เก็บตกวิทยากร (25) : จิตสาธารณะกับการจัดการทรัพยากร


ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การตั้งหมู่บ้าน เริ่มต้งแต่สังคมล่าสัตว์มาสู่สังคมเกษตรกรรมที่ร้อยรัดอยู่กับวิถีพุทธ และผีบรรพบุรุษ ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน ทั้งที่เป็น สมุนไพร การรักษาโรค การกินอยู่ ประเพณี การศึกษา เศรษฐกิจ รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการปลูกต้นไม้ (ปลูกป่า) การปลูกผักปลอดสารพิษ หรือกระทั่งการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างบ้านดินร่วมกับนิสิตและอาจารย์ เช่น ไม้ไผ่ หญ้าคา แถมยังได้ชาวบ้านมาช่วยค้ำยันเป็น “พ่อช่าง-แม่ช่าง” ช่วยขึ้นโครงอาคาร เทพื้น มุงหลังคา ฉาบผนังอาคาร อีกต่างหาก

วันที่ 30 มีนาคม 2559 เป็นอีกครั้งที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านเวทีของการเป็น “วิทยากร” ในหัวข้อ “การสร้างจิตสำนึกสาธารณะกับการจัดการทรัพยากร

เวทีดังกล่าวจัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เนื่องในวาระ 90 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและ 150 ปีจังหวัดมหาสารคาม

เวทีครั้งนี้ ผมไม่ได้ขึ้นเวทีฉายเดี่ยว หากแต่เป็นเวทีเสวนาร่วมกับวิทยากรอีก 2 ท่าน คือ คุณปกรณ์ อารีกุล (นักกิจกรรมเพื่อสังคม) และอาจารย์ชัชวาล มากสินธ์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ จาก มรภ.รำไพพรรณี ซึ่งทั้งสองท่านมีประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร และกิจกรรมในหลักสูตร โดยมีอาจารย์นุจรี ใจประนบ เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนาไปในตัว

เดิมทั้งผมและวิทยากรอีกท่านเตรียมสื่อทั้งที่เป็นสไลด์บรรยายและคลิป/วีดีทัศน์มาด้วย เตรียมมาทั้งๆ ที่รู้ว่าในเวทีเสวนาเช่นนั้นอาจไม่เหมาะไม่ควรนัก แต่ก็เตรียมมาเพราะได้รับการประสานจากเจ้าภาพว่า “ถ้ามียิ่งดี”

ใช่ครับ-การมีสื่อประกอบการบรรยายเป็นเรื่องที่ดีเสมอ อย่างน้อยก็คงช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียด ง่วงเหงาหาวนอนได้บ้าง อีกทั้งยังอาจช่วยกระตุ้นการรับรู้ของผู้ฟัง รวมถึงการใช้เป็นเอกสารประกอบการสัมมนา ซึ่งผมเองก็เตรียมไปพร้อมอย่างเสร็จสรรพ

เบื้องต้นเราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อถึงเวลาอันควรก็จะหยิบจับสื่อที่ว่านี้ขึ้นมาสื่อสาร หรือหากห้วงเวลาไม่เอื้อนัก เราก็จะเน้นที่การเสวนาเป็นหัวใจหลัก เรียกได้ว่ายืดหยุ่นปรับแต่งหน้างานได้ตลอดเวลา




คนกิจกรรม : พื้นเพชีวิตและการเรียนรู้ของวิทยากร

แปลกแต่ก็จริง ครั้นพอได้ฟังวิทยากรร่วมเวทีบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตในแบบฉบับการแนะนำตัวเองของแต่ละคน จุดหนึ่งที่ผมมองทะลุเชื่อมโยงถึงกันก็คือวิทยากรทั้ง 3 คน มีพื้นเพทักษะการเรียนรู้และใช้ชีวิตมาในทำนองเดียวกัน นั่นก็คือการเป็น “คนกิจกรรม” หรือ “นักกิจกรรม” มาก่อนด้วยกันทั้งนั้น

มิหนำซ้ำยังออกแนวทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนมากกว่าเรียนในหลักสูตรด้วยซ้ำไป

ใช่ครับ - - กิจกรรมนอกชั้นเรียนในที่นี้ผมหมายถึงถึงกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น ค่ายอาสา กิจกรรมทางสังคม หรืออื่นๆ รวมถึงกิจกรรมในหลักสูตรที่นำองค์ความรู้ไปสู่การลงมือทำจริงนอกชั้นเรียน ที่มีทั้งเพื่อวัดผลการเรียนเป็นคะแนนและเกรด และไม่มีการวัดผล

และด้วยพื้นเพชีวิตเช่นนั้น จึงตอบโจทย์จุดยืนของแต่ละคนในวันนี้อย่างชัดแจ้งว่า ทำไมถึงยังต้องเกี่ยวโยงอยู่กับกิจกรรมทางสังคม หรือการจัดการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในมิติของ “จิตสาธารณะ” หรือ “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม” อยู่อย่างต่อเนื่อง –

ตรงนี้ - - ต้องยกเครดิตให้เจ้าของงานนั่นแหละ ที่เจาะจงเรียนเชิญทั้งผมและวิทยากรอีกสองท่าน มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษาและอาจารย์ในวันนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุด “เราทั้งสามคน” ก็ล้วนเติบใหญ่ผ่านระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาเหมือนกัน ทำกิจกรรมทางสังคมต่อเนื่องมาตั้งแต่สวมชุดนิสิตนักศึกษา หรือกระทั่งปัจจุบันก็ยังทำเรื่องเหล่านี้อยู่อย่างไม่อิดออด




เราไม่ใช่นักเสกสร้าง : เรียนรู้คู่บริการ

สำหรับผมแล้ว – เวทีครั้งนี้ผมสะท้อนแนวคิดไว้หลายประเด็น

ใช่ครับ ~ หลายประเด็นจนจำไม่ได้เลยทีเดียวแหละ แต่ที่แน่ๆ ในระยะต้นชั่วโมง ผมพยายามสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นนิสิตนักศึกษาในฐานะของการเป็น “นักเรียนรู้” หรือการทำกิจกรรมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ”

ผมพยายามชี้ประเด็นว่านิสิตนักศึกษาอยู่ในวัยแห่งการแสวงหาความรู้และความหมายของการใช้ชีวิต ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะพลเมืองของสังคม

ใช่ครับ— ผมหมายถึงว่า ในห้วงยามที่นิสิตต้องทำกิจกรรมบริการสังคมที่ใช้ “ชุมชนเป็นห้องเรียน” (ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้) นิสิตนักศึกษาควรตระหนักว่า...

  • ตนเองเดินทางไปในฐานะ “นักเรียนรู้ มิใช่นักเสกสร้าง หรือผู้ทรงความรู้” ที่จะไปให้ความรู้-ให้บริการต่อชาวบ้าน จนลืมกระบวนการมีส่วนร่วม ..
  • ลืมกระบวนการพัฒนาโจทย์บนความต้องการของชุมชน
  • หรือลืมไปว่าแท้จริงแล้ว “ชุมชนก็มีความรู้” (เพราะชุมชนไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า)

ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้คู่บริการจึงเป็นมิติ หรือกรอบแนวคิดที่นิสิตนักศึกษาควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

เพราะนี่คือปรัชญาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนบนฐานคิดของการมีส่วนร่วม และแนวคิดที่ว่านี้คือหลักของการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยและนิสิตเข้ากับองค์ความรู้อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในตัวตนของชาวบ้าน

หรือจะเรียกว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และเป็นการจัดการความรู้ (KM) ร่วมกันก็ไม่ผิด





ถอดรหัสภูมิปัญญาชาวบ้าน : บูรณาการทรัพยากรในท้องถิ่น

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมหยิบจับมาสะท้อนในเวทีก็คือ การนำเอาทรัพยากรในชุมชนมาเป็นฐานของการจัดการเรียนรู้

กรณีดังกล่าว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ โดยแนะนำให้นิสิตนักศึกษาให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลชุมชน-ศึกษาบริบทชุมชนให้รอบด้านและศึกษาหยั่งลึกให้ได้มากที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้

พูดง่ายๆ เลยก็คือ หากสามารถรู้อย่างลึกซึ้งถึงสภาพทั่วไปจากอดีตถึงปัจจุบันของชุมชนในหลายๆ มิติ ย่อมง่ายต่อการเข้าใจสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของชุมชน เพราะจะเห็นเลยว่า ปัญหา หรือกระทั่งต้นทุนอันเป็นศักยภาพของชุมชนในวันนี้หยัดยืน หรือพลิกผันมาจากอะไร

เช่นเดียวกับการยกตัวอย่างแบบผิวเผยผ่านงานค่ายของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะวิศวกรรมศาสตร์) ที่ไปสร้างบ้านดินในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านได้เรียนรู้เรื่องการทำอิฐดินดิบและการปั้นรูป (ประติมากรรมนูนต่ำ) บนผนังอาคารดิน ตลอดจนการวิจัยเรื่องอาคารดินกับการลดภาวะโลกร้อน/พลังงาน หรือการวิจัยดินในชุมชนที่เหมาะต่อการสร้างบ้านดินจากอาจารย์และนิสิต

ขณะเดียวกันนิสิตและอาจารย์ ก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การตั้งหมู่บ้าน เริ่มต้งแต่สังคมล่าสัตว์มาสู่สังคมเกษตรกรรมที่ร้อยรัดอยู่กับวิถีพุทธ และผีบรรพบุรุษ ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน ทั้งที่เป็น สมุนไพร การรักษาโรค การกินอยู่ ประเพณี การศึกษา เศรษฐกิจ รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการปลูกต้นไม้ (ปลูกป่า) การปลูกผักปลอดสารพิษ

หรือกระทั่งการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างบ้านดินร่วมกับนิสิตและอาจารย์ เช่น ไม้ไผ่ หญ้าคา แถมยังได้ชาวบ้านมาค้ำยันเป็น “พ่อช่าง-แม่ช่าง” พาอาจารย์และนิสิตขึ้นโครงอาคาร เทพื้น มุงหลังคา ฉาบผนังอาคาร อีกต่างหาก

ครับ— ตัวอย่างง่ายๆ เช่นนั้น คืออีกมิติของการบริหารทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับทรัพยากรจากมหาวิทยาลัย ซึ่งทรัพยากรที่ว่านั้นก็ครอบคลุมถึง “คน-ความรู้-วัตถุดิบ” สอดรับกับประเด็นการเสวนาวันนี้ (การสร้างจิตสำนึกสาธารณะกับการจัดการทรัพยากร) โดยตรง





จิตสาธารณะ : กระบวนการบ่มเพาะ 3 มิติ

ประเด็นการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะแก่นิสิตนักศึกษานั้น เบื้องต้นผมยืนยันและเห็นพ้องกับทุกคนคือเรื่องจิตสาธารณะ หรือจิตอาสา มันขู่เข็ญบังคับให้เกิดขึ้นกับใครอื่นไม่ได้ มันเป็นเรื่องความพร้อมทางกายและใจของแต่ละคน

แต่ในฐานะของการจัดการเรียนรู้นั้น ผมก็ยืนยันชัดเจนบนฐานชุดความรู้ หรือระบบและกลไกการจัดการเรียนรู้ของผมเองว่า “มันต้องมีกระบวนการบ่มเพาะ ไม่ใช่ปล่อยตามมีตามเกิด”

ผมเรียกมิติแรกนี้ว่า “กิจกรรมนอกหลักสูตร” (เสริมหลักสูตร) ที่มีล้นหลากในรูปขององค์กรนิสิตนักศึกษา หรืออื่นๆ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก รวมถึงกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลประจำเดือน ประจำปี หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ ฯลฯ

ซึ่งมิติแรกนี้เป็น จิตสาธารณะ ที่นิสิตนักศึกษาสามารถเลือกที่จะเข้าร่วมขับเคลื่อนได้ตามอัธยาศัย ไม่ต้องเกี่ยวโยงกับค่าคะแนนในวิชาใดวิชาหนึ่ง

ส่วนมิติที่สอง ผมเรียกว่า “กิจกรรมในหลักสูตร” แน่นอนว่ากระบวนการเรียนรู้ หรือบ่มเพาะเช่นนี้ย่อมมีกติกาค่าคะแนนเข้ามาเกี่ยวโยงเป็นเรื่องธรรมดา หรืออาจจะไม่มีค่าคะแนนด้วยก็ไม่ผิด

ซึ่งนิสิตนักศึกษาจำต้องเรียนรู้และบ่มเพาะความเป็นจิตสาธารณะผ่านระบบการเรียนใน “วิชาชีพ” ของตนเอง เพราะตรงนี้คือการเรียนรู้ผ่านหน้าที่ของตัวเอง

แต่ที่แน่ๆ มิติที่ว่านี้จะช่วยให้นิสิตได้นำองค์ความรู้ในวิชาชีพของตนเองไปสู่การบริการสังคมอย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นการทำงานกลุ่ม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือการบริการนั่นเอง

แน่นอนครับ การขับเคลื่อนเช่นนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าจะช่วยบ่มเพาะทัศนคติและทักษะที่ว่าด้วยจิตสาธารณะทางสังคมคู่กับกับจรรยาบรรณ หรือวิชาชีพได้อย่างลงตัว

ส่วนมิติที่สาม ผมเรียกว่า มิติอันเป็น “พันธกิจของสถาบัน”

กล่าวคือ เป็นกระบวนการบ่มเพาะจิตสาธารณะผ่านภารกิจ/พันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะพันธกิจหลักที่ว่าด้วยการบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการวิจัย หรือกระทั่งการเรียนการสอนก็ไม่เว้น

เพราะอย่างไรเสีย พันธกิจเหล่านี้อาจารย์ (ผู้สอน) ล้วนแล้วแต่ต้องนำองค์ความรู้ของตนเองไปสู่การเผยแพร่และช่วยพัฒนาสังคมอยู่ดี แทนที่จะทำคนเดียว หรือทำเฉพาะกลุ่มอาจารย์ด้วยกันเอง ก็ควรเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เข้าไปเป็น “ทีม” ด้วย

อย่างน้อยเมื่อนิสิตนักศึกษาเข้าไปร่วมเช่นนั้น ย่อมได้เห็นมิติของการบริการ (การให้) ในรูปแบบต่างๆ และการให้นั่นแหละคือภาพลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็น “จิตสาธารณะ” เพียงแต่ต้องยกระดับการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาให้มากกว่าอดีต มิใช่ไปแต่เสริฟน้ำ เสริฟกาแฟ ลงทะเบียน แจกเอกสาร

เป็นไปก็ควรให้พวกเขาได้เป็นผู้ช่วย หรือทำหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล หรือในบางประเด็นก็ออกแบบให้พวกเขาเป็นวิทยากรสื่อสารกับชุมชนโดยตรงก็ได้

กระบวนการที่ผมกล่าวถึงนี้ ผมเชื่อว่านั่นคืออีกช่องทางหนึ่งของการบ่มเพาะให้นิสิตนักศึกษามี “จิตสาธารณะ” มิใช่ใจเย็นปล่อยตามมีตามเกิดไปเรื่อยๆ เพราะอย่างไรเสีย เราก็ยังต้องสร้างทางเลือกของการเรียนรู้สู่การมีจิตสาธารณะไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้

และเพียรพยายามบ่มเพาะอย่างมีศาสตร์และศิลป์ ส่วนนิสิตนักศึกษาจะเลือกเรียนรู้และบ่มเพาะตัวเอง ผ่านกระบวนการใด นั่นเป็นเรื่องของเขา - !





เหนือสิ่งอื่นใด

ผมคงไม่สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวที่ผมพูด หรือสะท้อนบนเวทีในวันนั้นได้อย่างครบถ้วน

แต่ที่แน่ๆ ทั้งผมและวิทยากรอีกสองท่าน ต่างโยนคำถามผ่านเวทีชวนให้นิสิตและอาจารย์ได้คิดตามเป็นระยะๆ ซึ่งก็มีทั้งที่ตอบได้ ตอบไม่ได้ และไม่ตอบเลย

รวมถึงการหยิบยกเหตุการณ์จริงในสังคมมาเป็นกรณีถกคิดร่วมกันเป็นระยะๆ เช่น สภาวะอันเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม การศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับเรื่องการจัดการทรัพยากรอันเป็นต้นทุนของสังคมทั้งสิ้น

และด้วยข้อจำกัดของพื้นที่การเล่าในครั้งนี้ ผมจึงขอประมวลประเด็นอื่นๆ ที่ผมได้สะท้อนไว้ในเวทีการเป็นวิทยากรครั้งนั้น (เท่าที่จำได้) ไว้โดยสังเขป เช่น

  • ผมฝากให้แต่ละคนเรียนรู้ตัวเองก่อนว่า “มีจุดมุ่งหมายใดกับชีวิต” และจุดมุ่งหมายนั้น ต้องอาศัยกระบวนการศึกษาที่ว่านี้ช่วยในการนำพาไปสู่จุดหมายอย่างไร
  • ผมฝากให้แต่ละคนทบทวนตัวเองให้แจ่มชัดว่า “เมื่อต้องไปจัดกิจกรมเรียนรู้หรือบริการสังคม เรามีจุดมุ่งหมาย หรือปรัชญา” ต่อเรื่องนั้นอย่างไร และจะขับเคลื่อนในฐานะใด
  • ผมฝากให้แต่ละคน “เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง” ซึ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองได้เข้าไปเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันหมายถึงชุมชน หรือท้องถิ่นที่เป็นฐานของการเรียนรู้ของเราในวาระนั้นๆ
  • ผมฝากให้แต่ละคน “ทบทวนเรื่องราวบ้านเกิดของตนเอง” ผ่านการงาน หรือกิจกรรมที่จัดทำขึ้น อย่างน้อยก็อาจช่วยให้เราได้เข้าใจความเป็นบ้านเกิดตนเองผ่านการเรียนรู้บนฐานของชุมชนอื่น
  • ผมฝากให้แต่ละคนทบทวนถึง “เครื่องมือ” ในการจัดการเรียนรู้คู่บริการกับสังคมว่ามีอะไรบ้าง
  • ผมฝากให้ทุกคนศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเรียนรู้ในศตรรษที่ 21
  • ฯลฯ

ครับ --- สัญญาว่า หากไม่หลงลืมอย่างสิ้นเชิง จะกลับมาเล่าต่ออีกครั้ง

หมายเหตุ

ภาพ โดยพนัส ปรีวาสนา และคณาจารย์จาก มรภ.มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 605298เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2016 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2017 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท