ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กับการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย


เนื่องจากการจัดตั้ง AEC จะมีผลทำให้เม็ดเงินลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างเสรีมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ดังนั้น ภาคการเงินของไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดตั้ง AEC ที่กำลังจะมาถึง โดยเราสามารถแบ่งสาระสำคัญของการเตรียมพร้อมสำหรับภาคการเงิน ออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน

โดยในด้านแรก คือเรื่องของการพัฒนา “ระบบการชำระเงิน” ของไทย ที่จะต้องสามารถเชื่อมต่อให้เข้ากับระบบการชำระเงินของประเทศสมาชิก ด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้รองรับกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยที่ในปัจจุบัน ระบบการชำระเงินของไทยมีการพัฒนาเชื่อมโยงเข้ากับระบบการชำระเงิน ATM ASEAN Pay ของประเทศมาเลเซียแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถือบัตร ATM ของประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถถอนเงินสดที่เครื่อง ATM ของอีกประเทศหนึ่งได้ และคาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศสมาชิกอื่นๆ และขยายให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในระยะต่อๆ ไป

ด้านถัดมาได้แก่ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ “การเคลื่อนย้ายเงินทุน” ที่จะต้องเปิดให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินได้อย่างเสรี โดยอาจจะต้องมีการปรับกฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุน

ทั้งในส่วนของการลงทุนทางตรง(FDI) และการลงทุนในตลาดการเงิน (Financial Market) ซึ่งอย่างไรก็ตาม การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนอย่างเสรีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและความมีเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสมาชิก ดังนั้นประเทศสมาชิก AEC แต่ละรายจึงต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ โดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินของตนเองเป็นปัจจัยสำคัญ ลำดับถัดมาคือการพัฒนาในส่วนของ “การให้บริการทางการเงิน” ที่จะต้องผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ สามารถให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดนได้ไกลขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งไปเปิดสาขาในประเทศสมาชิกของกลุ่ม AEC บ้างแล้ว

และการเตรียมความพร้อมในด้านสุดท้าย คือ “การพัฒนาตลาดทุน” ที่นอกจากจะต้องทำให้เกิดความสมดุลในระบบการเงินภายในประเทศสมาชิกด้วยกันแล้ว แต่ละประเทศยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาตลาดทุนของตนเองเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตทางการเงินในอนาคต และเนื่องจากลักษณะตลาดทุนของประเทศสมาชิก AEC ส่วนใหญ่มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งยากต่อการแข่งขันในตลาดโลก

ดังนั้นความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้น เนื่องจากมีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ตลาดทุนที่ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันของแต่ละประเทศสมาชิกจะช่วยเพิ่มช่องทางในการระดมทุนของภาคธุรกิจในประเทศ และยังช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศนอกกลุ่ม AEC ให้เข้ามามากขึ้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศสมาชิกในกลุ่ม AEC ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้ในปัจจุบันมีเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่มีความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางการเงิน ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตนเองให้มีความพร้อมต่อไป อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนข้ามประเทศ นักลงทุนควรต้องศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนทุกครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการลงทุนข้ามประเทศ เช่น ความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น


อ้างอิง: http://www.manager.co.th/

หมายเลขบันทึก: 605126เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2016 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2016 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท