เสียงธรรมจากสวนโมกข์ (3)


ไม่ต้องหอบหิ้ว ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไว้กับตัว .. เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ถูกใช้ “กำราบพญามาร” ไม่ถึงหนึ่งในล้านส่วน .. มาลดค่า คำว่า"ฉัน" กันเถอะเรา

 

      สวนโมกข์เป็นดินแดนที่ผมรัก และผูกพันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น หัวข้อที่ตั้งว่า " เสียงธรรมจากสวนโมกข์ " นั้น ขออนุญาตใช้ต่อๆไป  ทั้งที่จริงๆแล้ว  ข้อเขียนหรือบทกวีที่ปรุงแต่งขึ้น และบันทึกไว้ตรงนี้  เป็นการเขียนของตัวผมเอง  แต่ก็ขอยืนยันว่าเกิดจากความรู้ ความคิดที่มาจาก การได้ใกล้ชิดสวนโมกข์และท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นสำคัญ 

     เรื่องความหลงผิด หรือการยึดมั่นถือมั่นในความเป็น "ตัวกู-ของกู" เป็นประเด็นที่ท่านอาจารย์เน้นย้ำอยู่เสมอ  เนื่องจากเป็นพญามารตัวใหญ่ที่แฝงเร้นอยู่ในคนเราทุกคน  ต่างกันที่ขนาดเท่านั้น ดังข้อเขียนในบันทึกของท่านอาจารย์ หมอวิจารณ์ เรื่อง เรียนรู้ที่จะหลีกภัย “วิชาตัวเบา” ตอนหนึ่งที่ว่า ...

  " ... แต่เมื่อคิดย้อยหลัง ดูชีวิตที่ผ่านมา ก็พบว่ามี ภัย ที่มาเป็นเสมือน “มารผจญ” แนวทางดำเนินชีวิต เป็นระยะๆ   คิดทบทวนดูแล้ว “มาร” เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภายในตัวเรานั่นเอง   พอคิดให้ลึกๆ ก็สรุปได้ว่า “หัวหน้ามาร” ก็คือ ความอยากมี  อยากเป็น (ของกู ตัวกู) นั่นเอง      ผมอาจจะโชคดีที่ไม่ได้ให้อาหารพญามารทั้งสองตนนี้มากนัก    มันจึงไม่เติบใหญ่เรียกร้องจากผมมากนัก    ผมจึงไม่ต้องไขว่คว้าหาทรัพย์และชื่อเสียงมาเลี้ยงมัน     ที่จริงจะเรียกว่ามันก็ไม่ถูก เพราะมันอยู่ในตัวเรานั่นเอง     ในเมื่อพญามารภายในตัวผมไม่ใหญ่โต    ตัวผมก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต    จึงดำรงชีพในฐานะคนเล็กคนน้อยได้อย่างเบาสบาย    ไม่ต้องหอบหิ้ว ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไว้กับตัว    เท่ากับผมได้ใช้ชีวิตนี้เรียน “วิชาตัวเบา” มาตลอดชีวิต    ที่มีความสุขอยู่ได้ก็เพราะ “วิชาตัวเบา” นี่เอง

           แต่คนรุ่นหลังไม่โชคดีอย่างผม    คนสมัยนี้ลำบาก    เพราะว่าสังคมโดยรอบช่วยกันทำนุบำรุง “พญามาร” ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที หรือทุกวินาที ด้วยการใช้เครื่องมือสื่อสารที่มนุษย์สร้างขึ้น    เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ถูกใช้ “กำราบพญามาร” ไม่ถึงหนึ่งในล้านส่วนของการใช้ “ทำนุบำรุงพญามาร”    คนรุ่นใหม่มี พญามาร ตัวใหญ่มากอยู่ภายในตัว     จึงกินจุ    กินในที่นี้หมายถึงบริโภค    หมายความว่าเป็นคนที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม     มีความสุขเพราะการบริโภค    ยิ่งบริโภคมากก็คิดว่าสุขมาก    มีวัตถุมากก็คิดว่าสุขมาก    แรงกระตุ้นจากภายนอก ให้อยากมี อยากเป็น    นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขัน เอาชนะ เอาเปรียบ    คนที่มีความสามารถเอาเปรียบคนอื่น ได้รับยกย่อง     คนที่ทำสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคมและล่อแหลมต่อการผิดกฎหมายแต่กฎหมายตามไปเอาผิดไม่ได้ ได้รับการยกย่อง และภูมิใจในความสามารถของตนเอง     สภาพเช่นนี้เป็นเครื่องหล่อหลอมคนรุ่นใหม่ให้มีระดับจริธรรม คุณธรรม ต่ำ    ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม  " 

      อ่านของจริงที่นี่ครับ ใ http://gotoknow.org/archive/2005/08/07/13/12/09/e2184 

เรื่อง ตัวฉัน หรือ ตัวกู ผมได้ลองเขียนเป็นกลอนไว้  ขอมาวางไว้อ่านกันตรงนี้ด้วยอีกครั้งนะครับ

    

    อันตัวฉัน นั้นสำคัญ ชวนให้คิด
ทุกชีวิต มักเมามัว ในตัวฉัน
ก่อกำเนิด เกิดกาย ไม่กี่วัน
ความหลง ความยึดมั่น เริ่มก่อตัว

    ความสนุก ความสบาย อยากได้มาก
เจอความทุกข์ ความลำบาก ก็สั่นหัว
ผลักที่ชัง รั้งที่ชอบ เข้าหาตัว
ความมืดมัว จึงเริ่มจอง ครองหัวใจ

    ยิ่งวันผ่าน เจริญวัย ยิ่งใจวุ่น
บ้างผลักบาป แต่บ้าบุญ เคยเห็นไหม
ติดบวกลบ กันมากมาก ลำบากใจ
ได้ทุกข์ทน หม่นไหม้ เป็นเจ้าเรือน

    ทั้งตัวฉัน ทั้งของฉัน พลันออกฤทธิ์
มันทิ่มแทง ชีวิต และเชือดเฉือน
ทิ้งริ้วรอย ความบอบช้ำ คอยย้ำเตือน
หลายชีวิต ต่างเป็นเหมือน ที่กล่าวมา

    แล้วทางออก ของใจ อยู่ไหนเล่า
ทางนำให้ ใจเรา หมดปัญหา
หยุดสักนิด มาลองคิด ด้วยปัญญา
มาลดค่า คำว่า"ฉัน" กันเถอะเรา.

                สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 6055เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2005 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • ตามไปอ่านแล้วครับ 
  • ขอบพระคุณมากครับ
ผมก็อ่านงานท่านพทธทาสอยู่ครับ ขอบคุณที่ได้รู้จักครับ

ขอบคุณทั้งสองท่านครับ

รสชาติแห่งธรรมนำชีวิต ช่วยลิขิตตนได้ในก้าวย่าง

ให้รู้ซึ่งถึงรสแห่งปล่อยวาง เพื่อถากถางกิเลสทางโง่เขลา

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณค่ะอาจารย์
  • แต่ครูคิมมีวิชามารค่ะ..ฮิ ๆ ๆ
  • เอาไว้ปราบเด็กเกเรค่ะ
  • ขอประชาสัมพันธ์คนกันเองฝากไว้ที่นี่ด้วยนะคะ
  • สำหรับแฟนบล็อกของอาจารย์
  • http://gotoknow.org/blog/islandpk/257826
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท