง พอใกล้เวลาก็ถูกต้อนขึ้นไปในส่วนที่เก้าอี้ว่าง วันประชุมที่ สพฐ. มีการเตรียมต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลายรูปแบบ แต่ข่าวรั่วจนถูกโจมตี ทีมโฆษกรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่ความประสงค์ของนายกรัฐมนตรี ก่อนเวลามีนักร้องจากวงดนตรีโรงเรียนจ่านกร้อง จังหวัดพิษณุโลก มานำเสนอเพลงไพเราะให้ฟัง บรรยากาศดี จนถึงเวลานายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงและขึ้นเวทีปราศรัยกับครูทั่วประเทศ เป็นการพูดที่ประทับใจรักษาไว้ซึ่งบุคลิกภาพเดิม ๆ ไม่เครียดได้หัวเราะกันพอสมควร ก่อนจากยังฝากเสียงเพลงให้ได้ฟังกันแบบคาดไม่ถึง ออกมานอกห้องประชุมคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีกลับแล้ว ที่ไหนได้ท่านยังชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรมกับนักเรียนจน 6 โมงเย็น ขากลับเดินทักทายครูแบบอารมณ์ดี นับว่าเป็นบันทึกหน้าใหม่ในวงการครูทั้งในห้องประชุมและทุกพื้นที่ กลับเขตด้วยความเหนื่อยล้า ต้องมาเผชิญกับโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่จะจัดเปิดโครงการในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ทุกอย่างเปลี่ยนไปบางครั้ง ผมก็คิดว่าเหมือนเดิม เลยงงไปตามๆ กัน ประเพณีของที่นี่แตกต่างจากที่เคยพบมา เรื่องเดียวกันไม่เคยแนบเรื่องเดิม จะเดินหน้าก็ไม่มั่นใจ จึงต้องรอ หลายเรื่องไม่เคยปรึกษา คิดได้ก็พิมพ์ใส่แฟ้ม พอเราไม่เห็นด้วยก็เปลืองเวลาเปลืองกระดาษ เป็นแบบซ้ำซาก เดินหน้าหนึ่งถอยหลังสาม เมื่อมารับภาระศึกษาธิการจังหวัดอีกหน้าที่หนึ่ง จึงมีสภาพเหมือนช้างติดหล่มทั้งขาหน้าและขาหลัง หลายคนมาถามว่าจะให้ช่วยอะไร คำตอบคือช่วยทำงานในหน้าที่ให้ดี ตั้งใจหน่อย รับผิดชอบหน่อย ตั้งสติให้มั่น ใช้สมองคู่กับสองมือ ทุกอย่างก็ไปได้ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2559 ออกจากที่พักแต่เช้าตรู่ เดินทางไปประชุม กศจ.ภาคกลาง ที่โรงแรมอเดรียติค ประตูน้ำ โรงแรมนี้ต้องถือว่าไม่ดีนักทั้งเก่าทั้งจอแจเรื่องการจราจร ภาคเช้าปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาเปิด ข้อมูลจากบางท่านเป็นมุมมองทีติดลบกับ อกคศ.เขต และเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่การดำเนินงานในภาคกลางไม่มีปัญหาการทุจริตให้ปรากฏ กฎ กติกาที่ใช้ก็ออกจากส่วนกลาง คือ กคศ. ทั้งสิ้น จึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับคนดี ๆ และอคติเกินไปเพราะข้อมูลที่ได้มาอาจมีแต่ด้านลบ แต่ท่านก็ยังรับว่าเป็นเรื่องของคนไม่ดีส่วนน้อย ถ้าส่วนน้อยทำไมต้องล้มกระดาน หากเป็นเมื่อก่อนคงต้องเถียงต้องสู้กันสักยก มายุคนี้เสียเวลาเปล่า ปล่อยไปดีกว่า ถูกผิดอนาคตคงเป็นคำตอบ ที่น่าห่วงคือ การให้ความรู้และความคิดที่ขัดแย้งกับข้อกฎหมายปัจจุบัน กลับไปศึกษาธิการจังหวัดต้องทำงานหนักกับการทำความเข้าใจกับกรรมการว่า ข้อมูลที่พูดเป็นความคาดหวังในอนาคต แต่ปัจจุบันกฎเกณฑ์ยังไม่เปลี่ยนต้องยึดและใช้ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องที่ต้องเห็นชอบ ต้องอนุมัติ ให้ไปจัดทำคำสั่งทางปกครอง จะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการและรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญ บ่ายเลขาธิการ ก.ค.ศ. มาบรรยายเรื่องการบริหารงานบุคคล แต่ไม่ฟันธงตรงไปตรงมาตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร ผมแซวเล่นว่าประเทศไทยกำลังจะใช้กฎหมาย Common Law แบบอังกฤษ เย็นพักค้างได้ห้องพักหมายเลข 3012 แอร์ไม่เย็นเปลี่ยนห้องใหม่ได้หมาย เลข 2103 เรียกว่าอ่านถอยหลัง ที่เหมือนกันคือไม่เย็น นั่งทำการบ้านในฐานะผู้เชี่ยวชาญปริญญานิพนธ์ปริญญาเอก การบริหารการศึกษา มศว ประสานมิตร จนแล้วเสร็จจะได้ไม่ติดค้าง พรุ่งนี้มอบเจ้าตัวไปดำเนินการต่อได้

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2559 ตื่นตี 4 นั่งเตรียมงานที่จะต้องทำในสัปดาห์นี้ มีเรื่องเร่งด่วนคือการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานประชุมโรงเรียนคุณธรรม เพราะเหลือเวลาไม่มาก เช้าตรู่ห้องพักยังร้อน เรียกว่าแอร์อิทเตอร์มากกว่า พอหกโมงเช้ารีบอาบน้ำแต่งตัว เก็บกระเป๋าลงไปเช็คเอ้าท์ เอากระเป๋าไปเก็บที่รถ กลับขึ้นไปทานข้าวที่ชั้น 4 เจอเพื่อนร่วมรุ่น นปส.53 รอง ผวจ.สระแก้ว ท่านเคยถูกระเบิดที่ปัตตานีจนขาต้องดามเหล็ก แล้วมาอุบัติเหตุลื่นล้มที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อเดือนที่แล้วขาท่อนบนหักต้องดามเหล็กอีกรอบ เลยต้องนั่งรถเข็นมาประชุม มาประชุมครั้งนี้ได้เจอเพื่อน นปส.53 หลายคน มีท้องถิ่นจังหวัดระยอง อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา รอง ผวจ.สระบุรี เช้าฟังทีมบริหารงาน ก.ค.ศ. บรรยาย บางเรื่องอาจเคลื่อนไปบ้าง แต่ภาพรวมยังอยู่ในประเด็น เสียดายที่ผู้บริหารเหล่านี้ไม่เคยลงมาอยู่ในภาคสนามเหมือนพวกเรา จึงมองภาพจริงไม่ออกว่า การบริหารงานบุคคลในเขตปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่มาจากข้างบน ผอ.เขต บริหารเกณฑ์มากกว่าบริหารคน ก่อนเที่ยงเขาตอบคำถามต่าง ๆ ผมไม่ได้ถามไม่ได้พูดเพราะเชื่อว่า กศจ.นนทบุรีจะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องทั้งกฎหมายและคุณธรรม การประชุมเสร็จสิ้นลงแค่เที่ยงวัน

Focus on Solutions not on Problems

One of the most memorable case studies on Japanese management was the case of the empty soap box, which happened in one of Japan's biggest cosmetics companies. The company received a complaint that a consumer had bought a soap box that was empty. Immediately the authorities isolated the problem to the assembly line, which transported all the packaged boxes of soap to the delivery department. For some reason, one soap box went through the assembly line empty. Management asked its engineers to solve the problem. Here are the two solutions from two different approaches:

Solution-A The engineers worked hard to devise an X-ray machine with high-resolution monitors manned by two people to watch all the soap boxes that passed through the line to make sure they were not empty. No doubt, they worked hard and they worked fast but they spent whoopee amount to do so

Solution-B But when a rank-and-file employee in a small company was posed with the same problem, he did not get into complications of X-rays, etc but instead came out with another solution. He bought a strong industrial electric fan and pointed it at the assembly line. He switched the fan on, and as each soap box passed the fan, it simply blew the empty boxes out of the line.

Moral of the Story

"Keep the solution short & simple" i.e. always look for simple solutions. Devise the simplest possible solution that solves the problem. So, learn to focus on solutions not on problems.

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

หมายเลขบันทึก: 606528เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเชียร์การทำงาน

มีงานตลอดเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท