ภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 2


ภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 2

5 พฤษภาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ตอนที่แล้วได้กล่าวนำเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อชี้ให้เห็นว่า อปท. มีภารกิจในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่ อาจมีความคลุมเครือในการสนับสนุนและการปฏิบัติ มีประเด็นความเคลือบแคลงสงสัย ไม่ชัดเจนต่าง ๆ ให้ชาว อปท. ได้ถกเถียงกันอยู่มาก ด้วยระเบียบข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาการเบิกจ่าย การตรวจสอบ และโต้แย้งจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

การสั่งใช้ อปพร.

อปท. โดยผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อปท. ซึ่งหมายถึง นายก อปท. มีอำนาจหน้าที่สั่งการ ควบคุม และกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ อปพร. และ อปพร. ในสังกัด ตลอดจนให้การสนับสนุนการดำเนินกิจการ อปพร. ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และสนับสนุนศูนย์ อปพร.ข้างเคียงในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

กล่าวคือ นายก อปท. สามารถสั่งใช้ สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ได้ตามมาตรา 20 [2] แห่ง พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกอบ ข้อ 20, 22 [3]แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2553 และ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 [4]

ภาระงบประมาณในการบริหารกิจการ อปพร.

ปัญหาการสั่งใช้สมาชิก อปพร. ที่ตามมาก็คือ อปท.จะใช้เงินงบประมาณจากแหล่งใดมาจ่ายเป็นค่าตอบแทน รวมทั้งงบสนับสนุนต่าง ๆ แก่สมาชิก และกิจการ อปพร. ปัญหาทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น เกิดจากการเบิกจ่ายงบประมาณต่าง ๆ นั้น จะเบิกจ่ายได้เฉพาะภารกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. เท่านั้น จึงเป็นที่มาของการเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อมาเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ตรงตามกฎหมายจัดตั้ง อาทิเช่น เมื่อเกิดกรณีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบมีการลักลอบเผาอาคารโรงเรียน จึงมีการสั่งใช้ อปพร. ให้ทำหน้าที่รักษาเวรยามคอยระวังภัย หรือมีการสั่งใช้ อปพร. ตั้งด่านจุดบริการประชาชนลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น

สำหรับกรณี อปท. มีคำสั่งใช้ อปพร. ปฏิบัติงานในศูนย์ อปพร. หรือนอกที่ตั้งศูนย์ อปพร. ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ให้เบิกค่าตอบแทนได้ไม่เกินคนละ 200 บาท โดยการเบิกจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่สมาชิก อปพร. ในการเดินทางไปราชการ ตาม หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมากที่ มท 0808.2/ว 3795 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง การตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่าวัสดุเครื่องแต่งกายของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) [5] และตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2373 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2557 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) [6]

ที่มาของการเบิกงบประมาณแบบถัวจ่าย

ในการเบิกจ่ายงบประมาณหมวดว่าด้วยค่าตอบแทน ใช้สอย และวัสดุ นั้นตามระเบียบราชการการเบิกจ่ายให้สามารถเบิกจ่ายแบบ “ถัวจ่าย” ได้ [7] ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของ อปท. ที่ตั้งใจ หรือจงใจ หรือหลบเลี่ยง หลีกเลี่ยงการเบิกจ่ายแบบตรงไปตรงมา ให้มาใช้วิธีการแบบ “ถัวจ่าย” แบบผิด ๆ โดยเฉพาะ การเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อปพร. เมื่อเบิกจ่ายโดยตรงไม่ได้ในส่วนนี้ ก็หาวิธีการไปเบิกจ่ายให้ถูกต้องตามเอกสารด้วยวิธีการอื่น ๆ อันเป็นที่มาของการเบิกจ่ายอันเป็นเท็จ หรือการปลอมเอกสาร หรือการสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และ กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)

สุดท้ายท้องถิ่นก็ต้องตอบแทนสมาชิก อปพร.เหล่านี้ด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมและทัศนศึกษาดูงาน จัดงานจัดเลี้ยงขอบคุณบ้าง หรือบางครั้ง อปพร.เหล่านี้ไปช่วยเหลือกิจการส่วนตัวกึ่งการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่บรรดานักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นอาสาจัดตั้งเพื่อเป็นหัวคะแนนนักการเมืองไป ในลักษณะต่างตอบแทนของชาวบ้านทั่วไปที่หวังพึ่งพาและรับประโยชน์จากผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า

บาง อปท. รับการร้องขอจากอำเภอ หรือ สถานีตำรวจภูธร (สภ.) เพื่อขอเงินสนับสนุนไปฝึกอบรมอาสาสมัครช่วยเหลือกิจการตำรวจ (อส.ตร.) หรือตำรวจบ้าน หรืออบรมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่ (ชรบ.) เป็นค่าใช้จ่ายจัดซื้อจัดหาชุดและอุปกรณ์การฝึกอบรม ซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงของท้องถิ่นด้วยซ้ำ

การเขียนโครงการอบรมเพื่อขอรับการสนับสนุนหรืออุดหนุนงบประมาณจากท้องถิ่นได้เริ่มขึ้น แต่เมื่อไม่ได้เป็นตามแผนการที่คาดคิดไว้ ด้วยข้อจำกัดของระเบียบปฏิบัติและอำนาจหน้าที่ของ อปท. ก็ดูเหมือนว่าโครงการที่เขียนมาอย่างดีนั้น “เป็นหมัน” ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนได้โดยตรงจาก อปท. แม้การเขียนโครงการจะดูเนียนมีหลักการเหตุผลถูกต้องก็ตาม ลองเปลี่ยนโครงการใหม่ดูสิ โดยระบุโครงการว่า เพื่อนำไปจัดฝึกอบรม อปพร. เท่านั้นก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณทันที

เพราะการจัดโครงการฝึกอบรม อปพร. ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นเองอยู่แล้ว [8] ครั้นพอได้รับการสนับสนุนงบประมาณไป หน่วยงานอำเภอหรือตำรวจก็จะไปดำเนินการฝึกอบรมตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ แต่การฝึกอบรมนั้น อาจมิใช่การฝึกอบรม อปพร. โดยตรง อาจมีการฝึกอบรมตำรวจบ้าน หรือ ชรบ. ไปด้วย

เมื่อระเบียบกฎหมายและวิธีการถูกจำกัดอยู่ที่ภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ แต่ถูกโยงมาให้เป็นหน้าที่ของ อปท. ฉะนั้น ท้องถิ่นหลายแห่งจึงรับภารกิจในการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานเหล่านั้นไป เพราะเป็นหน่วยที่มีอำนาจบังคับบัญชา กำกับดูแล เป็นผู้ขอมานั่นเอง

ในบางกรณีไม่มีทางออก ด้วยข้อจำกัดในงบประมาณ หรือการทักท้วงตรวจสอบจาก สตง. หน่วยงานที่รับผิดชอบฝึกอบรมอาสาสมัครเหล่านั้น ก็จะไปพึ่ง สส. สจ. หรือพ่อค้า ผู้มีเงินสนับสนุนแทน

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวคร่าว ๆ นี้จึงเป็นที่มาของเบิกจ่ายงบประมาณ “แบบถัวจ่าย” อันเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นของ อปท. อาทิเช่น การเบิกผี (เบิกเท็จ) เบิกเว่อร์ (เบิกเกินจริง โดยไม่ประหยัด) ในการจัดการฝึกอบรมทบทวน อปพร. เพื่อให้มีงบประมาณค่าใช้จ่ายเหลือเพียงพอสำหรับการแจกชุดฝึกหรือเพื่อการฝึกอบรมฯได้ แม้กระทั่งการจัดเลี้ยง จัดเอนเตอร์เทน โครงการไปทัศนศึกษาดูงานต่างตอบแทนแก่บรรดาอาสาสมัครต่าง ๆ ที่ถูกมองว่าไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง เปล่าประโยชน์ แต่หากประมวลภาพเรื่องราวเหล่านี้ให้ดี จะเห็นว่าเป็นภารกิจหนึ่งทางด้านมวลชนของ อปท. ที่จำเป็นจะต้องมีการสร้างกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันถือเป็นหน้าที่แฝงอย่างหนึ่งของ อปท. ก็ว่าได้

ข้อพิจารณาเพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ

1. แนวคิดการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นหน้าที่ของหน่วยราชการต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อหวังว่ากลุ่มอาสาเหล่านี้จะช่วยให้เป็นที่รองรับและขยายภารกิจของหน่วยงานของตนลงไปให้ครอบคลุมพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่จริงอาจมีสภาพปัญหาความต้องการจำเป็นกลุ่มอาสาเหล่านี้ที่อาจแตกต่างกันไป ในเขตที่เป็นชุมชนใหญ่ย่อมจำเป็นมากกว่า ซึ่งในที่นี้จะเห็นว่า สมาชิก อปพร. คือกลุ่มอาสาสมัครหลักที่จำเป็นอย่างยิ่งในพื้นที่

2. ความต่อเนื่องยั่งยืนของกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ มักไม่ยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามผู้นำ ตามเจ้าหน้าที่ราชการที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา แต่สมาชิก อปพร. คือกลุ่มอาสาสมัครที่ยั่งยืน มั่นคงกว่ากลุ่มอื่น ๆ อปท. จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขทะเบียน อปพร.ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อการสั่งใช้ปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป

3. หน่วยงานปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ อปท. (ท้องถิ่น) และหน่วยงานหลักในพื้นที่ (อำเภอ และตำรวจ) รวมทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในพื้นที่ เป็นกำลังหลักที่รองรับแนวคิดและปฏิบัติให้ภารกิจงานต่อเนื่อง ยั่งยืนได้ คงมิใช่เพียงเฉพาะทำให้งานเสร็จสิ้นไปเท่านั้น

4. การจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ มากมาย โดยต่างหน่วยราชการต่างมีระเบียบ กฎหมาย กำหนดวิธีการ ไว้เป็นการเฉพาะรองรับหน้าที่ภารกิจหน่วยงานของตน เป็นการบ่งชี้ถึงแนวคิดที่ขาดการทำงานประสานงาน “แบบบูรณาการ” การจำกัดบทบาทหน้าที่ของเหล่าบรรดาอาสาสมัครต่าง ๆ ไว้เฉพาะงานเฉพาะด้าน ไม่สอดคล้องกับภารกิจอื่นที่มีมากมายหลากหลายและอาจสำคัญกว่า เป็นปัญหาเรื่องงาน เรื่องคน เรื่องเงินงบประมาณที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ สิ้นเปลืองเวลา อีกทั้งการไปเพิ่มงานเพิ่มภาระให้แก่คนในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน เมื่อโครงการหมด เงินหมดก็หมดงาน อาจไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาหากเกิดปัญหาขึ้นจริง กลับเป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดริเริ่มของคนในชุมชนในการที่จะคิดจะทำในสิ่งที่ชุมชนต้องการจริง ๆ

5. การกำหนดภารกิจการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครของหน่วยงาน ควรเปิดช่องทางให้คนในพื้นที่ได้คิดได้ทำได้พัฒนา ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองด้วย เพราะอาจมีภารกิจที่ซ้ำซ้อนที่หน่วยอื่นกำหนดไว้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่มาของความล่าช้าในการแก้ปัญหาของหน่วยงานราชการนั่นเอง

6. ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ อปพร. นั้น สตง. แนะนำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ออกระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย [9] ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในการเบิกจ่ายทางปฏิบัติมาก เพราะ การสั่งการให้สมาชิก อปพร. ไปเบิกจ่ายค่าเดินทางไปราชการในฐานะบุคคลภายนอก เป็นรายจ่ายที่ไม่มีระเบียบรองรับ เพราะ การปฏิบัติงานของ อปพร.เหล่านั้นมีหลายลักษณะ เช่น การอยู่ประจำศูนย์ฯ จุดตรวจ ด่านตรวจ ออกสายตรวจร่วมฯ อยู่เวรยาม หรือเดินทางไปราชการตามคำสั่งให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งหลายลักษณะงาน ไม่ได้เดินทางไปที่ใด เป็นการทำหน้าที่ในพื้นที่เท่านั้น อาจไม่เข้าข่ายการเดินทางไปราชการ และจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานอาจไม่ครบ 8 ชั่วโมง

แนวคิดการบูรณาการสมาชิก อปพร. สำหรับ อปท. เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เพราะ อปพร. คือ กลุ่มอาสาสมัครที่ถูกต้องตามกฎหมายของ อปท. ที่สามารถสั่งใช้ในภารกิจสาธารณภัย ทั้งทางด้านสาธารณภัย [10] และด้านความมั่นคง [11] ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550



[1] Phachern Thammasarangkoon & Vajarin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 23019 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] มาตรา 20 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น

มาตรา 21 บัญญัติว่า เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้น ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ใด ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นมีหน้าที่เข้าดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว และแจ้งให้ผู้อำนวยการอำเภอที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นและผู้อำนวยการจังหวัดทราบทันที

[3] ข้อ 20 ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่น เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. ดังนี้

(1) ให้นายกเทศมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล รองนายกเทศมนตรี ซึ่งนายกเทศมนตรีมอบหมาย เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล ปลัดเทศบาล เป็นผู้ช่วย ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล และสำนักปลัดเทศบาล เป็นศูนย์ อปพร. เทศบาล โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักปลัดเทศบาล เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์

(2) ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมายเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์

(3) ให้นายกเมืองพัทยา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งนายกเมืองพัทยามอบหมาย เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา และสำนักปลัดเมืองพัทยา เป็นศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา โดยให้เจ้าหน้าที่ของสำนักปลัดเมืองพัทยา เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์

ข้อ 22 ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. มีอำนาจหน้าที่สั่งการ ควบคุม และกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ อปพร. และ อปพร. ในสังกัด

ข้อ 23 ให้ศูนย์ อปพร. เทศบาล อบต. จัดตั้งฝ่ายต่างๆ ดังนี้

(1) ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (2) ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย (3) ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย (4) ฝ่ายปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัย (5) ฝ่ายอื่นๆ ตามความจำเป็น

[4] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 161 ง วันที่ 24 ตุลาคม 2555 หน้า 3-15, http://www.chonglom.go.th/file/statute/Doc_001.pdf & ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 64 ง วันที่ 23 มีนาคม 2558 หน้า 1-7, http://www.rawai.go.th/content/content/dt58.pdf

[5] http://www.disaster.go.th/rsc/songkran54/p_2738/4_1.pdf

[6] http://61.19.250.229:85/~htwe694506/phocadownload/9ponggan/A13.pdf

[7] ดู การถัวจ่ายงบประมาณ, 20 พฤษภาคม 2552, http://www.bb.go.th/BBfaq/asp/extn/asp/desc_topic.asp?cid=2552/0213&cbxtype=&no=76

ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 ข้อ 21 (2) กำหนดหลักการให้งบดำเนินงาน ให้ถัวจ่ายภายในงบรายจ่ายเดียวกันได้ เว้นแต่ประเภทรายจ่ายค่าสาธารณูปโภคให้นำไปใช้จ่ายประเภทอื่นในงบรายจ่ายนี้ได้ หากไม่มีหนี้ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระ

คำว่า ถัวจ่ายดังกล่าว หมายถึง ส่วนราชการสามารถนำงบดำเนินงานที่ได้รับไปใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ หรือค่าสาธารณูปโภคแต่ละประเภทจำนวนเท่าใดก็ได้ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณนั้น ซึ่งการถัวจ่ายนี้ส่วนราชการสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเหลือจ่าย

[8] ดู พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 41 ให้ผู้อำนวยการจัดให้มีอาสาสมัครในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(2) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้อำนวยการมอบหมายและตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

การบริหารและกำกับดูแลอาสาสมัคร การคัดเลือก การฝึกอบรม สิทธิ หน้าที่และวินัยของอาสาสมัคร ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

[9] ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 2373 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2557 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)

[10] ขอบเขตสาธารณภัย ด้านสาธารณภัยมี 14 ประเภทภัย

1) อุทกภัย และดินโคลนถล่ม

2) ภัยจากพายุหมุนเขตร้อน

3) ภัยจากอัคคีภัย

4) ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย

5) ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง

6) ภัยแล้ง

7) ภัยจากอากาศหนาว

8) ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน

9) ภัยจากแผ่นดินไหว และอาคารถล่ม

10) ภัยจากคลื่นสึนามิ

11) ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์

12) ภัยจากโรค แมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด

13) ภัยจากโรคระบาดสัตว์ และสัตว์น้ำ

14) ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

[11] ขอบเขตสาธารณภัย ด้านความมั่นคง มี 4 ประเภทภัย

1) การป้องกันและระงับการก่อวินาศกรรม

2) การป้องกันและบรรเทาภัยจากทุ่นระเบิดกับระเบิด

3) การป้องกันและบรรเทาภัยทางอากาศ

4) การป้องกันและระงับการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล

หมายเลขบันทึก: 605936เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2016 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท