พระราชพิธีสงกรานต์ พ.ศ. 2559 หนึ่งในพระราชพิธี 12 เดือน


พระราชพิธีสงกรานต์ พ.ศ. 2559 หนึ่งในพระราชพิธี 12 เดือน โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (15/4/2559)

พระราชพิธีทวาทศมาส หรือที่รู้จักกันในนามพระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย

ประเพณีสงกรานต์ คาดว่ามีมานานนับแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี แต่หลักฐานปรากฏเด่นชัดที่สุดคือ หนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวถึงพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำประจำพระนคร อีกทั้งทรงวินิจฉัยที่มาของการพระราชพิธีและการแก้ไขเปลี่ยนของการพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชสมัยของพระองค์

ในพระราชนิพนธ์ได้กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ หรือ พระราชพิธีสงกรานต์โดยย่อดังนี้

พระราชพิธีสงกรานต์เริ่มขึ้นเมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย พระราชพิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามวัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกตามลำดับ ระหว่างสามวันนี้จะมีการพระราชกุศลก่อพระทรายและการถวายข้าวบิณฑ์ และยังมีพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษกในวันสงกรานต์อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศกเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรทำบุญให้ทานในช่วงเวลาสงกรานต์เหมือนที่เคยทำกันมา แต่ทรงเพิ่มเติมพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราช และการเลี้ยงอาหารข้าราชการ พ่อค้า ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนมิชชันนารีขึ้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงต้นรัชกาลได้ทรงยกเลิกการเลี้ยงอาหารข้าราชการและพ่อค้าที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ตั้งขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงขอให้เลิกแล้วโปรดให้มีการเลี้ยงปีใหม่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นมาแทนวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นงานพระราชพิธีแล้วยังเป็นประเพณีของชาวไทยที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งสุโขทัยเป็นประจำทุกปี

กำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศลในปี พ.ศ. 2559 ผู้เขียนขอคัดย่อจาก กำหนดการพระราชพิธีสงกรานต์จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ความดังนี้

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน ช่วงเช้ามีการนิมนต์พระสงฆ์ 150 รูป เข้าไปบพระราชทานอาหารบิณฑบาตที่ในพระบรมมหาราชวัง

เวลา 10 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง สรงน้ำพระพุทธรูปที่หอพระสุลาลัยพิมาน

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ

แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 76 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นเจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และบนพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง 5 ชั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมอัฐิแล้วทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิแล้ว ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

เวลา 16 นาฬิกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะ ที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาปูชนียสถานต่าง ๆ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ

เสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้

แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าหอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า และทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์ 5 รูป สดับปกรณ์แล้ว ทรงทอดผ้าคู่พระสงฆ์อีก 40 รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นเสร็จการพระราชพิธี

ภาพประกอบ พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีสงกรานต์ ที่มา : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (2546 : 111)

ประกอบการเขียน

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. 2514.

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2546.

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (2558). www.nwnt.prd.go.th

หมายเลขบันทึก: 605015เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2016 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2016 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท