วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง


วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายประเภทไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงิน วิกฤติธนาคารหรือวิกฤติหนี้ระหว่างประเทศ โดยอาจเกิดจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด หรือเกิดจากกลไกทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของวิกฤติเศรษฐกิจทางด้านการเงิน

ประวัติของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

พ.ศ. 2540 มีการไหลเข้าของทุนรวมสู่ประเทศในทวีปเอเชีย โดยที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นักลงทุนชาวต่างชาติจึงเข้าสู่ภูมิภาคนี้กันมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าผลดีคือ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอย่างมาก มีเงินเข้าภูมิภาคเป็นปริมาณมาก รวมทั้งมูลค่าสินทรัพย์สะสมก็เพิ่มขึ้น ในช่วงนั้นทวีปเอเชียได้รับการกล่าวว่าเข้าสู่ช่วง "ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจแห่งเอเชีย" แต่ "พอล ครุกแมน" นักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งไม่เห็นด้วยว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้จะเกิดผลดี เขากล่าวว่าการเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เกิดจากการลงทุน แต่ปัจจัยรวมด้านผลิตภาพนั้นแทบไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามหลักแล้วการเจริญโดยที่ปัจจัยรวมเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นการเจริญที่แท้จริงแล้ว คือมีความมั่นคง และมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งต่อมาก็ได้เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

การนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธรัฐบาลไทยสมัยนั้นประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยตัดการอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐผลทำให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างมาก ไม่นานวิกฤตินี้ก็ขยายสู่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งญี่ปุ่นอีกด้วย ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลง ส่วนภาคเอกชนก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุดนั้น ได้แก่ เกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย แต่พ.ศ.2542 เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว

สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

1.หนึ้ต่างประเทศ ประเทศไทยเกิดการขยายตัวทางระบบการเงิน เกิดการก่อหนี้ และการกู้เงินจากต่างประเทศซึ่งเป็นผลมาจาก

- พ.ศ.2533 ไทยเกิดระบบการเงินสู่ระบบสากลตามพันธะสัญญาใน IMF

- พ.ศ.2534 ไทยประกาศปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ( การปริวรรตเงินตราต่างประเทศหรือ International Money System คือ แนวทางการควบคุมเงินโดยประเทศต่างๆจะรักษาค่าของเงินให้คงที่ จากการเทียบกับสิ่งของบางอย่างส่วนใหญ่ใช้โลหะเงินและทองคำ )

- พ.ศ.2535 ธนาคารพาณิชย์ตั้งกิจการ "วิเทศธนกิจไทย" ( BIBF - Bangkok International Banking Facilities คือ ธนาคารที่ทำธุรกรรมการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำมาให้กู้ทั้งภายในและนอกประเทศไทย หรือคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีนั่นเอง ) และในปีพ.ศ.2536 มีธนาคารพาณิชย์ 46 แห่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพ

2.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศไทยมีการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออก ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกิดการขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพราะการส่งออกที่หดตัว

3.ฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาจเรียกว่าการลงทุนที่เกินตัว โดยช่วงพ.ศ.2530 ถึง พ.ศ.2539 กิจการอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนามกอล์ฟ ที่อยู่ อาคาร สวนเกษตร หรือสำนักงานต่างๆ เกิดขึ้นและเติบโตมาก แต่มีการกูยืมเงินต่างประเทศ และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อมาลงทุน ต่อมาราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงเข้ามาลงทุนกันจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร ก่ให้เิกด "ภาวะเศรฐษกิจฟองสบู่แตก" ( Economic Bubble / Bubble Economy ) เป็นภาวะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงกว่าความเป็นจริง และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวเหมือนฟองสบู่ เราอาจเคยเจอคำว่า "ภาวะฟองสบู่แตก" นั่นคือ ภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อราคาเริ่มลดลงผู้ประกอบการจะเลิกลงทุนเกิดการหดตัวเหมือนฟองสบู่ที่หดตัวอย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นตามมาเหมือนฟองสบู่ที่แตก ( หนี้เสีย คือ หนี้ที่เมื่อเราทวงจากลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่สามารถชำระให้ได้ความหมายคล้ายกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ - Non Performing Loan หรือ NPL ส่วนหนี้สูญ คือ หนี้ที่เราไม่สามารถทวงจากลูกหนี้ได้ เพราะลูกหนี้อาจหายสาบสูญหรือเสียชีวิต )

4.การดำเนินงานของสถาบันการเงิน พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2540 รัฐบาลไม่เชื่อมั่นสถาบันการเงินในประเทศ และสั่งปิดสถาบันการเงินไปถึง 58 สถาบัน โดยรัฐบาลต้องใช้เงินสนับสนุนสถาบันการเงินเหล่านั้นถึง 6 แสนล้านบาท จาก "กองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน" ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

5.การโจมตีค่าเงินบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมีการจัดตั้งกองทุน "Hedge Funds" เพื่อโจมตีค่าเงินบาทไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงนำเงินทุนสำรองถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาปกป้องค่าเงินบาท เมื่อเงินสำรองมีน้อยลง นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" เมื่อ 2 ก.ค. 2540 เป็นการเริ่มต้นวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง

ผลกระทบและสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา

- สัดส่วนระหว่างหนี้ต่างประเทศกับ GDP เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ประเทศในอาเซียนเพิ่มจาก 100% กลายเป็น 180% ในช่วงที่เลวร้่ายที่สุดของวิกฤติการณ์

- IMF ( หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ) เข้ามารักษาเสถียรภาพสกุลเงินของประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเกาหลีใต้ โดยการลงทุน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ 3 ประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุด

- ประเทศสิงคโปร์ และไต้หวัน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้

- ธุรกิจของเอกชนไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน บ้านจัดสรร ปิดกิจการ พนักงานถูกปลด มีหนี้เกิดขึ้นอย่างมาก มีการกดดันให้รัฐบาลลาออก

- ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามพยุงค่าเงินบาท โดยใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศจนหมด และต้องกู้จาก IMF จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

- สำหรับการแก้ไขนั้น ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน IMF ให้แนวทางโดยดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และปรับโครงสร้างสถาบันทางการเงิน แต่ก็ส่งผลให้ปัญหาหนักขึ้น โดยราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆแพงขึ้น รัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งรับตำแหน่งต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเพียงประคองสถานการณ์และให้ประชาชนหันมาใช้ "เศรษฐกิจพอเพียง" ต่อมารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเริ่มสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการทำธุรกิจโดยมีการสนับสนุน SMEs กองทุนหมู่บ้าน OTOP ประชาชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น

อ้างอิงจาก : financialcrisisbt.blogspot.com

หมายเลขบันทึก: 605706เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2016 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2016 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท