Constructionism กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างปัญญา


Constructionism กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างปัญญา

  • นับตั้งแต่ผมเป็นวิทยากรอิสระ ผมนำกระบวนการการเรียนรู้แบบ Constructivism มาผสมผสานกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆของผมได้พัฒนาปัญญาและสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่การนำมาประยุกต์ในกระบวนการการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนาวสาวภัทราภรณ์ ชูโฉม นักศึกษาสาขาจิตวิทยาองค์การ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ก็เช่นกัน
  • นิยามสั้น ๆ ของ Constructionism คือ การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Doing) หรือสร้าง (making) สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น การเรียนรู้ที่ดีกว่าไม่ได้จากการค้นพบวิธีการสอนที่ดีกว่าของครู หากแต่เป็นการให้โอกาสในการสร้างสิ่งที่ดีกว่าของผู้เรียน
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ผมจะมอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานเรียนรู้การใช้กล้องถ่ายภาพเลนส์เดี่ยวดิจิทัล (DSLR-Digital Single Len Reflect) และกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนมอบหมายให้สรุปบทเรียนต่างๆด้วยการพิมพ์ด้วย Microsoft Word และนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทางเฟสบุ๊กของนักศึกษาเอง สอดคล้องกับหลักการเรียนรู้แบบ Constructionism คิดค้นโดย Seymour Papert แห่ง Media Lab, MIT พัฒนามาจากแนวคิด Constructivism ของ Jean Piaget (1886-1980) Similar goals Different mean ที่กล่าวถึงความเชื่อดั้งเดิมของกระบวนการเรียนรู้ว่า เด็กไม่สามารถเรียนรู้บางเรื่องที่ซับซ้อนหรือระบบที่ยากต่อความเข้าใจ ต้องรอวัยหนึ่ง แต่ Papert เชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริง เพราะเด็กขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์เป็นสื่อสำหรับช่วยคิด (Object-to-think-with) และมองว่า คอมพิวเตอร์เป็นวัสดุชั้นเยี่ยมที่จะช่วยพัฒนาสติปัญญาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการสร้างแบบจำลอง เป็นสื่อในการปรับเปลี่ยนความคิด ช่วยในการจำแนกสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และยังช่วยในการหาแนวทางแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด
  • สิ่งที่ผมมอบหมายให้ผู้เข้ารับการอบรมหรือนักศึกษาฝึกงานไม่ว่าจะเป็นกระบวนการฝึกอบรมหรือการสอนงาน ผมพยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการเรียนรู้แบบ Constructionism ที่มีปัจจัยสิ่งแวดล้อม 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

1. ทางเลือก (Choice) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างมีพลังเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมสร้างผลผลิตที่มีความหมายต่อตนเอง ยิ่งผู้เรียนมีทางเลือกในการสร้าง เขาจะใส่ใจและชอบจะคิดค้นงานมากขึ้น

ทุกครั้งของการบรรยาย การฝึกอบรม ผมจะไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้เข้ารับการฝึกอบรม และให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี ไม่จำกัดความคิดความเห็น แนวทางการปฏิบัติ แต่จะดำเนินการเป็นผู้สรุปความคิดรวบยอดต่างๆของผู้เข้ารับการฝึกอบรม หรือเวลาสอนนักศึกษาฝึกงาน ผมจะให้นักศึกษาร่วมคิด ร่วมวางแผนการฝึกอบรม และแนะแนวทางในการพัฒนาการทำงานของเขาให้ดีขึ้น

2. ความเป็นกัลยาณมิตร (Congeniality) มีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เป็นมิตร สบายและอิสระ

ผมชอบบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน โดยการละลายพฤติกรรมก่อนทุกครั้งเพื่อลดช่องว่างทางความรู้สึก ลดช่องว่างระหว่างวัย เพศ ความคิด ทัศนคติที่แตกต่างกัน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ ไม่เป็นวิทยากรที่เรื่องมาก เรียบง่าย หรือเวลาเสร็จสิ้นการทำงาน ผมจะชอบไปเที่ยวพักผ่อนความคิด เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือระหว่างการเดินทาง ผมชอบพานักศึกษาแวะทัศนศึกษายังสถานที่สำคัญระหว่างทาง

3. ความหลากหลาย (Diversity) มีความหลากหลายในรูปแบบการสร้างสิ่งต่างๆ มีวิธีการหลากหลาย ต้องให้อิสระและการยอมรับนับถือระหว่างกัน

  • หากใครที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมกับผมจะทราบดีว่า ผมชอบมีวิธีการฝึกอบรมที่หลากหลาย ไม่ใช่สอนคนละหลักสูตรกันแต่รูปแบบวิธีการหรือเนื้อหาการสอนเหมือนกันทั้งหมด ผมชอบพัฒนากิจกรรมการฝึกอบรมที่แปลกใหม่ ท้าทายและไม่ต้องการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมประสบผลสำเร็จทุกครั้ง ผมเชื่อเสมอมาว่า เราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดในด้านต่างๆได้ดีพอๆกับเรียนรู้สิ่งที่เราประสบผลสำเร็จ หรือการฝึกงานของนักศึกษา ผมจะให้อิสระในการคิด อิสระในการสอน ไม่จำเป็นที่จะต้องสอนในรูปแบบของ Edutainment สอนอย่างไรก็ได้ที่ผู้รับได้ประโยชน์และผู้ให้มีความสุข


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ผมนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism มาปรับใช้ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ซึ่งมีหลักสำคัญของการเรียนรู้ 3 ประการ คือ

1. การเรียนรู้จากการแก้ไขปัญหา โดยการสำรวจและทดลองด้วยตนเอง

2. การเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับสิ่งที่รู้มาก่อนแล้ว

3. การนำความรู้ที่มีอยู่เดิมไปใช้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ต่อๆไป

  • ผมเชื่อเสมอว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด เมื่อผู้เรียนมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่สัมผัสได้และมีความหมายกับตนเอง อาจกล่าวได้ว่า หลักการเรียนรู้แบบ Constructionism นั้น ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมและ Learn how to learn

“ความรู้มีอยู่ในตัวเราทุกคน”

หมายเลขบันทึก: 605707เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2016 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2016 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท