การประมงพื้นบ้าน


การประมงพื้นบ้าน

21 เมษายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

วันนี้มาดูเรื่องของท้องทะเลไทยกันหน่อย ใช่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องทะเลเสียเลยทีเดียว เพราะเรื่องของทะเลรวมถึงวิถีชีวิตของทะเลนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” นี่ไง นี่คืออำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น

อปท. มีบทบาทการดำเนินการในด้านเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ดังนี้ [2]

(1) เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องคุ้มครอง ฟื้นฟู และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากธรรมชาติ การดูแลรักษาที่สาธารณะ การบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ ทางระบายน้ำ และการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย

(2) กรณี การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ เขตอนุรักษ์ป่าชายเลน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการ

นอกจากนี้ อปท. ทุกรูปแบบยังมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมในด้านเกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” ดังนี้ [3]

(1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(2) ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในท้องถิ่นและบุคคลในองค์กร

(3) ส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทะเลไทยกับ “การประมงพื้นบ้าน”

ประเทศไทยมีแหล่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์คือ ทะเลฝั่งอ่าวไทย และ ทะเลฝั่งอันดามัน มีจังหวัดต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ติดชายทะเล รวมจำนวน 23 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดทางฝั่งอ่าวไทย 17 จังหวัด และฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด [4] ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึง กรุงเทพมหานครฝั่งอ่าวไทยด้วย นั่นจึงหมายความว่า อปท. ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ “ทะเล” หรือ จะเรียกให้แคบลงไปว่าใน “การประมง” ก็คงไม่ผิด

“นิยามความหมาย” การประมงพื้นบ้าน

ด้วยมีการตราพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 [5] ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 [6] ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (14 พฤศจิกายน 2558) มีนิยามศัพท์ความหมายของการประมงที่เกี่ยวกับทะเลที่สำคัญ ดังนี้

มาตรา 5 บัญญัตินิยามความหมายที่สำคัญไว้ว่า ในพระราชกำหนดนี้

“การประมง” หมายความว่า การทำการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลรักษาสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ และหมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการสนับสนุนการทำการประมง

“ทำการประมง” หมายความว่า ค้นหา ล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำหรือการกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อ จับ ได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ

“ที่จับสัตว์น้ำ” หมายความว่า ที่ที่มีน้ำขังหรือไหล และหาดทั้งปวงที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่มีน้ำท่วมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชนรวมทั้งทะเล

“ประมงน้ำจืด” หมายความว่า การทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำภายใน

“ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์

“ประมงพาณิชย์” หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า พรบ.การประมง พ.ศ. 2558 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ 28 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 28 เมษายน 2558) ซึ่งมีผลบังคับได้เพียงไม่ถึง 5 เดือน ก็ถูกยกเลิกให้ใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 แทน ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งในหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดได้บัญญัติถึงเหตุผลที่มีการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยสรุปว่า “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ยังขาดมาตรการในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติเพื่อให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อการประมงของประเทศไทย” ซึ่งหมายความว่า พระราชบัญญัติการประมงฉบับเดิมมีข้อบกพร่อง จึงต้องมีการตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อมายกเลิกฉบับเดิม นั่นเอง

ท้องถิ่นได้ประโยชน์ และกฎหมายต้องถ้ามีสภาพบังคับโดยเสมอภาคกัน

หมายความว่ากฎหมายต้องมีสภาพบังคับได้ต่อคนทุกคน มิใช่ใช้บังคับเฉพาะคนจนหรือคนที่ด้อยโอกาส และกฎหมายต้องไม่ตกเป็นเรื่องมือทางการเมือง ในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม

ในวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านทะเล นับตั้งแต่ มี พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 [7] ที่พยายามรวมกลุ่มชาวบ้าน เพื่อปกป้องพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง หนึ่งในกลุ่มก่อตั้งในยุคแรกนั้นคือ “ประมงพื้นบ้านภาคใต้” โดยเฉพาะกลุ่มชาวเล ที่ไหนมีทะเลที่นั่นมีชาวเล อาชีพของชาวเล ก็คือหาปลาจับสัตว์น้ำบริเวณใกล้ชายฝั่งที่ไม่ห่างไกลมากนัก อุปกรณ์หาปลา เรียบง่าย พอเลี้ยงชีพตนเอง และแบ่งขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว พบเห็นได้ทั่วไปในภาคใต้ฝั่งอันดามัน

มีกิจกรรมที่เข็มแข็งและมีการต่อสู้กับการประมงพาณิชย์จนเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ กิจกรรมสร้างทุ่นปาการังเทียม เพื่อให้เป็นที่พักพิงแหล่งอาศัยของปลา สัตว์น้ำทะเล เป็นจนสร้างความอุดมบูรณ์ของท้องทะเลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เอารถไฟเก่าโยนทิ้งลงทะเล การสร้างทุ่นปาการังเทียมโดยใช้ทางมะพร้าว เป็นต้น

แต่ เมื่อรัฐบาล คสช. เข้ามาวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing) [8] เช่น การจัดระเบียบเรือประมง ห้ามจับสัตว์น้ำ โดยใช้อุปกรณ์ผิดกฎหมาย และพื้นที่หวงห้าม มีการขึ้นทะเบียนเรือประมง การทำประมงต้องทำให้ถูกกฎหมาย และสั่งให้ยกเลิกจนกว่าจะได้ใบอนุญาต เป็นต้น

ผลกระทบดูเหมือนจะเดือดร้อน อย่างมากมายสำหรับชาวประมงพาณิชย์ ที่ทำผิดกฎหมายมาโดยตลอด ไม่ว่าเป็นอุปกรณ์ ที่ผิดกฎหมายคืออวนลาก อวนรุน เรือคราดหอยแครง รวมไปถึงโพงพาง ที่มีอยู่อย่างมากมาย ได้ขวางทาง น้ำ จนปลาไม่สามารถอพยพไปเจริญพันธุ์ตามวิถีชีวิตได้

แต่สำหรับชาวประมงพื้นบ้านนั้น มันเหมือนสิ่งที่เขารอมานาน พึ่งมีผู้เห็นความสำคัญของวิถีชีวิตชาวประมง ชายฝั่ง ที่มีอาชีพชีวิต กับหาปลาจับสัตว์น้ำโดยใช้อุปกรณ์ดั้งเดิม และโบราณ จากรุ่นสู่รุ่น ที่พอจะมีความหวังที่อยู่ต่อไป เหมือนต่อลมหายใจให้แก่พวกเขา

การจดทะเบียนเรือประมง ยังทำให้ท้องถิ่นได้ค่าอากรเพิ่มขึ้น เพราะแต่เดิม ไม่เคยได้รับรายได้ส่วนนี้ เลย เพราะหากเรือประมงพาณิชย์เหล่านี้เกิดความเดือดร้อน ก็มักจะมาขอความช่วยเหลือจากท้องถิ่น แต่ ณ วันนี้เมื่อมีการจดทะเบียนเรือและชาวประมง ท้องถิ่นต้องมีรายได้ภาษีในส่วนนี้เข้ามา

มุมกลับการต่อต้านจากกลุ่ม “ประมงพื้นบ้าน”

การประมงพื้นบ้านในความหมายนี้ จึงหมายถึง การประมงที่ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อการดำรงชีพของชุมชนในพื้นที่ หากเป็นอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมแบบพื้นบ้าน มีขนาดเล็ก เช่น กะปิ น้ำปลา ปลาหมึก ปลาแห้ง อาหารทะเลแห้ง หมักดอง แบบพื้นบ้าน ฯลฯ เป็นต้น มิใช่การประมงแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการประมงเชิงพาณิชย์ ประมงทะเลลึก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนสูง ซึ่งถือเป็น “บทบาทอำนาจหน้าที่” ของ ปท. ด้วยส่วนหนึ่ง ที่ อปท. และผู้เกี่ยวข้องอาจไม่เฉลียวใจในอำนาจหน้าที่นี้

ตามมาตรา 34 แห่งพระราชกำหนดการประมงดังกล่าว บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง”

นั่นย่อมหมายความว่า ย่อมก่อให้เกิดการกระทบต่อ “การประมงพื้นบ้าน” ของชาวบ้านที่มีลักษณะเป็น วิถีชีวิต เป็นอาชีพของชาวบ้าน ที่ต้องถูกจำกัดขอบเขตลงทันที ด้วยข้อกฎหมายที่อาจมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กับประชาชนชาวพื้นบ้านที่ต้องอาศัยทะเลในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 จึงมีกระแสเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเล ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [9] เพื่อขอให้มีการแก้ไข พรก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 34 โดยหลังจากยื่นหนังสือแล้ว ได้เดินออกไปรวมกลุ่มบริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อแสดงท่าทีย้ำให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการตามข้อร้องเรียนโดยนำปลาทูและปลาทรายแดงจำนวน 3 ลังมาให้ดูว่าปลาประเภทนี้อยู่นอกเขต 3 ไมล์ทะเล

เพราะมาตรา 34 ที่กำหนดให้การทำประมงชายฝั่งอยู่ในเขต 3 ไมล์ทะเล และ ตามมาตรา 10 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง” ที่มีผลให้เรือเล็กของชาวประมงรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้อีก ทั้งหมดได้สร้างความเดือดร้อนและจำกัดสิทธิชาวประมงขนาดเล็กในประเทศไทย ที่มีจำนวนมากกว่า 80%ของชาวประมงทั้งหมด [10]

ซึ่งกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบออย่างมากอีกกลุ่มก็คือ กลุ่มประมงอวนรุน ซึ่งชาวประมงกลุ่มนี้ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาให้แก่พวกเขา ขอความเมตตายกเลิก พรก. มาตรา 34 หลังเดือนร้อนหนักจับปลา กุ้งไม่ได้ จนเป็นหนี้สินมากมาย [11]

บทสรุป

ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใดว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล มีการกระทบในผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทำให้ประเทศไทยไม่ถูกแบนจากประเทศกลุ่มยุโรปเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ผู้เขียนขอรณรงค์สนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลว่า ได้ทำมาถูกทางและถูกต้องแล้ว การอนุรักษ์ การทำประมงอย่างถูกกฎหมายในปัจจุบัน ก็เพื่อคืนธรรมชาติคืนชีวิตแก่ท้องทะเลไทย และต่อลมหายใจให้แก่การประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง โดยเฉพาะคนพื้นบ้านที่เรียกว่า “ชาวเล” นั่นเอง



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 23005 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] อบต. กับการจัดการปัญหาสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย, บทที่ 3, อบต. กับภารกิจด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม และการใช้มาตรการด้านกฎหมาย, สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย, http://advisor.anamai.moph.go.th/main.php?filename=tambon04

[3] อบต. กับการจัดการปัญหาสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย, อ้างแล้ว

[4] ข้อมูลจังหวัดชายทะเล, 29 มีนาคม 2553, http://www.mkh.in.th/index.php/2010-03-22-18-06-15

[5] พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (13 พฤศจิกายน 2558), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 108 ก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 หน้า 1-45, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/108/1.PDF

[6] พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 34 ก วันที่ 28 เมษายน 2558 หน้า 1- 28, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/034/1.PDF

[7] พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 37 วันที่ 4 เมษายน 2535, http://www.onep.go.th/images/stories/file/1_NEQA1992.pdf & http://sakaeo.mnre.go.th/sk1/images/PDF/lawPDF/env_law4-6.pdf

[8] ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU), ข่าวสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 3 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/64174-ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย-ขาดการราย.html

[9] ประมงพื้นบ้านบุกก.เกษตรฯ จี้แก้พรก.การประมง ม.34, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, , 4 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/685639?view=desktop

[10] ประมงพื้นบ้านบุกก.เกษตรฯ จี้แก้พรก.การประมง ม.34, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, อ้างแล้ว

[11] ประมงอวนรุนเดือดร้อน ยื่นขอยกเลิกพรก.มาตรา34, เดลินิวส์, 8 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.dailynews.co.th/regional/378356

หมายเลขบันทึก: 605160เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2016 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2020 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณความรู้ดีดีนี้ค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท